วันเสาร์, มีนาคม 21, 2563

IO ถอยไปห่างๆ โพสต์นี้ไม่ได้ด่าการเมือง - application ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ควบคุม และติดตามผู้ที่เดินทางเข้าไทย เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 มีจุดบกพร่องหลายอย่าง




ตามที่ประเทศไทยได้มีนโยบายการนำ application มาใช้ในการเก็บข้อมูล ควบคุม และติดตามผู้ที่เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 นั้น

ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในหนูทดลอง ให้กับทาง AOT หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง DES หรือสตาร์ทอัพเอกชนต่างๆ ผมและผู้โดยสารท่านอื่นๆ ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงกลับพบปัญหาและจุดบกพร่องหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอ ระบบที่ใช้รองรับการโหลด application ไม่พร้อม รวมไปถึงการควบคุมฝูงชนที่ดูยังไงก็ไม่ใช่มาตรการรับมือกับโรคระบาดอย่างแน่นอน

ต้นเรื่องคือ ผมเดินทางมาจากเยอรมนี โดยมีการ transit เปลี่ยนเครื่องที่ Dubai International Airport โดยสายการบิน Emirates ทำให้ เครื่องบิน Airbus A380-800 ลำนั้นเป็นการมาบรรจบกันของคนที่ต้องการเดินทางกลับจากเยอรมนี อังกฤษ และไม่ทราบว่ามีประเทศเสี่ยงอื่นๆ อีกหรือไม่ พวกเราแลนด์ที่สุวรรณภูมิในวันที่ 18 มีนาคม เวลา 12:06 นาฬิกาครับ

ด้วยขนาดของเครื่องที่จุผู้โดยสารได้กว่า 616 ที่นั่ง ประมาณการด้วยสายตาว่าจำนวนผู้โดยสารน่าจะเกิน 80% ของลำ แปลว่า 500 กว่าคนในไฟลท์นั้น หากผมจะพูดว่าอาจจะมีหนึ่งคนที่มีเชื้อก็ดูจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนัก

เอาล่ะ ต่อมาเรามาเข้าใจกันก่อนครับว่า สิ่งที่ทางสนามบินต้องการให้เราทำก่อนการผ่านตรวจคนเข้าเมืองนั้นคืออะไร และหลังจากนั้นผมจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผมพบเจอกับตนเอง แล้วจึงจะทำการวิเคราะห์และสรุปเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อส่งต่อให้ผู้มีอำนาจได้โปรดพิจารณา ในฐานะผู้ที่เป็นหนูทดลอง และนักสื่อสารในขณะเดียวกัน

A. สิ่งที่ควรจะเป็น

ตามรายงานการแถลงข่าวโครงการ #ThaiFightCOVID เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้นำเสนอแอปพลิเคชัน “AOT Airports” โดยอ้างอิงจากข่าวในเว็บไซต์ techsauce.co

จากเนื้อข่าว สรุปพอสังเขปได้ว่า เจ้า แอป AOT Airports นี้เป็นการ “เก็บข้อมูล” เพื่อติดตามคนสองกลุ่มที่โดยสารเข้ามายังประเทศไทยครับ

1. นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคน
2. ชาวไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
(ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 พ.ศ. 2563 ซึ่งในวันนี้น่าจะเปลี่ยนมาใช้ฉบับที่สองแล้ว ซึ่งมีทั้งสิ้น 14 ประเทศ + 2 เขตบริหารพิเศษ)

โดยแอปนี้จะติดตามผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานมากมายทั้งภาครัฐและเอกชน

ยังไม่เพียงเท่านี้ครับ ท่านรัฐมนตรียังย้ำอีกว่า ผู้โดยสารที่มีเบอร์ไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปิดโรมมิ่งไว้แล้วสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากคิวอาร์โค้ดที่ติดตั้งไว้ ณ จุดคัดกรองได้ทันที ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่มีซิมการ์ดสามารถซื้อซิมการ์ดจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่วางจำหน่ายบริเวณจุดคัดกรองในราคา 49 บาท และสามารถใช้ได้ 14 วัน

