วันพฤหัสบดี, มีนาคม 05, 2563

สถานการณ์น่าเป็นห่วง... ดูความต่าง รายงานสถานการณ์โควิด-19 ฉบับ "สื่อสารภายใน" กับ ฉบับสาธารณะ




ไวรัสโคโรนา: เปิดรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับสื่อสารภายในที่ "ไม่ปกปิดแต่ไม่เผยแพร่"



4 มีนาคม 2020
บีบีซีไทย

เอกสาร "รายงานสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา-19" ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ชัดเจนและละเอียดกว่าที่กรมควบคุมโรค แถลงต่อสาธารณะ แต่เอกสารนี้หายไปจากเว็บไซต์ของ กทม แล้วในวันที่ 4 มี.ค. หลังจากมีผู้นำมาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย

บีบีซีไทยแกะรอยเอกสารฉบับนี้หลังจากผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งโพสต์ภาพเอกสารที่มีรูปแบบเดียวกับเอกสารรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค แต่ต่างกันตรงที่สีของหัวกระดาษและชื่อรายงาน กล่าวคือเอกสารที่กรมควบคุมโรคเผยแพร่ต่อสาธารณะทางเว็บไซต์ของกรมมีหัวกระดาษสีน้ำเงินและใช้ชื่อว่า "รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" ขณะที่เอกสารที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของกรมอนามัยมีหัวกระดาษสีชมพูและใช้ชื่อว่า "รายงานสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา-19"

เอกสารหัวสีชมพูยังมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 ค่อนข้างละเอียด เช่น วันที่ตรวจพบเชื้อ อายุ สัญชาติ อาการป่วย และผลการตรวจห้องปฏิบัติการ

บีบีซีไทยเข้าถึงและดาวน์โหลดเอกสารฉบับนี้จากเว็บไซต์ของ กทม. เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันที่ 3 มี.ค. แต่ช่วงเช้าวันที่ 4 มี.ค. ลิงค์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว



บีบีซีไทยแสดงเอกสารฉบับนี้ให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูในวันนี้และได้รับคำยืนยันว่า "เป็นเอกสารที่ใช้สื่อสารกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หน่วยงานราชการ"

เมื่อถามว่าเอกสารหัวสีชมพูแตกต่างจากข้อมูลที่เผยแพร่บนเว็บไซต์กรมควบคุมโรคหรือไม่ อย่างไร นพ.ทวีศิลป์ตอบเพียงว่า "ขอย้ำว่า (ผู้ป่วย) ทุกรายยืนยัน ไม่ได้มีการปกปิดแน่นอน เราก็ทำงานกันเต็มที่" พร้อมกับบอกว่าเอกสารฉบับนี้ไม่ได้เป็นเอกสารปกปิด แต่ไม่อยากให้มีการเผยแพร่ต่อ

บีบีซีไทยพยายามติดต่อขอคำอธิบายจาก นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้แถลงข่าวหลักในเรื่องนี้ คือแต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

สธ.บอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่พบในไทยในรอบ 50 วัน
ไวรัสโคโรนา : เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างไรและจะป้องกันการแพร่และรับเชื้อได้อย่างไร

มีอะไรที่ไม่เปิดเผย

"รายงานสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา-19" ฉบับนี้ลงวันที่ 12 ก.พ.2563 เวลา 21.00 น. จัดทำโดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค มีทั้งหมด 11 หน้า แบ่งการรายงานสถานการณ์เป็นหัวข้อเช่นเดียวกับรายงานที่เปิดเผยต่อสาธารณะบนเว็บไซต์กรมควบคุมโรค ได้แก่ สถานการณ์ในต่างประเทศ มาตรการในต่างประเทศ สถานการณ์ภายในประเทศ และมาตรการในประเทศไทย แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ ตารางแสดงผู้ป่วยยืนยันโรคไวรัสโคโรนา-19 ณ วันที่ 12 ก.พ.มีทั้งหมด 33 ราย

ตารางนี้แสดงลำดับผู้ป่วย , วันที่ยืนยันผล, ชนิดของผู้ป่วย (เช่น คัดกรองจากสนามบิน เดินทางมาพบแพทย์เอง หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา) อาการป่วย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งทั้ง 33 รายระบุว่า "Coronavirus family: Detected" ที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า ตรวจพบเชื้อในตระกูลไวรัสโคโรนา

EPA
คำบรรยายภาพประชาชนต่อแถวเข้าซื้อหน้ากากอนามัย ที่กลายเป็นของหายากในไทย


ผู้ป่วยลำดับที่ 1 ยืนยันวันที่ 8 ม.ค. สัญชาติจีน อายุ 61 ปี คัดกรองจากสนามบินสุวรรณภูมิ ส่งเข้าห้องแยกโรคที่สถาบันบำราศนราดูร และผู้ป่วยลำดับสุดท้ายคือลำดับที่ 33 ในเอกสารฉบับนี้ระบุว่าเป็นคนสัญชาติจีน อายุ 54 ปี ยืนยันวันที่ 6 ก.พ. เป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง เข้าห้องแยกโรคที่สถาบันบำราศนราดูร

