วันศุกร์, เมษายน 03, 2563

7 วันหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โควิด-19 ไม่ลดลง เกิดผู้ป่วยหน้าใหม่ 937 ราย



THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม. ยังสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่แนวโน้มการพบผู้ป่วยในต่างจังหวัดก็เพิ่มมากขึ้นด้วย หลัง กทม. สั่งปิดห้างร้านและประชาชนทยอยกลับภูมิลำเนาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.

ไวรัสโคโรนา : สถิติโควิด-19 ของไทยเปลี่ยนไปอย่างไรหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครบสัปดาห์

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
2 เมษายน 2020

ครบหนึ่งสัปดาห์หลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. หวังควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทว่าอัตราการพบผู้ป่วยหน้าใหม่ในไทยกลับไม่ลดลง เป็นผลให้ผู้ว่าราชการหลายจังหวัดต้องใช้อำนาจ "พ่อเมือง" สั่งยกระดับความเข้มข้นของมาตรการสกัดโควิด-19 เอาเอง

การประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พร้อมออก "ข้อกำหนด" ชุดแรกไว้ 16 ข้อ เพื่อระบุถึงสิ่งที่คนไทย "ห้ามทำ-ให้ทำ-ควรทำ"

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. เตรียมประเมินการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังครบเดือน ทว่าในระหว่างนี้ผู้ว่าฯ หลายจังหวัดได้ชิงออกประกาศยิบย่อย "ไปก่อน ไม่รอแล้วนะ"

ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย นักธุรกิจไทยกลับจากอังกฤษ-ชาวชายแดนใต้ที่มีประวัติไปมาเลเซีย
สรุปสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทั่วไทย ทั่วโลก ล่าสุดผ่านแผนที่-อินโฟกราฟิก
"หมอลักษณ์ฟันธง" ชี้ "วิกฤตซ้อนวิกฤต" ในโควิด-19 กับการอาสาเป็น "ที่พึ่งทางใจ" ของคนไทย
ชาติไหนบ้างมีมาตรการแปลกรับมือการระบาดของโควิด-19

สถิติที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ "กฎหมายพิเศษ" บีบีซีไทยตรวจสอบและรวบรวม 5 ประเด็นน่ารู้มาไว้ที่นี้

THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพโดยปกติศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ จะมีประชาชนทั้งชาวไทย จีน และชาติต่าง ๆ เข้าสักการะอย่างไม่เคยว่างเว้น ต่างจากบรรยากาศขณะนี้

เกิดผู้ป่วยหน้าใหม่ 937 รายในรอบสัปดาห์

ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไทยมีผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 25 มี.ค. ตามการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ) จำนวน 934 ราย แบ่งเป็น รักษาตัวที่โรงพยาบาล 860 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 70 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย

ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 1 เม.ย. เพิ่มเป็น 1,771 ราย แบ่งเป็น รักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,417 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 342 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย

นั่นหมายความว่า มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 937 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8 ราย ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19

ติดเชื้อ: 1,875 เสียชีวิต: 15 หายแล้ว: 505



ที่มา: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 2 เม.ย. 2563

แต่ละวันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ยังเป็นตัวเลข "ทะลุร้อย" ยกเว้นวันที่ 27 มี.ค. ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 91 ราย ส่วนวันที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 29 มี.ค. ด้วยตัวเลข 143 ราย

26 มี.ค. 111 ราย
27 มี.ค. 91 ราย
28 มี.ค. 109 ราย
29 มี.ค. 143 ราย
30 มี.ค. 136 ราย
31 มี.ค. 127 ราย
1 เม.ย. 120 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก สธ. และโฆษก ศบค. ระบุว่า เหตุที่ยอดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ยังเป็นหลักร้อยทุกวัน เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในที่พักอาศัยยังสูงอยู่ จึงมีคำแนะนำให้ประชาชนเคร่งครัดกับการปฏิบัติตามคำขวัญ "กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือ สวมใส่หน้ากากแม้อยู่ที่บ้าน และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 2 เมตร" เพราะถ้ามีสมาชิกในบ้านมากกว่า 1 คน ให้ถือว่ามีความเสี่ยงที่อีกคนมีโอกาสติด เช่น อีกคนอาจออกไปซื้อของนอกบ้าน

THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคย่านเยาวราช เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อ 30 มี.ค.

