(Excerpt)
เมื่อสักปีสองปีก่อน อาจารย์ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งออกมา อาจารย์บอกว่าสิ่งที่เรียกว่าอภิสิทธิ์ปลอดความผิด ก่อตัวมาพร้อมกับความเป็นรัฐสมัยใหม่
ครับผม ตัวนี้มันคือ impunity คำที่คนไทยคุ้นเคยกว่าคือ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ผมนึกคำที่มันกะทัดรัดไม่ออก ผมลองเสนอ ‘อภิสิทธิ์ปลอดความผิด’ เพราะปลอดความผิดมันตรงกับคำว่า impunity แล้วถ้าพูดให้เป็นภาษาไทย มันเป็นอภิสิทธิ์ที่พิเศษใช่ไหมครับ มันเป็นอภิสิทธิ์ เป็นสิทธิของอภิชน เป็นสิทธิพิเศษที่บางคนเท่านั้นที่จะได้ คำนี้ไม่ติดตลาด ไม่เป็นไร แต่ผมต้องการให้มันชัดกว่าคำว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพราะผมว่ามันมากกว่าวัฒนธรรมด้วยนะ เผลอๆ มันเป็นส่วนหนึ่งของ Rule of Law หรือนิติธรรมแบบไทยๆ
ผมยังเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ถ้ากลับไปที่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่ มันรวมถึงการเปลี่ยนในแง่ของระบบกฎหมาย ระบอบกฎหมาย วัฒนธรรมทางกฎหมาย ผมไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี หรือถ้าจะเรียกอีกอย่าง อาจจะไม่ค่อยถูกสักเท่าไหร่ แต่อาจจะสื่อสารได้ง่ายกว่า ‘Rule of Law แบบไทยๆ’ เหตุที่คำพูดนี้ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะ Rule of Law มีความหมาย มีคำจำกัดความแบบหนึ่ง ซึ่งมันทำให้เติมคำว่า ‘แบบไทยๆ’ เข้าไปยาก อันนี้ขอไม่อธิบายนะ แต่ว่าถ้าจะเข้าใจได้ดีกว่าก็ใช้คำว่า Rule of Law แบบไทยๆ
ผมคิดว่า impunity เป็นส่วนหนึ่งของ Rule of Law แบบไทยๆ เพราะการเริ่มต้นสถาปนาระบอบกฎหมายสมัยใหม่ของเรา นักประวัติศาสตร์กฎหมายที่ศึกษากันมา ผมว่ายังทำกันน้อยมาก เขาก็พยายามเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายมันติดกรอบบางอย่าง คือ เขาศึกษาแค่กำเนิดการทำกฎหมายให้เป็นระบบประมวลกฎหมายสมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน และประชาชนรับรู้ได้ทั่วไป ซึ่งแค่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่นะ เป็นการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่ที่ใหญ่จริง อันนี้จริง แต่ที่น่าสนใจคือทำไมหยุดแค่นี้ล่ะ Rule of Law ที่เราพูดกันนี่มีความหมายที่สำคัญในแง่อื่นอีก แต่เรากลับไม่เคยสนใจว่า มีวิวัฒนาการในเรื่องของ legal equality หรือเปล่า
วิวัฒนาการทางระบบศาลล่ะ เปลี่ยนนะ พวกนี้ไม่ใช่ไม่เปลี่ยน แต่เปลี่ยนมามากน้อยขนาดไหน มีมรดกของเดิมอยู่มากน้อยขนาดไหน ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่ในด้านกฎหมายเกิดขึ้นภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คุณลองนึกดูนะ ความเท่าเทียมกันในทางกฎหมายสามารถสถาปนาได้หรือภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใช่ไหมครับ
แปลว่าต้องมีคนจำนวนหนึ่งแหละที่ถืออภิสิทธิ์อะไรบางอย่างในทางกฎหมาย ถือเป็นเรื่องปกติ และถ้าลงไปศึกษาในรายละเอียด ก็จะพบว่ามันมีอยู่จริง ตั้งแต่หมดยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไป มันได้เปลี่ยนแปลงหรือเปล่า หมดไปจริงหรือเปล่า เช่น ตำรากฎหมายหลายเล่มที่พูดถึง legal equality เพียงหนึ่งประโยคเท่านั้นเองว่า ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยกเลิกระบบทาสไพร่ ประชาชนไทยก็เท่าเทียมด้านกฎหมายหมด มัน simple ขนาดนั้นเชียวเหรอ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหมครับ
