วันพฤหัสบดี, เมษายน 16, 2563

18 นักเศรษฐศาสตร์มธ. เสนอนำ 1ล้านล้าน ประคองปากท้องประชาชน-นายทุนต้องร่วมเฉลี่ยความทุกข์




ที่มา Workpoint News

18 นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลต้องการตอบสนองปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 พิเศษ โดยข้อเสนอหลักได้แก่การเรียกร้องไม่ให้มีใครต้องอดอยากหรือขาดปัจจัยสี่ และเรียกร้องให้เจ้าของปัจจัยทุนและที่ดินร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในวิกฤตกาลครั้งนี้

วันที่ 15 เมษายน 2563 วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผยแพร่แถลงการ “หากไม่มีเสรีภาพจากความอดอยากและความทุกข์ทน (Freedom from hunger and miseries) ย่อมไม่มีสุขภาพที่ดี” ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว




เนื้อหาแถลงการณ์ดังกล่าวนำเสนอหลักการและมาตรการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า “ต้องไม่มีใครอดอยากและปราศจากปัจจัยสี่ของชีวิต” และ “เจ้าของปัจจัยทุนและที่ดินต้องร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข”

ข้อเรียกร้องเสนอให้ยกเลิกมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท แล้วเปลี่ยนมาเป็นการแจกเงิน 3,000 บาทให้ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทุกคน เว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจและผู้ประกันตนในประกันสังคมตามมาตรา 33 เพื่อให้มาตรการครอบคลุมคนทุกกลุ่ม แก้ปัญหาช่องโหว่ของระบบคัดกรองของรัฐบาลที่ทำให้กระจายความช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง คาดใช้งบประมาณ 440,000 ล้านบาทสำหรับเวลา 3 เดือน

ขณะเดียวกันก็กล่าวว่ากลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนไร้บ้าน แรงงานข้ามชาติที่ตกงานและตกค้างในไทย จำนวนราว 2 ล้านคนได้ ที่อาจเข้าไม่ถึงมาตรการดังกล่าวควรจะได้รับการแจกจ่ายอาหารจากรัฐเป็นระยะเวลา 3 เดือน คาดใช้งบประมาณคิดเป็นจำนวน 7,800 ล้านบาท

แถลงการณ์ระบุว่าสองมาตรการนี้จะอยู่ภายใต้วงเงินของ (ร่าง) พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลกำลังจะดำเนินงาน และเป็น “มาตรการพื้นฐานที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดในช่วงวิกฤตไปได้อย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี”

ส่วนที่สองของแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทยุติการเก็บค่าเช่าที่พักอาศัยและกิจการขนาดเล็ก และมองว่ามาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนั้นไม่เพียงพอ แต่ควรกำหนดให้ธนาคารต่าง ๆ ยุติการคำนวณดอกเบี้ยในสินเชื่อคงค้างของบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ด้วย “ให้คิดดอกเบี้ยได้เฉพาะต่อสินเชื่อใหม่เท่านั้นและในอัตราผ่อนปรน รวมทั้งระงับการฟ้องคดีล้มละลายต่อทั้งบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาแห่งวิกฤต”

“พวกเราเห็นว่าเจ้าของที่ดินและทุนต้องร่วมเข้ามาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพื่อช่วยเหลือและเพื่อความสมานฉันท์ทางสังคม” แถลงการณ์กล่าว ทั้งระบุว่ามาตรการทั้งสองนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กรักษากิจการของตนไว้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ง่ายหลังสิ้นวิกฤต

“วิกฤตโรคระบาดโควิด 19 เปิดเผยให้เห็นผลของความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน ในขณะที่คนระดับบนสามารถกักตัวรักษาระยะทางสังคมได้อย่างไม่เป็นทุกข์ร้อนมากนัก แม้รายได้ที่ได้รับอาจจะลดลงบ้าง แต่คนชั้นล่าง โดยเฉพาะแรงงานรายวันและคนหาเช้ากินค่ำ มักจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่จะต้องออกจากงาน หรือสูญเสียช่องทางหารายได้หลักที่เคยเป็นที่พึ่งพิงของชีวิต” แถลงการณ์ระบุและชี้ว่า “คนจนที่ไม่มีเสรีภาพจากความอดอยากและความทุกข์ทน (Freedom from hunger and miseries) ย่อมจะไม่สามารถกักตัวเพื่อรักษาสุขภาพได้”

ท้ายแถลงการณ์ระบุรายนามผู้สนับสนุนแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวดังนี้
1. กุศล เลี้ยวสกุล
2. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
3. เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
4. ชล บุนนาค
5. ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล
6. ณพล สุขใส
7. ดวงมณี เลาวกุล
8. ธนสักก์ เจนมานะ
9. นภนต์ ภุมมา
10. พรเทพ เบญญาอภิกุล
11. พลอย ธรรมาภิรานนท์
12. พิชญ์ จงวัฒนากุล
13. ภาวิน ศิริประภานุกูล
14. วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร
15. สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา
16. อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ
17. อภิชาต สถิตนิรามัย
18. อิสร์กุล อุณหเกตุ