ซึ่งหลังจากโหลดแอปนี่แล้ว ทุกคนจะต้องลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนบุคคลประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หรืออีเมล์ ก่อนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะถูกดูแลต่อโดยกรมควบคุมโรค ซึ่งวิธีการก็ฟังดูไม่ยากครับ กรอกแบบฟอร์ม ต.8 ที่เป็น function หนึ่งในแอป AOT Airports นั่นแหละครับ ซึ่งตามหลักการข้อมูลจะถูกลบออกภายใน 14 วัน

ฟังดูดีทั้งหมดนะครับ เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ฉับไว ลดการส่งต่อเอกสารจากมือสู่มือ ลดความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่

คราวนี้มาลองฟังสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกันครับ

B. สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

หลังจากผู้โดยสารลงจากเครื่องและเริ่มเดินไปยังโซนตรวจคนเข้าเมือง คาดว่ามีการติดตั้งเครื่อง Thermoscan เป็นจุดๆ บริเวณทางเลื่อนอัตโนมัติครับ ซึ่งผมก็ไม่ทันได้สังเกตเห็น อาจจะเพราะรีบเดินเกินไป แต่ผมเห็นว่ามีการตั้งโต๊ะอยู่เป็นบางจุด แต่ก็ไม่ได้มีอะไร ก็ปล่อยให้ผู้โดยสารเดินผ่านกันไป

เมื่อมาถึงโซนคัดกรองที่ท่านรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ ความจริงที่ปรากฏคือ จุดคัดกรองที่ว่าเป็นเพียงการเอา Rope Barrier มากั้นยาวเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารเดินผ่านเข้าไปยังจุดตรวจคนเข้าเมืองได้

ไม่มีการแยกแถว ทุกคนออกันอยู่ดั่งว่ากำลังมุงขอลายเซ็นดาราซักคนหนึ่ง

บริเวณตรงนั้นมี Standy ขนาดเมตรครึ่ง 2 อัน

บนป้ายไวนิลมี QR code ตามที่ท่านรมต. บอกครับ อยู่ติดพื้นล่างสุดต้องก้มลงไปยิง ยังดีที่มีการนำประกาศมาปิดบนเสาใหญ่ๆ ให้พอเห็นได้ทั่วกัน

โดยข้อความบนแผ่นนั้นก็อธิบายว่าให้โหลดแอป AOT Airports เพื่อทำการกรอก ต.8 ครับ

ผมก็ทำตามที่บอก โดยใช้ data โทรศัพท์ของตัวเอง

ผมพบกับความจริงข้อแรกว่า แอปมีขนาด 103MB ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก โดยเฉลี่ยแล้วแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนทางฝั่งแอนดรอยด์จะอยู่ที่ 11.5MB ส่วนทางฝั่งของ iOS คือประมาณ 34.3MB ครับ หากเทียบกับแอปติดตามตัวทั่วๆ ไป ก็มีขนาดไม่เกิน 50MB เช่นกัน

จุดสังเกตแรกของผมคือแอปนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะครับ แต่เป็นการสอดไส้ function ใหม่ในแอปเดิมที่ “ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการติดตาม” ผู้ที่มีความเสี่ยงครับ

เพราะในแอปมี function มากมาย คุณอยากจะดูตารางการบินเหรอ สบายมาก อ้อมี Bonus Points ให้ด้วยสำหรับการสมัครบัญชีผู้ใช้ใหม่

ในแอปนี้รับโฆษณาด้วยนะครับผม ธรรมดาที่ไหน

แต่เอาล่ะ ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไฟล์มีขนาดใหญ่ คือการโหลดย่อมต้องใข้เวลา ก็ทำให้คนต้องมากระจุกตัวกันอยู่ตรง “จุดคัดกรอง” ที่ว่าครับ

หลังจากโหลดเสร็จ เมื่อเข้าไปในแอป สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือการขอ permission เพื่อใช้งาน Bluetooth คำถามที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งกับเจ้าหน้าที่ที่คอยให้คำแนะนำคือ “เพื่อ?”