นี่เป็นคำถามที่ผมยังไม่อยากตอบตอนนี้ ตอนที่เราคุยกันนี้ เพราะว่าขอเวลาอีกนิด จนกว่าจะถึงตอนที่ต้องบรรยาย ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะทำตรงนี้เสร็จไหมนะ แต่อย่างน้อยคำถามของผมน่าจะชัดเจนขึ้น มีจุดที่ฝากให้พวกเราไปคิดต่อได้ชัดเจนขึ้น
ผมคิดว่าที่สำคัญ มันไม่ใช่เรื่องของอภิสิทธิ์ชนบางคน ผมคิดว่ารัฐไทยได้รับอภิสิทธิ์อันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเจ้าหรือไม่เป็นเจ้า แต่รัฐไทยได้อภิสิทธิ์อันนี้ และตรงนี้ต้องอธิบาย นักกฎหมายจำนวนมากอธิบายแค่ว่า… นอกเรื่องนิด พวกคุณมีใครเรียนนิติฯ หรือเปล่า
ไม่มีเลยครับ
ไม่มีเลยเหรอ – โอเค
นักกฎหมายไทยอธิบายเพียงแค่ว่า กฎหมายสมัยใหม่ของไทยไปยึดตามหลักทฤษฎีของสำนักกฎหมายบ้านเมือง (legal positivism) มาตั้งแต่สมัยกรมหลวงราชบุรีฯ อันนั้นผมไม่เถียง ว่ามีหลักฐานขนาดนั้นจริง แต่ผมชักสงสัยแล้วว่า มันจะไม่ใช่แค่นั้น อาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) เคยเขียนไว้ในหนังสือของแกว่ามีข้อ argument ได้หลายข้อมากว่า คุณโทษสำนักกฎหมายบ้านเมืองไม่ได้ เพราะสำนักกฎหมายบ้านเมืองเองมันไม่ได้มีแค่นั้น เราหยิบมาแค่ส่วนเดียว ผมเห็นว่าส่วนที่หยิบมาส่วนเดียวมันสอดคล้องต้องกันกับวัฒนธรรมกฎหมายของเราที่มีอยู่เดิม เหตุที่เรารับมาแค่ส่วนเดียวก็เพราะมันสอดคล้องกับสิ่งที่เรามีอยู่เดิม ก็คือให้อำนาจและให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ
กฎหมายของเราสมัยก่อนไม่ได้เท่าเทียมกัน คุณให้อำนาจให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ เพราะรัฐเป็นผู้มีบุญมากกว่า รัฐเป็นผู้ประศาสน์ความเมตตากรุณา ช่วยปกครองให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข แม้แต่ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบันนี้ก็เถอะ เราไม่ได้มองรัฐแบบที่ชาวตะวันตกเขามองกัน ‘Absolute Power Corrupts Absolutely’ อันนั้นฝรั้งฝรั่ง แต่แบบไทยๆ ของเรา ปรัชญากฎหมายแบบพุทธ คือ สะท้อนบุญญาบารมีที่สูงสุดใช่ไหมครับ ถ้าคนไม่มีบุญพอ เป็นกษัตริย์ไม่ได้ แล้วหากกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่หรือรัฐที่ยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน นั่นแสดงว่ารัฐไม่ได้ corrupt เลย absolute power แปลว่ารัฐ absolute virtue ด้วยซ้ำไป เป็นคุณงามความดีที่สูงสุดด้วยซ้ำไป อันนั้นคือรากปรัชญาการเมืองของไทยแต่เดิม
ทีนี้ จู่ๆ มันจะเปลี่ยนทันทีเหรอ มันไม่เปลี่ยนทันทีหรอก เพราะรัฐอยู่ในสถานะที่คนยินดีจะรับฟัง เชื่อฟัง แน่นอนในปัจจุบัน ผมไม่ได้บอกว่า ในการเปลี่ยนแปลงรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มันเป็นอย่างเดิมหมดนะ แต่นั่นคือราก และกฎหมายเกิดขึ้นในช่วงภาวะที่รัฐเป็นอย่างนั้น หรือพูดให้ชัด ก็คือกฎหมายเกิดขึ้นในภาวะที่รัฐถือว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น เขาเป็นผู้มีบุญ มาช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุข แล้วเขาต้องการเหรอ สิ่งที่เรียกว่า Rule of Law ที่จะมาตรวจสอบอำนาจของเขา
Rule of Law มีนัยยะที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องการเช็คอำนาจรัฐ อย่าให้แทรกแซง อย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากนัก ของไทยจะกลับกันนะ ที่ฝรั่งเขาพูดถึงในแง่กฎหมาย คือ การปกป้องปัจเจกชน แต่ปัจเจกชนในบ้านเรารวมถึงในเอเชียหลายๆ ประเทศ มันคนละเรื่อง คนละประวัติศาสตร์ ในแง่นี้เราอาจจะพูดได้ว่า Rule of Law ของเรายังไม่เป็น Rule of Law เรายังเฮงๆ ซวยๆ ครึ่งๆ กลางๆ เหมือนกับประชาธิปไตย หรือเราจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า เรามีประวัติศาสตร์ต่างกับโลกตะวันตก
