วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 28, 2564

แก้รัฐธรรมนูญไปถึงไหน "ได้คืบ ถอยไปหนี่งศอก"


ได้คืบ ถอยไปหนี่งศอก การแก้รัฐธรรมนูญผ่านวาระสองมาแล้ว หลังการประชุมร่วมสองสภาเมื่อ ๒๔ และ ๒๕ ก.พ. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามที่พรรคฝ่ายรัฐบาลชงและ สว.เท ยกเว้นประเด็นที่ สว.ลิ่วล้อตู่พยายาม ห้ามแตะพระราชอำนาจกษัตริย์ ๓๘ มาตรา

เรื่องนั้นคนเสนอ (สมชาย แสวงการ) มั่วมาก อำนาจเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นพิธีการหรือเพียงสัญญลักษณ์ในทางปฏิบัติ ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดทำแล้วให้ประมุขรับรองเท่านั้น ขืนยกไปให้กษัตริย์จัดทำเองทั้งหมด ยุ่งตายห่ คนที่เป็นพระเจ้าอยู่หัวเองนั่นละจะปวดหัว

ขอนำเอาคำอธิบายของ Atukkit Sawangsuk ซึ่งยกเป็นตัวอย่างไว้เรื่องอำนาจยุบสภา ตามมาตรา ๑๐๓ “ต้องตราพระราชกฤษฎีกา ให้ประมุขออกพระราชโองการ โดยนายกฯ ลงนามรับสนอง...ไม่เคยมีที่กษัตริย์ประกาศยุบสภาเอง

หรือนายกฯ ทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกายุบสภา แล้วกษัตริย์ไม่ยอมลงพระปรมาภิไธย” ไม่เช่นนั้นกษัตริย์จะต้องทรงเตรียมงานเพื่อการยุบสภา คอยติดตามการประชุมรัฐสภา เข้าไปพัวพันการอภิปรายกรรมาธิการ กินเวลาเกือบทั้งปี ไม่มีเวลาพอเสด็จ โคกหนองนา

อธึกกิตบอกว่าแบบนั้น ไม่ใช่ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เป็นยิ่งกว่าผู้ว่าฯ ซีอีโอ ของทักษิณ ถ้าเป็นจริงต้องเรียกกษัตริย์ซีอีโอ สมชายมาช้าไปหน่อย น่าจะเสนอในสมัย ร.๙ เพราะทรงปรีชาสามารถมากในทุกๆ แขนง ทุกสิ่งทุกอย่าง

สรุปที่ได้มาคืบหนึ่งจากวาระสอง ก็คือยอมให้มี สสร.จากการเลือกตั้ง ๒๐๐ คน แต่ให้แบ่งเขตเลือกตั้ง ๑ เขตเลือก ๑ คน และไม่ห้ามแม่น้ำ ๕ สายของ คสช.มาลงสมัคร ผลได้เห็นจะจะขณะนี้ก็คือ สว.ชุดตู่ตั้งนี่มีสิทธิเข้าไปเป็น สสร.กันพร้อมหน้า

อีกเรื่องที่ฝ่ายค้านพยายามอภิปรายแจกแจงว่าหากเอาจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (เขตใหญ่ ๗๑ เขต ไม่ใช่เขตเล็ก ๒๐๐ เขต) “จะทำให้ซื้อเสียงยาก” แต่ถ้าเขตเล็ก จะทำให้กลุ่มการเมืองเดิมๆ กำหนดคน (ของตน)เป็นตัวแทนร่างทรง” ไปลง

อีกอย่าง ในความเห็นนักรัฐศาสตร์จุฬาฯ ศิริพรรณ นกสวน สวัสดี “ระบุปัญหาของระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ใช้เสียงมากธรรมดาไว้ว่า ระบบนี้จะตัดโอกาสพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือโอกาสของคนกลุ่มน้อย ทำให้ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งยาก”

และการแก้ไขมาตรา ๒๕๖ เกี่ยวกับการลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญนั้น ฝ่ายค้านพยายามอภิปรายว่า การเสนอให้มติผ่านร่างวาระแรกและสาม เป็นสองในสามนั้นไม่จำเป็น “ให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาก็เพียงพอแล้ว”

สุดท้ายเมื่อโหวตลงมติ เสียง สว.ตั้งแง่ไม่เล่นด้วยกับฝ่ายค้าน รวมกับพรรครัฐบาลเป็น ๔๔๑ เสียง ตีตกข้อเสนอของฝ่ายค้าน มาตรา ๒๕๖ จึงกลับไปเป็นตามร่างเดิม คือใช้เกณฑ์นับคะแนน ๓ ใน ๕ (๔๕๐ เสียง) ของทั้งสองสภาจึงจะผ่านได้

แล้วยังตั้งเงื่อนไขพิเศษที่จะผ่านร่างแก้ไข รธน.ได้ ต้องไม่แตะ หมวดหนึ่งบททั่วไป (สถานะแห่งรัฐ) และหมวดสอง (พระมหากษัตริย์) อีกทั้งการผ่านร่างฯ ในวาระสาม ต้องมีเสียง สว.ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ เห็นชอบ กับเสียง ส.ส.อย่างน้อย ๒๐%

เท่ากับว่าข้อเสนอต่างๆ จากภาคประชาชน (ครป. และไอลอว์ เป็นอาทิ) ไม่ได้รับความเห็นพ้องโดยเสียงข้างมาก ของพรรครัฐบาลและ สว.ตู่ตั้ง ทั้งสิ้น ยิ่งข้อเรียกร้องของคณะราษฎรสามข้อ อันรวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ได้รับการเหลียวแล


มิหนำซ้ำบรรดาแกนนำคณะราษฎรรุ่นบุกเบิกสี่คนที่ยังถูกควบคุมตัว ถูกศาลอุทธรณ์ปฏิเสธให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภา แม้นว่าคำร้องอุทธรณ์ครั้งนี้ทนายชี้ว่า ควรได้รับเหมือนกับแกนนำ กปปส. ๘ คนที่ได้รับการปล่อยตัวอย่างง่ายดาย

ศาลก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่รู้ไม่ชี้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ คำสั่งปล่อยตัว กปปส. โดยไม่ให้เหตุผลที่สนองตรงกับคำร้องที่ตีตก ไม่มีทั้งชื่อและลายเซ็นต์ของผู้พิพากษาที่สั่งการ ผิดทำนองคลองธรรม กลายเป็นคำสั่งอสูรประทับตราแผ่นดิน

(https://ilaw.or.th/node/5829, https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10165106508220551-R, https://www.facebook.com/thestandardth/posts/2688934288066113-R และ https://ilaw.or.th/node/5545)