วันเสาร์, มีนาคม 21, 2563

เมื่อรัฐบาลสร้างกำแพงสูงกันคนไทยในต่างแดนจะเดินทางกลับมายังประเทศไทย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ... การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือ #ห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทํามิได้...



เมื่อรัฐบาลสร้างกำแพงสูงกันคนไทยในต่างแดน

...

ท่ามกลางความมะงุมมะงาหราของรัฐบาล ว่าจะปิดประเทศตามที่มีประชาชนบางส่วนเรียกร้อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือไม่

ปรากฏว่าวันนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับสายการบินที่มายังประเทศไทย ซึ่งมีสาระสำคัญว่า

กรณีคนไทยในต่างประเทศจะเดินทางกลับมายังประเทศไทย ให้สายการบินทำการคัดกรอง คือ

- ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพที่เหมาะต่อการบิน หรือ Fit to Fly Certificate

- ต้องมีใบรับรองการเดินทางกลับประเทศ ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ประเทศนั้นๆ

ถ้าคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศ ไม่มีใบรับรองสองอย่างนี้ ให้สายการบินปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง !

มีผลหลังเที่ยงคืนของวันที่ 21 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

(www.caat.or.th)

....

ประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ คือ ประกาศฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน มาตรา 39 บัญญัติไว้ว่า

"การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทํามิได้"

ลองคิดดูว่า หากคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ แต่ไม่สามารถหา Fit to Fly Certificate ได้ ก็เท่ากับว่าถูกประเทศบ้านเกิดตัวเองปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ

ดังนั้น ประกาศฉบับนี้แม้ไม่ได้พูดตรงๆ ว่าห้ามคนไทยเข้าประเทศ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็เปรียบเสมือนห้ามกลายๆ นั่นเอง ซึ่งน่าจะมีปัญหาด้านความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

.....

ประเด็นทางกฎหมายลำดับถัดมา คือ ประกาศฉบับนี้เป็นการสร้างเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับ ประชาชนเกินสมควร ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนหรือไม่?

จะขอยกตัวอย่างจากประเทศอังกฤษ เพราะผมเองเคยเรียนปริญญาโทอยู่ที่นั่น

การขอ Fit to Fly Certificate ในอังกฤษนั้น จะต้องทำการนัดหมอที่เรียกว่า GP เพื่อออกให้ ซึ่งใครที่เคยอยู่ที่อังกฤษจะพอรู้ว่าการนัดหมอ GP ไม่ได้ทำง่ายๆ เหมือนในประเทศไทย ที่เดินเข้าไปในคลินิกก็ได้พบคุณหมอ แต่ที่อังกฤษบางทีต้องนัดล่วงหน้ากันเป็นเดือน สนนค่าใช้จ่ายในการขอก็ตกอยู่ราวๆ 35 - 70 ปอนด์

หลังจากได้ใบ Fit to Fly มาแล้ว ก็ต้องไปขอให้สถานเอกอัครราชทูตไทยออกใบรับรองอีกชั้นหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องการสร้างภาระขั้นตอนให้ประชาชนมากเกินสมควรนี้ เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุดคดีหนึ่ง โดยสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์รับจ้าง ฟ้อง กระทรวงคมนาคม ที่ออกกฎว่า หาก Taxi รายใดจะจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จะต้องติดก๊าซ NGV เท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วกรมจะไม่จดทะเบียนรถให้

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนกฎนี้ โดยให้เหตุผลว่า

"การใช้อำนาจของเจาหน้าที่ของรัฐ นอกจากจะพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจแล้ว การกำหนดมาตรการต่างๆ ต้องมีความเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและความเสียหายที่เอกชนจะได้รับประกอบกันด้วย เมื่อมาตรการนั้นๆ มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระใหเกิดแก่ประชาชนเกินสมควร ยอมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

เมื่อเนื้อหาประกาศฉบับนี้จึงเป็นการบังคับให้คนไทยที่ต้องการกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง จะต้องหาใบรับรองถึง 2 ฉบับ จากต่างแดน เป็นการสร้างภาระเกินสมควรหรือไม่?

......

