วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 25, 2564

“รู้ไหมว่ามันทำร้ายครอบครัวเราแค่ไหน” เสียงจากคนรักของตำรวจที่ถูกสั่งให้ไปธำรงวินัย



‘ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์’ หรือ ‘ทนายแจม’ เป็นทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หากใครติดตามข่าวการเมืองอยู่บ้าง หลายปีที่ผ่านมาคงคุ้นเคยกับภาพที่เธอให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อคดีการเมืองต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว ขณะเดียวกัน เธอยังเป็นแม่ของลูก 2 คน และเป็นภรรยาของนายตำรวจด้วย

ทุกอย่างควรดำเนินไปตามปกติ ฝ่ายชายทุ่มเทกับอาชีพตำรวจ ฝ่ายหญิงทุ่มเทกับอาชีพทนายความ เมื่อเลิกทำงานก็ต่างมาทุ่มเทให้ลูก 2 คนในบทบาทพ่อและแม่ จนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ.2562 มีหนังสือจากสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ ความว่า “ด้วยกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ จะดำเนินการคัดเลือกนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร มาบรรจุลงในกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904”

ตำรวจ 1,319 นายจากหลายหน่วยงานคือผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ในจำนวนนั้นตำรวจ 66 นายแจ้งว่าติดปัญหาส่วนตัว พวกเขาถูกส่งตัวไปปรับทัศนคติ การคัดเลือกกึ่งบังคับทำให้ตำรวจหลายนายตัดสินใจลาออก ขั้นตอนดำเนินไปเรื่อยๆ จนได้ตำรวจ 873 นายที่เตรียมไปฝึกเป็นตำรวจราบในพระองค์

เมื่อถึงขั้นตอนที่ต้องเลือกอย่างเลี่ยงไม่ได้ สามีของทนายแจมคือ 1 ใน 100 คนที่ตัดสินใจว่า ไม่ไปและไม่ลาออก (ก่อนหน้านั้นเขาเคยลาออกแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ) แม้จะอธิบายเหตุผลแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีคำสั่งฝึกธำรงวินัยออกมา ตำรวจ 3 นายตัดสินใจลาออกทันที

นั่นหมายความว่า ตำรวจ 97 นายต้องเข้าสู่การฝึกธำรงวินัยเป็นระยะเวลา 9 เดือน

คนรักไม่ได้เจอกัน 9 เดือนว่าเนิ่นนานแล้ว แต่นี่คือคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามีของเธอต้องฝึกหนักฝึกโหดอย่างไร้เหตุผล ช่วงเวลานั้นเธอเครียดอย่างที่สุด เฝ้ารอวันที่พ่อ แม่ และลูกสองคนจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา แม้ว่าปัจจุบันเขาจะได้กลับมาทำงานเป็นตำรวจเช่นเดิมแล้ว แต่ความทรงจำนั้นยังเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจของเธอมาตลอด

ตอนมีคำสั่งแรกออกมา คิดไหมว่าจะมาถึงขั้นนี้

ไม่คิด การธำรงวินัยมีในวงการทหารมาตลอด แต่วงการตำรวจไม่เคยมี

ตอนนั้นคุณมองว่า ‘ธำรงวินัย’ คืออะไร

มันคือการทำโทษนั่นแหละ เอาไปกักตัว ไม่ให้เจอใคร ข่าวออกมาว่า คนพวกนี้สมัครใจ หน่วยงานสวัสดิการดีมาก ถ้ามันดีก็เปิดรับสมัครสิ ทำไมต้องบังคับ ถ้าจะบอกว่าหน่วยงานนั้นรับใช้สถาบันฯ เป็นตำรวจก็ช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ท่านไง ไม่ต้องรับใช้พระองค์ท่านเสมอไป

ทำไมการปฏิเสธย้ายหน่วยงานด้วยเหตุผลถึงต้องโดนทำโทษ ผู้บังคับบัญชาเคยบอกเหตุผลไหม

เขาเคยบอกนะ แต่เราจำไม่ได้แล้ว (เงียบคิด) แต่ที่แน่ๆ เวลาบอกว่า เราคือแฟนของตำรวจคนนี้ ตำรวจปากไม่ดีบางคนจะพูดกันว่า “พวกไม่จงรักภักดี” เราชอบที่แฟนบอกว่า “การแสดงความจงรักภักดีทำได้หลายแบบ ถ้ารัชกาลที่ 9 เคยดูแลประชาชนของพระองค์ท่าน การเป็นตำรวจแล้วได้ดูแลประชาชน ก็คือการทำงานถวาย ไม่ต้องถวายตัวดูแลใกล้ชิดเสมอไป

