วันอังคาร, มีนาคม 24, 2563

ตรวจสอบข่าว ในหลวง ร.๑๐ พระราชทานเครื่องช่วยหายใจให้โรงพยาบาล ๑๐๐ เครื่องเพื่อสู้ covid-19 โดย Nattharavut Kunishe Muangsuk




ขอตั้งคำถามไปยังเพจ Thailand Vision เกี่ยวกับข่าวในหลวงพระราชทานเครื่องช่วยหายใจแก่โรงพยาบาลเพื่อสู้ covid-19
ผมอยากทราบที่มาของข่าวที่เพจthailandvision นำเสนอว่า ในหลวง ร.๑๐ พระราชทานเครื่องช่วยหายใจให้โรงพยาบาล ๑๐๐ เครื่องเพื่อสู้ covid-19 ครับ หากข่าวนี้เป็นจริงนับเป็นพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ในหลวงทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์พสกนิกร และเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง
แต่ผมตรวจสอบข่าวนี้แล้ว ข่าวพระราชสำนักประจำวันที่ 22 มีนาคมก็ไม่ปรากฎข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด
ผมพยายามค้นหาที่มาของข่าวนี้ พบว่าที่ปรากฎมาจากแหล่งเดียวคือเพจ Thailand Vision ซึ่งปกติทางเพจลอกข่าวมาจากแหล่งอื่นแล้วทำรูปแบนเนอร์ใส่ข้อความประหนึ่งว่าข่าวเป็นผลงานของตัวเองเสมอ แต่ให้เครดิตอ้างอิงแหล่งที่มาตอนท้ายข่าวทุกข่าว แต่เหตุใดข่าวนี้ถูกงดเว้นไม่กระทำดั่งเคย
ผมไปคุ้ยในกูเกิ้ลโดยใช้คำค้นว่า "ในหลวงพระราชราชทานเครื่องช่วยหายใจ" ก็พบว่ามีข้อมูลข่าวจากเพจกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งอ้างอิงแหล่งที่มาจากเพจ Thailand vision อีกที
คนที่พอนับเป็นแหล่งข่าวน่าเชื่อถือได้อย่างนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำเสนอข่าวนี้ แต่ใช้รูปที่ก๊อบปี้มาจากเพจ Thailand Vision อีกที
มีสื่อหลักอื่นๆ นำเสนอข่าวนี้ด้วย เช่น เว็บ newstv แต่อ้างอิงนายพุทธิพงษ์ ส่วน amarintv เว็บ kapook และเว็บสยามรัฐ ระบุที่มาจากเพจกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งก็นำมาจากเพจ Thailand Vision อีกทอดหนึ่ง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
เว็บไซต์ nationweekend ลงข่าวระบุแหล่งข่าวคือนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เมื่อผมไปตรวจสอบข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายสมชาย แสวงการ ปรากฎว่าคัดลอกข้อความจากเพจ thailandvision มานำเสนออีกที
และก็ไม่ปรากฎแหล่งที่มาจากแหล่งข่าวอื่นๆ ที่เชื่อถือได้และสามารถอ้างอิงได้เลย ซึ่งผมก็ไม่ทราบเช่นกันว่าเหตุใดสื่อเหล่านี้จึงไม่ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวที่เชื่อถือได้ แต่นำเสนอต่อๆ กันซึ่งผิดวิสัยจรรยามารยาทของวิชาชีพสื่อ เพราะข่าวนี้เป็นข่าวสำคัญอย่างยิ่ง
ฉะนั้นข้อมูลข่าวนี้จึงมาจากเพียงแหล่งเดียว คือเพจ Thailand Vison
นอกจากนี้ ผมได้เข้าไปที่เพจชื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ ซึ่งผมไม่ทราบว่าเป็นเพจส่วนพระองค์ท่าน หรือหน่วยงานใด คณะบุคคลใดจัดทำขึ้น แต่ได้นำเสนอเรื่องนี้เช่นกัน แต่เวลาโพสต์เนื้อความข่าวนี้ คือเวลา 18.01 น.ของวันที่ 22 มีนาคม แต่เพจ Thailand Vision เผยแพร่เนื้อหาตั้งแต่เวลา 17.03 น. ของวันเดียวกัน เรียกว่าห่างกันเกือบ 1 ชั่วโมง จึงมั่นใจว่าแหล่งที่มาของข่าวจึงไม่ใช่จากเพจที่ใช้พระนามของในหลวง ร.๑๐ แน่นอน แต่เพจที่ใช้พระนามของในหลวง ร.๑๐ นำเนื้อความมาจากแหล่งใด หรือจากเพจ Thailand Vision ก็ไม่อาจทราบได้
คำถามคือเพจ Thailand Vision นำเนื้อข่าวดังกล่าวมาจากที่ใด และมีเจตนาอย่างไร ตรงนี้ผมจึงยังไม่ทราบ แต่ได้ตั้งคำถามไปที่ทางเพจแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใดครับ
หากเพจมีแหล่งข้อมูลที่ตนเองมี ก็ควรนำมาแสดงหรือชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมประจักษ์แก่พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน หากมีการแก้ไขให้ข่าวมีความถูกต้องครบถ้วนแล้วผมจะร่วมด้วยช่วยแชร์เพื่อสรรเสริญพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงในยามที่บ้านเมืองต้องการมิ่งขวัญกำลังใจครับ.



