วันพุธ, พฤษภาคม 06, 2563

ผุดแล้วแผนกระเตง 'การบินไทย' ตู่พูดมีนัย นี่ครั้งสุดท้ายนะ


อ๊ะ ประยุทธ์พูดมีนัย “นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่การบินไทยจะต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขายตั๋ว การจัดตั้งตำแหน่งต่างๆ การลดรายจ่ายต่างๆ ที่มันเกินความจำเป็นไป” เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูการบินไทย ๑๐ ประการ

นัยนั้นอยู่ที่เขาบอก “ผมให้เวลาไปในการแก้ไข ๕ ปีมาแล้ว…ก็ยังไม่สำเร็จ” ว่าทำไมถึงให้เวลาตั้ง ๕ ปี ทั้งที่รายการขาดทุนของการบินแห่งชาตินี้เป็นมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ จนถึงปีนี้เจอพิษโควิด-๑๙ เข้า ถึงขั้นปิดฝาโลง หยุดบินสองเดือน ต่ออีก ๑ เดือน

แผนฟื้นฟู หรือ กระเตงเข้าเอวนี้ นอกจากกระทรวงการคลังจะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ ๕.๔ หมื่นล้านบาท แล้ว ยังมีบรรไดขั้นที่สองในการเพิ่มทุนดำเนินการอีก ๘ หมื่นล้าน รวมกันเกินแสนล้านไปเกือบสี่หมื่นล้าน เบาะๆ แต่ไม่เบา

ทั้งนี้การบินไทยมีสถานะทางการเงินย่ำแย่มาแต่ปี ๒๕๖๐ และหนักหนาสากรรจ์ในปี ๒๕๖๑ และ ๒๕๖๒ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นผลของโควิดโดยตรง ที่อดีตนางฟ้าชุดม่วงรายหนึ่งเปรียบเปรยว่าเหมือนผู้สูงอายุที่มีโรคติดตัวอยู่แล้ว เจอโควิดเข้าเลยจบเห่
 
ปี ๖๑ การบินไทยขาดทุน ๘,๐๖๔ ล้านบาท พอปี ๖๒ ผลดำเนินงานตกต่ำไปอีกเป็นขาดทุนสุทธิ ๑๑,๓๖๐ ล้านบาท สินทรัพย์ในตอนนั้น ๒ แสน ๖ หมื่นกว่าล้าน แต่มีหนี้เบียดเข้าไป ๒ แสน ๔ หมื่นล้าน โดยผลตอบแทนจากทรัพย์สินและหุ้น ติดลบตลอด

ประการหลักจะมีการปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้น ให้กระทรวงการคลังลดจำนวนหุ้นกว่าครึ่ง ๕๑ เปอร์เซ็นต์ ลงไปเหลือแค่ ๔๙% “เพื่อปลดการบินไทยออกจากสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังจะขายหุ้นออกไปราว ๒%

ผู้ที่จะมาซื้อหุ้นไม่ใช่สายการบินใหญ่ที่ไหนอย่างที่เคยลือกัน แต่เป็นผู้ถือหุ้นอันดับสอง เช่น กองทุนวายุภักษ์ ซึ่งก็เป็นสินทรัพย์จากคลังเอามาตั้งเป็นสถาบันการเงินเอกชน ดังนั้นผู้ที่จะมาซื้อหุ้นการบินไทยจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ เอ็มเอฟซี บ้าง กรุงไทยบ้าง ที่คลังและธนาคารรัฐถือหุ้นอยู่ รวมทั้งธนาคารออมสินก็จะเข้าไปซื้อหุ้นโดยตรงด้วย

สำหรับแผนปรับโครงสร้างที่ประยุทธ์พูดถึง มีการแยกบริษัทออกเป็น ๔ บริษัทย่อย “ได้แก่ ครัวการบิน, บริการภาคพื้น, คลังสินค้า (คาร์โก้), การซ่อมบำรุงอากาศยานหรือฝ่ายช่าง” เป็นบริษัทลูกรองรับปฏิบัติการเกี่ยวเนื่องของสายการบิน

เช่นเดียวกับสาย ไทยสมายส์ซึ่งเป็นของการบินไทยอยู่แล้ว ๑๐๐% จะเป็นสายการบินรองคอยรับช่วงส่งต่อให้แก่การบินไทย ซึ่งจะลดขนาดฝูงบินลงจาก ๘๒ ลำ ไปเหลือสัก ๖๔ ลำ ขายเครื่องบินออกไปบางส่วนราว ๑๘ ลำ

ทั้งนี้เนื่องจากจักต้องลดเส้นทางบิน ยกเลิกไปประมาณ ๒๐ จุดบินด้วย ลืมแผนฟื้นฟูเก่าที่บอกว่าจะต้องซื้อเครื่องบินใหม่อีก ๓๘ ลำในวงเงิน ๑.๕ แสนล้านไปได้เลย ข้อสำคัญต้องมีการปรับลดจำนวนบุคคลากรให้สอดคล้องกับการย่อขนาด

“ด้วยการเปิดโครงการสมัครใจให้ลาออก ซึ่งประเมินว่าอาจจะมีการลดจำนวนพนักงานลง ๓๐% จากปัจจุบันที่การบินไทยมีพนักงานทั้งหมดราว ๒.๑ หมื่นคน” ตรงนี้แหละที่ประยุทธ์พูด “ขอร้องนะครับบรรดาพนักงาน ลูกจ้าง ของการบินไทย ทุกคนต้องร่วมมือนะครับไม่งั้นไปไม่ได้แน่นอน”


ปัญหาสาหัสของการบินไทยอย่างหนึ่ง ดังที่ Panprapa Tantivithayapitak ซึ่งบอกว่าเธอเองถอดปีกมาได้ ๔ ปีกับ ๑ เดือนแล้ว วิพากษ์หนักว่า “บริษัทนี้มีผู้บริหารแน่นๆ VP EVP Director Division โอโห้นับไม่ถ้วนเลย มีครบทุกตำแหน่งจนคนล้นงาน นี่ยังไม่รวมหน้าห้องของนายๆ”

เธอจี้จุดลงไปที่เรื่องสดๆ ร้อนๆ ของการปรับ เบี้ยเลี้ยงบิน นโยบายใหม่จากฝ่ายบริหารในชื่อ ‘New Flight Allowance’ ชวนชักให้พนักงานช่วยลงมติรับรอง ค่าบินชั่วโมงที่ ๕๑ ขึ้นไปจ่ายในอัตรา ‘progressive rate’ ซึ่งน่าจะดีถ้าได้รับเสมอกันถ้วนหน้า

แต่ระเบียบนี้เปิดให้ระดับบริหารทำ Dual Duty วางปากกามาถือถาดบ้าง จองเวลางานบินชนิด “ชีวิตเลือกได้ สเก็ต request ได้ เลือก flight ดีๆ จ่ายเบี้ยเลี้ยงงามๆ งานง่ายๆ แต่ได้รับค่าตอบแทนรายชั่วโมงด้วย Rate ที่เริ่มต้นชั่วโมงที่ ๕๑ เลย

...มือใครยาวสาวได้สาวเอา มีตำแหน่งบริหารทำงาน office แต่ weekend เลือกบิน flight ชิลล์ ชิลล์ ไปกิน sushi ที่ Japan & เดินสายกินหมูกะทะในแดนกิมจิ shopping ของเข้าบ้านเบาๆ” ขณะที่พนักงานปกติต้องปากกัดตีนถีบสู้กับเที่ยวบินหินๆ

เธออ้างว่าอย่างนี้แหละที่ว่าเป็นการปรับเบี้ยเลี้ยงให้ตรงกับค่าครองชีพ โดย “แปลงนามจาก flight per diem มาเป็น pay per block” ทำให้เมื่อปีที่แล้ว “งบประมาณของนักบินและลูกเรือ เพิ่มขึ้นถึง ๖๐๐ ล้านบาท”

 
ไม่แน่ใจว่าหลังจากปีหน้า ถ้า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ณ ภูมิใจไทย ที่ผลักดันแผนกระเตงนี้มากคนหนึ่ง ไม่ได้กลับมา คมนาคม หรือร่วมงานกับประยุทธ์อีก ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แผนฟื้นฟูจะยังอยู่รูปเดิมไหม