วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 17, 2563

ทำไมทหารเลวเยอะจัง... 👮🏽‍♂️💂🏽‍♀️ทหารยังคุกคามตามติด เครือข่ายฯรณรงค์รู้ทันพ.ร.บ.น้ำ




👮🏽‍♂️💂🏽‍♀️ทหารยังคุกคามตามติด เครือข่ายฯรณรงค์รู้ทันพ.ร.บ.น้ำ
.
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เครือข่าย เขียนอนาคตประเทศไทย
ได้จัดกิจกรรม “ขบวนน้ำจากนราถึงมหานคร” เป้าหมายสำคัญคือ ศึกษารูปแบบการจัดการน้ำที่ล้มเหลว และหาแนวทางที่เหมาะกับชุมชน รณรงค์ให้รู้เท่าทันพ.ร.บ.น้ำฯ เรื่องนี้เครือข่ายฯได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันรัฐได้ใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 (พ.ร.บ.น้ำฯ) ในการควบคุมน้ำทั้งประเทศ วิธีการควบคุมคือการสร้างอ่างกักเก็บน้ำทั่วประเทศ อันจะนำไปสู่วิกฤติในอนาคต
.
ข้อเสนอของเครือข่ายฯ คือ แก้พ.ร.บ.น้ำฯให้อำนาจการจัดการน้ำถูกออกแบบโดยประชาชน และให้กรมชลประทานยุติการก่อสร้างคอนกรีตในสายน้ำทุกชนิดโดยทันที เกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ได้เดินทางสื่อสาร และรับฟังปัญหาในหลายจังหวัดเช่น นครศรีธรรมราช พังงา สุราษฎร์ธานี โดยมีปลายทางที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 มีนาคม 2563
.
เจกะพันธ์ พรหมมงคล หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมระบุว่า ที่ผ่านมาปรากฏการติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐคือ ระหว่างจัดกิจกรรมที่จังหวัดตรัง และนครศรีธรรมราชมีตำรวจสันติบาลจำนวนสองคนแต่งกายนอกเครื่องแบบเข้ามาติดตาม ทั้งสองคนได้แสดงตัว และแจ้งวัตถุประสงค์ว่า ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งติดตามกิจกรรมของเครือข่ายฯ แต่ไม่ได้ระบุว่า ผู้บังคับบัญชาที่อ้างถึงคือใคร
.
และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ระหว่างการทำกิจกรรมในจังหวัดระนอง ผู้จัดกิจกรรมมีกำหนดจะไปคุยกับชาวบ้านในเวลา 14.00 น. แต่เมื่อไปถึงเวลา 13.00 น. เห็นว่า ยังพอมีเวลาเหลือผู้จัดกิจกรรม ทีมงาน และผู้นำชุมชนรวมห้าคนจึงได้ไปดูพื้นที่อ่างเก็บน้ำส้มแป้น ระหว่างทางไม่ได้สังเกตว่า มีรถยนต์ขับตามมาหรือไม่ เพราะเห็นว่า การไปดูอ่างเก็บน้ำไม่ได้มีการเขียนในกำหนดการสาธารณะ เมื่อไปถึงประมาณสิบนาทีเห็นว่า มีรถกระบะวิ่งเข้ามาจอดเคียงกันสองคัน แต่ยังไม่ไม่มีใครลงมาจากรถ
.
ต่อมามีทหารในเครื่องแบบสองนายลงมาจากรถกระบะคันแรก แสดงตัวว่า เป็นทหารจาก กอ.รมน. ระนอง ได้รับคำสั่งให้มาฟังข้อมูล และข้อเสนอของชาวบ้าน เจกะพันธ์ถามว่า แล้วทราบได้อย่างไรว่า เขามาที่อ่างเก็บน้ำ ทหารนายดังกล่าวตอบว่า ทราบมาจากเพจของเครือข่ายฯ ทั้งนี้เป็นการมาอย่างบังเอิญไม่ได้วางแผนไว้ก่อน หลังจากนั้นชายอีกสองคนลงมาจากรถกระบะอีกคัน ทะเบียน บบ 65xx ชุมพร ทั้งสองสวมใส่ชุดลำลอง เดินตามทีมงาน และบันทึกภาพ วิดีโอตลอด เมื่อสอบถามทหาร ทหารตอบว่า ไม่ได้มาด้วยกัน
.
เวลา 14.00 น. เจกะพันธ์ และทีมงานได้กลับไปในชุมชนที่นัดไว้ตามกำหนดการแต่แรก ทหารจากกอ.รมน. และชายอีกสองคนที่ไม่ทราบว่า มาจากหน่วยงาน หรือสังกัดใดก็ยังคงติดตามตลอด ชายสองคนหลังนั้นมีการแบ่งหน้าที่กันทำคือ คนหนึ่งถ่ายคลิปวิดีโอ อีกคนหนึ่งบันทึกข้อความ เมื่อเจกะพันธ์สอบถามว่า เป็นใครมาจากที่ไหน ก็ได้คำตอบติดสำเนียงใต้เพียงว่า อยู่แถวนี้แหละ เขาจึงพยายามถามชาวบ้านในพื้นที่ชาวบ้านก็บอกว่า ไม่เคยรู้จัก หรือเห็นหน้ามาก่อน ต่อมาเวลา 15.30 น. กิจกรรมการพูดคุยกับชุมชนเสร็จสิ้น ทหารจากกอ.รมน. และชายอีกสองคนก็กลับไปในทันที
.
เจกะพันธ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ชายทั้งสองคนที่ไม่ทราบที่มาอาจเป็นคนของกลุ่มทุน หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทั้งยังไม่คิดมาก่อนว่า การเดินทางที่ไม่อยู่ในกำหนดการจะถูกติดตาม ทำให้ระหว่างการเดินทางจึงไม่ได้สังเกตว่า มีใครติดตามมาหรือไม่
.
โครงการขนาดใหญ่และการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกำลังเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ เดือนสิงหาคม 2562 เอกชัย อิสระทะ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมถูกชายฉกรรจ์อุ้มตัวออกไปจากเวทีรับฟังความคิดเห็นเหมืองแร่ ในจังหวัดพัทลุง การควบคุมตัวใช้เวลาประมาณห้าชั่วโมง สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ภัยคุกคามต่อนักเคลื่อนไหวจากฝ่ายเอกชนหรือนายทุน ก็เป็นเรื่องน่ากังวล
.
รัฐจึงควรมีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการคุ้มครองดูแลประชาชนทุกคนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยุติการคุกคามนอกกระบวนการของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง หรือที่รัฐมักจะเรียกว่า “ติดตามข้อมูล” ที่สร้างความหวาดกลัวในทางอ้อม โดยอย่างน้อยเจ้าหน้าที่รัฐต้องแสดงตัวผ่านการแต่งเครื่องแบบเมื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลการชุมนุม เพื่อให้ผู้ใช้เสรีภาพการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงสามารถประเมินความปลอดภัยของพวกเขาเบื้องต้นได้
...