พูดง่ายๆ เราก็เลยใช้หลัก Rule of Law มา judge มาตัดสินทั้งหมดคงไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าผมต้องยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมรับข้อบกพร่อง หรือแปลว่าผมไม่สามารถตั้งความปรารถนาว่า เราน่าจะมี Rule of Law ที่ดีกว่านี้ อันนี้ไม่เกี่ยว แต่อธิบายในทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องทำความเข้าใจว่าฐานของเราเป็นแบบนี้ ประวัติศาสตร์ของเราเป็นอย่างนี้ นี่คือภาวะที่เราเป็น แล้วอะไรที่เราไม่ชอบ ไม่ต้องการ ก็ผลักดันให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ
ฐานที่ผมคิดคือ ต้องตระหนักว่าประวัติศาสตร์ของเราเป็นมาอย่างไร จึงทำให้เราเป็นอยู่กันอย่างทุกวันนี้ แล้วค่อยว่ากันว่าเราปรารถนาแบบไหน แล้วก็เดินหน้ากันต่อไป
ของไทยในแง่หนึ่งก็น่าสนใจเหมือนกันนะ เนื่องจากเราไม่ใช้ Rule of Law ทับศัพท์ในภาษาอังกฤษ เราใช้คำว่าหลักนิติธรรม ถึงตรงนี้ สิ่งที่ผมพยายามทำนะ ผมจะอธิบาย Rule of Law ให้เห็นว่า ของไทยใช้ไม่เหมือนคนอื่น แล้วคุณจะพบว่า คนไทยใช้หลักนิติธรรมในความหมายที่ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ Rule of Law คุณจะเจอว่าหลักนิติธรรมอาจจะรวมถึงอภิสิทธิ์ของรัฐด้วย
ทำไมประเด็นกฎหมาย 112 จึงไม่สามารถเป็นประตูพาอาจารย์ไปสู่คำตอบที่อาจารย์ตั้งเฟรมไว้ ตั้งกรอบคำถามไว้ อาจารย์ค้นพบประตูบานอื่นที่มันสามารถตอบได้ไหมครับ
ผมคิดว่ากฎหมายว่าด้วยโหมดความมั่นคงภายในทั้งหมด ไม่ใช่แค่ 112
112 มีมานานแล้วนะ แต่ระดับการ apply ระดับการ enforce มันเปลี่ยนไปเยอะมาก มีวิวัฒนาการมาตลอด เอาเป็นว่ามันขึ้นๆ ลงๆ เปลี่ยนแปลงหลายยกมาก กฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ยุคประมวลกฎหมายอาญาสมัยแรก ร.ศ. 127 หรือ พ.ศ. 2451 แต่ยุคนั้นไม่มีปัญหาการใช้ 112 เป็นประเด็นให้เราศึกษามากพอ ผมต้องอธิบายว่าปัจจุบันมันยังเป็นภาพสะท้อนความอัปลักษณ์การใช้กฎหมายอย่างผิด และละเมิดต่อหลัก Rule of Law ผมต้องใช้คำนี้นะ เพราะถ้าใช้คำว่า ‘นิติธรรมแบบไทยๆ’ ผมไม่แน่ใจว่าละเมิดหรือเปล่า แต่ถ้าหลักการสากล ที่ใครทั้งโลกเขาใช้กัน อันนี้มันผิดแน่ๆ
เมื่อยุคนั้นไม่มีปัญหาการใช้ 112 ให้เป็นประเด็นให้เราศึกษามากพอ มันจึงไม่สามารถทำให้ผมตอบคำถาม หรือเห็นความเกี่ยวเนื่อง เห็นมรดกของระบบกฎหมายก่อนยุคสมัยใหม่ได้ ผมกำลังคิดว่าผมน่าจะ อันนี้ไม่แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์นะ น่าจะต้องดูจุดอื่น เช่น อภิสิทธิ์ของรัฐที่กว้างกว่า 112 แล้วอภิสิทธิ์ของรัฐมากับอะไรล่ะ ก็มากับการใช้กฎอัยการศึก มากับกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ใช่นิรโทษกรรมทักษิณ ไม่ใช่นิรโทษกรรมพวกผมสมัย 6 ตุลาฯ แต่หมายถึงรัฐประหารทุกครั้งที่มีการนิรโทษกรรม อันนั้นแหละเป็นอภิสิทธิ์ของรัฐใช่ไหมครับ หรือต้องไปดูตัวคอนเซ็ปต์ ของ Rule of Law ที่ไม่ตรงกับคำว่า ‘หลักนิติธรรม’ ซึ่งพวกนี้มันไม่ได้ต่อสายโดยตรงกับเรื่อง 112 อันนี้คือความหมายที่ว่า 112 มันอาจจะไม่ได้เป็นประตูที่ไขคำตอบที่ผมต้องการทั้งหมด ต้องดูประตูอื่นด้วย
อภิสิทธิ์ของรัฐไทยเป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ?
