วันศุกร์, มีนาคม 20, 2563

ไทยเอาด้วยมาตรการแข็ง ยาแรงต้านไวรัส แต่ถ้ายังไม่ปิดประเทศ ผู้ติดเชื้ออาจถึงหมื่นใน ๔ วัน


ย่องๆ ทีละก้าว ค่อยเป็นค่อยไป มาตรการรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโรคปอดอักเสบ โควิด-๑๙ในไทย ผู้นำรัฐบาลพยายามทัดทานจนสุดฤทธิ์ต่อเสียงเรียกร้องให้ปิดประเทศ หรือ ‘lockdown’ อย่างน้อยๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด

ข้ออ้างในตอนนี้นอกจากบอกว่าการระบาดในประเทศไทยยังไม่ร้ายแรงถึงขั้น ๓ ฉะนั้นจึงเมินข้อเรียกร้องจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ก่อนหน้านั้นหัวหน้าอดีตพรรคอนาคตใหม่ บรรยายไว้แล้วว่าควรจำกัดบริเวณและระงับการติดต่อปฏิสัมพัทธ์มากกว่า ๑๐ คน

ล่าสุดนี่ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เสนอให้รัฐบาลเร่งมาตรการทำนองเดียวกัน รวมทั้งวิธีการปูพรมตรวจหาเชื้อไวรัสทั่วประเทศ ซึ่งตรงกับข้อเสนอของพระภคิณีเธออุบลรัตน์

แต่รองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าไม่จำเป็น สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นที่สาม มิใยที่เพิ่งพบผู้ป่วยรายใหม่ ๕๐ คน ทำให้เวลานี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว ๓๒๒ คนกระจายอยู่ในพื้นที่ ๒๘ จังหวัด โดยที่ผู้ติดเชื้อและป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ
 
ข้ออ้างหนึ่งที่ไม่มีการประกาศล็อคดาวน์ ออกมาจากปาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังเข้าหารือ พล.อ.ประวิตรว่า “ปิดกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับการปิดประเทศ เพราะจะทำให้ระบบการคมนาคมขนส่งที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางถูกตัดขาดทั้งหมด”

สำหรับกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุมกับนายกฯ เมื่อวันก่อนบอกว่า ต่างย้ำแล้วย้ำอีกว่าสถานการณ์บ้านเรา ใกล้ระยะที่สามเข้าไปเต็มทีแล้ว “แต่พยายามกดไว้แค่ระยะที่สอง...เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ สถานที่รองรับ และบุคลากร”

ทว่ามาตรการใหม่ที่ทางการประกาศ เช่นให้ผู้เดินทางเข้าประเทศ (รวมทั้งคนไทยที่เดินทางกลับภูมิลำเนา) ต้องมีใบรับรองแพทย์ซึ่งออกให้ภายใน ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง มายืนยันพร้อมกรมธรรม์ประกันภัยมูลค่าอย่างน้อย ๑ แสนเหรียญสหรัฐ

และยังมีการปิดด่านทางบกชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน (ซึ่งบางคนบอกว่า “ไม่ใช่อะไร ลาว มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ชายแดนติดบ้านเราเขาปิดประเทศหมดแล้ว”) รวมทั้ง ขอความร่วมมือ ประชาชนอยู่กับบ้าน “งดการไปรวมกลุ่มกันเป็นหมู่คณะ”

เรียกมาตรการนี้ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งก็เป็นมาตรการกำหนดบังคับที่หลายประเทศในกลุ่มเสี่ยงใช้ปฏิบัติกันมาพักหนึ่งแล้ว (โดยเฉพาะในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเรียกว่า ‘Safer at home’ อยู่บ้านปลอดภัยกว่า)

แต่ของไทยไม่ยอมออกเป็นคำสั่ง จะรอให้คนไทยต่างแดนกลับบ้านให้หมดเสียก่อนหรือไร ซึ่งที่จริงประกาศล็อคดาวน์ไปก่อน แล้วเรียกประชากรที่ไปเป็น เอ็กซ์แพทหรือเดินทางอยู่ต่างประเทศให้รีบกลับบ้าน อย่างที่สหรัฐทำก็ได้

นี่ชาวไทยที่ไปอาศัยในสเปนพื้นที่เสี่ยงอันดับสองของยุโรป ก็แห่กันกลับแล้วโดยไม่ต้องผ่านการตรวจและกักตัว ๑๔ วันแต่อย่างใด ผู้เดินทางกลับคนหนึ่งซึ่งมาจากบาเซโลน่าโพสต์ข้อความว่า คนเดินทางเข้าวันนั้นทุกสายการบินกว่า ๖๐๐ คนล้วนเดินผ่าน ตม.ได้อย่างฉลุย
 
น่าจะมีคนไทยที่ไปใช้แรงงานทำมาหาเลี้ยงชีพในประเทศเสี่ยงยุโรปอื่นๆ พากันเดินทางกลับบ้านเกิดเช่นกัน โดยเฉพาะจากอิตาลีและฝรั่งเศส ซึ่งจากนี้ไปต้องมีใบรับรองแพทย์ และเอกสารยืนยันจากสถานทูตไทยในประเทศนั้น

และความที่การบริหารจัดการทั้งมวลในการรับมือไวรัสระบาดครั้งนี้ เป็นมาอย่างขาดประสิทธิภาพ ตั้งแต่ระดับสั่งการชั้นสูงลงไปถึงระดับปฏิบัติการบางหน่วย ทำให้หน้าสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอนเมื่อวานนี้ มีคนไปรอขอใบอนุญาตยาวเหยียดอย่างแออัดกว่า ๒ ชั่วโมง

กลายเป็น “ละทิ้งมาตรการ social distancing’ รักษาระยะห่าง (ทางกายภาพ) ระหว่างกันและกันไป” (Jonathan Head @pakhead) อีกทั้งมีข้อวิจารณ์ตามมาว่า “ไม่มีประสิทธิภาพในการแยกคนที่สุขภาพดีออกจากคนที่ติดเชื้อ” (ณัฐวุฒิ เผ่าทวี @thestandardth)


ดังนี้จุดแข็งของรัฐบาลไทยในการต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าที่ว่า จนบัดนี้มีคนตายเพียงรายเดียว (น่าจะเป็นเพราะจำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัย ๓๐-๔๐ ปี ไม่ค่อยมีคนชรา อัตราการตายจึงน้อยมาก) หากแต่จากอัตราคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในไทย

และผู้เดินทางกลับจากประเทศตะวันตกซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดจุดใหม่แทนจีน มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยช่วงก่อนหน้านี้ไม่มีการตรวจและกักตัว สามารถกลายเป็นสื่อนำเชื้อไปแพร่กระจายในไทยระลอกใหม่ก็ได้

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ให้ข้อคิดไว้ว่า “จากตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งสูงแตะระดับ ๓๓% เทียบเคียงกับประเทศที่ระบาดรุนแรง

หากคนไทยไม่ร่วมล็อคดาวน์​ตัวเองอยู่กับบ้าน สถิติอาจทำผู้ป่วยพุ่งสูงถึง ๑,๐๐๐ คนใน ๔ วันนี้ /แตะ ๑ หมื่นคนใน ๑๔ วัน” ก็ได้ และคิดบ้างไหม ในความเป็นไทยๆ จะมีสักกี่คนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อชาติตราบเท่าที่ภัยยังมาไม่ถึงตัว