หมอแก้ว ผลิพัฒน์
17 hrs ·
ไปอ่านบทความของนักวิชาการท่านนึงมาครับ เขาเขียนราวกับว่ามาตรการ lock down แบบปิดบ้านปิดเมืองปิดประเทศเป็นมาตรการควบคุมโรคเพียงมาตรการเดียวที่ได้ผล พยายามเชื่อมโยงการปิดเมืองบางส่วนที่ดำเนินการไปแล้วกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ ราวกับว่าประเทศไทยทำอยู่เพียงมาตรการเดียว
.
อย่างที่บอกครับว่า สิ่งที่ประเทศเราทำเพื่อชะลอการแพร่ระบาดมีหลายมาตรการครับ ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการบางอย่างภาครัฐต้องเป็นผู้ดำเนินการ และมาตรการบางอย่างภาคส่วนอื่นๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้และต้องเข้ามามีส่วนร่วม และบางทีอาจจะทำได้ดีกว่าภาครัฐซะอีก
.
วันนี้ ผมขอยกมาตรการที่สำคัญที่เราดำเนินการเพื่อชะลอการแพร่เชื้อในประเทศในปัจจุบัน มาเล่าให้ฟังสักจำนวนหนึ่งนะครับ
.
มาตรการแรก คือการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เกิดขึ้นจริงๆ ในประเด็นที่สำคัญจริงๆ อาทิ ถ้าตัวเองยังไม่ติดเชื้อจะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อได้อย่างไร ถ้าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัดต้องทำตัวอย่างไร โรคโควิดส่วนใหญ่มีอาการอย่างไร หากตัวเองเป็นหวัดหรือเป็นโควิดจะป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้อย่างไร จะป้องกันผู้สูงอายุในบ้านไม่ให้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร การออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นหมายถึงอะไร ถ้าออกนอกบ้านแล้วกลับเข้าบ้านจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นต้น ซึ่งประเด็นที่ผมยกมา ผมคิดว่าเป็นประเด็นความรู้พื้นฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศควรรู้ และสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ซึ่งมาตรการข้อนี้ยังต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป
.
มาตรการที่ ๒ เป็นเรื่องของความรับผิดชอบของภาครัฐ นั่นคือ การสอบสวนควบคุมโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนนี้ในปัจจุบันเราก็พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว นั่นคือ ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยการขยายนิยามผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการตรวจได้กว้างขวางมากขึ้น และเมื่อเจอผู้ป่วยรายใหม่แล้ว ก็ดำเนินการแยกผู้ป่วย (เพื่อผู้ป่วยจะได้ไม่แพร่เชื้อต่อไป) ดูแลรักษาผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็สอบสวนโรค ระบุตัวผู้สัมผัสให้ได้อย่างครบถ้วนที่สุด แยกกักผู้สัมผัส ติดตามผู้สัมผัสทุกคนให้ครบ ๑๔ วัน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ผู้สัมผัสจะป่วย เขาก็จะไม่แพร่โรคอยู่ดี ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีการตัดวงจรการแพร่เชื้อในผู้ป่วยที่เราค้นพบแล้วได้อย่างเด็ดขาด
.
มาตรการที่ ๓ คือการป้องกันโรคในโรงพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชน นั่นคือ การป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยรายอื่นติดเชื้อ ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้แพทย์และพยาบาลที่ติดเชื้อแพร่โรคให้กับผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ด้วย มาตรการที่สำคัญที่ต้องดำเนินการคือ ๑) การคัดกรองผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทุกคน ให้ไปรับการรักษาที่คลินิคโรคทางเดินหายใจ ๒) การมีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างเพียงพอและการใช้อย่างเหมาะสมกับความเสี่ยง ๓) การคัดกรองเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มาปฏิบัติงานว่ามีอาการหรือไม่ ถ้ามีอาการแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ให้พักอยู่ที่บ้านไม่ต้องมาทำงาน
.
มาตรการที่ ๔ คือการให้ทุกคนที่ออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากผ้า ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าเป็นมาตรการที่ช่วยในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้เป็นอย่างดี
.
มาตรการที่ ๕ การจัดวางเจลแอลกอฮอล์ในสถานที่สาธารณะ ให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ซึ่งต้องเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
.
ส่วนที่ ๖ คือมาตรการทางสังคม หรือมาตรการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในหลายลักษณะมาก ตั้งแต่ ภาคสมัครใจไปจนถึงภาคบังคับ และแม้แต่ภาคบังคับก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะบังคับกับใคร หรือกับธุรกิจประเภทไหน บังคับบางเวลา หรือตลอดเวลา โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ๑) การลดการความแออัดของพื้นที่สาธารณะ ๒) การลดโอกาสที่ผู้คนจะสัมผัสใกล้ชิดกัน (นั่นคือในระยะใกล้ว่า ๑ - ๒ เมตร)
.