แถลงการณ์ ขบวนน้ำจากนราถึงมหานคร

เราต้องการให้ประเทศนี้ก้าวพ้นการยึดครองทรัพยากรโดยรัฐ เพราะรัฐมีแนวนโยบายอย่างชัดเจนในการโยกย้ายทรัพยากรสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกันไปสู่กลุ่มทุน

เป้าหมายสำคัญของเราในการเดินทางค้นหาความจริงการจัดการน้ำในประเทศคือสร้างการตื่นรู้แก่ประชาชนทั้งประเทศว่าการจัดการน้ำโดยรัฐที่ผ่านมานั้นเป็นการใช้งบประมาณที่ก่อความเสียหายต่อการจัดการน้ำในประเทศอย่างมากจนกระทั่งก่อให้เกิดวิกฤติทั่วทุกพื้นที่และเราเชื่อว่าการตื่นรู้ของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการหยุดยั้งวิกฤติดังกล่าว

หากจะค้นหาความจริงต้องเดินลงสู่แผ่นดิน ขบวนน้ำจึงออกเดินทางจากใต้สุดสู่ภาคตะวันออกกว่า๒๐พื้นที่ของการเรียนรู้วิกฤติน้ำ และท้ายที่สุดนัดหมายพบกันที่กรุงเทพมหานครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

