วันอังคาร, พฤษภาคม 19, 2563

ราคาที่ต้องจ่ายของคน 112: ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล





ราคาที่ต้องจ่ายของคน 112: ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

Mon, 2020-05-18
ที่มา ประชาไท

“ถ้าใครไม่พร้อมอย่าออกมาสู้ คุณจะรับสภาพไม่ไหว” ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561

ขณะนั้นเธอทราบจากผลตรวจเลือดแล้วว่ามีเนื้อร้ายอยู่ในร่างกายแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นรักษา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีเงิน และอาจยังไม่แน่ใจว่าจะนำพาชีวิตของตนไปต่อในทางใด

นับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ดารณีถูกจับกุมคุมขังและไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว นับตั้งแต่ยังเป็นเพียง “ผู้ถูกกล่าวหา” เท่านั้น หลังได้รับอิสรภาพจากเรือนจำเธอต้องใช้เวลาปรับเพื่อใช้ชีวิตในโลกภายนอกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดในช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา พี่ดาไม่สามารถกลับไปสมัครงานเป็นนักข่าวได้อีก เธอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการหิ้วของกินของใช้ไปงานตามงานกิจกรรมการเมืองต่างๆ และการสนับสนุนช่วยเหลือจากมวลมิตรที่เธอเรียกว่า “มวลชนเสื้อแดง”

เรานัดพบกันที่ร้านไอติมในห้างเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ซึ่งทราบภายหลังว่าอยู่ใกล้กับห้องเช่าของเธอ พวกเราสัมภาษณ์พี่ดาหลายเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่หลังจากได้รับอิสรภาพ รวมทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ

“หมอตรวจเลือด ผลเลือดบอกว่าพี่เป็นแคนเซอร์ (cancer) แต่ไม่รู้ตรงไหน”

“พี่ดา” เปิดเผยถึงอาการป่วยจากโรคมะเร็งเป็นครั้งแรก แต่ย้ำกับพวกเราว่าอย่าเผยแพร่เรื่องนี้กับใคร เพราะเชื่อแน่ว่าจะต้องถูกฝ่ายตรงข้ามซ้ำเติม

ตรวจพบเมื่อไหร่ ?

ตอนอยู่ในเรือนจำ

พอออกมาแล้วได้ฟอลโลว (ติดตามผล) ไหม ?

พี่ดาส่ายหน้า

ทำไมล่ะ ?

ฟอลโลวทำไม ไม่ต้องไปรับรู้

ไม่ได้ไปหาหมอเลยหรือ ไม่เจ็บปวดใช่ไหม ?

พี่เป็นเนื้องอกตรงทรวงอก อย่าเอาไปลงเผยแพร่นะ ตอนที่ จอม (เพชรประดับ) ถามพี่ก็ไม่พูด เดี๋ยวศัตรูดีใจ พวกเสื้อเหลืองมันพูดว่าพระเจ้าลงโทษ ห้ามลงนะห้ามลง

พี่จะผ่ารักษาหรือเปล่า ?

พี่บอกแล้วไง พี่นั่งสมาธิอยู่ ถึงวันไปก็ไปเลย

เนื้องอกนี่คลำเจอใช่ไหม ?

มันลามสิ ลามๆ

เจอตั้งแต่ตอนอยู่ในคุกเหรอ ?

แต่พอออกจากคุกมาแล้วมันลามเยอะ

ทราบกันโดยทั่วไปว่าคุณภาพชีวิตของนักโทษในเรือนจำเลวร้ายถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หลับที่นอน สุขอนามัย อาหารการกิน และแรงกดดันทางจิตใจ คนที่แข็งแรงดีหากกลายเป็นนักโทษในเรือนจำก็อาจล้มป่วยได้ง่ายๆ ส่วนคนที่ป่วยอยู่แล้วสุขภาพอาจทรุดโทรมจนถึงขั้นเสียชีวิต

“คืนคนพิการสู่สังคม” พี่ดาพูดบ่อยๆ ว่านี่คือสโลแกนที่แท้จริงของเรือนจำในประเทศไทย ไม่ใช่ “คืนคนดีสู่สังคม” ตามป้ายที่ติดโดดเด่นอยู่หน้าเรือนจำแทบทุกแห่ง

ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 ซึ่งนับได้ประมาณปีเศษที่พี่ดาถูกจับกุมคุมขัง พี่ดาเริ่มมีอาการป่วย สถานพยาบาลทัณฑสถานหญิงกลางออกใบความเห็นแพทย์ ว่า “ป่วยด้วยปัญหาข้อขากรรไกรยึดติด เรื้อรัง” และ “เห็นสมควรต้องทำ CT scan ดูรอยโรคที่ขากรรไกร เพื่อพิจารณาขั้นตอนและวางแผนในการรักษาต่อไป” ที่จริงแล้วอาการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ถูกจับกุม แต่กำเริบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้พี่ดากินอาหารลำบาก และมักกินไม่ทันเวลาที่ทางเรือนจำกำหนด เธอจึงประทังชีวิตด้วยนมถั่วเหลืองแบบกล่องที่มีคนนำมาเยี่ยม โรงพยาบาลในเรือนจำจ่ายแค่ยาบรรเทาปวด และต้องรอคิวตามลำดับขั้นตอนที่ซับซ้อนเพื่อจะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เมื่อรอนานเข้าพี่ดาก็เลือกที่จะอยู่กับอาการเจ็บป่วยนั้นเสียเอง เพราะทราบว่าหลังผ่าตัดต้องกลับมาพักฟื้นในเรือนจำ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดีและปลอดภัย ครั้นเมื่อได้รับอิสรภาพหลังจากที่โรคนี้เรื้อรังมา 6-7 ปี อายุที่มากขึ้น สุขภาพที่ทรุดโทรม การใช้ชีวิตโดยลำพัง และความขัดสนด้านการเงิน ทำให้พี่ดาไม่ไปผ่าตัดรักษา แต่ทนอยู่กับความเจ็บป่วยและเจ็บปวดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

ความผิดร้ายแรง สำคัญกว่าโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

นอกจากกรณี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ยังมีอีกหลายกรณีที่นักโทษการเมือง โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวทั้งที่ป่วยหนัก โดยศาลให้เหตุผลว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีโทษสูง จึงเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ทั้งที่ทางเรือนจำยอมรับว่าสถานพยาบาลในเรือนจำไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือและบุคคลากรทางการแพทย์ที่จะรักษาโรคร้ายแรง

“อากง” อายุ 61 ปี เสียชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 หลังจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุก 20 ปี ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการส่งข้อความ หมิ่นเบื้องสูงในโทรศัพท์มือถือ 4 ข้อความ โดยทราบกันทั่วไปตั้งแต่เริ่มถูกจับกุมว่าอากงป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและมีฐานะยากจน ซึ่งไม่มีศักยภาพที่จะหลบหนีได้ ตลอดปีเศษที่ถูกจำคุกนับตั้งแต่ถูกจับกุมนั้น ศาลไม่เคยอนุญาตให้ประกันตัวแม้แต่ครั้งเดียว แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวถึง 7 ครั้ง ข่าวจากประชาไท[1] รายงานว่าระหว่างเจ็บป่วยในเรือนจำนั้นอากงไม่เคยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องเหมาะสม

อิสรภาพที่ปราศจากเสรีภาพ

“บอกเลยว่าไม่ง่าย ถ้าใครไม่พร้อมเผชิญหน้ากับสารพัดอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาก็ยากที่จะมาอยู่ตรงนี้ ครอบครัวแตกร้าว เป็นที่รังเกียจของคนรู้จัก เพื่อนฝูง วงศาคณาญาติ ฯลฯ เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้า แต่ต้องรับได้ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ และทุกสภาพ” ดารณี เขียนไว้ใน “บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ ดา ตอร์ปิโด” ที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายน 2563 ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตได้ไม่นาน

ดารณี ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 หลังจากถูกจำคุกนาน 2,958 วัน เธอต้องนับหนึ่งใหม่ในวัย 54 ปี นับตั้งแต่การกิน นอน การใช้เครื่องมือสื่อสาร และการพยายามหารายได้ประทังชีวิต