ซึ่งหากผมไม่ยินยอม ก็ทำให้เข้าแอปไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าแอปไม่เสถียร และมีเจตนาอื่นแอบแฝงหรือไม่
(วันนี้ลองเข้าดูแอปเด้งทั้งวันครับอัพเดตใหม่เห็นว่าเพิ่มตารางบินแบบรีลไทม์มาให้ด้วย ว้าวมั้ยล่ะ แต่ log in ไม่ได้แล้วนะ งงมั้ย)

อ่ะไปต่อครับหลังจากยินยอมเสร็จ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการ Sign Up บัญชีผู้ใช้ของตัวแอปเองก่อนครับ

Interface ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนไทยบางท่านไม่แม่นหรือไม่รู้ภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดการชุลมุนวุ่นวายขึ้น

นอกจากเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด จะต้องแยกร่างเพื่อช่วยเหลือทุกคน (เสี่ยงกับคนทำงานมากๆ ครับ เพราะเข้าใกล้กลุ่มเสี่ยงในระยะที่หายใจรดต้นคอกัน บางท่านไม่มีหน้ากากอนามัย ฝากผู้ใหญ่ช่วยเหลือด้วยครับ) เด็กๆ นักศึกษาอย่างพวกผม ที่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อหรือไม่ ก็ต้องคอยช่วยเหลือ ทั้งชาวต่างชาติและคนไทยบางท่านที่มืดแปดด้านครับ

บางท่านยังจำเบอร์โทรศัพท์ตัวเองไม่ได้เลย นึกภาพแม่ๆ เราที่ใช้สมาร์ทโฟนได้เท่าที่ลูกสอนสิครับ แล้วบอกให้พวกท่านมาโหลดแอปเพื่อกรอกข้อมูลต่างๆ นานา มันยากซะยิ่งกว่าอะไรดี

วันนั้นวันเดียวผมจับโทรศัพท์ของคนอื่นไป 3 เครื่องครับ เพื่อพยายามช่วยเหลือ เพราะอดสงสารไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็กลัวว่าเราจะเป็นคนไปแพร่เชื้อสู่คนอื่นหรือเปล่า แล้วเจ้าหน้าที่ล่ะครับ พวกเขาโดนรุมไปด้วยชาวต่างชาติ ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบอกว่าเสี่ยงหนักหนา พวกเขาต้องจับโทรศัพท์ เงี่ยหูฟัง คลุกคลีกับคนกลุ่มเสี่ยงแบบนั้นทั้งวันใช่หรือไม่

เอาล่ะ ไปต่อครับ ขั้นตอนหลังจาก sign up เสร็จ ก็คือการหาเจ้า function ที่ไว้กรอก ต.8 ครับ คือต้องเลื่อนลงมาเพื่อให้เจอ ปุ่มแดงๆ ปุ่มหนึ่ง

หลังจากนั้นก็ทำการอัพโหลดรูปพาสปอร์ต และกรอกข้อมูล ซึ่งมากกว่าที่ท่านรมต. ว่าไว้นะครับ หากจำเจ้าใบคนเข้าเมืองที่เราเคยกรอกกันได้สมัยก่อน ที่ชาวต่างชาติต้องกรอกกัน ที่เค้าแจกบนเครื่อง มันก็คือเจ้าตัวนั้นแหละครับ

อ๋อ ที่ท่านรมต. บอกว่ามีซิมขายให้ชาวต่างชาตินะครับ ผมไม่เห็นจะมีเลยนะครับ เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงแต่บอกให้ใช้ WiFi ฟรีของสนามบิน ซึ่งช้ามาก ฝากด้วยนะครับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สัญญาไว้ทำได้จริงไหม?

