วันพุธ, สิงหาคม 19, 2563

อ.สาวตรี ชำแหละคดี 112 และ พรบ.คอมฯ ของคุณบุปผา ที่เพิ่งตัดสินไป

.....
1.มาตรา 112 คืออะไร?

มาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

มาตรา 112 บางครั้งถูกเรียกย่อๆ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่มีความหมายกว้างกว่าเนื้อหาจริงๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ จึงใช้คำเรียก มาตรา 112 อย่างย่อว่า “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” แทน ซึ่งเป็นความหมายที่ใกล้เคียงกับองค์ประกอบจริงๆ ตามกฎหมายมากกว่า



ที่มา 10 คำถาม-คำตอบน่ารู้เกี่ยวกับมาตรา 112
ILaw
ooo


สาวตรี สุขศรี
3h ·

นักศึกษาคะ..ในฐานะนักกฎหมายเรามาตื่นตระหนกกันค่ะ
มิตรสหายท่านหนึ่งกรุณาส่งบันทึกการเข้าฟัง “คำพิพากษา” คดีหนึ่งมา ชวนให้อาจารย์ช่วยและขบคิดหน่อย.. อาจารย์อ่านแล้ว ก็ให้คิดว่า หากตัวคำพิพากษาทางการออกมา ก็ ควรต้องชำแหละ แยกแยะ และแหกหัก ปักอก อย่างเป็นทางการลงในวารสารทางกฎหมายเลยทีเดียว แต่เบื้องต้นขอเรียกน้ำย่อยในนี้ก่อน สำหรับคดี 112 และ พรบ.คอมฯ ของคุณบุปผา ที่เพิ่งตัดสินไปเมื่อเช้านี้ ซึ่งสุดท้ายศาลยกฟ้อง 112 แต่ลง มาตรา 14(3) พรบ.คอมฯ อ่ะ งงกันไป
แน่นนอนค่ะว่านศ.ควรต้องงง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครเคยลงเรียนวิชากม.เกี่ยวอาชญากรรมคอมพิวเตอร์กับอาจารย์ แต่จะงงยิ่งกว่าอีก เพราะงานนี้มีหลายประเด็น
1) ศาลคดีนี้ตีความว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่เพียง 4 ตำแหน่ง ที่ระบุไว้ชัดแจ้ง (ไม่มีอะไรต้องตีความเลย) เท่านั้น และคราวนี้ ศาลลากเม้าท์ยาวคลุมดำไปถึง “พระบรมวงศานุวงศ์” ทุกพระองค์ เรียกว่ายัน ลูก หลาน เหลน โหลน ทั้งทั้งที่ ๆ มาตรานี้ เป็นกฎหมายอาญา และมีโทษสูงมากต้องตีความโดยเคร่งครัด แต่ศาลนี้กลับตีความกว้างอย่างไม่บันยะบันยังยั้งมือเลย ซึ่งขัดกับหลักการใหญ่ที่สุดแห่งกม.อาญา
2) ทั้งทั้งที่ๆ เคยมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ไว้อย่างชัดเจนมาแล้วตั้งแต่ปี 2532 ว่า คำว่า “รัชทายาท” ตามมาตรา 112 นั้น ต้องตีความโดยใช้ความหมายใน “กฎมณเฑียรบาล” จึงต้องหมายเฉพาะ คนที่กษัตริย์แต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้เป็นผู้สืบทอดบัลลังก์เท่านั้น ทั้งยังเคยมีคำพิพากษาคดีก่อนหน้านี้ ชี้ไว้ทำนองเดียวกัน แต่ คำพิพากษาคดีนี้ ก็ยืนยันว่าข้าจะใช้ความหมายตาม “พจนานุกรม” เขียนเหตุผลด้วยนะ ว่าไม่ใช้กฎมณเฑียรบาล แต่จะใช้อันนี้ จะทำไม..สุดจัดข่ะ บอกเลอ
3) ยกฟ้อง มาตรา 112 เพราะเหตุว่า จำเลย “ขาดเจตนา” แต่พิพากษาลงโทษตามมาตรา 14(3) พรบ.คอมพิวเตอร์ จ้าาาาาาา...ซึ่งโดยหลักกฎหมายแล้ว “เป็นไปไม่ได้” เด็ดขาด !! เนื่องจาก 14(3) นี้ ไม่ได้ดำรงความผิดอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองลอยๆ แต่มันต้องเชื่อมโยงกลับไปยังความผิดที่อยู่ในหมวดความมั่นคง ในประมวลอาญาเท่านั้น ซึ่งเมื่อศาลชี้ชัดว่า จำเลยไม่ผิดมาตรา 112 (ซึ่งเป็นตัวเชื่อมของคดีนี้) เช่นนี้แล้ว จำเลยจะผิดมาตรา 14(3) จาก “ความผิดมูลฐาน” อะไรคะ ฮึ ??
#ใครว่ามีแต่อัยการเท่านั้นที่ต้องถูกชำแหละ #ศาลไทยก็ไม่แพ้กัน