ซึ่งอันนี้แหละมันผิดปกติ คุณรัฐประหารแล้วนิรโทษกรรมตัวเองจนคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แปลว่าการละเมิด Rule of Law มีอยู่เป็นปกติ จนเราไม่รู้สึกอะไรแล้ว แล้วเป็นการละเมิดที่ใหญ่มาก อันนี้ไม่ใช่การละเมิดเล็กๆ น้อยๆ ใหญ่เสียยิ่งกว่าการไปล่าสัตว์ ไม่ว่าเขาจะได้รับโทษมากน้อย สังคมจะข้องใจยังไงก็แล้วแต่นะ ใหญ่กว่านั้นนะ คุณใช้อาวุธโค่นรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครอง คนที่ล้มล้างการปกครองตัวจริง คือ คสช. แต่เขาล้างการล้มล้างการปกครองแล้วว่าเป็นสิ่งที่สะอาด ทำซะจนเป็นเรื่องปกติ อันนี้แปลว่าสังคมไทยผิดปกติแล้วในแง่ Rule of Law ผิดปกติมาไกลโขด้วย เราถึงได้รู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา
และคนที่ล้มล้างการปกครอง ละเมิด Rule of Law มาเที่ยวฟ้องจับผิดคนอื่นว่าคุณละเมิดกฎหมาย นี่แปลว่าพวกเขาอยู่เหนือกฎหมาย การที่พวกเขาอยู่เหนือกฎหมาย แปลว่าทุกครั้งที่มีการใช้กฎอัยการศึก ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร ประเทศไทยมิได้มีกฎหมายเป็นใหญ่ กฎหมายเป็นใหญ่ไม่ใช่ในความหมายที่เขาใช้กันว่า เขาออกกฎหมายแล้วทุกคนต้องทำตาม เพราะการพูดแบบนั้น กฎหมายไม่ได้เป็นใหญ่ พวกเขายังทำตัวเหนือกฎหมายอยู่ กฎหมายเป็นใหญ่แปลว่า ทุกคน-ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหนในประเทศไทยต้องอยู่ใต้กฎหมาย รวมทั้งทหารด้วย เขารัฐประหาร เขาต้องถูกจับข้อหากบฏ มีความผิด ถูกลงโทษตามกฎหมายที่กำหนดไว้ เพราะกฎหมายเป็นใหญ่
นี่กลายเป็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งสามารถสถาปนาตัวเองชั่วคราวให้ขึ้นเป็นใหญ่กว่ากฎหมาย และเที่ยวบัญญัติกฎหมายให้คนอื่นทำตามกฎหมาย นี่เพราะพวกเขาใหญ่กว่ากฎหมาย นี่ไม่ใช่ Rule of Law ภาษาอังกฤษจะเรียก Rule of Men หรือ Rule by Law ก็แล้วแต่ แต่ไม่ใช่ Rule of Law
ถามว่าประเทศไทยมีภาวะอย่างนั้นบ่อยไหม เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของระยะเวลา 80-90 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ใช่ไหม เคยมีคนเขียนไว้ว่า ภาวะอย่างนี้เป็นภาวะยกเว้นชั่วคราว คุณลองนับจำนวนปีสิ ภาวะชั่วคราวนี้เป็นภาวะปกติจนเราชินแล้ว เหตุการณ์นิรโทษกรรม การรัฐประหาร ส่วนภาวะที่กฎหมายเป็นใหญ่เป็นภาวะที่ยกเว้น คือเราอยู่ในภาวะที่กฎหมายเป็นใหญ่เพียงไม่กี่ปีตลอดเวลาร่วมร้อยปี
โครงสร้างแบบนี้หมายความว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อยู่ในภาวะยกเว้นชั่วคราวแบบที่อาจารย์กล่าวด้วย
