4 พฤษภาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศแต่งตั้งนุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองคมนตรี
.
องคมนตรีเป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชอัธยาศัยเพื่อเป็นที่ปรึกษาในพระราชกรณียกิจ ซึ่งในอดีตพวกเขาเหล่านี้อาจเคยทำอะไรไว้ให้กับสังคมบ้างไม่มากก็น้อย เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
.
1. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ - นายกรัฐประหาร 2549, คดีเขายายเที่ยง
.
เริ่มต้นกันที่ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (14 พ.ย. 46 - 1 ต.ค. 49, 8 เม.ย. 51 - ปัจจุบัน, ประธาน 2 ม.ค. 63 - ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่ากับว่า พล.อ.สุรยุทธ์ได้มีส่วนสำคัญในการค้ำจุนระบอบรัฐประหารครั้งนี้ให้มีอายุถึงกว่า 1 ปี 4 เดือน ซึ่งแม้ว่าจะไม่นานเท่าระบอบ คสช. แต่ก็เกิดการฝังรากเผด็จการทหารไว้ในสังคมไทยที่ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผลผลิตที่สำคัญในยุคนั้นได้แก่ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้จัดตั้ง “สภากลาโหม” มีอำนาจ โดยกำหนดการดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับการทหาร การปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม ทำให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนในกิจการด้านความมั่นคง และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 สถาปนา กอ.รมน. ให้เป็นหน่วยงานอย่างเป็นทางการ เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายอิทธิพลเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองของกองทัพ
.
นอกจากนี้ยังมีคดีเกี่ยวกับการครอบครอง บุกรุกพื้นที่เขายายเที่ยง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเจ้าตัวยืนกรานชัดเจนว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด แต่จากคำพูดของ พล.อ.สุรยุทธ์เองและพยานแวดล้อมต่างๆ ได้บ่งชี้ว่าที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนฯ และ พล.อ.สุรยุทธ์เองก็ทราบดีว่าที่ดินผืนดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ อย่างไรก็ตามสุดท้ายอัยการชี้ว่า พล.อ. สุรยุทธ์ไม่มีความผิด เนื่องจากขาดเจตนาบุกรุกป่า (แต่ไม่มีสิทธิครอบครอง ต้องถูกรื้อถอนบ้านออกไป)
.
https://www.facebook.com/…/a.116993252646…/2482411071888395/
.
2. นุรักษ์ มาประณีต - ตุลาการภิวัตน์ มือยุบพรรคการเมือง
.
ต่อด้วยองคมนตรีคนล่าสุด นุรักษ์ มาประณีต (4 พ.ค. 63 - ปัจจุบัน) ที่ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้หลายคนคงได้รู้จักผลงานของเขามากขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยผลงานการตัดสินให้ยุบพรรคการเมืองทั้งสิ้น 29 พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคไทยรักไทย, พรรคชาติไทย, พรรคพลังประชาชน, พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ อีกทั้งยังถอดถอนนายกรัฐมนตรีและ ส.ส. เช่น สมัคร สุนทรเวช, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วินิจฉัยให้ พ.ร.บ. เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทในสมัยยิ่งลักษณ์เป็นโมฆะ วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ วินิจฉัยให้การเสียบบัตรแทนกันในการลงคะแนนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่เป็นโมฆะ ฯลฯ
.
การที่ตุลาการเข้ามามีบทบาทชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองอย่างเข้มข้นในช่วงกว่า 14 ปีที่ผ่านมานี้เป็นแนวปฏิบัติที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งเริ่มต้นขึ้นภายหลังจากคณะตุลาการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่และรับพระราชดำรัสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 (ประธานศาลฎีกาที่เข้าเฝ้าฯ ในขณะนั้นคือ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ซึ่งภายหลังได้เป็นองคมนตรีด้วยเช่นกัน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)
.
https://www.ilaw.or.th/node/5649
.
3. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ - คุมสลายการชุมนุม นปช.
.
หากพูดถึงนายทหารที่มีบทบาทในการสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 หลายคนคงนึกถึงชื่อ 3 ป. อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อย่าง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศขณะนั้น)
.
แต่นอกเหนือจากนั้นยังมีชื่อของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก (ตำแหน่งขณะนั้น) เจ้าของฉายา และ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ตำแหน่งขณะนั้น) ในวันนั้นทั้งสองคนต่างมีตำแหน่งอยู่ใน ศอฉ. รับผิดชอบการสังหารคนเสื้อแดงกลางเมืองหลวงเกือบร้อยศพ และในวันนี้ทั้งสองคนได้เป็นองคมนตรี
.
https://www.facebook.com/…/a.116993252646…/2681235408672626/
https://www.thairath.co.th/content/83160
.
4. หลายคนเคยร่วมเป็นกลไกในระบอบรัฐประหาร
.
จากรายชื่อองคมนตรีในปัจจุบัน เราจะพบว่าหลายคนเคยได้ไปมีตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งพิเศษต่างๆ ในระบอบรัฐประหาร ได้แก่
.
- พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารปี 2549
- เกษม วัฒนชัย (18 ก.ค. 44 - ปัจจุบัน) เคยเป็นสมาชิก สนช. ในสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้ทำรัฐประหารปี 2534
- พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข (14 พ.ค. 54 - ปัจจุบัน) เคยเป็นรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ผู้ทำรัฐประหารปี 2549
- พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (6 ธ.ค. 59 - ปัจจุบัน) เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัย คสช.
- พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (6 ธ.ค. 59 - ปัจจุบัน) เคยเป็นสมาชิก คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัย คสช.
- พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ (23 ธ.ค. 59 - ปัจจุบัน) เคยเป็นสมาชิก สนช. ในสมัย คสช.
- อำพน กิตติอำพน (2 ต.ค. 61 - ปัจจุบัน) เคยเป็นสมาชิก สนช. ในสมัย คสช.
- พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท (2 ต.ค. 61 - ปัจจุบัน) เคยเป็นเลขาธิการ คสช. และสมาชิก สนช. ในสมัย คสช.
- พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง (2 ต.ค. 61 - ปัจจุบัน) เคยเป็นสมาชิก คสช. และสมาชิก สนช. ในสมัย คสช
.
องคมนตรีได้รับรายได้เป็นจำนวน 112,250 บาทต่อเดือน เงินเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีของประชาชน อีกทั้งคำปรึกษาใดๆ ที่องคมนตรีถวายแด่พระมหากษัตริย์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ล้วนมีผลต่อประชาชนไม่มากก็น้อย ไม่ในทางตรงก็ทางอ้อม องคมนตรีจึงสมควรอยู่ในฐานะที่ประชาชนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมต่างๆ ได้เช่นเดียวกับบุคลากรภาครัฐอื่นๆ