วันจันทร์, พฤษภาคม 18, 2563

รำลึก 28 ปี เหตุการณ์พฤษภา 35 โปรดจำมันไว้เป็นบทเรียน และไม่ "ลืม" สิ่งที่วีรชนเดือนพฤษภาคม 2535 ได้ต่อสู้และเสียสละกันมา



..


รำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬผ่านไปแล้วเป็นเวลาถึง 28 ปี นึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้วยังเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้เอง อาจเป็นเพราะมีงานรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นกันอยู่เป็นประจำและมีการวิเคราะห์ศึกษาบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นอยู่บ่อยๆ

ความจริงการต่อสู้ของประชาชนหลังการรัฐประหารของรสช.ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2534 ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นการต่อสู้ที่มีความหมายอย่างมากเพราะนอกจากทำให้หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจเผด็จการแล้วยังทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 14 ปี กว่าจะมีการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549

กล่าวได้ว่าช่วงเวลา 14 ปี จากปี 2535 - 2549 เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดที่ประเทศไทยอยู่กันอย่างเป็นประชาธิปไตยพอสมควรและปลอดจากการรัฐประหาร

การรัฐประหารของรสช.ในปี 2534 กับการรัฐประหารของคมช.ในปี 2549 มีผลต่อเนื่องตามมาที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้น่าศึกษาว่าหลังจากที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยติดต่อกันมาถึง 14 ปี มีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้บ้านเมืองถอยหลังอย่างมากในหลายแง่มุม

คณะรสช.หมดบทบาทลงไปในเวลาสั้นๆจากแรงต่อต้านของหลายฝ่ายทั้งประชาชน ภาคประชาสังคม นักศึกษา สื่อมวลชนและพรรคการเมือง รวมทั้งชนชั้นนำด้วยกันเอง นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยขึ้นระดับหนึ่งก่อนที่จะเกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนในเวลาต่อมา

ระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมืองถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น พร้อมๆกับการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็งขึ้นด้วย แต่ต่อมาพลังประชาชนแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย ชนชั้นนำที่เคยแตกแยกกันมากกลับผนึกกำลังกันได้มากขึ้นๆ คนชั้นกลางที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยย้ายข้างไปเป็นจำนวนมาก

การรัฐประหารในปี 2549 ไม่ได้ถูกสกัดกั้นขัดขวางอย่างที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่กลับพัฒนาไปสู่การยื้ออำนาจกันระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยอยู่หลายปีก่อนที่จะถอยหลังไปสู่ความเป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้นในการรัฐประหารปี 2557 ที่ทำให้เกิดระบอบการปกครองที่ล้าหลังยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ ขณะที่ชนชั้นนำผนึกกันเป็นปึกแผ่น มีกฎกติกาที่ร้อยรัดกันไว้อย่างเข้มแข็งมั่นคงกว่าสมัยก่อนๆ ส่วนพลังประชาชนก็ยังคงแตกเป็นฝักเป็นฝ่ายและพรรคการเมืองถูกทำลายให้อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ

หรือว่าการเปลี่ยนแปลงในเดือนพฤษภาคม 2535 และพัฒนาการหลังจากนั้นเกิดขึ้นได้เนื่องจากความแตกแยกอ่อนแอของชนชั้นนำไทยเป็นการชั่วคราวทำให้ชนชั้นนำต้องอยู่ในสภาพจำยอม ตกกระไดพลอยโจน พอตั้งหลักได้ก็กลับมายึดทุกอย่างคืนไป

หรือว่าพลังทางสังคมทั้งภาคเอกชนและประชาชนยังไม่มีความเชื่อที่แท้จริงต่อหลักการประชาธิปไตยเหมือนกับตอนที่หลายฝ่ายไชโยโห่ร้องที่ได้คนนอกเป็นนายกฯอีกครั้งหลังจากการเสียเลือดเสียเนื้อในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ต่อต้านคัดค้านคนนอกเป็นนายกฯผ่านไปหยกๆ

มองย้อนกลับไปในอดีตแล้วเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ยังมีเรื่องที่น่าศึกษาทำความเข้าใจสังคมไทยไม่น้อย ในแง่มุมที่มีทั้งน่าหดหู่และทำให้เกิดกำลังใจ