ผมเชื่อว่าอย่างนั้น เพียงแต่มันมีบันยะบันยัง หรือมีตัวถ่วง มีตัวรั้ง ก็คือว่าเขาไม่ได้สถาปนาตัวเองเป็นใหญ่เหนือกฎหมายก่อน เขามาตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งในภาวะชั่วคราวของประเทศไทยถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ ไม่ใช่คณะรัฐประหารเป็นใหญ่ คณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อยู่ภายใต้กฎหมายตั้งแต่ต้น เขาต้องอิงกฎหมายตลอด เขาอิงอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะเขาไม่เคยสถาปนาตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย แต่ผมยังเห็นว่าอภิสิทธิ์ที่ให้แก่รัฐเป็นวัฒนธรรม เป็น legacy ทางกฎหมายที่มีอยู่ในทุกรัฐ ไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาลรัฐประหาร แต่จะแสดงออกอย่างชัดเจน ไร้ยางอายและโจ่งแจ้งในยุคที่ใช้อำนาจเผด็จการในยุครัฐประหาร
ยุคสมัยรัฐบาลประชาธิปไตย เขาทำไม่ได้เต็มที่ สิทธิธรรมของเขาไม่ได้มาจากการวางตัวเองเหนือกฎหมาย สิทธิธรรมของคณะรัฐประหารทุกชุด คือการอ้างคอมมิวนิสต์ อ้างคอร์รัปชัน อ้างความสงบเรียบร้อย อ้างอะไรก็แล้วแต่ คือ อ้างภาวะชั่วคราวขึ้นเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เคยมีสิทธิธรรมทำนองนี้ ต้องอ้างกฎหมาย อ้างรัฐธรรมนูญ มากับระบบกฎหมายทั้งนั้น นี่คือความต่าง
เวลาส่วนใหญ่ของประเทศไทย นับจาก 2475 เป็นต้นมา เราอยู่ภายใต้ระบอบที่อ้างความชอบธรรมชนิดอื่น ชอบธรรมด้วยการมาปราบคอมมิวนิสต์ ปราบคอร์รัปชัน หรือทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เป็นเวลาเสียส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น พวกนี้แทนที่จะเป็นภาวะชั่วคราว มันเลยกลายเป็นภาวะปกติ จนทำให้พวกเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้สึกอะไรแล้วกับการนิรโทษกรรม เวลาเขาประกาศ ถ้าเกิดเราฟัง ก็จะเฉยๆ ทั้งๆ ที่อันนี้แหละ คือ การข่มขืน Rule of Law ที่สำคัญที่สุด
มีกระบวนการอะไรที่ทำให้พวกเราเฉยชา
ก็เพราะมันเป็นภาวะปกติไง มัน normalize แล้ว ถ้าคุณถามว่าทำไม normalize ได้ขนาดนี้ ก็ชีวิตคนเราเคยชินกันอย่างนี้ และแน่นอน คนทั้งโลก ไม่ใช่แค่คนไทยหรอก ส่วนใหญ่เขาไม่ได้อยู่ในจุดที่ถูกกระทบกระทั่ง รัฐบาลที่ทำรัฐประหารก็ shameless ไร้ยางอายที่เอาข้ออ้างนี้มาบอกว่า ประชาชนทั่วไปเขาไม่เห็นเดือดร้อน ไม่อยากมีใครเดือดร้อนหรอก เพราะไม่เกี่ยวกับการทำมาหากิน แต่ shameless เพราะที่อื่นเขาไม่อ้างกัน เพราะมันผิดหลัก ถือว่าประชาชนไม่เดือดร้อน กูแคร์ทำไม ได้ไงล่ะ
คุณไม่มีสิทธิที่จะมาอ้างว่า ประชาชนนับหัวแล้วเขาไม่เดือดร้อน ฉะนั้นการละเมิด Rule of Law ขนาดหนักที่สุดก็ไม่เห็นเป็นอะไร ทำอย่างนี้ได้ยังไง ไม่ใช่ประเทศนี้ประเทศเดียวนะ มีอีกหลายประเทศที่ทำได้ ทำซะจน normalize กัดกินเวลาส่วนใหญ่ที่เราเติบโตมา และเราไม่อยู่ในจุดที่จะกระทบกับการละเมิดอันนั้น เช่น เราไม่ได้ประท้วง เราไม่ได้ฟ้อง เราไม่ได้เผชิญหน้ากับการรัฐประหาร คนส่วนใหญ่ก็อยู่กันอย่างปกติ ทำมาหากินกัน
อ่านบทสัมภาษณ์เต็มที่