“สามเดือนแรกพี่ซัฟเฟอร์มาก เราเคยนอนห้องละหกสิบกว่าคน มาเช่าห้องอยู่นอนคนเดียว เชื่อไหมพี่ต้องเปิดไฟนอน เพราะเราไม่เคยนอนปิดไฟตอนอยู่ในเรือนจำ ที่นอนกว้าง 45 เซนติเมตร คนหนึ่งนอนหงายตลอดไม่ได้จะชนกัน ไฟนีออนหลอดใหญ่สองดวงข้างหน้า ข้างหลังสองดวง มันจะเปิดสลับวันคี่วันคู่ วันคี่สองดวงข้างหน้า วันคู่สองดวงข้างหลัง มันเหงานะเพราะเราไม่เคยอยู่คนเดียว ทั้งกลางวันและกลางคืน 67-68 คนในห้อง ให้มานอนคนเดียวมันเคว้งๆ หลายคนที่ออกมาปรับตัวนาน คือสุขภาพจิตเสียไป” พี่ดาเล่า

พี่ชายของเธอทำสัญญาเช่าห้องพักราคาประหยัดให้ที่หอพักแห่งหนึ่งในละแวกใกล้เคียงกับเรือนจำ ตามความตั้งใจของพี่ดาที่อยากจะกลับไปเยี่ยมเพื่อนพ้องที่ยังต้องโทษอยู่ รวมทั้งคนรักของเธอ แต่ทางเรือนจำมีกฎว่าห้ามอดีตผู้ต้องขังเข้าเยี่ยมนักโทษคดียาเสพติด ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้พบคนรักในเรือนจำ

เจ้าของหอพักเล่าว่าตำรวจนอกเครื่องแบบแวะเวียนมาที่หอพักบ่อยๆ ในช่วงที่พี่ดายังมีชีวิตอยู่ ทั้งมาสอดส่อง สอบถามความเคลื่อนไหว และพยายามที่จะให้ผู้ดูแลหอพักเปิดห้องของพี่ดาเพื่อเข้าไปตรวจค้น “เราไม่รู้เลยว่าเธอคือ ดา ตอร์ปิโด จนกระทั่งมีคนรู้จักมาบอก” ผู้ดูแลหอพักปกป้องสิทธิของผู้พักอาศัยจึงไม่ยอมให้ตำรวจเข้าไปค้นหรือยุ่มย่ามในพื้นที่ส่วนตัว “ฉันบอกตำรวจว่าอย่ามาถาม ฉันไม่รู้อะไรหรอก ฉันเป็นกลาง” การคุกคามของทางการไม่ได้ทำให้เจ้าของหอพักหวาดเกรงหรือคิดที่จะเชิญพี่ดาออกจากหอพัก “เธอไม่ได้ทำอะไรเสียหาย อยู่สงบๆ และไม่เคยพาใครมาที่ห้องเลย”

การเป็นอดีตนักโทษคดี 112 ทำให้ชีวิตที่เหลือไม่มีอิสรภาพอย่างแท้จริง

“เพื่อนพี่บอกว่าอย่ามาอีกนะ 112 น่ะ เดี๋ยวทหารมันตามพี่แล้วเค้าจะโดนด้วย เป็นตัวน่ารังเกียจเลยแหละ” พี่ดาเล่าว่าเพื่อนของเธอถูกจับเข้าค่ายทหารและทำ MOU ว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งทำให้พี่ดาถูกห้ามไปมาหาสู่ด้วยเช่นกัน

ผู้ต้องหาคดี 112 หลายคนประสบชะตากรรมทำนองเดียวกันนี้ เพราะคนรอบข้างของพวกเขาถูกทางการกดดัน “ใช่ครับ กดดัน เพื่อนก็เลยเกิดความกลัวไปด้วยเลย” บันลือ (นามสมมติ) อดีตผู้ต้องโทษ ม.112 จากการแสดงละครเวทีเล่าให้ฟังว่าหลังจากได้รับอิสรภาพจากการถูกจำคุกราวสองปี เขาเองก็แทบถูกตัดญาติขาดมิตร “ญาติพี่น้องผมเขากลัว เลยไม่คุยกับผมดีกว่า อย่างนี้” ลุงแท้ๆ ของเขาเองก็บอกว่า “มึงยามาหากู๋เด้อ กู๋ย่าน” เมื่อเป็นดังนั้น อดีตผู้ต้องโทษ ม.112 จึงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากทำใจและพยายามเข้าใจผู้อื่น “สิไปน้อยใจหยัง กะมันเป็นจั๋งซี่แหม เฮากะต่องเบิ่งด้วยความเข้าใจเด๊ะ”

