วันจันทร์, มีนาคม 02, 2563

เพื่อไทยกับผู้นำทหาร อุปสรรคประชาธิปไตย ??... ในสังคมที่พรรคฝ่ายค้านอ่อนแอ อ่อนด้อย จะสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ ในเงื่อนไขเช่นนี้ ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาการเมืองจึงขึ้นอยู่กับการสร้าง “ขบวนการประชาธิปไตย” ที่เข้มแข็ง มากกว่าการต้องพึ่งพาฝ่ายค้านที่อ่อนแอ! - สุรชาติ บำรุงสุข




เพื่อไทยกับผู้นำทหาร! พรรคการเมืองกับการปฏิรูปกองทัพ : สุรชาติ บำรุงสุข

1 มีนาคม 2563
มติชนออนไลน์

ดูจะเป็นเรื่องของการสูญเสียโอกาสที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ในการอภิปรายทั่วไปในรัฐสภาครั้งนี้ แทนที่จะมี “เป้าหมายใหญ่” ทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งได้แก่ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ จะถูกตรวจสอบด้วยการอภิปรายทั่วไป แต่การตรวจสอบในระบบรัฐสภากลับไม่เกิดขึ้นจริง ดังจะเห็นได้ว่าก่อนที่จะมีการอภิปรายนั้น เป้าหมายตัวบุคคลผู้นี้เป็นข้อถกเถียงอย่างมากในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน แต่ในที่สุดรายชื่อนี้ก็ถูกบรรจุเข้าวาระของการอภิปราย

ดังนั้นคงต้องยอมรับจากข่าวสารที่ปรากฎในเวทีสาธารณะในช่วงต้นว่า พรรคฝ่ายค้านหลักอย่างในกรณีพรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีประนีประนอมกับผู้นำทหารรายนี้ จนกลายเป็นหัวข่าวในขณะนั้นถึงการมี “ดีลลับ” ระหว่างผู้นำพรรคเพื่อไทยกับผู้นำทหาร ข่าวลือเช่นนี้จะจริงหรือไม่ แต่ก็ทำให้เกิดการตีความตามมาว่า ดีลลับของการไม่เปิดอภิปรายทั่วไปต่อ พล. อ. ประวิตร ครั้งนี้ อาจจะเป็นการประนีประนอมครั้งใหญ่ระหว่างผู้นำของพรรคที่ถูกโค่นจากการรัฐประหารกับผู้นำทหารที่ทำการรัฐประหาร เพื่อให้ผู้นำทหารที่มาจากการสืบทอดอำนาจสามารถอยู่รอดได้ โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเวทีรัฐสภา

พรรคฝ่ายค้านกับการตรวจสอบผู้นำทหาร

ประเด็นเช่นนี้ไม่ว่าความจริงเบื้องหลังจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ก็ทำให้เกิดความ “คลางแคลงใจ” ของสาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเริ่มไม่แน่ใจว่า ท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อผู้นำทหารที่มีอำนาจในปัจจุบันเป็นเช่นไร โดยเฉพาะในอีกส่วนหนึ่งนั้น พรรคเพื่อไทยคงปฏิเสธไม่ได้ถึง ข้อมูลของความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของพรรคเพื่อไทยบางคนกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านนี้

บทความนี้ใช้คำเรียกว่า “นายทหารชั้นผู้ใหญ่” ก็เพื่อแสดงสถานะที่เป็นจริงของ พล.อ.ประวิตร ที่แม้จะเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 ซึ่งเกษียณอายุราชการออกไปจากกองทัพนานแล้ว แต่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า “บารมีทางการเมือง” อันเป็นปัจจัยที่ไม่มีตัวตนในเชิงพลังอำนาจของ พล. อ. ประวิตร อย่างมาก และอาจจะมีอำนาจมากที่สุดทั้งในรัฐบาลทหารที่ผ่านมาและในรัฐบาลนี้ ภาวะเช่นนี้ทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองทุกคนตอบได้ดีว่า อำนาจที่แท้จริงในรัฐบาลนี้อยู่ที่ใคร หรือใครคือ “ศูนย์กลางแห่งอำนาจ” ทางการเมืองของรัฐบาล

