วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 11, 2563

กองทัพกับความรุนแรงในสังคมไทย




กองทัพกับความรุนแรงในสังคมไทย

การกราดยิงที่โคราชมีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากเหตุการณ์ “ลูกน้องยิงนาย” ในแวดวงตำรวจทหารที่มีมาอย่างต่อเนื่องมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเพราะการขัดผลประโยชน์ส่วนตัว ความเครียดและแรงกดดันจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการกดขี่ข่มเหงผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร แต่จุดที่สร้างความพลิกผันบานปลายคือการที่ผู้ก่อเหตุเลือกที่จะเผชิญหน้ากับความผิดด้วยการทำ “สงคราม” ซึ่งวางอยู่บนเงื่อนไขอย่างน้อยสามข้อ

ข้อแรกเป็นคุณสมบัติส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ เพราะหากตัดความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธออกไป ก็เป็นการยากที่ผู้ก่อเหตุจะใช้การต่อสู้เป็นตัวเลือก และหากตัดความรู้และเส้นสายในระบบการจัดเก็บรักษาคลังแสงออกไป ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ก่อเหตุจะเข้าไปปล้นปืนและกระสุนในค่ายทหารประสบความสำเร็จ ซึ่งก็แปลว่าต่อจากนี้ไปกองทัพจำเป็นต้องมีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้นกับความคิดและพฤติกรรมของกำลังพล และที่สำคัญก็คือระบบการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยอาวุธในค่ายทหารจำเป็นต้องได้รับการสังคายนาครั้งใหญ่ ไม่นับรวมว่าต้องเลิกการหล่อหลอมในส่วนที่ทำให้กำลังพลสามารถสังหารคนที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างไม่รู้สึกรู้สาได้ ไม่ใช่บอกว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัวหรือยืนกรานว่ากองทัพเก็บอาวุธกันมาอย่างนี้มาเป็นร้อยปีอย่างการแถลงข่าวของนายกฯ

เงื่อนไขข้อที่สองคือความเป็น “มหรสพ” ของความรุนแรงซึ่งมีมาแต่ไหนแต่ไร แต่การเกิดขึ้นของสื่อทางสังคมประเภทต่างๆ ได้ทำให้คุณลักษณะข้อนี้ของความรุนแรงพัฒนาไปอีกขั้น เพราะคนในสังคมไม่ได้เป็นเพียง “ผู้ชมที่เฉื่อยชา” อีกต่อไป หากแต่สามารถผันตัวเองมาเป็น “นักแสดง” ให้คนอื่นดูได้ด้วย ผู้ก่อเหตุได้นำเสนอตัวตนและเรื่องราวของเขาที่ผูกกับอาวุธและการใช้ความรุนแรงบน “เวที” ส่วนตัวของตนมาอย่างต่อเนื่อง และก็กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งมาเป็นระยะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือได้ถ่ายทอดบางส่วนของการกราดยิงให้คนอื่นได้รับชมกันผ่าน “เวที” ส่วนตัวของตนดังกล่าว การปิดกั้นการแสดงตัวตนในสื่อทางสังคมคงไม่สามารถทำได้และไม่ควรทำ แต่โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรที่จะทำให้ความรุนแรงไม่เป็นเรื่องที่น่าแสดงให้คนอื่นดู

เงื่อนไขข้อที่สามคือวัฒนธรรมความรุนแรงในสังคมไทยซึ่งเป็นเงื่อนไขใหญ่สุด เพราะนอกจากจะสร้างเงื่อนไขข้อแรกและข้อที่สองขึ้นมา เงื่อนไขข้อนี้ยังทำให้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่คนในสังคมเห็นพ้องต้องกัน ไล่ไปตั้งแต่ตัวผู้ก่อเหตุ เพราะไม่ว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้จะบิดเบี้ยวเพียงใด แต่การที่ผู้ก่อเหตุส่งสัญญาณว่าจะเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมด้วยตนเองก็ชี้ให้เห็นถึงการเชื่อในการใช้ความรุนแรงยุติปัญหาที่บ่มเพาะมาในกองทัพและที่ไหลเวียนในสังคม ขณะที่คนในสังคมจำนวนมากก็เสนอให้ “จับตาย” ผู้ก่อเหตุในช่วงเกิดเหตุการณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการที่รมว.สาธารณสุขโพสต์ว่าเหตุการณ์ยุติลงแล้วด้วยการ “วิสามัญ!!!” ที่แฝงความสะใจและได้รับการขานรับจากคนจำนวนมาก ก็ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นฝ่ายชนะอีกครั้งในเหตุการณ์นี้ตั้งแต่ต้นจนจบ และจะทบความรุนแรงเข้าไปในสังคมไทยอีก

จะป้องกันหรือแก้ไขปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้หลายวิธีควบคู่กันไป แต่สิ่งเร่งด่วนและขาดไม่ได้คือการ “ปฏิรูป” กองทัพ ทั้งในแง่ขนาด ที่ตั้ง กำลังพล อาวุธ ภารกิจ งบประมาณ การบริหาร ฯลฯ ไม่ใช่เพียงเพราะว่ากองทัพเป็นกลไกรัฐที่เปิดโอกาสให้ความรุนแรงได้สถาปนาตัวขึ้นอย่างถูกต้องชอบธรรม หากแต่เป็นเพราะว่าในบริบทสังคมไทยกองทัพได้เป็นหัวหอกในการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรับผิดมานานเกินไปแล้ว