วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 16, 2563

ไร้ค่า !!! ‘สหรัฐ’ ปิดประตู ไม่ยอมให้ ‘ทูตพาณิชย์’ เข้าเจรจายกเลิกตัด 'จีเอสพี' สินค้าไทย



‘คต.’ เผยสหรัฐปิดทาง ‘ทูตพาณิชย์’ เข้าเจรจาขอยกเลิกการตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย พร้อมวาง 4 แนวทางรับมือผลกระทบ คาดเดือนมี.ค.จะเห็นภาพชัดเจนว่าไทยจะถูกตัดสิทธิหรือไม่

นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าการเจรจากับสหรัฐเพื่อยกให้ยกเลิกการตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สินค้าไทย 573 รายการ มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย.นี้ ว่า หลังการเจรจาผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ปีที่แล้ว ฝ่ายไทยได้ขอหารือกับสหรัฐเพิ่มเติม แต่สหรัฐไม่เปิดโอกาสให้ไทยเข้าหารือ

“เราได้ให้ทูตพาณิชย์ของเราที่โน่น ติดต่อไปยัง USTR หลายครั้ง เพื่อขอทราบความคืบหน้าเรื่อง GSP และถามว่ามีอะไรข้องใจอีกหรือไม่ ขอเข้าไปคุย เราพยายามเจรจาทุกช่องทางแล้ว มีการส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไป แต่สหรัฐยังไม่เปิดโอกาสให้เราไปคุย เพียงแค่บอกว่าเดี๋ยวดูก่อนว่า USTR จะว่าอย่างไร ซึ่งในใจเราก็คิดว่าสหรัฐคงไม่อยากคุยแล้ว และคาดว่าประมาณเดือนมี.ค.นี้ จะเห็นภาพชัดเจนว่าสหรัฐจะตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยหรือไม่” นายกีรติกล่าว

นายกีรติ ย้ำว่า สาเหตุที่สหรัฐตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยเป็นประเด็นเรื่องแรงงาน แต่ชี้แจงแล้วดูเหมือนสหรัฐยังไม่พอใจ โดยเฉพาะประเด็นการแก้กฎหมาย โดยสหรัฐต้องการคำตอบโดยเร็ว แต่เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายอยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา จึงยังให้คำตอบไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อใด ส่วนที่สหรัฐต้องการให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐนั้น ไทยคงยอมไม่ได้ เพราะเนื้อหมูสหรัฐมีสารเร่งเนื้อแดง ถามว่าประชาชนคนไทยรับได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมากรมฯได้หารือกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือกับการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการเองก็เข้าใจ เพราะทราบดีว่าการให้สิทธิ GSP เป็นการให้สิทธิฝ่ายเดียว หากสหรัฐไม่ตัด GSP วันนี้ ก็ต้องตัดวันหน้าอยู่ดี ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำมาตรการรับมือล่วงหน้าแล้ว เช่น การหาตลาดใหม่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA ที่ไทยมีอยู่กับประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ กรมฯได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ผู้ประกอบการ เช่น สินเชื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เป็นต้น ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าใหม่ๆ และอย่าไปแข่งในตลาดที่แข่งขันในด้านราคา (Red Ocean) ซึ่งในเร็วๆนี้ กรมจะมีการสัมมนาใหญ่ โดยจะเชิญบริษัทฯที่ไม่ใช้สิทธิ GSP มาให้ความรู้กับผู้ประกอบการว่าจะพัฒนาจะแข่งขันอย่างไร โดยไม่ต้องพึ่งพา GSP

“ผมสื่อสารกับผู้ประกอบการฯไปว่า ให้มองเป็นเคสที่เลวร้ายที่สุดเลย คือ สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย ซึ่งผู้ประกอบการก็รับรู้ รับทราบอยู่แล้ว และได้มีการเตรียมการรับผลกระทบไว้แล้ว เพราะภาษีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 5% และหลายเรื่องเราก็ได้ดำเนินการเป็นรูปธรรมไปแล้ว โดยประเด็นที่กรมให้ความสำคัญ คือ การเข้าไปช่วยกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ เราต้องหาเขาให้เจอก่อนที่การตัดสิทธิ GSP จะมีผลบังคับใช้” นายกีรติกล่าว