วันพุธ, มีนาคม 25, 2563

อย่าคิดไม่ซื่อ : เตือนรัฐบาล ในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นเพื่อสู้ไวรัส ไม่ใช่สู้ไวรัล




คำเตือนถึงรัฐบาล ในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อสู้ไวรัส
- ไม่ฉวยโอกาสลิดรอนเสรีภาพสื่อ
- ไม่คุกคามคนที่โต้แย้งรัฐบาล
__________

ในที่สุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การตัดสินใจครั้งนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้มากน้อยเพียงใดนั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

https://www.facebook.com/…/a.172554116107…/2389262231366655/

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้รัฐบาลสามารถออกข้อกำหนดบางอย่างที่อาจจำเป็นต่อการแก้ไขสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังว่า พ.ร.ก. นี้ทำให้รัฐบาลมีอำนาจออกข้อกำหนดที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจเกินความจำเป็นต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส

เรามาดูกันก่อนว่าข้อกำหนดที่รัฐบาลสามารถออกมาได้ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. นี้มีอะไรบ้าง
1. ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
2. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
3. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
5. ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ
6. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ข้อกำหนดที่เราอาจเห็นรัฐบาลออกมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส เช่น ข้อกำหนดตามข้อ 1. (การเคอร์ฟิว) ข้อ 4. (การปิดเส้นทางเข้าออกเมือง) หรือในบางกรณีอาจต้องออกข้อกำหนดตามข้อ 5. และ 6.

แต่สำหรับข้อกำหนดตามข้อ 3. นั้น อาจถูกนำมาใช้ละเมิดสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และลิดรอนเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้

การจัดการข้อมูลข่าวสารไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความตื่นตระหนกเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถบรรลุได้โดยการบริหารจัดการที่ดีของรัฐบาล ทั้งการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนไม่สับสน การทำงานอย่างมีเอกภาพและมีความโปร่งใส มิใช่เอาแต่ไปกล่าวหาและดำเนินคดีผู้อื่นว่าปล่อย fake news

สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพสื่อยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ที่ผ่านมาเราได้เห็นว่ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา รวมถึงเกิดความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง เช่น การตรวจคัดกรองที่หละหลวม การจัดสรรอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ไปไม่ถึงมือเจ้าหน้าที่ ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและพาณิชย์ ข่าวบุคคลใกล้ชิดรัฐมนตรีกักตุนหน้ากากอนามัย การออกมาตรการต่างๆ ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ฯลฯ ที่เรายังเห็นเรื่องเหล่านี้ได้ก็เพราะสื่อยังสามารถรายงานข่าวได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกข่มขู่คุกคามว่าเป็นการบิดเบือน

ส่วนในข้อกำหนดตามข้อ 2. ยังอาจถูกใช้ข่มขู่คุกคามผู้แสดงความคิดเห็นที่โต้แย้งหรือตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐบาล (แม้ว่าจะไม่ได้ออกไปชุมนุมก็ตาม เพราะข้อ 2. รวมถึง “กระทำการใด” ด้วย) ว่าเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้ด้วยเช่นกัน

ซึ่งการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกมา (รวมถึงข้อ 2. และ 3.) พ.ร.ก. นี้กำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี ปรับสูงสุดถึง 40,000 บาท

นอกจากนี้ในมาตรา 16 ข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําตาม พ.ร.ก. นี้จะไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กล่าวคือจะไม่สามารถร้องต่อศาลปกครองได้ และในมาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. นี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทําผิดกฎหมาย (หากเป็นการกระทําที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น และไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่) ซึ่งจะทำให้การฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่หากได้รับความเสียหายเกิดความยุ่งยากมากขึ้น

พ.ร.ก. นี้จึงอาจกลายเป็นดาบสองคมที่หันกลับมาทำร้ายประชาชนได้หากรัฐบาลลุแก่อำนาจ

DRG ขอเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หากจะใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าว จะต้องใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสจริงๆ และไม่ใช้อำนาจในการละเมิดสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ลิดรอนเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และข่มขู่คุกคามประชาชนที่โต้แย้งหรือตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐบาล

นอกจากนี้รัฐบาลควรจะวางแผนด้วยว่าหลังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว จะมีมาตรการอย่างไรต่อไปที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่อไป โดยต้องคำนึงถึงผลสืบเนื่องอย่างรอบด้าน รวมถึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจในครั้งนี้ด้วย อย่าให้เป็นเหมือนกับที่ประกาศปิดสถานที่ต่างๆ แล้วไม่ได้มีมาตรการรองรับประชาชนจนเกิดการเดินทางกลับต่างจังหวัดซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค มิเช่นนั้นแล้ว ต่อให้มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่มีความหมาย

อย่าฉวยโอกาสใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินมาทำร้ายประชาชนอีก เพราะทุกวันนี้ความไม่มีประสิทธิภาพและไม่โปร่งใสของพวกท่านก็ทำให้ประชาชนเจ็บมามากเกินไปแล้ว
__________

(ดู พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00166932.PDF)
...