วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 23, 2564

#ชวนอ่าน อารยะขัดขืน: มโนธรรมสำนึกของพลเมืองและสิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐ โดย อ.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์



Direk Jayanama Research Center
17h ·

#ชวนอ่าน อารยะขัดขืน: มโนธรรมสำนึกของพลเมืองและสิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐ
โดย อ.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
.
บทความนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึง “อาระยะขัดขืน” ในฐานะปฏิบัติการของพลเมืองที่มีสิทธิที่จะไม่เชื่อรัฐ และการตั้งคำถามต่อตัวบทกฎหมายที่ทำให้พลเมืองผู้เคารพกฎหมายจำต้องละเมิดกฎหมาย โดยผู้เขียนกล่าวถึงงานชิ้นสำคัญว่าด้วย “อารยะขัดขืน” ของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่เชิญชวนให้เปลี่ยนการให้ความหมายปฏิบัติการดังกล่าวจาก “ดื้อแพ่ง” มาเป็น “อารยะขัดขืน” นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้หยิบยก “จดหมายจากคุกเบอร์มิงแฮม” (Letter from Birmingham Jail) ของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และ“ต้านอำนาจรัฐ” (Resistance to Civil Government) ของเฮนรี่ เดวิด ธอโร มาใช้อภิปรายถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องต่อต้านขัดขืนกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
.
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ http://www.polsci.tu.ac.th/direk/view.aspx?id=496

อารยะขัดขืน: มโนธรรมสำนึกของพลเมืองและสิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐ

การชุมนุมประท้วงที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาและเยาวชนในประเทศไทยซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และล่าสุดรัฐจากเหตุประหารที่นำมาสู่กระแสต่อต้านด้วยอารยะขัดขืนในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ผู้คนในสังคมไทยหันมาให้ความสนใจปฏิบัติการที่เรียกว่า “อารยะขัดขืน” กันอย่างกว้างขวาง (อีกครั้งหนึ่ง) แม้จะมีความพยายามทำความเข้าใจขบวนการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทั้งในไทยและเมียนมาจากหลากหลายมิติ หากจากการสำรวจในเบื้องต้น ผู้เขียนกลับพบว่ายังไม่มีข้อเขียนที่อภิปรายเรื่อง “อารยะขัดขืน” อย่างครอบคลุมและชัดเจนเท่ากับหนังสือในชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รวมทั้งกลุ่มนักวิชาการและนักแปลร่วมกันนำเสนอแก่สังคมไทย เมื่อ พ.ศ. 25491 นอกเหนือไปจากคำอธิบายว่าด้วยความเข้าใจพื้นฐานและมายาคติอันเป็นที่มาของการเชิญชวนให้เปลี่ยนคำเรียกปฏิบัติการดังกล่าวจาก “ดื้อแพ่ง” มาเป็น “อารยะขัดขืน” ในสังคมไทยแล้ว จุดเด่นของหนังสือดังกล่าวคือบทแปลข้อเขียนคลาสสิคของบรรดานักปฏิบัติผู้เป็นที่รู้จักจากปฏิบัติการอารยะขัดขืนในช่วงชีวิตของพวกเขา อันได้แก่ ข้อเขียนเรื่อง “ไครโต” (Crito) ของเพลโต เรื่อง “ต้านอำนาจรัฐ” (Resistance to Civil Government) ของเฮนรี่ เดวิด ธอโร และ “จดหมายจากคุกเบอร์มิงแฮม” (Letter from Birmingham Jail) ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์2

