วันเสาร์, มีนาคม 28, 2563
'เพื่อไทย-ก้าวไกล' ประสานเสียง ชงยกเลิกงบซื้ออาวุธ มาจ่ายสู้ COVID-19
'เพื่อไทย-ก้าวไกล' ประสานเสียง ชงยกเลิกงบซื้ออาวุธ มาจ่ายสู้ COVID-19
2020-03-28
ประชาไท
พรรคเพื่อไทย เสนอปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อและนำผู้ติดเชื้อมารักษา จับกุม-ดำเนินคดี ผู้เกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากาก เร่งใช้งบกลางที่มีอยู่สู้กับการแพร่ระบาด ยกเลิกการจัดซื้ออาวุธ สัมมนาดูงาน สร้างอาคารใหม่ ใส่ใจมาตรการช่วยเหลือคนยากจน ผู้มีรายได้น้อย หรือลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำ ขณะที่ พรรคก้าวไกล' เสนอโอนงบกลาโหม 6.3 หมื่นล้านจ้าง 'พลเรือนอาสาสาธารณสุข' สู้
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องต่อ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 หลังรัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยเพจ พรรคเพื่อไทย ได้สรุปเนื้อหาแถลงการณ์ดังกล่าว 4 ประเด็นดังนี้
1. ปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อและนำผู้ติดเชื้อมารักษา พร้อมทั้งควบคุมไม่ให้สามารถแพร่เชื้อต่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 21 วัน ในการสยบปัญหา COVID-19 ไว้แล้ว
2. การจับกุม-ดำเนินคดี ผู้เกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากอนามัยและลักลอบส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศให้ได้ ขบวนการหาประโยชน์รายใหญ่ที่มีอิทธิพล และจัดสรรให้ประชาชนมีใช้อย่างพอเพียงและเป็นธรรม
3. เร่งใช้งบกลางที่มีอยู่กว่า 500,000 ล้านบาท ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด พร้อมปรับงบประมาณฯ ปี 2563 มาใช้แก้วิกฤติ โดยยกเลิกการจัดซื้ออาวุธ สัมมนาดูงาน สร้างอาคารใหม่ การซื้อ / เช่ารถประจำตำแหน่ง อาจได้งบประมาณกลับมาถึง 70,000 - 80,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการต่อสู้กับวิกฤติ COVID-19 โดยที่ไม่ต้องสร้างหนี้เพิ่มขึ้น
4. ใส่ใจมาตรการช่วยเหลือคนยากจน ผู้มีรายได้น้อย หรือลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาล เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือให้เพียงพอต่อการป้องกันตัวเองของแพทย์ พยาบาล และเครื่องมือเวชภัณฑ์ จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีขวัญและกำลังใจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมาตรการทั้งหมดสามารถใช้งบกลางที่มีอยู่กว่า 500,000 ล้านบาท มาใช้ในการบริหารจัดการในทั้ง 4 มาตรการอย่างเร่งด่วนได้ทันที
'ก้าวไกล' เสนอโอนงบกลาโหม 6.3 หมื่นล้านจ้าง 'พลเรือนอาสาสาธารณสุข' สู้
ขณะที่ พรรคก้าวไกล ออกมาเสนอแนวคิดในลักษณะเดียวกัน โดยทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า พรรคก้าวไกลเสนอ โอนงบกลาโหม 63,500 ล้าน พร้อมจัดจ้าง “พลเรือนอาสาสาธารณสุข” สู้ภัยโควิด มุ่งรักษาชีวิตประชาชน
โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถึงเวลาที่กระทรวงกลาโหมต้องแสดงสปีริตสละงบประมาณบางส่วนเพื่อพร้อมด้านช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณสุข เหตุผลที่ผมเสนอเช่นนี้ไม่ใช่จ้องจะโจมตีกองทัพ เพียงแต่ขณะนี้งบกลางมีไม่เพียงพอแล้วจริงๆ เพราะ จากมติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไปแล้วทั้งสิ้น 94,029 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้ตั้งเอาไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทั้งสิ้น 96,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าปัจจุบัน “งบกลาง” ที่รัฐบาลได้กันเอาไว้นั้น มีไม่เพียงพอแล้ว