มาตรการรัฐบาลที่ต้องการคัดกรองคนต่างชาติเข้าประเทศพอเข้าใจได้

แต่ถึงขนาดห้ามหรือสร้างภาระให้คนไทยที่ต้องการกลับประเทศไทยด้วยนั้น จะเข้าใจอย่างไรดี

#COVID19 #ประกาศสำนักงานการบินพลเรือน
...


Gossipสาสุข
10 hrs ·

ประยุทธ์แก้เกม
ดึง “อาจารย์หมอ” ฟื้นวิกฤตศรัทธา
เดิมพันครั้งสุดท้าย


(1)
ถือเป็นมาตรการ “เฮือกสุดท้าย” ของรัฐบาล สำหรับการออกแคมเปญ ขอความร่วมมือให้คนไทย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว จากสัปดาห์ก่อน และเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าการติดเชื้อหลายจุด ไม่สามารถหาที่มาได้แล้ว

แน่นอน การเพิ่ม 3-4 เท่าตัว ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของบรรดาหมอๆ ในกระทรวงสาธารณสุข เพราะคาดไว้อยู่แล้วว่าสักวันหนึ่ง ก็จะเกิดการระบาดในระดับนี้ สิ่งที่กระทรวงทำ ก็คือการพยายาม “ชะลอ” กราฟ ไม่ให้ดิ่งขึ้นสูงพรวดพราดรวดเดียวเหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุโรป ในสหรัฐอเมริกา หรือในอู่ฮั่น ซึ่งระบบ ไม่สามารถรองรับไหว

แต่จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ อยู่ตรงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทันที หลังจากพบ Cluster ใหม่ ที่ใหญ่ระดับ “สนามมวยลุมพินี” และ “สนามมวยราชดำเนิน” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแต่ละแห่งอยู่ในระดับ 5,000 – 6,000 คน ด้วยเหตุบังเอิญ จากการที่ แมทธิว ดีน และบรรดา “เซียนมวย” ไปตรวจเชื้อดัวยตัวเอง แล้วทำให้ Cluster นี้ ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง จนยากที่จะควบคุม และมี “ความเสี่ยง” สูง ที่จะทำให้กราฟตั้งชัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยหลักพัน หลักหมื่นอย่างรวดเร็ว...


(2)
โดยปกติ วงการสาธารณสุข จะมี “ขั้ว” ใหญ่ๆ อยู่ 2-3 กลุ่ม หนึ่งคือบรรดาข้าราชการสายกระทรวง ซึ่งโดยมาก มักจะเป็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัด และบรรดาระดับ รองปลัดฯ - อธิบดี

คนกลุ่มนี้ จะใกล้ชิดกับรัฐมนตรีมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่เสียงดัง สามารถ “คอนโทรล” รัฐมนตรีได้ โดยเฉพาะในระยะเวลาที่รัฐมนตรีที่ “ไม่ใช่หมอ” คอยกุมบังเหียนกระทรวง

กลุ่มที่สองคือ “แพทย์ชนบท” กลุ่มนี้ มาจากโรงพยาบาลชุมชน และรวมตัวกันเป็น “ชมรม” โดยปกติจะสืบทอดอำนาจกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในยุคปลัด นพ.สุขุม กาญจนพิมาย และยุคเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล กลุ่มแพทย์ชนบทเอง “ขึ้นหม้อ” เข้าไปเดินป้วนเปี้ยนกันแถวห้องปลัด ห้องรัฐมนตรีหลายคน จนสามารถ “สลาย” ขั้วหมอชนบทได้หมด เพราะหมอชนบท ได้อำนาจกันไปหมดแล้ว

และอีกขั้วหนึ่ง คือ สายโรงเรียนแพทย์ - ราชวิทยาลัยแพทย์ ซึ่งโดยปกติ สายนี้ จะไม่เกี่ยวพันกับการแย่งชิงอำนาจในกระทรวงเท่าไหร่ และมักจะอยู่เหนือทุกความขัดแย้ง การจัดสรรงบประมาณ และในเวลาที่กระทรวงทะเลาะกัน หมอมีปัญหากัน วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการส่งอาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ ไม่ว่าจะจากรามาธิบดี ไม่ว่าจะจากศิริราช เหาะลงมาเป็นรัฐมนตรี