คนทั่วไปมักเข้าใจว่าอารยะขัดขืนและสันติวิธีคือสิ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงมักใช้สองคำนี้สลับกันไปมา ซึ่งก็ไม่ใช่ความเข้าใจที่ผิดนัก แต่หากจะอธิบายให้กระจ่างขึ้น คงต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าอารยะขัดขืนนั้นเป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง (ในบรรดาปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมากมายหลายวิธี)3 ที่มุ่งละเมิดกฎหมายหรือข้อบังคับที่ไม่ชอบธรรม โดยกระทำการอย่างเปิดเผยและโดยสันติวิธี นั่นคือ ไม่ (มุ่งจะ) ก่อให้เกิดอันตรายทางกายภาพต่อผู้คนหรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน ทั้งนี้อารยะขัดขืนวางอยู่บนหลักการพื้นฐานว่ากฎหมายนั้นไม่ได้เท่ากับความถูกต้องชอบธรรมเสมอไป มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ อภิปรายประเด็นดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนใน “จดหมายจากคุกเบอร์มิงแฮม” ของเขาว่า “กฎหมายนั้นมีอยู่สองจำพวก คือ กฎหมายที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม” ขณะที่กฎหมายที่เป็นธรรมนั้นสอดคล้องกับกฎศีลธรรมและช่วยยกระดับความเป็นมนุษย์ กฎหมายที่ขัดแย้งกับกฎศีลธรรมและทำให้ความเป็นมนุษย์เสื่อมทรามลง ย่อมถือว่าไม่เป็นธรรม4 เราทั้งหลายในฐานะพลเมืองของรัฐย่อมมีหน้าที่ต้องเคารพกฎหมายที่เป็นธรรม แต่หากเมื่อรัฐบาลออกกฎหมายหรือข้อบังคับที่ไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ก็ถือเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของประชาชนที่จะไม่เชื่อฟังรัฐด้วยการละเมิดกฎหมายดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่นั้น เฮนรี เดวิด ธอโร เขียนอธิบายถึงเหตุผลที่เราจำเป็นต้องต่อต้านขัดขืนกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไว้อย่างชัดเจนว่า “เราควรเป็นมนุษย์ก่อนสิ่งอื่นใด และเป็นพลเมืองในอันดับถัดไป คงจะไม่ถูกต้องนักที่จะมอบความเคารพให้แก่กฎหมายยิ่งกว่าความถูกต้องเที่ยงธรรม พันธะหน้าที่เพียงหนึ่งเดียวที่ข้าพเจ้ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามก็คือการกระทำในสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่าถูกต้องในทุกกาลสถาน”5

แม้ผู้คนทั่วไปจะตระหนักถึงหลักการการละเมิดกฎหมายโดยสันติวิธีของอารยะขัดขืน หากมักจะเข้าใจผิดหรือละเลยอีกเงื่อนไขสำคัญที่ผู้ใช้อารยะขัดขืนจำต้องยอมรับบทลงโทษของรัฐซึ่งเป็นผลของการละเมิดกฎหมายของตนด้วย ทั้งนี้เพราะการปลุกมโนสำนึกของสาธารณะไม่ได้เกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นจากการยอมรับผลของการละเมิดกฎหมายดังกล่าวด้วย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ อธิบายถึงหลักการดังกล่าวนี้ไว้ว่า “ผู้ละเมิดกฎหมายที่มโนธรรมของเขาบอกว่าไม่เป็นธรรมและพร้อมจะรับการลงโทษคุมขัง เพื่อกระตุ้นความรู้สึกผิดชอบของชุมชนถึงความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้ที่มีความเคารพในกฎหมายอย่างสูงสุด”6 อีกนัยหนึ่ง การอารยะขัดขืนมุ่งจะปลุกมโนสำนึกของสาธารณะให้ตั้งคำถามกับตัวบทกฎหมายที่เป็นเหตุให้พลเมืองผู้เคารพกฎหมายอย่างสูงจำเป็นต้องละเมิดข้อกฎหมายดังกล่าวนั่นเอง

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เดิมทีนั้นสังคมไทยเคยใช้คำเรียกขานซึ่งชวนให้เกิดความเข้าใจผิดต่อปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในรูปแบบเฉพาะดังกล่าวนี้ว่า “การดื้อแพ่ง” ทว่าในหนังสือเล่มนี้ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้เชื้อเชิญให้เราย้อนกลับไปทำความเข้าใจที่มาของคำดังกล่าวว่า ขณะที่ “ดื้อแพ่ง” เป็นคำที่แฝงคติในทางลบเพราะสื่อถึงความพยายาม “จะเอาชนะให้ได้โดยไม่ฟังเหตุผลและทำเสียจนเคยชิน” นั้น คำว่า “อารยะขัดขืน” ซึ่งแปลตรง ๆ มาจากคำ “Civil disobedience” ในภาษาอังกฤษ กลับมุ่งสื่อถึงการ “ไม่ประพฤติตาม ไม่ทำตาม”7 ด้วยวิธีการอันเป็น “อารยะ” (Civil means) ซึ่งคือ ความมีเหตุมีผลและไม่มุ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น เพื่อมุ่งนำสังคมไปสู่ความเป็นอารยะ (Civil ends) ที่มีความเป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น

หนังสือ อารยะขัดขืน
เขียนโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, เพลโต, เฮนรี เดวิด ธอโร, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์, พจนา จันทรสันติ, ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2549 (กรุงเทพ: มูลนิธิโกมลคีมทอง) จำนวน 160 หน้า

อ่านเพิ่มเติม จดหมายจากคุกเบอร์มิงแฮม