ทั้งนี้เพื่อความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ทั้งเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ สามารถเบิกใช้งานได้ตามจริง โดยไม่ต้องถูกจำกัดการเบิกใช้ ตลอดจนเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทุ่มเทปฏิบัติงานด้วย
โฆษกพรรคก้าวไกล เสนอรัฐบาลว่า พิจารณาโอนงบประมาณ จากหน่วยต่างๆ มาใช้เพื่อเพิ่มความพร้อมในงานสาธารณสุข เป็นการเร่งด่วน และเมื่อพิจารณางบแต่ละส่วนแล้วแน่นอนว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีภารกิจในการดูแลความมั่นคงของราชอาณาจักร และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้าง และมีจำนวนประชาชนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละวันต้อง ยอมรับกันว่าไม่มีภาระกิจไหนจะสำคัญไปกว่าการปกป้องชีวิตของประชาชนในขณะนี้ ดังนั้นผมในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกลขอเสนอ 3 กิจกรรมที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณในขณะนี้
ข้อที่ 1 : การงดเว้นการเกณฑ์ทหาร ใช้งบประมาณส่วนนี้จำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้มีการเลื่อนคัดเลือกการเกณฑ์ทหารออกไปอย่างไม่มีกำหนดและเห็นด้วย ที่รัฐบาลจะใช้วิธีการรับสมัครโดยสมัครใจผ่านการสมัครออนไลน์ และการให้พลทหารที่ใกล้ปลดประจำการสมัครใจปฏิบัติหน้าที่ต่อ โดยได้รับโอกาสให้เป็นนักเรียนนายสิบ เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารของพรรคอยู่แล้ว โดยการดำรงสภาพด้านกำลังทหารของกองทัพในกรณีนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องเกณฑ์ทหารถึง 100,000 นาย โดยอาจจะลดจำนวนลงให้เหลือกำลังพลตามความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้โอนงบประมาณให้กับรัฐบาลได้ราวๆ 1 หมื่นล้านบาท
ข้อที่ 2: เสนอให้โอนงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และงบลงทุนที่ไม่จำเป็นจะ โอนงบประมาณได้ = 39,500 ล้านบาท กองทัพสั่งเรือดำน้ำจากประเทศจีน ด้วยสถาณการณ์เช่นนี้มีโอกาสที่การส่งมอบเรือดำน้ำจะล่าช้า ดังนั้นงบประมาณผูกพันสำหรับจัดซื้อเรือดำน้ำลำอีก 2 ลำ ที่ผูกพันเอาไว้ 2.25 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนออกไปก่อน และหากพิจารณางบประมาณในการจัดซื้ออาวุธต่างๆ ของกองทัพร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น รถยานเกราะสไตรเกอร์ล็อตที่ 2 ปืนใหญ่ และเครื่องบินรบต่างๆ ซึ่งมีมูลค่ารวมๆ กันแล้วประมาณ 16,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเรือดำน้ำ ก็จะมีมูลค่าสูงถึง 38,500 ล้านบาท งบประมาณในส่วนนี้ สามารถปรับลด และโอนมาใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงด้านการสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้
นอกจากนี้ หากพิจารณางบลงทุนของกระทรวงกลาโหม ที่มีอยู่ถึง 15,433.6 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาเทียบเคียงจากสัดส่วนภาพรวมของงบลงทุนทั้งประเทศที่มีอยู่ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่ง ส.ส. ของพรรคก้าวไกล เคยรวบรวมข้อมูล และพบว่ามีงบลงทุน ที่เกี่ยวพันกับการลงทุนเพื่อการพัฒนาเพียง 2.8 แสนล้านบาทเท่านั้น นั่นหมายความว่า งบลงทุนประมาณร้อยละ 57.6 ถูกนำไปใช้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ยิบย่อยต่างๆ อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ รถประจำตำแหน่ง ฯลฯ ดังนั้น หากใช้สัดส่วนเดียวกัน ก็เชื่อว่า งบลงทุนทั้งก้อนของกระทรวงกลาโหม ที่สามารถนำมาพิจารณาโอนงบประมาณได้ คือ 8,890 ล้านบาท ซึ่งหากประเมินว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้วร้อยละ 40 นั่นหมายความว่างบลงทุนคงเหลือ ที่สามารถนำมาพิจารณาโอนได้ คือ 5,334 ล้านบาท