ยอดผู้ป่วยสะสมในไทย "ทะลุพัน" ครั้งแรกเมื่อ 26 มี.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของการประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ

กรมควบคุมโรค สังกัด สธ. คาดหวังว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "จะช่วยหน่วงสถานการณ์" ให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยไม่ถึง 3,500 คนในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.

เหลือแค่ 17 จังหวัดยังปลอดเชื้อ

ในขณะที่รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะงัด "ยาแรง" มาใช้หรือไม่ในช่วงต้นสัปดาห์ก่อน ข้อมูลที่ส่งตรงถึงห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ได้กระจายอยู่ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ทว่าในวันแรกของเดือน เม.ย. ไวรัสมรณะได้ลุกลามไปยัง 60 จังหวัด หรือเพิ่มขึ้น 13 จังหวัด

ศูนย์ข้อมูลโควิด-19

เกี่ยวกับเรื่องนี้ โฆษก ศบค. อธิบายผ่านแผนผังสถิติโควิด-19 ระหว่างวันที่ 25-31 มี.ค. โดยตั้งข้อสังเกตว่าในพื้นที่ 13 จังหวัดนี้ ไม่เคยพบผู้ป่วยเลยในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น และเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐไทยต้องสั่งปิดสถานที่เสี่ยงตามจังหวัดต่าง ๆ

สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 850 ราย รองลงมาคือ นนทบุรี 104 ราย, สมุทรปราการ 72 ราย, ภูเก็ต 71 ราย, ชลบุรี 47 ราย และยะลา 35 ราย ทั้งนี้โฆษก ศบค. ระบุว่า จากการประเมินผู้ป่วยใน กทม. พบว่ามีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้แวดล้อมได้ 1 ต่อ 3 คน จึงถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก

ถึงขณะนี้มีเพียง 17 จังหวัดที่ยังเป็นพื้นที่ "ปลอดเชื้อ" โควิด-19 ตามคำแถลงของ ศบค. เมื่อ 1 เม.ย. ซึ่งบีบีซีไทยเข้าใจว่าตัวเลขนี้หมายรวมถึงจังหวัดที่เคยพบผู้ป่วย แต่รักษาหายกลับบ้านได้แล้วด้วย

ภูเก็ต-ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ชิง "ล็อกดาวน์"

แม้คำสั่ง "ปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดบ้าน" ยังไม่ปรากฏตาม "ข้อกำหนด" ชุดแรกของรัฐบาล แต่ผู้ว่าฯ อย่างน้อย 4 จังหวัดได้ใช้อำนาจตามมาตรา 22 และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออก "คำสั่งจังหวัด" ให้ "ปิดเมือง" ห้ามประชาชนเดินทางเข้า-ออกข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเป็นที่เรียบร้อย

จังหวัดที่สั่ง "ล็อกดาวน์" ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยอดผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการแพร่กระจายของคนไทยที่เดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เคยระบุไว้ว่า พี่น้องมุสลิมที่กลับมาจากมาเลเซีย แล้วมาร่วมพิธีละหมาด "ไม่ได้ทำการเว้นระยะห่างทางสังคมดีพอ จึงมีผู้ป่วยเกิดขึ้นประปราย"

ปัตตานี : ปิดเมืองตั้งแต่ 28 มี.ค. จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 34 ราย
นราธิวาส : ปิดเมืองตั้งแต่ 29 มี.ค. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 7 ราย
ยะลา : ปิดเมืองตั้งแต่ 29 มี.ค. ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 35 ราย
ภูเก็ต : ปิดเกาะ หยุดสัญจรทั้งทางบกและทางน้ำตั้งแต่ 30 มี.ค.-30 เม.ย. ส่วนการปิดสนามบินเพื่อหยุดการสัญจรทางอากาศ จะเกิดขึ้นในวันที่ 10-30 เม.ย. ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 71 ราย

ภายใน 2 วันนี้ พังงาจะเป็นอีกจังหวัดที่ออกคำสั่งปิดเมืองตามการเปิดเผยของผู้ว่าฯ เมื่อ 1 เม.ย. โดยตั้งเป้ารักษาความเป็น "พื้นที่สีขาว" ไว้ให้ได้ เพราะขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ มีผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสอบสวนโรค

THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จิตอาสา ได้ตั้งจุดตรวจสกัดและคัดกรองควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ โดยหวังจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามเขตจังหวัดของประชาชน แต่นี่เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ใช่ข้อบังคับ


อย่างไรก็ตามคำสั่ง "ปิดเมือง" ของจังหวัดต่าง ๆ ได้กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ในกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค การไปรษณีย์ อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ รถกู้ชีพ/กู้ภัย/รถพยาบาล หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าฯ อีก 2 จังหวัดชายแดนประกาศ "ปิดพรมแดน" ที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่มีกำหนดคือ สระแก้ว และ ตาก

17 จังหวัดประกาศ "เคอร์ฟิว-เคอร์ฟิวร้านสะดวกซื้อ"

เช่นเดียวกับคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ที่ส่วนกลางยังไม่ขยับ โดย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้ารับผิดชอบด้านความมั่นคงฯ ศบค. เคยให้เหตุผลไว้ว่า "เชื้อโรคไม่มีเวลา ไม่มีหยุด" ทว่าพ่อเมืองอย่างน้อย 4 จังหวัดได้ออก "ประกาศจังหวัด" ขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถานกันแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพวันแรกของการ "เคอร์ฟิวร้านสะดวกซื้อ" ใน กทม. วันที่ 2 เม.ย.


THAI NEWS PIX

ขณะที่อีกอย่างน้อย 13 จังหวัดเลือกออก "คำสั่งจังหวัด" หรือ "คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด" ให้เคอร์ฟิวร้านสะดวกซื้อแทนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 34(7) และ 35(2)(3) ของกฎหมายฉบับเดียวกัน หลังพบพฤติกรรมประชาชนบางส่วนที่ยังตั้งวงก๊งเหล้าในช่วงค่ำ ไม่ให้ความร่วมมือตามมาตรการ "เว้นระยะห่างทางสังคม"






หมายเหตุ : บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. โดยวันที่ข้างต้นเป็นวันที่มาตรการมีผลบังคับใช้และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งบางจังหวัดได้เริ่มมาตรการตั้งแต่ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ตร. เอาผิดจริง จับคนฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า จะใช้เวลา 1 เดือนในการประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่บอกใบ้ว่า "ยังไม่มีแนวโน้มจะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน" สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออาจผ่อนผันให้หากสถานการณ์ดีขึ้น หรือเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้นหากสถานการณ์เลวลง

ภายใต้ "ข้อกำหนด" ชุดแรกจำนวน 16 ข้อ มีอยู่ 5 ข้อที่เป็น "ข้อห้าม" พร้อมกำหนดบทลงโทษรุนแรง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย

1) ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ตามคำสั่ง/ประกาศของผู้ว่าฯ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
  • ความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • มีผู้ถูกจับกุม 19 คดี รวมผู้ต้องหา 88 ราย จากการลักลอบเปิดสถานบริการ, ร้านนวดสปา, ร้านอาหาร, ร้านเกมส์ และบ่อนการพนัน

2) ห้ามคนทั้งหลายเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคล 5 ประเภท
  • ไม่ปรากฏข้อมูลผู้กระทำความผิด


THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพกระทรวงพาณิชย์ห้ามส่งออกไข่ไก่ 30 วันตั้งแต่ 26 มี.ค. หลังเกิดปัญหาไข่แพงและไข่หายจากท้องตลาด

3) ห้ามกักตุนสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน
  • มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • มีผู้ถูกจับกุม และยึดของกลางได้ดังนี้ หน้ากากอนามัย 1.3 ล้านชิ้น มูลค่า 9.3 ล้านบาท, ไข่ไก่ 6.1 แสนฟอง มูลค่า 2.2 ล้านบาท, แอลกอฮอล์เจล 1,200 ขวด และแอลกฮอล์ 41 ถัง จำนวนปริมาตร 276.04 ลิตร
4) ห้ามชุมนุม
  • มีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • ไม่ปรากฏข้อมูลผู้กระทำความผิด
5) ห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข้อความข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 อันเป็นเท็จ
  • มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  • มีผู้ถูกจับกุม 19 คดี รวม ผู้ต้องหา 25 คน
ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำแถลงของ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อ 1 เม.ย.