พอกรอกเสร็จ หากคุณทำสำเร็จนะ คุณก็ผ่านไปหาพี่ๆ ตรวจคนเข้าเมืองได้ครับ โดยต้องเบียดเสียดฝูงชน เพื่อนำตัวเองผ่าน Rope Barrier เข้าไป เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ท่านใดว่างมาคอยเปิดทางให้ครับ

พี่ๆ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองน่ารักมากครับ พยายามช่วยเหลือทุกอย่าง ผมยกมือไหว้ให้ท่านหนึ่งมาช่วยเหลือคุณป้าคนไทยกับสามีที่เป็นคนต่างชาติ พี่เค้ายินดีเต็มที่มาก โดยไม่มีท่าที่ระแวงเลยว่าคนที่ตนคลุกคลีอยู่ด้วยคือคนจากกลุ่มเสี่ยง ขอกราบหัวใจพี่ๆ เจ้าหน้าที่ทุกท่านครับ

ในระหว่างที่กำลังชุลมุนวุ่นวายนั้น ชาวต่างชาติบางท่านถึงกับทรุดตัวลงนั่งบนพื้น กลางสนามบินที่เป็นหน้าเป็นตา เป็นความภูมิใจของประเทศด้วยความสิ้นหวัง อย่าลืมนะครับว่าสนามบินคือพื้นที่เสี่ยง เหตุการณ์แบบนี้ควรจะเกิดขึ้นที่ “จุดคัดกรอง” หรือครับ?

แล้ว ณ วันนี้ วันแรกของการกักตัวอยู่บ้านโดยสมัครใจของผม ผู้ที่เดินทางมาจากเยอรมนีที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 10000 เคส ผมขอถามว่า วันนี้ผมไม่สามารถ log in เข้าสู่แอป AOT Airports ได้

แล้วแบบนี้การติดตามตัวโดยใช้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังใช้ได้อยู่ไหม?

แล้วที่ให้พวกผมเสี่ยง ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องมาเสี่ยงในการติดเชื้อแบบนี้ มันให้ผลสัมฤทธิ์ตามที่ท่านๆ ต้องการไหม?

หรือพวกท่านเห็นคนกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ เป็นเพียงยอดดาวน์โหลดแอป ที่ถูกพัฒนามาแบบชุ่ยๆ ครับ

วอนขอให้ชี้แจงทีครับ

ต่อไปที่ช่วงที่ 3 ครับ เราเป็นคนสร้างสรรค์ เมื่อตำหนิแล้วก็ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อ เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมาในวันต่อๆ ไป ไม่ต้องเจอปัญหาแบบพวกผม และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานไม่ต้องเสี่ยงอย่างที่เป็นอยู่ครับ

C. สิ่งที่อยากเสนอแนะ

1. “ทำจุดคัดกรอง ให้เป็นจุดคัดกรอง”
แยกสิครับ ชาวไทยกับชาวต่างชาติที่เดินทางมา ในเมื่อระดับความเสี่ยงท่านๆ ก็ทราบดีว่าต่างกัน แล้วพอไปถึงตรวจคนเข้าเมืองก็ต้องแยกอยู่ดี

2. “ควบคุมฝูงชน ด้วยการสื่อสาร”
ที่นี่คือสนามบินครับ ไม่ใช่โรงพยาบาล ระบบเสียงตามสายท่านก็มี ท่านก็ชี้แจงขั้นตอนการคัดกรองของท่านได้นี่ครับ หรือจะใช้โทรโข่ง อะไรก็แล้วแต่ จัดหาได้ไม่ยากครับ การจะควบคุมคนให้ทำในสิ่งๆ เดียวกัน ท่านต้องสื่อสารเพื่อดึงให้คนทำตามครับ ไม่ใช่ปล่อยให้กรูรุมเจ้าหน้าที่ หรือ งมตามป้ายเอา

3. “จำกัดจำนวนในจุดคัดกรอง”
จำกัดเลยครับ พื้นที่มีเท่านี้ รองรับคนได้เท่านี้คนในสถานการณ์ที่มีการระบาด หากจุดคัดกรองไหนเกิน capacity ก็ให้เจ้าหน้าที่ตั้งกำแพงมนุษย์เลย ใครเกินให้เดินไป checkpoint ถัดไปสิครับ ไม่ต้องปล่อยให้มามุง ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ตะโกนด้วย

4. “ศึกษาวิธีการอื่นในการกรอก ต.8”
การโหลดแอปไม่ใช่วิธีที่ effective และ efficient ที่สุดครับ โดยเฉพาะขนาดไฟล์ที่ใหญ่ขนาดนั้น บางทีเราอาจใช้เป็น website แทน เข้าไปกรอกง่ายๆ ไม่ต้องเสียงเวลาโหลด

