วันศุกร์, มีนาคม 27, 2563

ภายใต้วิกฤต Covid-19 มีคนเสนอขอให้หยุดใช้คำว่า "Social distancing" "เว้นระยะห่างทางสังคม" แล้วเปลี่ยนมาใช้คำว่า "Physical distancing" "เว้นระยะห่างทางร่างกาย แต่สร้างความใกล้ชิดทางสังคม" แต่มีคนไม่เห็นด้วย




หยุดใช้คำว่า "Social distancing"

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 พวกเราคงได้ยินคำแนะนำให้เว้น "ระยะห่างทางสังคม" หรือ "Social distancing" กันบ่อยมาก แต่คำนี้น่าจะไม่ถูกต้องและมีนักคิด นักวิชาการจำนวนมากออกมาเตือนว่า เราต้องไม่เว้นระยะห่างทางสังคม แต่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างร่างกาย "physical distancing" เท่านั้น และต้องสร้างความใกล้ชิดทางสังคม (Social connected) ให้มากยิ่งขึ้น เพราะช่วงเวลานี้หลายคนตกงาน หลายกิจการต้องปิด หลายคนไม่รู้ว่าอนาคตตนเองจะเป็นอย่างไรต่อไป และไม่รู้ว่าโรคร้ายนี้จะคงอยู่ไปเราอีกนานแค่ไหน

เวลาที่ยากลำบากและสิ้นหวังเช่นนี้ เรายิ่งต้องไม่เว้นระยะห่างกับสังคม แต่ต้องสร้างความใกล้ชิดทางสังคมให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการช่วยเหลือกัน ปลอบใจกัน และร่วมมือกัน ถ้าทุกคนร่วมมือกัน มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยถ้ามีอาการป่วยหรือกลับจากต่างประเทศ หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงติดโรค ต้องแยกตัวเองโดยให้เว้นระยะห่างทางร่างกายจากคนอื่น 14 วัน จนมั่นใจว่าปลอดภัย และการใช้ชีวิตปกติในแต่ละวันถ้ามีความจำเป็นในการเดินทาง การติดต่องาน การกินอาหารร่วมกัน ก็ให้เว้นระยะห่างทางร่างกายไม่ต่ำกว่า 2 เมตร สวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้ไอจามไปโดนผู้อื่น ไม่กักตุนอาหาร ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือกักตุนสินค้าเพื่อทำกำไรมากๆ และหากเห็นคนที่ยากลำบาก ก็ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มที่

ถึงเวลาแล้วครับ ที่ต้องยกเลิกการใช้คำว่า "เว้นระยะห่างทางสังคม" (social distancing) แล้วเปลี่ยนมาใช่คำว่า "เว้นระยะห่างทางร่างกาย แต่สร้างความใกล้ชิดทางสังคม" (physical distancing but social connected)
...
Wiphop Ketmunin ผมกลับคิดว่าอย่าเพิ่งไปยกเลิกคำว่า social distancing เพราะมันให้ความหมายรวมๆที่รับรู้ร่วมกันของคนในสังคม(connotations)ว่า เป็นการงดเว้นการพบเจอทางกายภาพเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น ไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนกัน การสังสรรค์รื่นเริงต่างๆ การทำกิจกรรมทางกายภาพทางสังคมร่วมกัน การร่วมชุมนุม ฯลฯ คนทั่วๆไปเขาไม่ได้ไปคิดลึกซึ้งถึงความหมายตามตัวอักษร(denotations) แล้วไปเข้าใจว่า social distancing จะหมายถึงงดเว้นการมีปฏิสัมพันธ์กันทุกรูปแบบรวมไปถึงการสื่อสารผ่านเครื่องมือต่างๆไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ อินเตอร์เนต หรือช่องท่างอื่นๆ

ต้องนำความจริงข้อหนึ่งมาพิจารณาด้วยว่า ภาษาคำศัพท์ที่เราใช้กันเปลี่ยนแปลงเสมอไปตามบริบทของสังคมและเมื่อเทคโนโลยีของการสื่อสารซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของบริบทดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วส่งผลให้บางครั้งคำศัพท์ภาษาที่เคยใช้อาจไม่สามารถครอบคลุมหรืออธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆที่เปลี่ยนไปจากเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอและตรงประเด็น

ส่วนความรู้สึกของการเชื่อมต่อทางสังคม(social connected)ที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมนั้นคนทั่วไปเขาก็ใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติตรงนี้กันอยู่แล้วเท่าที่โอกาสของพวกเขาจะเอื้ออำนวยผ่านช่องทางต่างๆที่ไม่ต้องมาพบปะกันทางกายภาพ เช่น LINE, Messenger, โทรศัพท์ หรือ แสดงความเห็นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ดังนั้นการไปยกเลิกคำที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจตรงกันอยู่แล้วอาจยิ่งทำให้เกิดความสับสนในการสื่อสาร