รัฐได้สร้างเครื่องมือขึ้นมาประการหนึ่งในการคุมน้ำทั้งประเทศ เครื่องมือนั้นเรียกว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ๒๕๖๑ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสายน้ำทุกสายในประเทศ เปลี่ยนแปลงผู้ใช้น้ำที่มิใช่ประชาชนจะได้ใช้น้ำอันดับแรก เพราะในกฎหมายน้ำระบุว่าใครจะได้ใช้น้ำก่อนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรรมการน้ำแห่งชาติซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน อีกทั้งยังระบุทิศทางการใช้น้ำไว้อย่างชัดเจนว่า นำ้จะถูกนำไปใช้ในยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งประชาชนจะต้องจ่ายค่าน้ำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ฉะนั้นหาก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำยังคงอยู่น้ำจะถูกยึดกุม

รัฐจะคุมน้ำได้อย่างไรโดยเทคนิควิธีการคือรัฐต้องเอาน้ำมาไว้ในคอนกรีตและในท่อ ฉะนั้นจะเกิดโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างคลองคอนกรีตหลังจากนี้ทั้วประเทศ ภายใต้การเตรียมพร้อมของงบประมาณไว้เรียบรอยแล้ว และนี่คือวิกฤติสำคัญยิ่ง

เรามีข้อเสนอเบื้องต้น๒ประการ คือ แก้ พ.ร.บ.น้ำให้อำนาจการจัดการน้ำถูกออกแบบโดยประชาชนและให้กรมชลประทานยุติการก่อสร้างคอนกรีตในสายน้ำทุกชนิดโดยทันที

มาร่วมสร้างการตื่นรู้ร่วมกันกับเราจาก วันที่๒ กุมภาพันธ์ถึง๑มีนาคม
โดยวันที่๑มีนาคมเจอกันที่กรุงเทพเพื่อจัดการกับรัฐบาลผู้รับใช้กลุ่มทุน

๓ กุมภาพันธ์
เครือข่ายประชาชนเขียนอนาคตประเทศไทย
...



ปากคำ...คนราชบุรี
กรณี การทิ้งน้ำเสียลงแหล่งน้ำ (น้ำเสียจากฟาร์มหมู)

ขี้หมู ถูกปล่อยโดยไม่ได้รับการบำบัดน้ำก่อน น้ำเสียก็ไหลไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆด้วย โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ที่ปากอ่าวตัว กอ

เมื่อประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อม มันเกิดความหายนะในวงกว้าง ถ้าประเมินเรื่องอาชีพ เรื่องระบบนิเวศ และเรื่องการเกษตร มันคือความเสียหายมหาศาล

น้ำขี้หมู ไหล ไปที่ไหนผลกระทบก็ไปถึงที่นั้น ปริมาณผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำขี้หมูไหล มันไกลกินอาณาบริเวณอย่างน้อย 2 จังหวัด เพราะฉนั้น สิ่งที่สังคมต้องตระหนัก คือ การปล่อยของเสียลงสู่ลำน้ำ มันเป็นปัญหาหนักของสังคมในเกือบทุกจังหวัด และมันเป็นปัญหาเชิงระบบ

มันเริ่มตั้งแต่น้ำในระบบนิเวศมันหายไป พอน้ำหายของเสียน่ำทิ้งจากโรงงานจากฟาร์มปศุสัตว์ลงไปอีก มันยังทำให้ระบบนิเวศมันไม่มีโอกาสที่จะปรับตัวคืนสภาพ น้ำเสียเกิด ตะกอนของเสียเกิด แล้วน้ำเสียมันไม่ได้หยุดอยู่กับที่มันไหลไปตามลำน้ำ ผลกระทบมันไปตามเส้นทางน้ำไหล สุดท้ายมันก็ไปจบที่ทะเล

การกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อลำน้ำ จะต้องมีบทบัญญัติต่อความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ
..................

สามารถชมการถ่ายทอดสด (ย้อนหลัง)
ขบวนน้ำจากนราฯ ถึง มหานคร ตอนที่ 20 (16-02-2563) ปัญหาน้ำเน่าเสีย @ราชบุรี @แม่กลอง

https://www.facebook.com/100798324812081/videos/816448585489097/?vh=e&d=n