วันเสาร์, เมษายน 11, 2563

สุขภาพต้องการเสรีภาพ หากปราศจากเสรีภาพ สุขภาพที่ดีย่อมไม่มี !!! แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม





แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม

เรื่อง ปราศจากเสรีภาพย่อมปราศจากสุขภาพที่ดี

จากการอ้างถึง “สุขภาพนำเสรีภาพ” ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว (การห้ามออกจากเคหะสถานในยามค่ำคืนตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.) ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมมีความกังวลว่าความหมายและท่าทีของนโยบาย “สุขภาพนำเสรีภาพ” กำลังก่อให้เกิดความสับสน และสร้างปัญหาทับซ้อนในการรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย เนื่องจากหลักการ “เสรีภาพ” เชื่อมโยงโดยตรงถึงสิทธิมนุษยชนในหลายมิติ เช่น สิทธิพลเมือง สิทธิชุมชน สิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและบริการจากรัฐ สิทธิในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร ฯลฯ ภายใต้แนวทางการจัดการสุขภาพที่ขาดมิติเสรีภาพและไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ย่อมจะนำไปสู่ปัญหาเชิงสุขภาพและสังคมที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น

ดังกรณีที่สื่อ ปาตานีโนตส์ (Patani NOTES) ได้นำเสนอข่าวใน หน้าเฟซบุ๊ค (Facebook page) Patani NOTES ภายใต้หัวข้อ “กักตัวทั้งครอบครัว มีลูกสาวคนเดียวส่งข้าวส่งน้ำ” ในวันที่ 1 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นการรายงานเรื่องราวร้องทุกข์ของครอบครัวหนึ่งในตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับคำสั่งให้กักตัวภายในบ้านเป็นเวลา 14 วันโดยที่ ณ เวลานั้นยังไม่เข้าใจถึงรายละเอียดของการกักตัว หรือ มาตรการในการช่วยเหลือที่ชัดเจน จนทำให้เกิดความกังวลถึงชีวิตความเป็นอยู่และปากท้องในช่วงเวลาดังกล่าว

การนำเสนอข่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสุขภาพของประชาชน หากในเวลาต่อมา ปาตานีโนตส์กลับถูกคุกคามและกดดันอย่างหนักจากกลุ่มบุคคลที่อ้างว่า การนำเสนอข่าวเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการด้านสุขภาพของภาครัฐ จนทำให้ต้องถอดข่าวนี้ออกจากพื้นที่สื่อไปในช่วงค่ำของวันที่ 3 เมษายน 2563

กรณีปาตานีโนตส์สะท้อนว่าแนวคิด “สุขภาพนำเสรีภาพ” นั้น ได้นำไปสู่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ลิดรอนสิทธิของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ประชาชนสูญเสียพื้นที่ในการร้องทุกข์ ซึ่งซ้ำเติมประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีฐานทรัพยากรน้อย คนเหล่านี้เป็นผู้ที่ไร้สิทธิไร้เสียง (voiceless) ในสังคม การเบี่ยงประเด็นให้ปัญหาสุขภาพเป็นเพียงการควบคุมผู้คนไร้สิทธิ ไร้เสียง ยิ่งทำให้พวกเขาไม่อาจส่งเสียงความทุกข์ร้อนและปัญหาของตนเอง เนื่องจาก “เสียง” ที่ถูกส่งออกมาจะกลายเป็นสิ่งที่ขัดกับนโยบายรัฐ และจะกลายเป็นการรุกรานละเมิดความปลอดภัยและสุขภาพของส่วนรวมไปในทันที คำประกาศของนายกรัฐมนตรี ดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ทำให้พวกเขาไม่มีทั้งเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และไม่มีสุขภาพ (ที่ดี) ไปในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ช่องว่างในการปฏิบัติงานหรือข้อผิดพลาดในการสื่อสาร ระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไปใน สภาวะวิกฤติ ความเข้าใจต่อมาตรการต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและมี รายละเอียดเชิงเทคนิคไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะทำความเข้าใจในหมู่ประชาชน อีกทั้งข้อเท็จจริงในการนำเสนอข่าวควรเป็นเป็นเรื่องที่สังคมวงกว้างได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา ทั้งยังเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้รับทราบเสียงสะท้อนของประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการรักษาพื้นที่ส่งเสียง (voice) ความ เดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากหากมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร ก็จะมีโอกาส "กระจายความเป็นธรรม” (distributive justice) สู่ประชาชน กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือหรือบริการจากภาครัฐที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤติ เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และในที่อื่นทั่วประเทศตามรายชื่อแนบท้ายจำนวน 116 คน และ 12 เครือข่าย/องค์กร จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรสื่อ และสังคมไทยดังนี้

ข้อที่ 1 ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ เร่งทบทวนแนวนโยบาย “สุขภาพนำเสรีภาพ” โดยปกป้องคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และรักษาพื้นที่ของการ นำเสนอทุกข์ร้อนของประชาชน ซึ่งสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการ ปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยไม่ควรมองว่าเสียงเหล่านั้นเป็นคู่ขัดแย้งหรืออุปสรรคของการทำงานจัดการวิกฤติด้านสุขภาพของภาครัฐ ซึ่งต้องการความจริงใจในการแก้ปัญหา

ข้อที่ 2 ขอเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรสื่อในระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ ได้จับตาและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงผลพวงที่เกิดขึ้นจากคำประกาศ “สุขภาพนำเสรีภาพ” อันอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เป็นข้ออ้างในเชิงการเมือง และให้ใช้กลไกสิทธิมนุษยชนทุกระดับเพื่อปกป้อง คุ้มครองเสรีภาพของสื่อ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยมีการตอบสนองอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามสื่อ
ข้อที่ 3 ขอเรียกร้องให้ประชาชนเชื่อมั่นในสิทธิ สวัสดิภาพในชีวิตความเป็นอยู่ และเสียงของประชาชน ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมไปพร้อมกับได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นความมั่นคงในชีวิตอย่างไม่แยกส่วนกัน กล่าวคือ “สุขภาพต้องการเสรีภาพ” โดยไม่อาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ทั้งนี้ประชาชนพึงตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมโดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ด้วย

ด้วยความศรัทธาเชื่อมั่นว่า “สุขภาพต้องการเสรีภาพ”
เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม

รายชื่อแนบท้าย อ่านได้ที่
https://www.facebook.com/democracyrestoration/posts/2681414128654754?__tn__=K-R