รัฐบาลคสช. จัดการด้วยวิธีนี้แล้ว เมื่อ 5 ปีก่อน ด้วยการแต่งตั้ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร จากศิริราชมาเป็นรัฐมนตรี และหยุดความขัดแย้งในกระทรวงได้สำเร็จ (ไปช่วงหนึ่ง)


(3)
หลังจากนโยบายจัดการโควิด – 19 เกิดความสับสน ความศรัทธาในตัวกระทรวงสาธารณสุขหายไป จากการบริหารจัดการที่ “มั่ว” และเริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาล บุคลากรสาธารณสุข กับตัวรัฐมนตรี กับตัวรัฐบาล ไม่ว่าจะเรื่องหน้ากากที่ไม่เพียงพอ อุปกรณ์ที่ขาดแคลน หรือเรื่องนโยบายหลายอย่าง ที่สั่งไปจากกระทรวงแล้วไม่เด็ดขาด

ที่หนักเข้าไปอีกคือท่าทีจากหลายราชวิทยาลัยและสมาคมแพทย์ ที่ออกมา “อัดยับ” ใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจาก สมาคมอุรเวชช์ หรือแพทย์ทรวงอก ที่ออกมาบริภาษถึง “แม่ทัพ” ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ให้ความสนับสนุน เครดิตความเชื่อถือของกระทรวงจึงดิ่งหายลงไปทันที

กระทรวงสาธารณสุข อาจล้มเหลวในความเชื่อถือของสาธารณชนได้ แต่ถ้าความน่าเชื่อถือของ “หมอ” หมดไปเมื่อไหร่ กระทรวงจะไม่สามารถฟังก์ชันได้อีกเลย ในเฉพาะช่วงวิกฤต หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้

เมื่อนั้น หมอปิยะสกล ซึ่งตอนนี้นั่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ก็ “เหาะ” ลงมา พร้อมๆ กับ หมออุดม คชินทร อดีตคณบดีศิริราช และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ท่ามกลางเสียงเชียร์จากบรรดาราชวิทยาลัย จากโรงเรียนแพทย์ ให้เข้ามา “ต่อรอง” กับรัฐบาล และคุมทิศทางการจัดการโรคระบาดให้เข้าที่เสียที

ขณะเดียวกัน “ประยุทธ์” ก็จัดการ ใช้งานหมอปิยะสกล ให้ทำหน้าที่หลายอย่างแทนอนุทินทันที โดยเฉพาะการเป็นมือประสาน การตัดสินใจ และการให้ข้อมูล ทุกอย่าง ส่งตรงถึงประยุทธ์

ล่าสุดคือการตั้งให้ทั้งหมอปิยะสกล และหมออุดม นั่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติด้วยตัวเอง

หลายคนอยากให้หมอปิยะสกลกลับมาเป็น “รัฐมนตรี” ในช่วงนี้แทนด้วยซ้ำ เพราะถึงอย่างไร หมอปิยะสกล ก็รู้เรื่องมากกว่าเสี่ยหนู และทีมงานจากพรรคภูมิใจไทยแน่นอน

ที่น่าสนใจก็คือ เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้น ท่ามกลาง “ข่าวลือ” ว่าเกิดอาการ “ไม่กินเส้น” กันระหว่างรัฐบาลซีกประยุทธ์ และซีกอนุทิน - พรรคภูมิใจไทย จนสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้นำสั่งการหลายเรื่องแทนอนุทิน รวมถึงการที่หลายจังหวัด “เขตปกครองพิเศษ” ของภูมิใจไทย อย่างบุรีรัมย์ และอุทัยธานี ออกคำสั่ง “ปิดจังหวัด” ตั้งจุดคัดกรองด้วยตัวเอง ข้ามหน้ากระทรวงมหาดไทย


(4)
แน่นอน หลังจากดึงหมอปิยะสกลกลับมา หลายอย่างก็ดูดีขึ้น บรรดาราชวิทยาลัย บรรดาอาจารย์หมออาวุโสหลายคน ยอมกลับมาทำงานร่วมกับรัฐบาล นั่งประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สำคัญคือเรียกความน่าเชื่อถือ ให้บรรดาแพทย์ในกระทรวงได้มาก

