วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 25, 2564

7 ปีของพวกมึง กปปส. คสช. ประยุทธ์ และนายมึง "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ทำให้ประเทศชาติ และประชาชนฉิบหายแค่ไหน เคยสำเหนียกบ้างไหม?


สรุปที่มา ‘คดีกบฎ’ ของ 39 กปปส. กลุ่มคนที่มีส่วนทำให้ประเทศเดินมาถึงจุดนี้



24 February 2021 
The MATTER

1. “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” คือสโลแกนของกลุ่มการเมืองชื่อยาว ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ หรือชื่อย่อ กปปส. ที่มีเป้าหมายสำคัญคือขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยอ้างเหตุผลสารพัด ทั้งทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ไปจนถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย

2. การชุมนุมของ กปปส. รวม 204 วัน ถือว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ระหว่างนั้นมีการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งชุมนุมปิดถนน เคลื่อนขบวนไปตามที่ต่างๆ บุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง

โดยช่วงพีกสุดคือการประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ (Shutdown Bangkok) ด้วยการตั้งเวที 7 แห่ง รอบเมืองหลวงของไทย

3. หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของ กปปส. คือขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 จนศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งวันเดียวพร้อมกันได้ทั่วประเทศ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มาตรา 108 วรรคสอง

4. สโลแกน “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้วว่า จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น หากยังไม่ได้ปฏิรูปประเทศตามที่ กปปส.ต้องการ ถือเป็นการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองในอดีต ที่มักถือกันว่าการยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ เป็นการ reset ความขัดแย้งและการช่วงชิงประโยชน์ในทางการเมือง ให้กลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการเลือกตั้งที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

5. การชุมนุมของ กปปส. ยุติลงในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ พร้อมจับกุมแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ กปปส. ไปไว้ในค่ายทหารอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ขึ้นเป็นหัวหน้า คสช.

6. หลังยึดอำนาจไม่ถึงเดือน นสพ.บางกอกโพสต์รายงานว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2557 สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้กล่าวในงานกินข้าวเย็นกับกำนันสุเทพกับผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ที่แปซิฟิคคลับ ริมถนนสุขุมวิทว่า ก่อนรัฐประหารได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านแอพพลิเคชั่น LINE อยู่ตลอด

“และก่อนที่จะมีการประกาศกฏอัยการศึกของกองทัพ (20 พฤษภาคม พ.ศ.2557) ท่าน(ประยุทธ์) ก็บอกผมว่า คุณสุเทพและมวลมหาเหนื่อยมามากแล้ว ต่อจากนี้ไป จะเป็นภาระหน้าที่ของกองทัพ ที่จะรับไม้ต่อ”

7. แม้หลังเป็นข่าว พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกขณะนั้น จะออกมาปฏิเสธว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยพูดคุยกับสุเทพเป็นการส่วนตัว

8. ถึงการชุมนุมของ กปปส.จะยุติลงไปแล้ว พร้อมๆ กับที่ คสช.ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์สำเร็จ มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมคำประกาศว่า “รัฐประหารครั้งนี้ต้องไม่เสียของ”

คู่ขนานกันก็มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาทำหน้าที่รัฐสภาชั่วคราว และตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศ ไม่รวมถึงการจัดทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน แถมในรัฐธรรมนูญยังระบุหมวดปฏิรูปประเทศแยกออกมาเฉพาะ

นัยว่าเพื่อสานต่อการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ทว่าผ่านมาจะครบ 8 ปีแล้ว มีเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้วหนึ่งครั้ง คำถามสำคัญก็คือ ตอนนี้ประเทศได้ปฏิรูปไปแล้วมากน้อยเพียงใด ?

9. กลับมาสู่ชะตากรรมของแกนนำ กปปส. ทั้ง 39 คน คู่ขนานกันที่ ผบ.เหล่าทัพในนาม คสช.ขึ้นมามีอำนาจ คดีความต่างๆ ก็เดินหน้าไป กระทั่งอัยการนำสำนวนไปส่งฟ้องต่อศาลได้ในปี พ.ศ.2561 และศาลอาญารับไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.247/2561

10. เนื้อหาคดีอ้างว่า สุเทพกับพวกรวม 39 คน ร่วมกันกระทำความผิดใน 9 ข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152 จากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 – 1 พฤษภาคม พ.ศ.2557

โดยข้อกล่าวหาที่มีอัตราโทษหนักที่สุด คือ ‘กบฎ’ ตาม ป.อาญา มาตรา 113 ที่มีอัตราโทษคือประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

11. แม้ผลการตัดสินในวันนี้ จะเป็นเพียงศาลชั้นต้น ยังสู้กันได้อีก 2 ศาล คือ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา

ทว่าคดีนี้กลายเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย เพราะอย่างที่รู้กันว่า ในป้จจุบัน แกนนำ กปปส.หลายคนได้กลายมาเป็นบุคคลสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เช่น สุเทพก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล

ไม่รวมถึงมี 3 รัฐมนตรีอยู่ในรายชื่อของจำเลย อาทิ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลฯ, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ, ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ที่หากศาลตัดสินให้มีความผิด ก็อาจพ้นจากตำแหน่งทันที ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 160(7) โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด

12. ในช่วงเย็นของวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564) สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุกอดีตแกนนำ กปปส.รวม 26 คน อาทิ สุเทพ 5 ปี พุทธิพงษ์ 7 ปี ณัฎฐพล 6 ปี 16 เดือน ถาวร 5 ปี

นอกจากนี้ยังตัดสิทธิทางการเมือง อดีตแกนนำ กปปส. อีกหลายคน รวมถึงทยา ทีปสุวรรณ ที่ประกาศตัวจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วย



อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bbc.com/thai/thailand-41804763
https://www.komchadluek.net/news/detail/198515
https://www.posttoday.com/politic/report/302501
https://mgronline.com/politics/detail/9570000071139
https://www.posttoday.com/politic/news/302406
https://www.thairath.co.th/news/politic/2038801
https://www.matichon.co.th/politics/news_2594107
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/924176
https://www.matichon.co.th/politics/news_2594213
https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000018530

#Recap #กปปส #TheMATTER