วันเสาร์, เมษายน 11, 2563

สังคม 'ป่วย' ด้วยอำนาจนิยม มากกว่าโควิด-๑๙ ขู่ผิดๆ ม.๑๓๖ ไม่ได้ห้ามวิจารณ์รัฐบาล


เป็นสถิติที่น่าทึ่งระคนสะพรึงกลัว เมื่อครบ ๗ วันมาตรการห้ามออกนอกบ้านยามวิกาล (สี่ทุ่มถึงตีสี่) เพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อโควิด-๑๙ ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มเกือบ ๕๐๐ ราย แต่กลับมีผู้ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดคำสั่งเกินกว่า ๕ พันราย

อาจแสดงว่าสังคมไทยไม่กลัวไวรัส ไม่เช่นนั้นคงไม่ยำเกรงต่อคำสั่งผู้ปกครอง หรือว่าที่แท้เป็นเพราะสังคมนี้นิยม ใช้การบังคับ กันแน่ ดังที่นักวิชาการท่านหนึ่งของสำนัก มธ.วิเคราะห์ไว้ ว่าโควิดทำให้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเบ่งบาน

ในเมื่อปรากฏว่าผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดี เคอร์ฟิว จำนวนมากเป็นผู้มีสัมมาอาชีพซึ่งจะต้องออกนอกบ้านยามวิกาล เช่นคนส่งยาและอุปกรณ์การแพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์ เช่นพยาบาล กับคนยากจนไร้ที่อยู่อาศัย

คนเหล่านั้นถูกดำเนินคดี เพราะถึงอย่างไรก็ถือว่าขัดคำสั่ง จะจำเป็นอย่างไรก็ตาม คำสั่งสำคัญกว่า หรือว่าช้าไปไม่กี่นาฑี ผิดเป็นผิด เช่นเดียวกับลูกสาวผู้ว่าฯ จังหวัดหนึ่งที่ไปเมากับเพื่อนแล้วบ้านอยู่ใกล้ด่านตรวจแค่นี้ กลับช้าไปนิดเดียว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงการละเมิดคำสั่งเคอร์ฟิวว่า “ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ” เพราะมีผู้ฝ่าฝืน มีการมั่วสุมชุมนุมกันในยามวิกาลอยู่ถึงกว่า ๖,๕๐๐ ราย “ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ใช้กฎหมายเพิ่มเติมให้รุนแรง หรือประกาศเคอร์ฟิวที่มากขึ้น”

นายกฯ จะอ้างเองหรือว่ามีคนข้างเคียงกระซิบอย่างนั้นไม่รู้ได้ แต่ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีสังคมวิทยาฯ เขียนถึงการเทิดทูนสถาบัน เบ็ดเสร็จ ในไทย ไม่ว่าจะเป็น คุก โรงพยาบาลบ้า และค่ายทหาร บัดนี้เอามาใช้กับวิกฤตโคโรน่าไวรัส

เขาอ้างถึงโฆษก ศบค. หมอโรคจิตที่เวลานี้กลายมาเป็นกระบอกเสียงของทหารนักยึดอำนาจที่เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าแกชอบใช้คำประเภทอำนาจนิยม ได้แก่ ทำศึก ตีค่าย ป้อมแตก ตั้งการ์ด ฯลฯ เอาศัพท์แสงในระบบสายการบังคับบัญชามาใช้

สอดรับกับคนที่ทำงานอาชีพในสถาบันเหล่านั้น เช่น ผู้คุม จิตแพทย์ และนายพล จึงเรียกบุคคลากรทางแพทย์ว่า นักรบชุดขาวและอัศวินเสื้อกาวน์ “เรียกการรักษาพยาบาลว่าสู้ศึก หรือการเรียกอุปกรณ์ทางการแพทย์ว่าอาวุธ

สะท้อนถึงความ “ต้องการให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการคลี่คลายปัญหาเหมือนกับทหาร” ซึ่งถือได้ว่าเป็น ความป่วย อย่างหนึ่งทางสังคม “หากเราไม่ตระหนักหรือว่าไม่ระมัดระวังพอ” ก็จะ “ตกอยู่ภายใต้การบงการของอำนาจเบ็ดเสร็จเหล่านี้ไม่มีที่สิ้นสุด”


อาการเบ็ดเสร็จไม่สิ้นสุดยังปรากฏเช่นนั้นทุกวี่วัน ผ่านการแถลงข่าวตักเตือนประชาชนถึงโทษทัณฑ์ของการไม่เชื่อฟังรัฐบาลต่างๆ นานา ตั้งแต่ละเมิดมาตรการรับมือโควิดไปถึง “ผู้ที่โพสต์หมิ่นรัฐบาล” ซึ่งแท้จริงก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ และชี้แนะ
 
ใครที่อารมณ์ดีหน่อยก็เอาไปล้อเลียน ดังคอมเม้นต์ของ @brian_the_lover ถึงประกาศความผิดตามมาตรา ๑๓๖ โทษจำคุก ๑ ปี ปรับสองหมื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือควบรวมทั้งสองอย่าง ว่า “ด่าสลิ่มยังพอคบ ด่ารัฐบาลที่เคารพคบไม่ได้”

เรื่องร้ายอยู่ที่อำนาจนิยมนี้มันมาพร้อมกับ ‘impunity’ หรือการที่ผู้ใช้อำนาจบังคับไม่ต้องรับผิด มันเหมาะเจาะพอดีกับการครบรอบ ๑๐ ปีของเหตุการณ์สังหารประชาชนด้วยมาตรการทหาร ขอคืนพื้นที่ จากผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในครั้งนั้นมีการยิงแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิค้อปเตอร์ตรงบริเวณใกล้สะพานผ่านฟ้า ราชดำเนิน มีการยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมตรงแถบแยกคอกวัว และมีปรากฏกลุ่มชายชุดดำที่ทำให้นายทหารบัญชาการปราบครั้งนั้นคนหนึ่งเสียชีวิต

โดยที่มีหลักฐานยืนยันชัดแจ้งว่า ศอฉ. หรือศูนย์อำนวยการฉุกเฉินครั้งนั้นอันเป็นแม่แบบของ ศบค.ในครั้งนี้ มีคำสั่งให้ “พลแม่นปืน...ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ และหากไม่สามารถยิงได้ สามารถร้องขอ พลซุ่มยิงจาก ศอฉ. ได้”

 
จนต่อมาได้มีการฟ้องร้อง “ข้อหาความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี ๒๕๕๓ ต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี” แต่คดีไม่มีความคืบหน้ามาจนตลอดปี ๒๕๖๓

กลับกันนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอเจ้าของคดีกลับถูกดำเนินคดี “ฐานกลั่นแกล้งเพื่อเอาใจรัฐบาล” ถึงสองศาลจนมาลงเอยเมื่อ ๕ มีนา ๖๓ ศาลยกฟ้องนายธาริต แต่ตัวการสั่งขอคืนพื้นที่ครั้งนั้นก็ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดี

มีแต่รายชื่อผู้ตายในเหตุการณ์รวมกัน ๒๕ คน ส่วนใหญ่จากอาวุธปืนชนิดร้ายแรงที่วิถีกระสุนมาจากฝ่ายทหารที่รุกเข้าไปในบริเวณ แน่ๆ ผู้ตายไม่น้อยกว่า ๘ คนถูกยิงเข้าบริเวณศีรษะ ด้วยกระสุนของ Snipers

จึงเกิดวลี #คนสั่งยังลอยหน้าคนฆ่ายังลอยนวล และ #ไอ้เหี้ยสั่งฆ่า อีห่าสั่งยิง มาจนทุกวันนี้