วันอังคาร, มีนาคม 24, 2563

คนจนกระอัก ความจริงที่เจ็บปวด : “คนอื่นๆ เขาไปซื้อข้าวปลาอาหารกักตุนกัน แต่พวกเราไม่มีอะไรจะตุนเพราะไม่มีเงินซื้อ แค่หากินวันต่อวันก็ลำบากแล้ว"




คนจนกระอัก
“เจ็บ”หนักพอกับติด “โควิด”
------------
วิกฤตการณ์ที่สังคมกำลังเผชิญเนื่องจากไว้รัสโควิด-19 ครั้งนี้รุนแรงยิ่ง แม้ผลกระทบจะสะเทือนกันถ้วนหน้า แต่สำหรับคนที่พอจะมีฐานะและคนรวย ก็ยังสามารถประคับประคองตัวเองไปได้และไม่ถึงกับอดตายเพราะยังมีทุนรอน แต่คนที่หาเช้ากินค่ำ ลูกจ้างรายวันและคนชายขอบในเมืองทั้งหลายนั้น เรียกได้ว่าต้อง “ล้มทั้งยืน”

มาตรการต่างๆที่รัฐบาลออกมาทั้งคำสั่งปิดห้าง ปิดกิจการต่างๆ งดจัดกิจกรรม ล็อคดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวาง แต่มาตรการช่วยเหลือเยียวยากลับผิวเผินและไม่ตอบสนองความจำเป็นในชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำได้

ภาพคนเนืองแน่นหมอชิตเพื่อเดินทางกลับต่างจังหวัดเมื่อคืนวันที่ 22 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ และไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงแพร่ระบาด จึงสะท้อนความไม่รอบคอบ รัดกุมของมาตรการที่ออกมาได้เป็นอย่างดี

นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่าคนในชุมชนแออัดซึ่งอยู่ในเครือข่ายมีด้วยกัน 58 ชุมชน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล กำลังเดือดร้อนมาก เพราะขาดรายได้เนื่องจากส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน เช่น กรณีของชุมชนทองหล่อ และชุมชนกระทุ่มเดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างและพนักงานอยู่ตามผับบาร์ย่านทองหล่อและอาร์ซีเอ ไม่ว่าจะเป็นแม่ครัว เด็กเสิร์ฟ เด็กรับรถ พนักงานทำควาสะอาด ยาม เมื่อรัฐบาลมีนโยบายปิดสถานบันเทิง ทำให้คนเหล่านี้ตกงานทันที

“คนอื่นๆ เขาไปซื้อข้าวปลาอาหารกักตุนกัน แต่พวกเราไม่มีอะไรจะตุนเพราะไม่มีเงินซื้อ แค่หากินวันต่อวันก็ลำบากแล้ว ไหนจะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยและหนี้สินนอกระบบร้อยละ 20 อีก แค่ไม่มีรายได้วันเดียวก็ส่งผลกระทบต่อเนื่อง เจ้าหนี้ก็ตามมาทวงแล้ว”ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค สะท้อนความจริงของชีวิตคนในชุมชนแออัด

นุชนารถ บอกว่ามาตรการหยุดดอกเบี้ยธนาคารแทบไม่มีผลต่อคนจนเช่นพวกเธอ เพราะคนในสลัมไม่ได้ใช้บริการธนาคาร อย่างไรก็ตามชาวบ้านบางส่วนต้องผ่อนส่งให้กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือพอช. ในโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเครือข่ายสลัมสี่ภาคกำลังทำข้อเสนอให้ชะลอการผ่อนส่งออกไปก่อน ไม่ใช่หยุดแค่ดอกเบี้ย

เมื่อถามว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาพอจะช่วยเหลือได้หรือไม่ นุชนารถหัวเราะพร้อมกับบอกว่าวันก่อนสมาชิกได้นัดหารือกันเพื่อช่วยกันหาทางออก แต่ก็ยังดูมืดมนในเรื่องการหารายได้ เพียงแต่เฉพาะหน้านี้รัฐบาลต้องหามาตรการไม่ให้มีการกักตุนสินค้า และควรช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าให้ถึงมือคนจนจริงๆ เพราะต้องเข้าใจว่าบ้านในสลัมจำนวนมากเป็นการต่อไฟฟ้าซื้อมาจากบ้านอื่นอีกที

“ครั้งนี้คนจนตายกันจริงๆ เพราะไม่มีรายได้ เงินทุนก็ต้องไปกู้นอกระบบมา เลยอาการหนักกันพอสมควร ความเป็นอยู่ของคนสลัมตอนนี้หนักพอๆ กับติดไวรัสโควิด”

นุชนารถกล่าวว่าขณะนี้ชาวบ้านได้ช่วยกันเย็บหน้ากากอนามัยเองเพราะไม่สามารถหาซื้อได้และที่วางขายอยู่ก็ราคาถีบตัวสูงมากจนไม่มีปัญญาซื้อ ตอนนี้ทุกคนมีความตื่นตัวกันมาก ขณะที่แอลกอฮอล์ล้างมือก็แทบไม่มีใช้