(https://www.facebook.com/ssuksri/posts/177130827256928)
....
iLaw
7h ·

ศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษา คดีที่ ‘บุปผา’ (นามสมมติ) ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยพิพากษายกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 เพราะจำเลยขาดเจตนา แต่ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยให้จำคุกรวม 78 เดือน แต่รอลงอาญา

.
18 สิงหาคม 2563 ห้องพิจารณาคดีที่ 14 ศาลจังหวัดพัทยา มีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ ‘บุปผา’ จากการโพสต์เฟซบุ๊กถึงพระบรมวงศานุวงศ์รวม 13 ข้อความ ก่อนหน้านี้คดีนี้เคยพิจารณาที่ศาลทหารชลบุรี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าจนกระทั่งย้ายกลับมาพิจารณาที่ศาลปกติ มีการสืบพยานเสร็จสิ้นโดยศาลสั่งให้พิจารณาคดีลับ ทำให้ผู้สังเกตการณ์ไปติดตามการพิจารณาคดีไม่ได้

ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งให้ผู้ที่มาคดีอื่น หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณา แต่เมื่อผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีก็ได้แจ้งว่า ให้สามารถอยู่ฟ้งได้ และแจ้งว่า คำพิพากษาคดีนี้ผ่านการตรวจจากอธิบดีผู้พิพากษาภาคแล้ว

คำพิพากษาในคดีนี้สรุปได้ว่า วันและเวลาระหว่างปี 2557-2559 มีผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพตามที่ถูกฟ้อง จำนวน 13 ข้อความ ส่วนจำเลยเคยเข้ารักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เป็นเวลา 131 วัน โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์

ในประเด็นข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ ศาลตีความว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่พระมหากษัตริย์ พระราชินี แต่คุ้มครองไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์นอกจากจะหมายถึงพระมหากษัตริย์และพระราชินีแล้ว ย่อมหมายถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ หากละเมิดย่อมมีความผิดตามกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม

มาตรา 112 มีเพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกล่วงละเมิดด้วยถ้อยคำใดๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม คำว่า "รัชทายาท" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึงผู้สืบราชสมบัติ แต่ไม่ได้ระบุถึงสิทธิในการสืบราชสมบัติแต่อย่างใด รัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่ได้หมายความถึงเฉพาะพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

ประมวลกฎหมายอาญาได้แยกความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท ออกจากกันโดยชัดแจ้ง มีความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดา หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งอยู่คนละหมวด และมีความผิดฐานดูหมิ่นประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ แต่มาตรา 112 อยู่ในหมวด "ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" ที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงหมายความว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ อยู่ในความหมายของรัชทายาท แต่ไม่ก้าวล่วงไปวินิจฉัยคำว่า "พระรัชทายาท" ตามกฎมณเฑียรบาล

การตีความเป็นอำนาจของศาล ไม่ควรตีความเช่นเดียวกับความผิดต่อบุคคลธรรมดา โดยศาลตีความตามหลักนิติธรรม และราชประเพณี

พยานโจทก์คนหนึ่งเบิกความว่า เมื่ออ่านข้อความแล้วเห็นว่า เป็นการโพสต์ถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีด้วยความหวังดี แต่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม

การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็นความผิดต่อเมื่อกระทำโดยเจตนาเท่านั้น เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 และ 20 มกราคม 2559 พบว่าจำเลยนำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ตั้งเป็นภาพประจำตัวบนเฟซบุ๊ก ต่อมาก็ได้ใช้ภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เป็นภาพประจำตัวด้วย ซึ่งพี่สาวของจำเลยเบิกความว่า จำเลยเคยนำพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศนุวงศ์ตั้งเป็นภาพประจำตัวบนแอปพลิเคชันไลน์และเฟซบุ๊ก

บุคคลที่จะนำภาพของบุคคลอื่นเป็นภาพประจำตัวจะต้องรู้สึกชื่นชมหรือชื่นชอบบุคลนั้น ระหว่างถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จำเลยนำพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งเป็นภาพประจำตัวหลายครั้ง และแชร์ภาพจากเพจอื่น แสดงถึงความจงรักภักดี ส่วนข้อความอื่นๆ ที่เป็นเชิงตำหนิการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ หรือพระจริยวัตร วิญญูชนเมื่อได้รับทราบข้อความตามที่จำเลยโพสต์ย่อมไม่เชื่อ เพราะเห็นแล้วว่า พระบรมวงศานุวงศ์ต่างปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยปราศจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง มีพระจริยวัตรงดงาม เป็นศูนย์รวมพลังความสามัคคีของคนในชาติ

พี่สาวของจำเลยเบิกความว่า เมื่อไปเยี่ยมจำเลยระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี จำเลยบอกว่า ตนเองเป็นสายลับของราชวงศ์ เห็นว่าจำเลยไม่ปกติ จึงขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เจือสมกับข้อเท็จจริงที่จิตแพทย์รายงานว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท ชนิดหวาดระแวง (paranoid schizophrenia continuous) มีความหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เมื่อโอนคดีจากศาลทหารมายังศาลนี้ แพทย์ก็ยังเบิกความว่า จำเลยเป็นโรคจิตเภท ชนิดหวาดระแวง มีอาการหลงผิด บิดเบือนไปจากความเป็นจริง คิดว่าตนเองเป็นทายาทของรัชกาลที่ 5 และสามารถติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีได้

จากคำให้การของแพทย์ เชื่อได้ว่า จำเลยเริ่มป่วยตั้งแต่ปี 2557 และอาการรุนแรงในปี 2559 สอดคล้องกับช่วงเวลาการโพสต์ แม้แพทย์จะเป็นพยานฝ่ายจำเลย แต่ก็เป็นพยานคนกลาง ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใด เช่นเดียวกับที่พนักงานสอบสวนเบิกความว่า จากการสอบคำให้การจำเลย จำเลยรับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์ แต่ทำไปเพราะเป็นผู้อารักขาพระราชวงศ์ น่าเชื่อว่า จำเลยโพสต์ข้อความเพราะอาการป่วยทางจิต จึงตำหนิด้วยความประสงค์ดี แต่ใช้คำไม่เหมาะสม ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59

สำหรับข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เห็นว่า จำเลยเป็นผู้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลเท็จ คนอ่านย่อมไม่เชื่อว่าเป็นไปตามที่จำเลยโพสต์ จึงไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก แต่เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 14 (3)

แพทย์เบิกความว่า จำเลยมีอาการหลงผิด ไม่อาจควบคุมการกระทำของตนเอง มีความผิดปกติในความคิดและความรับรู้เกี่ยวกับราชวงศ์ แต่ยังพอควบคุมตนเองในเรื่องทั่วไปได้ จำเลยจึงมีความรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง จึงต้องรับผิดสำหรับการกระทำนั้น แม้ระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีการแก้ไขใหม่ แต่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงไม่นำมาใช้ด้วย

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการกระทำหลายกรรม ให้ลงโทษจำคุกทุกกรรม กรรมละ 6 เดือน รวม 13 กรรม เป็นเวลา 78 เดือน รอการลงโทษ 3 ปี และรายงานตัวคุมประพฤติ 6 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตอย่างต่อเนื่อง โทรศัพท์และซิมที่ใช้กระทำความผิดให้ริบ

อ่านรายละเอียดคดีนี้ย้อนหลังได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/769#progress_of_case

รู้จักเรื่องราวของ "บุปผา" ผู้ป่วยทางจิตเมื่อต้องขึ้นศาลทหาร ได้ที่ https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10160930594165551/ 

(https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10164269986040551/)