เหตุผลที่แฟนบอกว่า ยอมโดน 9 เดือนได้จบๆ ไป ตอนนั้นคุณเห็นด้วยไหม

ไม่ค่อย เราอยากให้ลาออกเลย เวลา 9 เดือนมันนานนะ เอามาทำอะไรได้ตั้งเยอะ เราอยากให้เขาได้อยู่กับลูก มันคือวัยที่ลูกน่ารักที่สุด ได้เห็นลูกคลาน เดินได้ครั้งแรก พูดได้ครั้งแรก (เงียบ น้ำตาไหล) เขาไม่ได้เห็นลูกเดินได้ครั้งแรก คำแรกที่ลูกพูดได้คือ “ป่าป๊า” แต่เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ลูกถามหาป่าป๊าตลอด ช่วงที่เขาเปิดให้เยี่ยมได้ เราพาลูกไปเยี่ยม พอบ่ายสองต้องกลับ ลูกร้องไห้ลงกับพื้นดิน ถามเราว่า “หม่ามี้ ทำไมป่าป๊าไม่ได้กลับ” เราต้องบอกไปว่า “ป่าป๊ามาทำงาน เดี๋ยวก็ได้กลับแล้ว”

ปลายปี พ.ศ.2562 เดือนแรกเขาไปฝึกที่ จ.ยะลา เราติดต่อไม่ได้เลย รูปสุดท้ายที่ส่งมาคือกำลังจะขึ้นเครื่องบิน แล้วก็โดนยึดมือถือ ช่วงนั้นเราร้องไห้เกือบทุกคืน เป็นห่วง กลัวมาก หลังจากนั้นถึงรู้ว่าเป็นช่วงทำโทษหนักมาก ไม่ให้อาบน้ำ เข้าไปอยู่ในป่า เข้าพื้นที่สีแดงตลอด เป็นการกดดันให้ใครไม่ไหวก็กลับไปอยู่หน่วยนั้น แต่มันไม่ได้ผลหรอก คนยิ่งโกรธยิ่งเกลียด หลังจากนั้นอีก 8 เดือนก็มาอยู่ที่หนองสาหร่าย (ศูนย์ฝึกอบรมยุทธวิธีตำรวจกลาง หนองสาหร่าย จ.นครราชสีมา) ที่ผ่านมาคนเลี้ยงลูกหลักคือเขา ลูกก็ติดป่าป๊า พอเขาไม่อยู่ 9 เดือน เราเหนื่อยมาก ช่วงนั้นย่า (แม่ของแฟน) ต้องมาช่วยเลี้ยงหลาน

ความรู้สึกของบรรดาเมียๆ เป็นยังไงกันบ้าง

ทุกคนโกรธ อยากทำอะไรสักอย่าง เคยคุยกันว่า ถ้ามีการนัดรวมพลจะออกมากัน อยากออกไปทวงผัวคืน เรายังโชคดีกับอีกหลายคนที่มีคนมาช่วยดูแล และยังมีงานทำ เคยบอกแฟนว่า “ลาออกมาเลย เดี๋ยวเลี้ยงเอง” (หัวเราะ) แต่เมียคนอื่นๆ ผัวคือเสาหลัก ไม่มีทางเลือกอื่น ลาออกไม่ได้แน่นอน

คิดถึงขั้นว่าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเลยไหม

คิด (ตอบทันที) บางคนบอกว่าเราคิดมาก ไม่นะ เราทำคดีการเมือง รู้ว่ามันโหด การเอาชีวิตใครสักคนไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าจะเอาก็ต้องเลือกหัวโจก ซึ่งตอนนั้นหัวโจกคือแฟนเรา

เวลาผ่านไปนานไหมถึงได้เข้าไปเยี่ยม

เขาอยู่หนองสาหร่ายสัก 1-2 เดือน ก็ให้เยี่ยมได้ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เก้าโมง – บ่ายสอง พอช่วงมีโควิดก็ห้ามเยี่ยมไป เราไปเยี่ยมตลอด ขับรถไปตั้งแต่วันเสาร์แล้วพักโรงแรมแถวนั้น เพื่อรีบไปเยี่ยมตอนเช้า หรือบางครั้งก็ออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์

เวลาขับรถออกจากกรุงเทพฯ ไปหนองสาหร่าย เช็กอินโรงแรม เดินทางไปเยี่ยม คุณอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองยังไง

(เงียบคิด) เรารู้สึกอยู่ตลอดว่า ทำไมต้องมาทำอะไรแบบนี้ด้วย เสียดายเวลา เสียดายบุคลากร ในสายงานสอบสวนสืบสวน ทุกคนชื่นชมว่าเขาเป็นพนักงานที่ดี คนในกลุ่มนั้นเก่งๆ หลายคน ช่วงนั้นพวกเขาต้องตื่นมาถอนหญ้าข้างทาง ขุดต้นไม้ หั่นต้นไม้ ทำอะไรไร้สาระไปเรื่อย ตอนหลังถึงเริ่มมีหลักสูตรการฝึก ขี่มอเตอร์ไซค์ ดำน้ำ ฝึกเยอะมาก ถ้ามองในมุมกฎหมาย เขาคงมองว่าเอาคนพวกนี้มาแล้วไม่มีอะไรรองรับ ก็ต้องหาการฝึกมารองรับ

เป้าหมายในการธำรงวินัยคือการทำให้เข็ดหลาบแค่นั้น

ใช่ เคยมีบางคนพูดว่า “ถ้าไม่ทำอะไรกับคนกลุ่มนี้ เดี๋ยวก็เป็นเยี่ยงอย่างให้คนกลุ่มอื่น”

บรรยากาศในการเยี่ยมเป็นยังไงบ้าง

พอเรานั่งตรงข้ามกัน ก็มีคนมาถ่ายรูปไปส่งนาย ถ่ายเสร็จแล้วบอกว่า “โอเคครับ นั่งคุยได้” ถ้าเจอคนดีๆ ก็ดีไป แต่ช่วงเดือนท้ายๆ มีการเปลี่ยนคนคุม คนนั้นจะกร่างๆ หน่อย มาถึงก็ขอยึดมือถือของญาติ แต่เราไม่ให้ยึด ตอบกลับไปว่า “คุณเอากฎหมายอะไรมายึด เขาไม่ใช่นักโทษ พวกเขามาฝึก ตอนนี้คือเวลาเยี่ยมญาติ” คนนั้นโกรธมาก หน้าแดงเลย พูดกลับว่า “ยังอยากจะเยี่ยมอยู่ไหม ถ้าเรื่องเยอะก็ไม่ต้องเยี่ยม” เราบอกว่า “การเยี่ยมเป็นสิทธิ” แล้วยืนยันว่าไม่ให้ยึด เจ้าหน้าที่คนนั้นไปดุแม่ของตำรวจคนหนึ่งด้วย “เอามือถือมานี่!” ตอนแรกเขาตกใจ แล้วหันมามองเรา พอเห็นว่าเราเถียง เขาตะโกนด่าเลย “ไอ้เหี้ย นี่ลูกกู มึงไม่มีลูกไม่มีเมียหรือไง!” ยืนชี้หน้าด่าเลย เราต้องบอกว่า “ใจเย็นค่ะ เดี๋ยวจัดการให้”

ตอนนั้นคนคุมพูดว่า “โอเค เดี๋ยวเห็นดีกัน” เขาสั่งให้คนมาเยี่ยมทั้งหมดไปรวมแถว แล้วพูดดังๆ ให้เราได้ยินว่า “เนื่องจากมีญาติคนนึงเรื่องเยอะ งั้นวันนี้งดเยี่ยมญาติ เปลี่ยนสภาพไปฝึก” แม่แฟน ลูก และเพื่อนแฟนก็อยู่ตรงนั้น เราคิดในใจว่า แฟนต้องด่าเราแน่เลย แต่แฟนเรากลับพูดว่า “กูไม่ฝึก!” เรารู้สึกดีมากเลย เพราะทุกทีต้องโดนหาว่าพวกชอบอ้างสิทธิแล้ว (หัวเราะ) ตำรวจคนอื่นๆ ตรงนั้นก็บอกว่า “ถ้าพี่ไม่ฝึก พวกผมก็ไม่ไป” สุดท้ายคนคุมก็หน้าแห้งแล้วขับมอเตอร์ไซค์ออกไปเลย

ถ้าการธำรงวินัยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในฐานะนักกฎหมาย เราได้ทำอะไรในกลไกปกติได้ไหม

ถ้าใครเป็นเพื่อนเราในเฟซบุ๊ก ช่วงนั้นเราโพสต์ถึงเหตุการณ์นี้เยอะ โพสต์ทีก็มีคนเอาไปฟ้องนาย นายก็บอกผ่านแฟนให้มาบอกเราลบโพสต์ ช่วงนั้นมีแต่คนบอกให้เราเงียบ ทุกคนบอกว่า ถ้าพูดอะไรเยอะ เขาจะเป็นอันตราย เราก็ใช้วิธีการโพสต์โดยคนไม่รู้ว่าเรื่องอะไร คนอ่านก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องโดนเตะตำแหน่ง พอโรมอภิปรายในสภา คนทักมาเยอะเลยว่า “รู้แล้วว่าทำไมช่วงนั้นถึงเครียด” ถ้านอกจากการสื่อสาร ก็มีเรื่องฟ้องคดี แต่มันต้องมีผู้เสียหาย มีวัตถุแห่งคดีในการฟ้อง ก็ต้องเป็นตัวเขา พอเขาออกมาก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะมันจบไปแล้ว

