ในช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัส #โควิด19 ทุกคนต่างวิตกกังวลว่า ตัวเองจะเป็นผู้ได้รับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว นโยบาย Social Distancing หรือการรักษาระยะห่างจากผู้อื่นเป็นวิธีเอาตัวรอดเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสเลือกวิธีการนี้ได้
นักโทษและผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่นอย่างใกล้ชิดได้เลย แม้ว่า จะต้องหวาดกลัวโรคระบาดเพียงใดก็ตาม เพราะสภาพความแออัดในเรือนจำที่มีมายาวนานเรื้อรัง แม้ว่า ทางเรือนจำจะระมัดระวังเพียงใด แต่ทุกๆ วันก็จะต้องมีสมาชิกใหม่เดินเข้าไปเพิ่ม หรือมีสมาชิกเดิมที่ออกไปศาล/ทำงาน/เยี่ยมญาติ ที่ต้องพบปะกับผู้คน ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดเข้าไปในเรือนจำแห่งใดแห่งหนึ่งแม้แต่คนเดียว การแพร่ระบาดภายในเรือนจำย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่อาจควบคุมได้
จากเหตุจราจลในเรือนจำ จ.บุรีรัมย์ล่าสุด พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่า กลุ่มนักโทษ 100 ราย ได้รวมตัวกันประท้วง เนื่องจากวิตกกังวลเรื่องไวรัสโควิด รวมทั้ง มีภาวะเครียดประกอบด้วย
แม้ว่า นักโทษที่ถูกศาลพิพากษาแล้วว่า กระทำความผิด จะเป็นผู้ที่ต้องได้รับโทษเพื่อชดเชยสิ่งที่เขาเคยทำผิดมาก่อน แต่การรับโทษก็ต้องเป็นเพียงการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางเท่านั้น รัฐยังมีหน้าที่ต้องดูแลรักษา ป้องกันโรคติดต่อ และรับประกันเรื่องการเข้าถึงสุขภาพที่ดีของทุกคนด้วย
ก่อนเกิดเหตุจราจลเพียงสองวัน กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เพิ่งโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความกังวลต่อสภาพความแออัดในเรือนจำที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงขอไวรัสโควิด และอาจกระทบต่อสวัสดิภาพของทั้งผู้ถูกคุมขังและเจ้าหน้าที่หากไม่มีแนวทางการป้องกันที่รัดกุมเพียงพอ
"ขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้ามาการจัดการปัญหา "ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ" อย่างเป็นระบบทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ของเรือนจำในบ้านเราอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเจอกับสถานการณ์โรคระบาด จึงทำให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่รอไม่ได้อีกต่อไป" กิตติพงษ์ เขียนไว้
ข้อความต่อไปนี้ เป็นการคัดลอกมาจากโพสต์เฟซบุ๊กของกิตติพงษ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อเสนอเฉพาะหน้าต่อการแก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำ และป้องกันก่อนที่การระบาดของไวรัสโควิดจะเข้าไปสู่พื้นที่อันตรายแห่งนี้ และสถานการณ์จะสายเกินแก้
"
"จากข้อมูลผู้ต้องขังในเรือนจำในปัจจุบัน ผมเห็นว่ามีกลุ่มที่ควรได้รับการปล่อยชั่วคราว หรือควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในการปล่อยตัว ประกอบด้วย
- นักโทษเด็ดขาด (หมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว) ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวน 72,000 คน
- "ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา" ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ต้องถูกคุมขังทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะไม่ได้รับประกันตัว รวมทั้งมีบางรายถูกกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กลุ่มนี้มีราวๆ 67,000 คน นับเป็นสถิติที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว
- ผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิตหากโควิดระบาด ทุกเรือนจำมีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดแล้วรวมกันราวๆ 5,800 คน
- กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มนี้มีอีก 9,000 คน ซึ่งเป็นสถิติติดอันดับโลกเช่นเดียวกัน
ผู้ต้องขังเหล่านี้ กรมราชทัณฑ์และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอาจพิจารณาร่วมกัน เพื่อใช้วิธีการปล่อยชั่วคราว (ให้ประกันตัว) หรือปล่อยก่อนกำหนด หรือพักโทษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง อันจะเป็นการช่วยลดความแออัดในเรือนจำไปในตัว
ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ถือเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้วิกฤตไปก่อน และต้องพิจารณาเพิ่มเติมไปถึงห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย"
ดูโพสต์ต้นฉบับของกิตติพงษ์ ได้ทาง https://www.facebook.com/133672886723529/posts/2893043514119772/?d=n
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ระบุว่า ทั่วประเทศมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสิ้น 377,834 ราย เป็นชาย 329,850 ราย หญิง 47,984 ราย นักโทษเด็ดขาดชายที่คดีถึงที่สุดแล้ว 270,515 ราย หญิง 40,022 ราย เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ ฎีกา เป็นชาย 26,538 ราย หญิง 3,634 ราย และประเภทอื่นๆ เช่น ผู้ต้องกักกัน และผู้ต้องขังระหว่างการไต่สวน และสอบสวน เป็นชาย 3,2797 ราย หญิง 4,319 ราย http://www.correct.go.th/stathomepage/ ขณะที่ตัวเลขของผู้ต้องขังในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 37,158 ราย
ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 โพสต์ทูเดย์รายงานว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวภายหลังศูนย์แถลงข่าวโควิดแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล แถลงข่าวว่า พบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย ว่า กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีรายงานผู้ต้องขัง ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แต่จะเร่งตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด เบื้องต้นยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่า เป็นผู้ต้องขังในการควบคุมของหน่วยใด อยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจหรือเรือนจำ
ขณะที่ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคก็ระบุว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลรายบุคคลเกี่ยวกับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อว่า เป็นผู้ต้องคุมขังในสถานที่ใด แต่ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยกรมควบคุมโรคร่วมกับกรมราชทัณฑ์วางมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ทุกเรือนจำประกาศปิดงดเยี่ยมญาติ กรณีผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังย้ายเรือนจำต้องคัดกรอง รายใดพบว่ามีไข้หรือมีความเสี่ยงจะใช้พื้นที่แยก เพื่อป้องกันการติดต่อไปยังผู้ต้องขังรายอื่นๆ
https://www.posttoday.com/social/general/618709
iLaw