มาตรการทางสังคมที่เป็นมาตรการภาคบังคับ นั่นคือ บังคับปิด จะปิดทั้งหมดหรือปิดบางส่วนอย่างที่ดำเนินการอยู่ ก็มีข้อดี คือ ไม่ต้องให้ผู้คนมีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย ฉันบังคับแกก็ทำตามไป ไม่ต้องมาถามหาเหตุผล ไม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจโรคก็ชะลอตัวได้ ส่วนผลกระทบทางลบก็คือ การปิดเมืองแม้การปิดบางส่วนแบบที่ทำกันอยู่จะมีผลกระทบต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและรายได้ของผู้คนในลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกัน บางคนได้รับผลกระทบสูงมาก (จนลงหรือตกงานโดยฉับพลัน และไม่รู้ว่าจะไม่มีรายได้และไม่มีงานทำไปอีกนานแค่ไหน แม้จะมีความพยายามเยียวยาแล้วก็ตาม) ในขณะที่ บางคนแทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
.
ในขณะที่ มาตรการทางสังคมภาคสมัครใจต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือ และวินัยในระดับที่สูง ที่จะทำให้คนทำงานที่บ้านให้มากที่สุด ออกจากบ้านให้น้อยที่สุดเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น เหลื่อมเวลาการทำงานให้มากที่สุด จัดสถานที่ทำงานให้คนนั่งห่างกันให้มากที่สุด การเพิ่มเที่ยวเดินรถเพื่อให้รถสาธารณะมีความแออัดน้อยที่สุด ร้านอาหารและแคนทีนจะต้องลดจำนวนโต๊ะลงให้แต่ละคนนั่งห่างกันอย่างน้อย ๑-๒ เมตร และให้คนอยู่ที่ร้านอาหารให้สั้นที่สุด ซื้อของออนไลน์ให้มากขึ้น ออกไปซื้อของให้น้อยลง ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะต้องเพิ่มพนักงานเก็บเงินและขยายเวลาเปิดเพื่อลดความแออัดให้เหลือน้อยที่สุด (แน่นอนว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น-กำไรก็จะน้อยลง) ซึ่งแน่นอนข้อเสียขอมาตรการนี้ก็คือ หากผู้คนไม่ร่วมมือก็จะไม่มีประสิทธิภาพ
.
ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีความรู้ ความเข้าใจ และมีวินัยสูง สามารถปฏิบัติตนได้เหมาะสม เศรษฐกิจจะพอเดินไปได้ ห้างและร้านค้าต่างๆ ก็พอเปิดได้ แต่ห้างจะต้องไม่ใช่สถานที่ที่คนจะไปเดินเล่นกัน ถ้าจะไปห้างก็คือไปซื้อของที่ตั้งใจไว้ ได้ของแล้วก็กลับบ้าน ร้านอาหารก็เปิดได้ แม้จะไม่ปกติ ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะไม่เหมือนเดิม แต่ผู้คนจะไม่เจ็บปวดจนเกินไป พอมีรายได้บ้าง เวลานี้ทุกคนจะต้องเข้ามาร่วมกันประคับประคองสถานการณ์
.
ตอนนี้ มาตรการที่ ๒ และ ๓ ดำเนินการเต็มที่ระดับหนึ่งแล้ว และดูเหมือนมาตรการที่ ๔ และ ๕ คนส่วนใหญ่ยอมรับไปเรียบร้อยแล้ว และทุกคนจะฝากความหวังไว้กับมาตรการที่ ๖ ภาคบังคับเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็เข้าใจได้ครับ เพราะดูเปลือกภายนอกดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ มันก็ไม่ง่ายนักนะครับ เพราะหากดำเนินการไม่รัดกุม จะทำให้ผู้คนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
.
จะเห็นว่า ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาด้วยหลายมาตรการ - ทางออกสำหรับปัญหาก็ไม่ได้มีทางเดียว
.
ประเทศไทยยังมีทางออกครับ ถึงเวลาที่เราต้องหันหน้าเข้าหากัน ปัญหาโควิดไม่ได้มีผลกระทบแค่เพียงสุขภาพ แต่ยังกระทบไปถึงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคมด้วย ความพยายามในการแก้ปัญหาหนึ่งจะต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นมากและกว้างขวางจนเกินไป ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องมาร่วมมือกัน ช่วยกัน แก้ปัญหาให้กับตัวเราและเพื่อนร่วมชาติแล้วครับ เพราะวันนี้เราอยู่ทีมเดียวกันครับ #ทีมไทย
.
#เราจะชนะไปด้วยกัน
#NeverNeverNeverGiveUp
#TPWork
#TPlife
#I_Love_What_I_Do
#พวกเราทีมไทย
#สำหรับประเทศไทยน้อยกว่านี้ได้ยังไง
#ศิษย์ดีเพราะมีครู