เอกสารฉบับนี้ระบุว่า ณ วันที่รายงานคือ 12 ก.พ. "ผู้ป่วยยืนยันโรคไวรัสโคโรนา-19 ที่พบในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยอายุ 44 ปี (อายุตั้งแต่3-74 ปี) เป็นเพศชาย 18 ราย เพศหญิง 15 ราย (ชาย:หญิง = 1.2:1) สัญชาติ จีน 24 ราย ไทย 9 ราย ประวัติโรคประจำตัวที่พบได้แก่ ความดันโลหิตสูง (3 ราย) ความดันโลหิตสูงและหัวใจ (1 ราย) หลอดเลือดสมอง (1 ราย) ไวรัสตับอักเสบ B (1 ราย) ไม่มีประวัติ (27 ราย) เกิดจากการคัดกรองที่สนามบิน 3 ราย เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลด้วยตนเอง19 ราย จากการติดตามผู้สัมผัส 10 ราย และคัดกรองพบในกลุ่มพลเมืองไทยที่รับกลับจากเมืองอู่ฮั่น 1 ราย"
ไวรัสโคโรนา: เรามีโอกาสรอดแค่ไหน หากติดโรคนี้
ไวรัสโคโรนา : ดรามาหน้ากากอนามัย ขาดตลาด-แจกฟรี-รีไซเคิล

แถลงช้ากว่าเหตุการณ์ ?

แม้จำนวนผู้ป่วยสะสมในเอกสารฉบับนี้จะตรงกับจำนวนผู้ป่วยสะสมที่ สธ.แถลงข่าวในช่วงนั้นคือ 33 ราย และข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละรายก็ตรงกับข้อมูลที่มีการเปิดเผยในการแถลงข่าว แต่เอกสารนี้ชี้ให้เห็นว่ามีข้อมูลบางประการที่ สธ.ไม่กล่าวถึง หรือกล่าวถึงอย่างคลุมเครือ หรือเปิดเผยหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อเป็นเวลาหลายวัน

ตัวอย่าง เช่น กรณีผู้ป่วยที่เป็นเด็กไทย อายุ 3 ขวบ ซึ่งเป็นผู้ป่วยลำดับที่ 31 ได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2563 แต่ สธ. ไม่ได้กล่าวถึงผู้ป่วยเด็กรายนี้อย่างชัดเจนในการแถลงข่าวในช่วงนั้น แต่กลับเพิ่งมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มี.ค. หรือเกือบ 1 เดือนหลังจากยืนยันการติดเชื้อว่ามีผู้ป่วยที่เป็นเด็กหญิงวัย 3 ขวบซึ่งขณะนี้รักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว



นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงผู้ป่วยลำดับที่ 24 ซึ่งเข้ารับการรักษาที่ จ.กระบี่ และ ผู้ป่วยลำดับที่ 26 ซึ่งเข้ารับการรักษาที่ รพ.วชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต ซึ่งในการแถลงข่าวของ สธ. มักไม่มีการเปิดเผยจังหวัดหรือพื้นที่ที่พบผู้ป่วย

รายงานสถานการณ์โควิด-19 ฉบับสื่อสารภายในนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สธ.มีการคัดเลือกข้อมูลและจัดลำดับเวลาการเปิดเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่บีบีซีไทยพบจากการติดตามการแถลงข่าวในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาว่า สธ.มักจะแถลงยืนยันพบผู้ป่วยรายใหม่ หลังจากที่ตรวจพบเชื้อหลายวันหรือใกล้จะรักษาหายแล้ว ตัวอย่าง เช่น
  • วันที่ 31 ม.ค. สธ. แถลงข่าวว่าพบคนขับแท็กซี่อายุ 50 ปี เป็นคนไทยรายแรกที่ได้รับการยืนยันเป็นผู้ป่วยโควิด-19 แม้ไม่ได้เดินทางไปประเทศจีน ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังว่า ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. และได้รับการตรวจยืนยันผลพบว่าไม่พบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 31 ม.ค. นั่นหมายถึงว่า สธ. มีการแถลงข่าวยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อในวันที่ผู้ป่วยตรวจไม่พบเชื้อและหายเป็นปกติแล้ว
  • วันที่ 22 ม.ค. สธ.แถลงยืนยันว่าหญิงไทยวัย 73 ปี หรือ "อาม่า" ชาว จ.นครปฐม เป็นผู้ติดเชื้อหลังกลับจากเมืองอู่ฮั่นแต่ทีมแพทย์ รพ.นครปฐม ให้ข้อมูลว่าหญิงคนนี้เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. และออกจากโรงพยาบาลวันที่ 24 ม.ค. นั่นแสดงว่าการแถลงข่าวยืนยันว่า "อาม่า" เป็นผู้ป่วยรายใหม่นั้นเกิดขึ้นหลังจากเธอรักษาตัวมานานถึงหนึ่งสัปดาห์และเกือบหายเป็นปกติแล้ว