วันที่ 20 เมษายน 2563 ก่อนเสียชีวิตเพียงสิบกว่าวัน พี่ดาเพิ่งทราบว่ามีญาติโทรไปต่อว่าพี่ชายของเธอ เรื่องที่พี่ดาทำให้ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลเสียหาย “พี่เพิ่งรู้นะเนี่ย ชักอยากเปลี่ยนนามสกุลเสียแล้ว” ดารณีกล่าว

“พี่ถึงบอกว่าคดี 112 คือตราบาปที่ทำให้เราถูกพิพากษาจากญาติพี่น้องไปตลอดชีวิต พี่ถึงเตือนให้ทุกคนอย่าแตะ แพ้ลูกเดียว” ดารณีส่งข้อความมาทางไลน์

ในช่วงการรักษาตัวจากโรคมะเร็ง พี่ดากังวลว่าจะถูกเลือกปฏิบัติจากหมอและบุคคลากรทางการแพทย์หากทราบว่าเธอเป็น “ดา ตอร์ปิโด” แต่เธอก็เชื่อว่าคนทั่วไปคงไม่รู้จัก “ดารณี” ซึ่งเป็นชื่อตามบัตรประชาชนของเธอ

“แกป่วยตั้งแต่เมื่อไหร่หรือคะ ก็รักแกนะคะ อยากไปเยี่ยม แต่เพราะแกมีคดีติดตัวแบบนี้...” เสียงปลายสายที่โทรมาสอบถามข่าวการเสียชีวิตของพี่ดา หลังจากวันเสร็จสิ้นการลอยอังคารเรียบร้อยแล้ว และวอนไม่ให้เปิดเผยต่อสาธารณะว่าเธอคือญาติคนหนึ่งของ “ดา ตอร์ปิโด” ผู้ล่วงลับ

พี่ดาเคยเล่าว่าอยากจะเปลี่ยนนามสกุล เพราะนอกจากจะถูกเครือญาติตัดขาดแล้ว พวกเขายังก่นด่าเธอไม่จบสิ้นว่าทำให้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเสียหาย คดีความสิ้นสุดนานแล้ว และเธอก็ได้รับโทษไปแล้วจากการจำคุกนานถึงแปดปี แต่คล้ายกับว่า คดี 112 ทำให้เธอถูกตราหน้าจากวงศาคณาญาติจนชั่วชีวิต นอกจากพี่ชายที่ดูแลกันมาตลอดตั้งแต่ตอนอยู่ในเรือนจำ ก็ไม่เคยมีญาติคนใดอีกเลยที่มาสนใจใยดีชีวิตของพี่ดา แต่พี่ดาบอกว่าเธออยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของมวลชนเสื้อแดง

“พี่ขายของตามงานมวลชน เปลี่ยนขายไปเรื่อยๆ แชมพู เจลอาบน้ำ ครีมนวด โลชั่น เพื่อนเอามาให้พี่เครดิตก่อน ตามงานชุมชนพี่ก็จะหิ้วไป หลังๆ เพื่อนพี่ก็มีหมูกระจก แบบแคบหมู พี่ก็หิ้วไปด้วย ตอนนั้นขายดีนะ ตอนที่คุณยิ่งลักษณ์ยังไม่หนีไป บางคนซื้อถุงนึงให้พี่พันบาทไม่ต้องทอนเลย ยังเสียดาย ไม่น่ารีบไปเลยคุณยิ่งลักษณ์ เดี๋ยวนี้แย่ขายทางออนไลน์ได้น้อย อยู่ได้เพราะมวลชนช่วยบริจาคเงิน เวียนกันไปไม่ซ้ำหน้า” พี่ดาให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตที่พลิกผันจากการเป็นผู้นำต่อต้านเผด็จการแถวหน้า กลายมาเป็นแม่ค้าออนไลน์