ผมพยายามตรวจสอบข่าวพระราชทานเครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์การแพทย์ผ่านตัวแทนด้านเวชภัณฑ์ในประเทศก็ยังไม่มีข้อมูลปรากฎเลย
ตรวจสอบผ่านบริษัทนำเข้าและให้เช่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งหนึ่งซึ่งถือเป็นบริษัทที่ใหญ่มากๆ ก็มีการยืนยันว่ายังไม่ปรากฎข้อมูลดังที่เป็นข่าว
เท้าความนิดหน่อยว่า บริษัทด้านเวชภัณฑ์แต่ละบริษัทจะรับรู้ข้อมูลความต้องการเวชภัณฑ์แต่ละโรงพยาบาลเป็นอย่างดี เพราะ spec แต่ละโรงพยาบาลไม่เหมือนกัน และแต่ละบริษัทจะมี spec เวชภัณฑ์ของตนเอง เมื่อมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างตามระบบของแต่ละโรงพยาบาล จะมีการระบุรุ่น spec เวชภัณฑ์ออกมา บริษัทที่มีเวชภัณฑ์ดังกล่าวในสต็อค หรือมีบริษัทคู่ค้าตนเองที่ต่างประเทศก็จะเสนอใบประกวดราคาไป
ถามว่าแต่ละบริษัททราบข้อมูลของบริษัทอื่นไหม ก็จะทราบเป็นอย่างดี เพราะทุกบริษัทจะมีเซลล์ที่อยู่หน้างาน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โรคระบาด ทุกบริษัทจะมีเซลล์อยู่ในพื้นที่ตลอดเพื่อดูว่าโรงพยาบาลไหนขาดแคลนเครื่องมือ-อุปกรณ์ชนิดใด ทางบริษัทจะตรวจสต็อคหรือมีความสามารถสั่งซื้อได้หรือไม่ ก็จะเสนอราคาไป
ทีนี้เมื่อมีงบบริจาคหรืองบพระราชทานลงไปสู่โรงพยาบาล (ส่วนใหญ่จะมอบเงินให้ทางโรงพยาบาลสั่งเองเพื่อให้ตรงความต้องการและspec ของโรงพยาบาล) ทางโรงพยาบาลจะประกวดราคา ระบุรุ่น spec ที่ต้องการ ทางบริษัทเวชภัณฑ์ก็จะประกวดราคาไป หรืออีกประเภทคือทางผู้บริจาคเจ้าของงบประมาณสามารถตรวจสอบข้อมูลความต้องการจากทางโรงพยาบาลโดยตรงแล้วสั่งกับทางบริษัทเวชภัณฑ์ไปมอบให้เอง แต่วิธีนี้จะมีน้อย เพราะมันยุ่งยากในขั้นตอนประสานงาน
ทีนี้เมื่อตรวจสอบเครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลไทยส่วนใหญ่นิยมใช้งานอยู่ จะมี 2 ยี่ห้อคือ ยี่ห้อหนึ่งของประเทศเยอรมัน กับอีกยี่ห้อของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งทั้งสองประเทศมีการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อ covid-19 ขณะนี้(อิตาลีที่ระบาดรุนแรงและเสียชีวิตสูงสุดก็ติดพรมแดน) จึงติดปัญหาการส่งออกแม้จะมีความต้องการซื้อจากทั่วโลก ขณะที่บริษัทมีกำลังผลิตได้เพียง 10,000 เครื่องเท่านั้น ซึ่งทางบริษัทเวชภัณฑ์ในไทยถึงขั้นขอร้องอ้อนวอนให้เขาส่งเข้ามาในประเทศ ซึ่งถ้าหากเขายืนยันส่งออกได้ก็อาจต้องรอถึง 189 วัน ไม่รวมกระบวนการด้านภาษีศุลกากร และขอ อ.ย.อีก
ทีนี้ความเป็นไปได้มีอีกยี่ห้อเดียว สัญชาติอเมริกา ซึ่งเป็นอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจขนาดใหญ่ที่สามารถขายได้เพราะบริษัทที่จัดขายอุปกรณ์ยี่ห้อนี้กำลังโละสต็อค ราคาประมาณจะอยู่ที่3 เครื่อง/1 ล้านบาท โดยมีตัวแทนจำหน่ายในไทยนำเข้ามาสต็อคไว้พร้อมปล่อยสินค้า เพียงแต่ spec ไม่ตรงความต้องการของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ และยังไม่ปรากฎข่าวว่ามีการสั่งซื้อหรือส่งมอบเครื่องช่วยหายใจยี่ห้อนี้ในห้วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา
การตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวยังไม่มีความชัดเจนของข้อมูลหรือการรับรองความถูกต้องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่กระนั้นถึงตอนนี้ก็ยังมีสื่อบางสื่อนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ยังเป็นข่าวที่ตรวจสอบที่มาไม่ได้ และต้นทางของข่าวก็มาจากแหล่งเดียวคือเพจ Thailand Vision เป็นเพจเอกชนซึ่งไม่มีการอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือโดยเฉพาะจากสำนักพระราชวัง และหน่วยราชการในพระองค์ ทั้งยังไม่ปรากฎในข่าวพระราชสำนักหรือจากสื่อหลักที่เชื่อถือได้ และสื่อที่นำเสนอข่าวล้วนแต่นำข้อมูลต้นทางมาจากเพจ Thailand Vision ทั้งสิ้น
ผมไม่ได้บอกว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม แต่ตราบใดที่เพจ Thailand Vision ยังไม่ให้คำตอบ หรือชี้แจงที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ผมก็นับว่าข่าวนี้ยังไม่ใช่ข่าวที่น่าเชื่อถือได้ และในเบื้องต้นผมไม่ทราบเจตนาของทางเพจ Thailand Vision ว่านำเสนอข่าวนี้ด้วยจุดประสงค์อันใด หรือถ้าหากผลลัพธ์สุดท้ายคือทางเพจนำข่าวไม่จริงมาเผยแพร่ จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรต่อการกระทำของตนเอง.
...
เพจเกียวข้อง...