การทำอะไรไม่ได้แบบนี้ ความรู้สึกในแต่ละวันเป็นยังไง

เครียด ตลอดชีวิตของเราตั้งแต่เกิดยันโต เราวางแผนชีวิตตัวเองได้ตลอด ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ไม่เคยมีปัญหาเลย แต่พอเจอเรื่องนี้ เราคอนโทรลชีวิตไม่ได้จนต้องไปหาจิตแพทย์ เราเครียดเพราะเคยคอนโทรลชีวิตได้ พอคอนโทรลไม่ได้ก็เครียด จิตแพทย์เลยให้คำปรึกษาว่า “คิดสั้นๆ พอ วันนี้จะทำอะไร พรุ่งนี้จะทำอะไร วันอาทิตย์จะได้เจอแฟนแล้ว กลับมาทำงาน 5 วันแล้วไปเจอแฟนอีกครั้ง” พอคิดแบบนั้นได้ก็ดีขึ้น แฟนก็พยายามมองบวกว่า ตอนนี้มาฝึก ได้ความรู้ใหม่ๆ เราทั้งสองคนต้องคิดบวก เพราะถ้าคิดลบก็แย่ทั้งคู่ แล้วทะเลาะกัน แค่นี้ก็แย่พอแล้ว อย่าทะเลาะกันอีกเลย

วันแรกๆ ที่แฟนออกมา ชีวิตเป็นยังไงบ้าง

เขาออกมาเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 เราโล่งที่ได้อยู่ด้วยกันสักที เขาก็อยากกลับไปทำงานแล้ว บางคนก็มองเขาว่า อ๋อ ตำรวจที่ไม่จงรักภักดี ชื่อเสียงดังในเรื่องนี้ไปเลย แต่เขาไม่สนใจคำพูดพวกนั้น เราสองคนอยากทำอะไรสักอย่าง แต่หลังจากนั้นไม่นาน พ่อของเราก็เส้นเลือดในสมองแตก ต้องดูแลพ่อที่ติดเตียงอยู่หลายเดือน ตอนนี้หายเป็นปกติแล้ว ช่วงนั้นเลยไม่มีเวลาได้เครียดเรื่องอื่นเลย

สิ่งที่เราเห็นคือ เขาทำงานไปตามหน้าที่ของตัวเอง รับผิดชอบตามปกติ แต่ไม่ทุ่มเทจนลืมให้เวลากับครอบครัว ช่วงเวลา 9 เดือนนั้น เขาคิดได้เยอะมาก เขาเคยทุ่มเทให้งานโดยไม่ได้มองครอบครัว แต่วันที่มีปัญหาจริงๆ คนที่รับเคราะห์ที่สุดคือเมีย ลูก และแม่ของตัวเอง ตอนนี้เขาทำธุรกิจไปด้วย ถ้าเกิดอะไรขึ้นอีกครั้ง เขาคงออกจากงานจริงๆ แล้ว

คุณอยากบอกอะไรกับผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งนี้

เราอยากเจอตัวพวกเขา อยากคุยด้วยว่า รู้ไหมว่าสิ่งที่คุณทำมันทำร้ายครอบครัวของตำรวจขนาดไหน และมันทำร้ายตำรวจที่เคยรักในอาชีพนี้ ทำร้ายบุคลากรของตัวเอง มันคือการทำลายจิตวิญญาณของคนเลย หลายคนกลายเป็นคนอยู่เป็น คนที่อยู่ด้วยจิตวิญญาณ ตั้งใจทำงานจริงๆ มันแทบไม่มีแล้ว เรากำลังทำเรื่องลดน้ำหนัก ก็ชวนคนรอบตัวมาลดน้ำหนัก พอชวนตำรวจ มันกลายเป็นเรื่องตลกที่บางคนพูดว่า “ไม่ลดน้ำหนักหรอก เดี๋ยวโดนคัดตัว” ถ้าหุ่นดีแล้วโดน งั้นก็มีพุงไปเลย ไม่อยากทำงานให้ดี ถ้าเด่นมากเดี๋ยวโดนคัดตัว

ในฐานะเมียตำรวจ ทนายความ และคนที่ทำคดีการเมืองมาหลายปี ถ้าไม่อยากให้เรื่องนี้เงียบหายควรทำยังไง

(เงียบคิด) เราอยากให้ 97 คนออกมาพูด ทุกคนเป็นห่วงโรมว่าจะโดนฟ้องคดี ถ้าโดนจริงๆ พวกเขาก็พร้อมไปเป็นพยานให้

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มที่
https://thematter.co/social/what-happens-in-royal-thai-police/136416