หากใช้แนวคิดของการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero Based Budgeting) ที่พิจารณางบประมาณเป็นรายรายการ โดยรายการใดที่มีความจำเป็น ก็จะไม่มีการปรับลดเลยแม้แต่บาทเดียว ได้แก่ งบประมาณก่อสร้างบ้านพักสวัสดิการสำหรับทหารชั้นผู้น้อย งบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทดแทน ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ก็จะไม่ขอโอนเลยแม้แต่บาทเดียว แต่สำหรับรายการใดที่ไม่มีความจำเป็น โดยยังสามารถใช้ครุภัณฑ์เดิมได้ไปก่อน เช่น รถประจำตำแหน่ง ต่างๆ ก็อาจจะขอโอนออกมาทั้งรายการเต็มจำนวน เบื้องต้นคาดว่า น่าจะอยู่ในวิสัยที่โอนออกได้ร้อยละ 20 ซึ่งก็คือ 1,066.8 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำ และอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ขอเลื่อนออกไปก่อน น่าจะโอนงบประมาณส่วนนี้มาได้ เท่ากับ 39,500 ล้านบาท
ข้อที่ 3: โอนงบดำเนินงาน งบรายจ่ายอื่น ที่ไม่เกี่ยวพันกับภารกิจของกองทัพโดยตรง
โอนงบประมาณได้ = 14,000 ล้านบาท งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 ของกระทรวงกลาโหม ในส่วนของงบดำเนินงานมีอยู่ทั้งสิ้น 24,777.8 ล้านบาท และงบรายจ่ายอื่น (งบราชการลับ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ) 95,632.9 ล้านบาท รวมกันแล้วมีมูลค่าเท่ากับ 120,4107 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาว่างบประมาณในส่วนนี้ถูกใช้ไปแล้วร้อยละ 40 ก็น่าเหลืองบประมาณที่สามารถพิจารณาได้ถึง 72,246 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายรายการแบบการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero Based Budgeting) ตามที่ได้อธิบายหลักการไว้แล้ว เชื่อว่า งบประมาณที่สามารถโอนออกมาได้เลย ได้แก่ งบฝึกอบรมและสัมมนาต่างๆ งบเดินทางไปราชการต่างประเทศ งบในการจัดงาน งบประชาสัมพันธ์ งบรณรงค์โครงการต่างๆ ที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ หรือมีหน่วยงานอื่นเป็นเจ้าภาพหลักอยู่แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบประมาณในการจัดฝึกอบรมและสัมมนา การเดินทางไปต่างประเทศ การจัดงาน และการรณรงค์ต่างๆ นั้นสามารถโอนงบเหล่านี้ออกมาได้ทั้งหมดเลย เพราะด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เป็นอยู่นี้ นั้นไม่สามารถที่จะเบิกจ่ายงบประมาณเหล่านี้ได้อยู่แล้ว ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่า น่าจะขอโอนออกมาได้ราวร้อยละ 20 ซึ่งเท่ากับ 14,000 ล้านบาท
โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า ขอเสนอให้รัฐบาลเร่งหารือ และร่วมวางแผนกับผู้นำเหล่าทัพ เพื่อขอโอนงบประมาณราวๆ 63,500 ล้านบาทออกมา (ตัวเลขนี้ เป็นเพียงข้อเสนอแนะคร่าวๆ เท่านั้น ซึ่งงบประมาณที่สามารถโอนได้ ที่แท้จริงจะเป็นเท่าไหร่ รัฐบาลคงต้องหารือกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางในรายละเอียด อีกครั้งหนึ่ง) เพื่อให้รัฐบาลใช้ในภารกิจความมั่นคงด้านการสาธารณสุข ซึ่งเป็นความมั่นคงที่สำคัญต่อชีวิตของประชาชน มากที่สุดแล้วในขณะนี้ ตลอดจนการขอใช้พื้นที่ของกองทัพ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และจัดสรรอัตรากำลังส่วนหนึ่ง เพื่อจัดจ้าง “พลเรือนอาสาสาธารณสุข” เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้นำเหล่าทัพทั้งหมด น่าจะยินดี และพร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อประเทศชาติ และประชาชนทุกคน ผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ไปได้ร่วมกัน