เพราะต้องไม่ลืมว่า คนพวกนี้ ก็เป็นอาจารย์ของบรรดา “หมอๆ” น้อยใหญ่ที่นั่งทำงานอยู่ทั้งในกระทรวง และนอกกระทรวงทั้งนั้น การจัดการแบบไทยๆ ถ้าเอาผู้อาวุโส ที่เคารพนับถือมานั่งสั่งงานเป็นบอส ย่อมน่าเชื่อถือกว่าเอา “นักการเมือง” ที่ไหนก็ไม่รู้ มาบริหารอยู่แล้ว

น่าเสียดายที่เวลาที่ผู้อาวุโสเหล่านี้ ถูกเรียกมานั่งประชุม ได้เคลื่อนสู่จุดที่เรียกว่าเป็น Point of no Return นั่นคือไม่สามารถหันหลังกลับ ลองผิดลองถูกได้อีกต่อไป...

เพราะฉะนั้น มาตรการ “ขอความร่วมมือ” อย่างหนักหน่วง ด้วยการให้ทุกคน “อยู่กับบ้าน” “งดออกต่างจังหวัด” จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้ ตามคำแนะนำของหมอสายโรงเรียนแพทย์

ด้วยการเสนอ Worst-Case Scenario ว่า หากยังปล่อยให้มีการเดินทางเสรี โคโรนาไวรัส จะเดินทางไปยังต่างจังหวัดด้วย และเมื่อออกไปถึงระดับ “ชนบท” เมื่อไหร่ ให้เป็นโรคที่โรงพยาบาลอำเภอเมื่อไหร่ เมื่อนั้น ประเทศไทย จะดูไม่จืด

ข้อเสนอจากฝั่งโรงเรียนแพทย์ ไม่ได้ว่ากันที่ตัวเลขผู้ป่วยระดับพันคน แต่ว่ากันที่หลักหมื่นคน ภายในจุด “พีค” ปลายเดือนเม.ย.นี้

จริงอยู่ที่ผู้ป่วยโควิด – 19 จำนวนมาก จะป่วยเพียงเล็กน้อย แต่หากมีผู้ที่ป่วยหนัก หลักร้อยคนที่โรงพยาบาลอำเภอ หรือแม้แต่โรงพยาบาลจังหวัด ในที่สุดระบบก็จะรับไม่ไหว

น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยตัดสินใจโดยใช้พื้นฐานของ “ความเสี่ยง” ขั้นสูงสุดเลย กลับคิดแต่ว่าจะ “จัดการได้” และมัวแต่ไปสาละวนอยู่กับความขัดแย้ง ในเรื่องไม่เป็นเรื่องเท่านั้น


(5)
คำถามสำคัญก็คือ ณ ขณะนี้ จะควบคุมการระบาดอย่างไร ไม่ให้ตัวเลขผู้ป่วยกระจัดกระจายไปทั่ว จนโครงสร้างพื้นฐานที่มี ไม่สามารถจัดการต่อไปได้อีก

สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ หลังจากนี้ โควิด – 19 จะกระจายต่อไปทั่วประเทศ จำนวนผู้ป่วยจะมากขึ้นเรื่อยๆ อีกหลายเท่าตัว และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง มาตรการ “ล็อกดาวน์” จะเกิดขึ้นจริง เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด และเร็วที่สุด

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อมาถึงตรงนี้ จะไม่มี “Plan B” อีกต่อไปแล้ว

หากการจัดการรอบนี้ไม่สำเร็จ ก็อาจหมายถึงว่าประเทศไทยจะไม่ชนะ และอาจต้องยอมแพ้กับโควิด – 19 ปล่อยให้ติดกันหมด แล้วสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ Herd Immunity ก็เป็นได้

การตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ในขณะนี้ น่าจะเป็น “เดิมพัน” ครั้งสุดท้ายของจริง...
#COVID19 #โควิด19 #ปิยะสกลสกลสัตยาทร