สงสัย ‘เจ้าของประเทศ’ ต้องเขกหัว ตลก.ศาลรัฐธรรมนูญแล้วละ ที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ ‘เล่น’ การเมืองของ ‘เอก-ป็อก-ช่อ’
แล้วไม่ได้ตัดสิทธิการเป็นพลเมืองเสียด้วย เพราะตอนนี้พวกเขากลับมาหนักกว่าเดิม
รายการไล้ฟ์แถลงเปิดตัว #คณะก้าวหน้า “เดินหน้าทำงานขับเคลื่อนการเมือง-สังคมต่อเนื่องเพื่อ
#สานต่อภารกิจอนาคตใหม่” โดย พรรณิการ์ วานิช
ปิยบุตร แสงกนกกุล และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เกือบสองชั่วโมงครึ่ง ยิ่งกว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา
“สำหรับผมนี่ไม่ใช่วิกฤตของรัฐบาลชุดนี้
(อย่างเดียว) แต่เป็นวิกฤตของรัฐไทย” ธนาธรพูดถึงการล้มละลายทางการเมืองของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ
คสช. “สามเดือนในวิกฤตการณ์ครั้งนี้...เราไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลมีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการปัญหา
สื่อสาร...”
ประการหลังมีตัวอย่างยืนยันซึ่งๆ หน้าวันนั้นเลย
เมื่อในตอนเช้าทาง กทม.ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อโรค ‘โควิด-๑๙’ เป็นการชั่วคราว ๒๒ วัน จำนวน ๒๖ รายการ
ได้แก่ ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ สวนสนุก ลานเสก็ต สนามกอล์ฟ ฯลฯ
ทำให้โฆษกรัฐบาลรีบแถลงแย้งว่าไม่จริ๊งไม่จริง
เป็นเฟคนิวส์ แต่ทาง กทม.ไม่ยั่นเอาเอกสารตราครุฑออกมายัน
จนฝ่ายโฆษกและศูนย์ควบคุมไวรัสในทำเนียบรัฐบาลต้องกลับไปเช็คข่าวกันจ้าละหวั่น
พร้อมบ่นดังๆ ว่า “ไม่เห็นได้รับรายงานอะไร”
ท้ายที่สุดกลายเป็นกองโฆษกกับศูนย์โควิดนั่นแหละคือเฟคนิวส์
กทม.เขาของแท้ ธนาธรจึงพูดได้เต็มปากว่า “คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา
ล้มละลายทางการเมือง ขาดความศรัทธา ขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนไปแล้ว
จนถึงวันนี้จะสื่อสารอะไรก็ลำบาก
จนถึงวันนี้จะเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชนก็ไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีความไว้ใจ”
เสริมด้วยหมัดฮุค “เราไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลชุดนี้มีความเข้าใจทางเศรษฐกิจ
ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน”
ดังนั้น “แล้วอย่างนี้จะแก้ปัญหา
(โคโรน่าไวรัส) ที่จะยืนยาวไปอีก ๑ ปีได้อย่างไร ยิ่งนานเท่าไรยิ่งสูญเสียมาก
ยิ่งคุณประยุทธ์อยู่นานเท่าไร ความสูญเสียในสังคมก็ยิ่งมากเท่านั้น...ถ้าประยุทธ์ยังอยู่ต่อ
สังคมทั้งสังคมมันจะพังหมด”
ข้อเสนอของพวกเขาก็คือ ขอให้ประยุทธ์ลาออกเสียเถอะ
ในเมื่อ “รัฐบาลของประยุทธ์พิสูจน์มาแล้วว่าไม่มีทั้งความชอบธรรมและประสิทธิภาพ”
ปิยบุตรพูดถึงคำถามที่ว่าจะเอาอะไรมาบังคับประยุทธ์ได้
และถ้าประยุทธ์ไม่ยอมจะทำอย่างไร
ธนาธรตอบในข้อนี้ว่า “เราแค่มีอำนาจในการตั้งคำถามว่าถ้าจะปล่อยประยุทธ์ไปอย่างนี้
ตระหนักหรือยังว่าประยุทธ์เป็น liability
(ตัวถ่วง) และถ้าประยุทธ์ยังอยู่ต่อ สังคมทั้งสังคมมันจะพังหมด
นี่คือทิศทางที่พวกคุณจะไปจริงๆ หรือ” เขาส่งสารตรงถึงผู้ทรงอำนาจทั้งคณะ
ต่อความแคลงใจที่ว่าทำไมไม่เรียกร้อง ‘ยุบสภา’ แทนที่ขอให้ประยุทธ์ลาออก ซึ่งข้อนี้ อานนท์