5. “ทำขั้นตอน 1-2-3”
หลักเบสิคของการทำ activation เลยครับ ต้องจบใน 3 ขั้นตอน ไม่งั้นสื่อสารยากครับ ถ้าเป็นการใช้เว็บ ก็ง่ายๆ “1. เข้าเว็บ 2. กรอก 3. จบ!” ประมาณนี้พอได้ไหมครับ

6. “ดีลกับหลังบ้านเพื่อติดตามตัว”
ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการสิครับ จะให้มันปิงจากสัญญาณอะไรก็ได้ ให้พวกผมเซ็นยินยอมตอนกรอกแบบฟอร์มก็ได้ครับ ว่าสำหรับ 14 วันนี้โดยเฉพาะอนุญาตให้ติดตามสัญญาณโทรศัพท์ หรืออะไรก็แล้วแต่ การใช้แอปที่มี GPS tracking ไม่ใช่วิธีเดียวนะ พวกคุณไปทำงานหลังบ้านกันได้อยู่แล้ว

7. “ร่วมมือกับสายการบิน”
ยากไปไหมครับข้อนี้ หากจะให้สายการบินช่วยส่งอีเมลแจ้งเตือนผู้ที่มีตั๋วโดยสารเข้าสู่ประเทศ ว่าให้เตรียมตัวกรอกแบบฟอร์มเหล่านี้ จึงจะผ่านตรวจคนเข้าเมืองได้ แจ้งให้พวกผมเตรียมตัวมาก่อนเลย ให้รู้เลยว่าจะลงเครื่องแล้วมาเจออะไร

8. “วอนผู้ใหญ่มาดูแล”
หากไม่เป็นการรบกวน วอนผู้ใหญ่มาสังเกตุการณ์ทีครับ ผมเข้าใจว่าสถานการณ์แบบนี้เป็นสถานการณ์เฉพาะ ไม่มีใครเตรียมตัวมาเพื่อรับมือกับอะไรแบบนี้ แต่การที่คนมีอำนาจสั่งการมากำกับดูแล มันสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้นี่ครับ รวมทั้งเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย เพราะผมถามพี่ๆ ตม. เค้าก็ว่าไม่มีผู้ใหญ่มาประจำการ เค้าทำได้เท่าที่ได้รับมอบหมายหน้าที่มา

9. “ให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงาน”
หน้ากากอนามัย ถุงมือ ต้องพร้อมครับ เปลี่ยนทุกกี่นาทีว่ากันไป หากต้องจับโทรศัพท์ของผู้โดยสาร ต้องมีแอลกอฮอลติดตัวกันทุกคนหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งฝึกผู้ปฏิบัติงานให้มีความชำนาญในการช่วยเหลือครับ บางคนแค่หา app store ยังหาไม่เจอเลยครับ

10. “คืนความเชื่อมั่นให้นักเดินทาง”
ต้องทำ ต้องแก้ ต้องเปลี่ยนครับ คุณเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เป็น hospitality แรกที่ชาวต่างชาติจะได้สัมผัส คุณทำให้เค้าทิ้งตัวลงนั่งกลางสนามบินที่อาจมีเชื้อไวรัสอยู่แบบนี้ไม่ได้ครับ ไม่ต้องทำอะไรใหญ่โต แค่แก้ปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้ก็พอแล้ว

ฝากไว้เท่านี้สิบข้อครับ จะส่งหลังไมค์ไปให้ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจด้วย ถือว่าเป็น feedback จากผู้ที่พบเจอจริง ไม่รู้ว่าจะไปถึงมือใคร และจะมีคนใส่ใจหรือไม่

แต่ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่หวังดีต่อสวัสดิภาพของประเทศและคนในชาติ ผมขอใช้พื้นที่ในเพจ เคล็ดวิชาครีเอทีฟ แห่งนี้ เพื่อส่งสารไปยังผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ทุกหน่วยงาน ทุกคนครับ

กราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ

เบรฟ - มติธร ประจวบเหมาะ ชัยมังคโล

https://www.facebook.com/TheCreativeApprentice/photos/a.161839814488657/497396587599643/?type=3&theater