ที่น่าหดหู่เพราะวันนี้บ้านเมืองดูจะถอยหลังไปกว่าเมื่อปี 2534-2535 ด้วยซ้ำ

แต่เมื่อดูพัฒนาการทางการเมืองในระยะใกล้มากๆคือในเร็วๆนี้เปรียบเทียบกับในอดีต ก็จะเห็นด้านที่ทำให้เกิดกำลังใจอยู่เหมือนกัน ขณะนี้พลังฝ่ายประชาชนดูจะลดความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายลงไปบ้าง พลังใหม่ๆเกิดขึ้นและกำลังเติบโตเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ชนชั้นนำก็ดูจะลดความเป็นเอกภาพลงไปมากและหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็กำลังเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของพรรคการเมือง แม้พรรคฝ่ายค้านยังต้องการการปรับตัวและต้องผ่านการทดสอบอีกพอสมควร แต่ก็มีประชาชนสนับสนุนอยู่ไม่น้อย ส่วนพรรคการเมืองที่สนับสนุนผู้มีอำนาจก็กำลังอ่อนแอลงมาก พรรคที่เป็นแกนของรัฐบาลที่พยายามทำตัวให้แตกต่างจากพรรคการเมืองในสมัยรสช.ก็กำลังขัดแย้งภายในและดูเหมือนกำลังจะเปลี่ยนแปลงถอยหลังไปสู่การเป็นพรรคการเมืองแบบพรรคสามัคคีธรรมในสมัยรสช.เข้าไปทุกที

จะว่าไป การรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปีนี้ ยังมีเรื่องให้ศึกษาค้นคว้ากันต่อ

ที่จะต้อง "ตามหาความจริง” เกี่ยวกับการสังหารประชาชนที่เคยมีความพยายามกันมาแล้วและยังไม่พบความจริงก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องหาความจริงกันต่อไป

ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันก็มีทั้งด้านที่เป็นปริศนาและน่าหดหู่ ขณะเดียวกันก็มีด้านที่ทำให้เกิดกำลังใจในอันที่จะช่วยกันผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิไตยมากขึ้น

...


[ หมายเหตุพฤษภา กว่าจะได้มาประชาธิปไตย ]
.
เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 2535 เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่วันนี้หลายๆคนลืมไปแล้ว บางคนก็เกิดไม่ทันหรือโตไม่ทันจะได้รู้ความถึงเรื่องราวเหล่านี้
.
วันที่ทีมงานของเราได้ไฟล์วีดีโอนี้มาจากการอนุเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง เราเปิดนั่งดูแล้วมีความรู้สึกเดียวกัน
.
"เดจาวู" หลายเหตุการณ์ช่างคล้ายเหลือเกินกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ (ซึ่งเราเชื้อเชิญจริงให้ทุกท่านลองได้ดูและพิจารณา)
.
นั่นทำให้เราคิดได้ว่า บางทีอีกเหตุผลหนึ่งที่วันนี้เราคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองในแวดวงการเมืองทุกวันนี้ เลือกที่จะไม่นำพาต่อหลักการสำคัญจากการเรียกร้องของประชาชนในปี 2535 ต่อไปอีกแล้ว นั่นคือ "นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง" แต่กลับไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ
.
นั่นก็เพราะเขาลืมเรื่องราวเหล่านี้ไปหมดสิ้นแล้ว เราจึงขออนุญาตนำสารคดีสั้นที่ผลิตโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535
.
ส่วน "ต้นกล้าประชาธิปไตย" ผลิตขึ้นโดยสมาพันธ์ประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 บอกเล่าเรื่องราวและชีวิตความเป็นมาของวีรชนแต่ละคนที่ได้เสียสละชีวิตของตนไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น พร้อมบทสนทนากับญาติสนิท มิตรสหาย พ่อแม่ ผู้ต้องจำใจฝากฝังบุตรธิดาของตนเองไว้ที่ถนนราชดำเนิน ที่เป็นมากกว่าเส้นทางสัญจรของผู้คน แต่มันคือเส้นทางการเดินทางสู่ประชาธิปไตย ที่หลายๆดวงวิญญาณได้ฝากฝังเอาไว้ที่นี่ตลอดกาล
.
ขอคาราวะแด่วีรชนเดือนพฤษภาคม 2535 ทุกท่าน เราจะ "จำ" และจะไม่มีวัน "ลืม" ทุกเรื่องราวการต่อสู้ของพวกท่าน หรือปล่อยให้เรื่องราวของพวกท่านถูก "ลืม" โดยเด็ดขาด
.
ขอนำสารคดี 2 ชิ้นนี้ กลับมาฉายซ้ำให้เราทุกคนได้ชมไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่เราจะได้จำมันไว้เป็นบทเรียน และไม่ "ลืม" สิ่งที่วีรชนเดือนพฤษภาคม 2535 ได้ต่อสู้และเสียสละกันมา และหวังว่าเราจะได้ร่วมกันปกป้องมันไว้ให้ได้มากที่สุด