ผู้ที่ไปเก็บข้าวของในห้องพักและสถานพักฟื้นของพี่ดาเล่าว่าพวกเขาพบสินค้าของพี่ดาจำนวนมากมาย ทั้งแชมพู เจลอาบน้ำ เสื้อยืด ครีมทาผิว หมูหยอง หมูแผ่น ฯลฯ สินค้าบางส่วนอยู่ในกล่องไปรษณีย์ที่เตรียมจะจัดส่งไปยังผู้ซื้อ แต่พี่ดาคงล้มป่วยลงเสียก่อนจึงไม่ได้จัดการต่อ สินค้าที่ยังไม่หมดอายุถูกนำไปบริจาคต่อให้เครือข่ายคนไร้บ้านนำไปใช้ประโยชน์

ต่อสู้จนถึงที่สุด

การใช้ชีวิตโดยลำพัง และรักสันโดษ ทำให้พี่ดาไม่แยแสกับโรคร้ายที่คุกคามชีวิต และให้สัมภาษณ์ครั้งแรกคล้ายกับว่าจะปฏิเสธการรักษา ทว่า ต่อมาเมื่อมีผู้แสดงความจำนงที่จะสนับสนุนค่ารักษาพยาบาล การให้กำลังใจ และการสมทบทุนจาก “มวลชนเสื้อแดงและมิตรสหายผู้รักประชาธิปไตย” พี่ดาจึงเริ่มต่อสู้กับโรคร้ายและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาชีวิตไว้ “สานภารกิจที่ตั้งใจให้สำเร็จ”

กระนั้นก็ตาม ทุกอย่างก็สายเกินไป ..

หลังทำเคมีบำบัดครบ 6 ครั้ง หมอตัดสินใจยุติการรักษาเพราะโรคร้ายลุกลามไปทุกส่วนของร่างกายแล้ว “หมอบอกตะกี๊ว่าพี่จะมีชีวิตอยู่นับเป็นเดือนเท่านั้นค่ะ ไม่ถึงปีค่ะ หมอไม่ให้คีโมแล้วค่ะ เพราะไม่มีประโยชน์ มันลามเข้าปอดแล้ว” พี่ดาส่งข่าวมาในวันที่ 20 เมษายน 2563

จากนั้นเธอก็เริ่มลงมือเขียนหนังสือเล่มที่ 2 ซึ่งเธอตั้งชื่อไว้ล่วงหน้าว่า “ก่อนลาลับ”

“เสียดายเวลาที่เหลือในชีวิต ถ้าได้อยู่ยาวคงสวย จะลงลุยอีก ไม่เข็ดจ้า ถ้าไม่ป่วย มันเข้าสายเลือดอ่ะ และพี่คิดว่าคดีจบแล้ว ใครจะว่ายังไงก็ช่างพี่ไม่แคร์ พี่รู้แต่ว่าต้องเดินหน้าต่อ” ดารณีสนทนาผ่านทางไลน์ในวันที่ 23 เมษายน 2563

จากนั้นต่อมาเพียงอีกไม่กี่วัน ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แล้วเสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 0.57 น. ของวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ภายใต้การดูแลของ “มิตรสหายผู้รักประชาธิปไตย” ของเธอ

“...แม้ในอีกความรู้สึกหนึ่งจะเสียดายวันเวลาในชีวิตว่าคงเหลืออยู่อีกไม่นาน อาจนับเป็นแค่เดือนไม่ถึงปีที่จะไม่มีโอกาสได้อยู่ร่วมกับพวกเราอีกต่อไป แต่ที่ผ่านมาดาก็รู้สึกซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือ ความเห็นอกเห็นใจที่ทุกท่านได้มอบให้แก่ดาด้วยดีเสมอมา ดาจะเก็บสิ่งที่ได้รับไว้ในความทรงจำของดาตลอดไปค่ะ”

จากคำนำการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 “บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ของ ดา ตอร์ปิโด”

หนังสือ “ก่อนลาลับ” เพิ่งเริ่มเขียนได้เพียงไม่กี่ประโยค ดารณีก็เสียชีวิตไปเสียก่อน

0000


หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากสัมภาษณ์พี่ดาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561

อ้างอิง

[1] https://prachatai.com/journal/2012/08/42269