ถ้าศูนย์แห่งอำนาจนี้ถูกสั่นคลอน ย่อมเป็นการสั่นคลอนรัฐบาลในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองทุกคนรู้ดีถึงเงื่อนไขเช่นนี้ และเป็นไปไม่ได้ที่พรรคฝ่ายค้านจะไม่ตระหนักถึงเงื่อนไขดังกล่าว

ดังนั้น ท่าทีการอภิปรายโดยไม่แตะต้อง พล. อ. ประวิตร เลย ย่อมทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจอย่างมากถึง ความสัมพันธ์แอบแฝงระหว่างผู้นำทหาร (ที่นำการรัฐประหาร) กับผู้นำพรรคการเมืองบางคน (ที่พรรคถูกรัฐประหารโดยทหารกลุ่มนี้ถึง 2 ครั้ง) อีกทั้งในช่วงของการเป็นรัฐบาลทหารนั้น นายทหารท่านนี้เป็นหนึ่งใน “ตำบลกระสุนตก” ของพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เป็นความ “อื้อฉาว” ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธ (arms scandals) และเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ

แต่เมื่อมีโอกาสทางการเมืองด้วยการเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา พรรคนี้กลับไม่ใช้โอกาสนี้ และปล่อยโอกาสนี้ผ่านลอยไป



นอกจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นความหวังของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมากว่า พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนหลัก จะแสดงบทบาทที่จะนำเอาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาตีแผ่เสนอให้สังคมได้รับรู้ เพราะสังคมถูกควบคุมการไหลของข่าวสารอย่างเสรีมาตลอดช่วงของการรัฐประหารจั้งแต่ปี 2557 การอภิปรายครั้งนี้จึงเป็นความหวังของการตรวจสอบครั้งสำคัญ

แต่สังคมกลับเห็นท่าทีของความไม่ชัดเจนตั้งแต่ก่อนที่จะเปิดอภิปรายจะเริ่มขึ้น และขณะเดียวกันก็เห็นการใช้ “ลูกเล่นทางการเมือง” ในสภาด้วยการอภิปรายถ่วงเวลา เพื่อไม่ให้การอภิปราย พล. อ. ประวิตร เกิดขึ้นได้ จนสุดท้ายการอภิปรายครั้งนี้ก็จบลง โดยไม่มีประเด็นอะไร

สำหรับนายทหารท่านนี้ การอภิปรายครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการ “ฟอกขาว” … ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การอภิปรายที่สิ้นสุดลงเช่นนี้ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเด็นเรื่อง “ดีลลับ” ก่อนการอภิปรายเสมือนถูกพิสูจน์ด้วยตัวเอง มิใยที่พรรคเพื่อไทยจะแก้ตัวอย่างไร ก็คงทำให้ความแคลงใจของสังคมในเรื่องนี้หมดไปไม่ได้

บทบาทของพรรคฝ่ายค้านในเชิงหลักการ

สิ่งที่เป็นประเด็นเชิงหลักการสำหรับฝ่ายประชาธิปไตยที่ค้างคาใจในกรณีนี้ก็คือ สุดท้ายแล้ว ถ้าพรรคหลักในปีกฝ่ายค้าน “ไม่กล้าหาญทางการเมือง” พอที่จะเปิดอภิปรายผู้นำทหาร ที่เป็นศูนย์อำนาจหลักของระบอบรัฐประหาร และระบอบทหารแบบเลือกตั้งในปัจจุบันแล้ว ความหวังว่าพรรคฝ่ายค้านนี้จะเป็นผู้นำการปฏิรูปกองทัพ อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