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงใยยิ่งคือ กลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งตอนนี้กระจุกตัวอยู่ย่านหัวลำโพงมากกว่า 200 คน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการแจกข้าวและอาหารต่างๆ อยู่เสมอ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ความช่วยเหลือต่างๆ ลดลงไปถนัดตา หลายแห่งที่เคยจัดงานเทกระจาด หรือแจกจ่ายข้าวของก็งดหมด

กรรณิการ์ ปูจินะ จากเครือข่ายคนไร้บ้าน ซึ่งเพิ่งลงพื้นที่หัวลำโพงไปเมื่อวันก่อนบอกว่า กลุ่มคนไร้บ้านตกอยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะติดไวรัสชนิดนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถป้องกันได้เลย และคนไร้บ้านมักรวมตัวอยู่กันเป็นกลุ่มๆเพราะการอยู่คนเดียวนั้นอันตรายยามค่ำคืน

เมื่อถามถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล กรรณิการ์บอกว่าไม่เคยคาดหวังจากภาครัฐเพราะไม่เคยเข้าถึงคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือจากคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมก็ยังพอมี เมื่อวันก่อนมีกลุ่มนักศึกษาก็ได้ไปแจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ

“พวกเขาบอกว่าถ้าให้ไปอยู่ในที่ใดที่หนึ่งของรัฐนั้น เขาไม่อยากไป และบางคนได้สอบถามถึงบ้านพักคนไร้บ้านที่บางกอกน้อย ขณะนี้มีคนไร้บ้านอยู่ 70-80 คนซึ่งแน่นมาก เราก็หวังว่าบ้านหลังใหม่ที่กำลังสร้างอยู่แถวปทุมธาน จะช่วยรองรับพวกเขาได้เพิ่มขึ้น”

คนเหาเช้ากินค่ำอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากคือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ ซึ่งป้าสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ บอกว่าแรงงานนอกระบบต้องมีภาระผ่อนบ้านผ่อนรถ แต่เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งต่างๆ ออกมา ทำให้แทบอยู่กันไม่ได้จนบางส่วนต้องอพยพกลับไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะอยู่ในเมืองก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน

ป้าสุจินกล่าวว่า จริงๆ แล้วในวิกฤตก็มีโอกาสอยู่ เช่น กรณีกลุ่มคนที่รับงานไปทำที่บ้าน หากรัฐบาลจ้างให้ทำหน้ากากผ้าอนามัย ก็จะช่วยเหลือได้ระดับหนึ่ง หรือ คำสั่งซื้อเสื้อผ้าต่างๆ เช่น ชุดนักเรียน ที่ผ่านมารัฐบาลสั่งจากบริษัทใหญ่ๆและบริษัทเหล่านี้ก็ไปซื้อมาจากประเทศจีน หากรัฐบาลให้แรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ทำก็จะช่วยกระจายรายได้และประทังสถานการณ์ให้พออยู่ได้

“พวกเราก็รอดูอยู่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาอีก อย่างเรื่องการชำระหนี้ ก็ควรชะลอทั้งต้นและดอกเบี้ย ไม่ใช่แค่ลดอัตราดอกเบี้ยเพราะเราไม่รู้จะไปหาเงินต้นที่ไหนมาจ่าย ที่สำคัญคือเรื่องราคาสินค้าก็ต้องควบคุมให้อยู่ หรืออย่างกรณีกองทุนประกันสังคม ก็เห็นแต่ช่วยเหลือคนงานในระบบ แต่ลูกจ้างอิสระในมาตรา 40 ก็ไม่เห็นช่วยอะไร”

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดือดร้อนแสนสาหัสคือ พนักงานบริการ ซึ่งรายได้ผูกติดอยู่กับสถานบันเทิงต่างๆ โดยจันทวิภา อภิสุข ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่าปกติพนักงานกลางคืนกลุ่มนี้ก็เข้าไม่ถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐอยู่แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบันเทิง ทำให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า และคนกลุ่มนี้ก็ยังไม่มีทางออกเพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ

“คนกลุ่มนี้ทำงานให้การท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเรียกพวกเขาว่าภาคบริการ แต่พอเกิดปัญหาขึ้นมากลับไม่เคยช่วยเหลือเขาเลย แตกต่างจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ที่ยังพอเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ”

เสียงของคนเล็กคนน้อย แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ มักไม่ดังพอที่จะให้รัฐบาลหันมามอง เท่ากับเสียงของ “เจ้าสัว” 4-5 คน ที่สามารถวิ่งเข้า-ออก ทำเนียบรัฐบาลได้อย่างสะดวก ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แต่ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์มี 1 ชีวิตเท่ากัน และโควิด-19 ก็สามารถคร่าคนได้เหมือนๆกัน เพราะฉะนั้นในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ฟังเสียงพวกเขาบ้างเถอะ

/////////////////////////


Paskorn Jumlongrach

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2952038784839387&set=a.139504616092832&type=3&theater
..