นำภา ยกปัญหาขึ้นมาท้วงว่า “ระวังจะเปิดช่องให้มีการต่อท่ออำนาจสายตรงจากชนชั้นนำ”
โดย “อาจจะเห็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านยกมือโหวด ‘นายกคนนอก’
จากองคมนตรี” ก็ได้
ธนาธรพูดถึงประเด็นดังกล่าว ต่างกรรม
ต่างวาระ “เราเข้าใจดีว่ายุบสภาต่อให้มอบโอกาสแก่ประชาชนในการตัดสินใจอีกครั้ง
แต่มันจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งในภาวะโควิด-๑๙แบบนี้
มันเกิดสุญญากาศทางการเมืองไม่ได้”
และการกลับมาในรูปธรรม ‘คณะก้าวหน้า’ นี้
การลาออกของประยุทธ์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง (แม้จะเป็นกระดุมเม็ดแรก) ของ ‘โร้ดแม็พ’ ใหญ่ที่พ่วงท้ายเป็นกระบวน คือขอให้สภาผู้แทนราษฎร
“แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีภารกิจเฉพาะหน้า ๒ อย่าง ทำให้เสร็จในกรอบเวลา ๑
ปี
ภารกิจแรกคือการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-๑๙
รวมถึงการฟื้นฟูประเทศหลังจากนั้น และอันดับที่สองก็คือ
เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอ ๓ ยุบ ๑ เลิก ๑ แก้” สามยุบคือ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ
ยุบคณะกรรมการการเลือกตั้ง และยุบวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง
สำหรับ ๑ เลิก เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา
๒๗๙ ซึ่งเป็นตัวบทนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. ส่วน ๑
แก้ คือมาตรา ๒๕๖ ให้สามารถดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น
และกำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน
เป้าหมายน่าจะตั้งใจเสนอต่อ ‘เจ้าของประเทศ’ ว่า “เมื่อสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว
มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว เอาภารกิจเฉพาะหน้า ๒ เรื่องไปจัดการภายใน ๑ ปีแล้ว
ยุบสภา เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่
“ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้
ให้มีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญพร้อมไปในคราวเดียวกัน”
เท่ากับเปิดศักราชใหม่ทางการเมืองอย่างประชาธิปไตย
ที่อิงแอบกับเสียงเรียกร้องและความต้องการของประชาชนเสียที
อย่างไรก็ดี กรณี ‘เจ้าของประเทศ’ นั้นมาจากคำเปรยอย่างประชดของปิยบุตรเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญที่ว่า
“ทราบดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบกลไกในการแก้รัฐธรรมนูญไว้ให้ทำไม่ได้เลย...มีวิถีทางเดียวที่จะให้
สว.ร่วมมือได้ คือ
๑.เจ้าของ สว.ส่งสัญญานให้ยอมแก้ กับ
๒.เจ้าของประเทศส่งสัญญานว่าให้ต้องแก้” และวิธีการเช่นนั้นเคยทำกันมาแล้ว อันจะ “ป้องกันไม่ให้วิธีการชุมนุมบานปลาย...และสองป้องกันทหารออกมายึดอำนาจได้ด้วย
คือการเปลี่ยนผ่านโดยใช้รัฐธรรมนูญ ๖๐ เป็นเครื่องมือ”
ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นการ “การทำงานทางความคิด
อันสำคัญมากกว่าจำนวน ส.ส.ในสภา” (ปิยบุตร) และ “ตั้งใจรณรงค์ทางความคิดในสังคม
แม้จะถูกยุบพรรคและเสียสิทธิไปก็ยังดำเนินการทางการเมืองต่อไป เพราะเป้าหมายไม่ได้เพื่อเป็น
ส.ส. เพื่อเป็นรัฐมนตรี”