อีกทั้งผลกระทบอย่างมากที่ผู้นำของพรรคฝ่ายค้านนี้ควรจะต้องตระหนักก็คือ การเล่นการเมืองในลักษณะเช่นนี้ อาจจะทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคตนเองลงได้อย่างไม่คาดคิด และที่สำคัญในอนาคตก็คือ การเสนอเรื่องการปฏิรูปทหารจากนักการเมืองของพรรคนี้ อาจจะกลายเป็นประเด็นที่ไม่มีน้ำหนัก และไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร เพราะข้อเสนอในอนาคตถูกทำลายลงจากการกระทำในสภาครั้งนี้อย่างน่าเสียดาย โดยไม่จำเป็นอธิบายว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากความจงใจหรือไม่ก็ตาม

อนาคตและอุปสรรคประชาธิปไตย

การกระทำในครั้งนี้จึงไม่เพียงสะท้อนถึงการที่นักการเมืองพลเรือนบางส่วน ที่แม้จะมีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านในการเมืองไทย แต่พวกเขาอาจจะไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่ในการ “ตรวจสอบรัฐบาล” ในเรื่องทางทหารในรัฐสภา ยิ่งเป็นการตรวจสอบ “ผู้นำทหารที่มากบารมี” และมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับนักการเมืองที่เป็นผู้นำของพรรคฝ่ายค้านนั้นเองด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดว่า บทบาทในการตรวจสอบกลายเป็นเพียง “ลมปาก” ที่ไม่ต้องการให้เกิดผลในทางปฎิบัติอย่างจริงจัง

สิ่งที่เป็นผลกระทบอย่างมากต่อระบบการเมืองในอนาคตก็คือ การกระทำในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้กระบวนการตรวจสอบของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยไทยกลายเป็นความอ่อนแอในตัวเอง เพราะพรรคฝ่ายค้านหลักไม่ต้องการทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบทางการเมือง

สภาพเช่นนี้ทำให้ความหวังว่า การสร้างประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของไทยด้วยการสร้างรากฐานของ “ระบบตรวจสอบและถ่วงดุล” ที่ผ่านการตรวจสอบรัฐบาลนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย และอุปสรรคที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการไม่ยอมรับการตรวจสอบของพรรครัฐบาลที่เป็นฝ่ายทหารนิยมเท่านั้น หากแต่อุปสรรคนี้ยังอาจมาจากนักการเมืองของพรรคฝ่ายค้านบางส่วนเองด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้ว พรรคฝ่ายค้านที่ไม่กล้าตรวจสอบทหาร จะสามารถแบกรับภารกิจในการปฏิรูปทหารได้อย่างไร และทั้งยังส่งผลกระทบต่อระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของการเมืองไทยเองอีกด้วย

ความอ่อนแอของพรรคฝ่ายค้านเช่นนี้ไม่เพียงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยเป็น “ระบอบพันทาง” และเปิดโอกาสให้ผู้นำทหารสามารถมีบทบาทได้หลังจากการเลือกตั้ง เพราะในด้านหนึ่ง การตรวจสอบของพรรคฝ่ายค้านไม่เป็นจริง และนัยสำคัญจากประเด็นปัญหาเช่นนี้ในอนาคตก็คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยอาจจะช้ากว่าที่คิด และการปฏิรูปกองทัพอาจจะยังเป็นประเด็นที่อยู่ห่างไกล

สิ่งจะต้องตระหนักทั้งในทางปฎิบัติและในทางทฤษฎีก็คือ ในสังคมที่พรรคฝ่ายค้านที่อ่อนแอ จะสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ เช่นเดียวกับการมีพรรคฝ่ายค้านที่อ่อนด้อยคือ โอกาสของการมีระบอบอำนาจนิยมที่เข้มแข็ง ในเงื่อนไขเช่นนี้ ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาการเมืองจึงขึ้นอยู่กับการสร้าง “ขบวนการประชาธิปไตย” ที่เข้มแข็ง มากกว่าการต้องพึ่งพาฝ่ายค้านที่อ่อนแอ!