วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 18, 2563

พรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรของรัฐ กู้ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม





พรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรของรัฐ กู้ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม
.
21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องจากกรณีพรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ จากการกู้เงิน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้า พรรคอนาคตใหม่ เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท
.
คดีดังกล่าวนับเป็นคดีที่สองที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยื่นยุบพรรค โดยก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย 'ยกฟ้อง' พรรคอนาคตใหม่ในข้อหาล้มล้างระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนในคดีนี้หนึ่งในปมปัญหาที่สำคัญคือ พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้หรือไม่
.
ประเด็นนี้ เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เคยกล่าวว่า ต้องวางหลักการให้ชัดก่อนว่า พรรคการเมืองไทยมีสถานะเป็นองค์กรเอกชนหรือองค์กรมหาชน ถ้าพรรคการเมืองมีสถานะเป็นองค์กรมหาชน การจะทำอะไรในสิ่งที่แม้กฎหมายไม่ได้ห้าม ก็ทำไม่ได้ คือจะทำได้เฉพาะสิ่งที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น
.
แต่ทว่า เมื่อพิจารณาตามบทความ "สถานะทางกฎหมายของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยทางผู้แทน: ศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ" ของ วันรัฐ งามนิยม ซึ่งเผยแพร่ในวารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพบว่า พรรคการเมืองมีสถานะทางกฎหมายเป็นองค์การเอกชน และมีสภาพบุคคลเป็นนิติบุคคล เพราะองค์ประกอบที่เป็นรากฐานสำคัญของพรรคการเมือง คือ "การรวมกลุ่มของบุคคล" ด้วยลักษณะสำคัญนี้ทำให้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน
.
หมายความว่า พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดห้าม สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมองว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล เป็นการรวมตัวกันของพลเมือง ตามหลักกฎหมายแพ่งการไม่ห้ามแปลว่าทำได้
.
นอกจากนี้ ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ครอบคลุมสถานะ "ลูกหนี้" ของพรรคการเมือง และไม่ได้ระบุว่า "เงินกู้" มีสถานะเป็นเงินบริจาคหรือผลประโยชน์อื่นใด แต่ระบุว่า พรรคการเมืองเมืองจะได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากเงินกู้ได้ ก็ต่อเมื่อผู้ให้กู้ยืมเงินได้ลดหนี้หรือระงับหนี้ให้พรรคการเมือง ดังนั้น ถ้าหากยังมีสถานะเป็นลูกหนี้เงินกู้แและมีการลงบัญชีว่าเป็นหนี้สิน เงินดังกล่าวจะต้องไม่ถือว่าเป็นรายได้ เงินบริจาค หรือผลประโยชน์อื่นใดได้
ooo



วันที่ 17 ก.พ. ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต และอดีต กกต. กล่าวในงานเสวนา เรื่อง เงินกับพรรคการเมือง : อิสระ VS การตรวจสอบ
.
นายสมชัย กล่าวว่า คดีที่ กกต.ฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่จากกรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 191.2 ล้านบาท เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 3 มาตรา คือ มาตรา 62 รายได้ของพรรคการเมือง, มาตรา 66 บุคคลบริจาคให้พรรคการเมืองเกินสิบล้านบาทต่อปีไม่ได้, มาตรา 72 ห้ามรับบริจาคเงินที่มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมาตรา 72 นี้เป็นมาตราที่ กกต.ฟ้อง และจะนำไปสู่การยุบพรรค
.
ซึ่งหากมาดูว่า เงินกู้ เข้าหลักเกณฑ์ข้อใด เป็นเงินบริจาค, รายได้อื่น หรือ ประโยชน์อื่นใดหรือไม่
.
1-เงินกู้เป็นเงินบริจาคหรือไม่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ระบุว่า "บริจาค" หมายถึงการให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมือง เมื่อเงินกู้ ให้กู้แล้วไม่ถือเป็น "การให้" ดังนั้น "เงินกู้" ไม่ใช่เงินบริจาค แต่ กกต.เชื่อว่าใช่และฟ้องด้วยข้อหานี้
.
2-เงินกู้เป็นรายได้อื่นหรือไม่ เมื่อไปดู พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550 มีระบุเรื่อง "รายได้อื่น" แต่ฉบับปี 2560 ไม่มี จึงมีบางกลุ่ม เช่น สมาชิกวุฒิสภาหลายคนมักจะยกมาอ้างว่า เมื่อไม่ได้ระบุไว้จึงกู้เงินไม่ได้ ดังนั้น เงินกู้คือรายได้ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
แต่ตนตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมืองตามกฎหมายปี 2550 เช่น ของพรรคประชาราช พบว่าเรื่องเงินกู้ยืม ก็อยู่ในหมวดหนี้สิน ไม่ใช่ "รายได้" และตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ปี 2560 ก็พบ 16 พรรค ที่มีการกู้ยืมเงิน ก็บันทึกในรายการ "หนี้สิน" ไม่ได้บันทึกในรายการ "รายได้"
.
การที่ กกต.ให้ดำเนินคดีพรรคอนาคตใหม่ ในมาตรา 62 และ 72 แปลว่า กกต.อาจเชื่อว่า "เงินกู้" เป็น "รายได้" และเมื่อเป็น "รายได้" ที่ไม่มีการระบุในมาตรา 62 จึงถือเป็นความผิด
.
3-เงินกู้ คือ ประโยชน์อื่นใดหรือไม่ เมื่อไปดู พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 4 กฎหมายระบุ "ประโยชน์อื่นใด" หมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทําให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย
.
ถ้าดูจากในส่วนนี้ "การกู้" ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง ดังนั้น เงินกู้จึงไม่ใช่ "ประโยชน์อื่นใด" แต่ กกต.ก็มีมติ ให้ดำเนินคดี ตามมาตรา 72 ซึ่งมีโทษถึงยุบพรรค
.
นายสมชัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการสืบสวนไต่สวนของ กกต.ด้วยว่า ได้ดำเนินการตามที่มีผู้ร้อง มาตรา 66 เรื่องการรับบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท แต่สุดท้ายมีการเพิ่มเข้าไปอีก 2 ข้อหา ในช่วงเพียง 14 วัน ก่อนมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 62 และ มาตรา 72 ซึ่งเป็นส่วนที่พรรคอนาคตใหม่ระบุว่าไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่เปิดให้ต่อสู้คดี