วันเสาร์, ธันวาคม 07, 2562

มหาวิทยาลัยไทยจะเปลี่ยนไป๋ เมื่อทุนจีนบุกซื้อสถาบันอุดมศึกษาไทย





Rangsun Thanapornpun
ทุนจีนบุกซื้อสถาบันอุดมศึกษาไทย
๖ ธันวาคม ๒๕๖๒

ข่าวทุนจีนบุกซื้อสถาบันอุดมศึกษาไทยตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ กำลังสร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้นำไทย และบางส่วนของภาคประชาสังคม

มหาวิทยาลัยในประเทศจีน
มหาวิทยาลัยในจีนแผ่นดินใหญ่มีมาก่อนการปฏิวัติปี ๒๔๙๒ หลายมหาวิทยาลัยเคยเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและคุณภาพ เนื่องจากประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ ได้มีส่วนเข้าไปช่วยพัฒนาและยกมาตรฐานคุณภาพ ภายหลังการปฏิวัติปี ๒๔๙๒ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนนิยมส่งนักศึกษาหัวกะทิไปศึกษาต่อในประเทศสหภาพโซเวียต เพราะในระยะแรกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองอยู่ในระยะน้ำผึ้งยังหวาน

ครั้นเมื่อก้าวสู่ยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution, 1966-1976) Mao Zedong (1893-1976) ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้น ไม่ส่งเสริมให้เยาวชนศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะเกรงจะสร้างนิสัยหยิบโหย่ง และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ ไม่มีจิตใจรับใช้ประชาชน ปัญญาชนและอาจารย์มหาวิทยาลัยถูกส่งไปทำงานในชนบท นับเป็นยุคตกต่ำของสถาบันอุดมศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างถึงที่สุด

Deng Xioping (1904-1997) ผู้นำคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งตกต่ำในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะเหตุที่เขาวิพากษ์และต่อต้านนโยบายดังกล่าว กลับผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างปี ๒๕๒๐-๒๕๓๒

ในปี ๒๕๒๑ เขาประกาศนโยบายสี่ทันสมัย (Four Modernizations: Economy, Agriculture, Science and Defense) Deng Xioping ผู้มีความเชื่อว่า It doesn’t matter whether a cat is white or black, if it catches mice it is a good cat. เริ่มส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อในโลกตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก เพื่อเรียนรู้วิทยาการที่ก้าวหน้า เพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนถอยหลังเข้าคลองในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม นักศึกษาหัวกะทิจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสร้างชื่อเสียงกระฉ่อนในโลกตะวันตก ในเรื่องความมานะอดทน ความมีวินัย และผลการเรียนที่ดีเยี่ยม ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับโลกตะวันตกแน่นแฟ้นเพิ่มขึ้นตามลำดับ มีการจัดตั้งกองทุนและสถาบันวิชาการร่วมกันเพื่อพัฒนาวิทยาการด้านต่างๆ

นักศึกษาที่สาธารณรัฐประชาชนจีนส่งไปศึกษาต่อยังโลกตะวันตกตั้งแต่ยุค Deng Xioping เป็นต้นมา กลับมาเป็นขุมสมองอันสำคัญในการพัฒนาวิทยาการในสาธารณรัฐประชาชนจีน สถาบันการศึกษาและวิทยาการในประเทศนั้นแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ จนเมื่อล่วงเข้าสู่ศตวรรษนี้ มหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนมากถีบตัวเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (โปรดอ่าน การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ตอนที่ ๑-๓ ใน fb ลงวันที่ ๒๔-๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ใน fb ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒)

ในปี ๒๕๖๑ มีนักศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนศึกษาในต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น ๕.๘๖ ล้านคน ออกจากประเทศนั้นไปศึกษาต่อต่างประเทศในปีเดียวกันนั้น ๖๖๒,๑๐๐ คน (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑)

เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมีประชากรหนาแน่น แม้ตามสำมะโนประชากรปี ๒๕๕๓ ยังมีประชากรถึง ๑,๓๗๐ ล้านคน ปัจจุบัน (๒๕๖๒) มีประชากรจำนวนมากกว่านี้มาก

รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายคุมกำเนิด เพื่อลดจำนวนประชากร เคยถึงกับบังคับใช้นโยบาย Two-Child Family ในทศวรรษ ๒๕๑๐ และบังคับใช้นโยบาย One-Child Family ตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ เป็นต้นมา อันสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวจีนที่ถูกล้างสมองให้เห็นว่า ลูกชายดีกว่าลูกหญิงมานานนับศตวรรษ จึงพยายามแล้วพยายามเล่าในการผลิตลูกชายให้ได้ จนประชากรล้นเกิน กระนั้นก็ตาม แม้จะมีนโยบายประชากรดังกล่าวนี้ จำนวนประชากรก็ยังหนาแน่นมาก

การมีประชากรจำนวนมาก แม้จะมีการจัดตั้งและพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะประชาชนชาวจีนในปัจจุบันต่างตระหนักว่า การจบอุดมศึกษาเป็นบันไดขั้นสำคัญสำหรับการงานอาชีพที่มั่นคงในอนาคต ทั้งนี้มีประมาณการว่า มีนักศึกษาจีนจำนวนไม่น้อยกว่าปีละ ๕ ล้านคนที่ไม่สามารถผ่านการคัดเลือกเป็นนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในปิตุคามมาตุภูมิ และนี่เองเป็นแรงผลักดันให้นักศึกษาจีนเหล่านี้ต้องออกไปผจญภัยในสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับประเทศในโลกที่สามหลายประเทศ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ประเทศเหล่านั้นต้องพึ่งพิงสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นด้านหลัก ทั้งการพึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดสินค้าออก และการพึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะผู้ขายสินค้า ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสาธารณรัฐประชาชนจีนรุดหน้าไปเป็นอันมาก ไม่น่าประหลาดใจที่ประเทศโลกที่สามซื้อสินค้าเทคโนโลยีจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนมาก โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าไปลงทุนในประเทศโลกที่สามหลายประเทศด้วย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศดังพรรณนาข้างต้นนี้เป็นฐานรากของการก้าวล่วงไปสู่การลงทุนในภาคเศรษฐกิจต่างๆในประเทศเหล่านั้น

จีนศึกษา (Chinese Studies) และนักศึกษาจีน
สาขาวิชาจีนศึกษามีในมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทยมากว่า ๓ ทศวรรษแล้ว โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความช่วยเหลือด้วยการส่งอาจารย์สอนภาษาและวรรณกรรมจีนเข้ามาเมืองไทยจำนวนไม่น้อย ในขณะเดียวกัน ก็มีนักวิจัยและนักศึกษาชาวจีนเข้ามาศึกษาภาษาและวรรณกรรมไทยด้วย

ทำไมกลุ่มทุนจีนจึงเข้ามาลงทุนในภาคการอุดมศึกษาในประเทศไทยได้

คำตอบคำถามนี้มี ๒ ด้าน ด้านแรกได้แก่ ด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านที่สองได้แก่ ด้านประเทศไทย

ในด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการหาสถาบันอุดมศึกษาสำหรับนักศึกษาจีนที่ไม่สามารถสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษาในปิตุภูมิมาตุคามได้

ในด้านประเทศไทย สาเหตุที่ไทยยอมให้ทุนจีนเข้ามาลงทันเข้าหุ้นกับสถาบันอุดมศึกษาไทย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะจำนวนสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยมีมากเกินไป ดร. เสนีย์ สุวรรณดี เลขาธิการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า ไทยมีสถาบันอุดมศึกษาเกินความต้องการเกือบ ๒๐๐ สถาบัน ในปี ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยเอกชนเหลือที่นั่งถึง ๒๐๐,๐๐๐ ที่นั่ง (ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒)

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุปสงค์ในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาลดลงเป็นอันมาก ทั้งนี้เป็นผลจากนโยบายการคุมกำเนิดประชากรที่มีมาแต่ปี ๒๕๑๓ ในปี ๒๕๒๖ อัตราทารกเกิดใหม่เท่ากับ ๒๑.๓ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๖๒ อัตราส่วนนี้ลดลงเหลือ ๑๐.๗ (ผู้จัดการ ฉบับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒) อันเป็นเหตุให้จำนวนทารกที่จะเติบใหญ่ลดน้อยถอยลง ที่นั่งในโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาประเภทต่างๆว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุดังนั้น อุปสงค์ในการศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาจึงลดลง มีรายงานว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนลดลงถึง ๕๐% (Siam Business ฉบับลงวันที่ ๒๙สิงหาคม ๒๕๖๑)

มหาวิทยาลัยเอกชนมีทางเลือกอย่างน้อย ๓ ทาง กล่าวคือ หนทางแรกได้แก่ การเจรจาให้นายทุนใหม่เข้ามาซื้อกิจการ (Acquisition) หนทางที่สองได้แก่ การเจรจาควบรวมกับสถาบันอุดมศึกษาอื่น (Merger) หนทางที่สามได้แก่ การเลิกกิจการ คำตอบที่ประชาสังคมไทยได้รับก็คือ มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งอ้าแขนรับทุนจีน

ทุนจีนเข้ามาถือหุ้นในสถาบันอุดมศึกษาไทยผิดกฎหมายหรือไม่ ?
การลงทุนของชาวต่างด้าวในประเทศไทยอยู่ใต้บังคับของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อห้ามในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวปรากฏในมาตรา ๘
(๑) ห้ามประกอบธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบ
(๒) ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศ
(๓) ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีและหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือธุรกิจที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
(๔) ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ มาตรา ๕ ยังมีบทบัญญัติว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลดีผลเสียต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของประเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค ขนาดของกิจการ การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติ ๒ มาตราที่อ้างอิงข้างต้นนี้เขียนอย่างกว้างขวางมาก จะตีความให้อนุญาตก็ได้ หรือตีความให้ไม่อนุญาตก็ได้เฉกเช่นเดียวกัน ท้ายที่สุดย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะอนุญาตหรือไม่

การลงทุนในภาคการศึกษามิได้อยู่ในข่ายธุรกิจต้องห้ามตามบัญชีที่หนึ่ง บัญชีที่สอง และบัญชีที่สามท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ทุนขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า ๒ ล้านบาท (มาตรา ๑๔)

ทุนจีนเข้าไปลงทุนในสถาบันอุดมศึกษาใด?

ทุนจีนมิอาจเข้าไปลงทุนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐได้ เพราะเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างสุดพรรณนา เพราะต้องขออนุญาตรัฐบาล อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการต่อต้านจากขบวนการประชาสังคมด้วย

ทุนจีนเข้าไปลงทุนในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้ง่ายกว่า เพราะเพียงแต่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ และถือหุ้นไม่เกิน ๕๐%

มหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์รับนักศึกษาจีนอยู่ก่อนแล้ว โดยที่มีการปรับหลักสูตรและปรับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาจีน ในกรณีมหาวิทยาลัยรังสิต ถึงกับว่าจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอยู่ประจำ (ผู้จัดการ ฉบับวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒)

ในปี ๒๕๖๑ ทุนจีนทะลวงเข้าไปมหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งในขณะนั้นนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์เป็นอธิการบดี โดยบริษัท หมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิง จำกัด เป็นผู้กรุยทาง บริษัทนี้มีผู้ถือหุ้นใหญ่ชื่อ หวังฉางหมิง และนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (Thai PBS ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑)

ต่อมาในปี ๒๕๖๒ China Yuhua Education Investment Limited เข้าไปถือหุ้น ๔๙% ในมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด (Stamford International University) (MReport ฉบับวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๒)

ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ทุนจีนจะยังเข้าไปถือหุ้นในมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยอีกหลายแห่ง รายงานบางฉบับคาดว่า จะถึง ๑๐ แห่ง (ผู้จัดการ ฉบับวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒) ประชาชาติธุรกิจ (ฉบับวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒) รายงานว่า ทุนจีนเล็งเข้าไปลงทุนในมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และย่านลาดพร้าว

มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์โดยทั่วไปว่า ผู้นำรัฐบาลไทยรู้สึกตื่นตระหนกที่ทุนจีนกำลังครอบมหาวิทยาลัยเอกชนไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย พาณิชย์ และนวัตกรรม (อว.) ถึงกับตั้งคณะทำงาน อันประกอบด้วยผู้แทนหลายหน่วยงาน เพื่อสอดส่องพฤติกรรมของทุนจีน และดูแลมาตรฐานของมหาวิทยาลัยเอกชนที่ทุนจีนเข้าไปร่วมหุ้น

ผมเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องดัดจริต ในประการแรก ผู้นำรัฐบาลไทยเป็นผู้นำสยามรัฐนาวาไปอยู่ใต้ฉายาสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างแนบแน่น เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะกีดกันการเข้ามาของทุนจีน แม้ในการลงทุนในภาคการศึกษา ในประการที่สอง คุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทย (รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ) ต่ำเตี้ยอยู่ก่อนที่ทุนจีนเข้ามาอยู่แล้ว รัฐบาลปัจจุบันมีบทบาทและนโยบายในการเกื้อหนุนการปรับปรุงคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทยละหรือ ?

บรรณานุกรม
MReport “รัฐตื่นทุนจีนยึดมหาวิทยาลัยไทย” ฉบับวันที่ ๒๒
กันยายน ๒๕๖๒
Siam Business “จีนฮุบมหาวิทยาลัยไทย” ฉบับวันที่ ๒๙
สิงหาคม ๒๕๖๑
TCIJ “เผยทุนจีนเข้ามาถือหุ้นสถาบันอุดมศึกษาของไทย
ประมาณ ๒-๓ แห่งแล้ว” ฉบับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน
๒๕๖๒
Thai Tribune “รัฐตื่นทุนจีนรุกซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนไทย
แบบคุมเบ็ดเสร็จ” ฉบับวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒

ข่าวสด “แฉทุนจีนเทกโอเวอร์มหาวิทยาลัยเอกชนไทย”
ฉบับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
คมชัดลึก “จีนรุกซื้อมหาวิทยาลัยไทย” บทบรรณาธิการ ฉบับ
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
เชียงใหม่นิวส์ “ทุนจีนเล็งร่วมทุนมหาวิทยาลัยดังเชียงใหม่”
ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

ไทยพีบีเอส “ทุนจีนถือหุ้นใหญ่ ปรับทิศทางมหาวิทยาลัย
เกริก” วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
ไทยรัฐ คอลัมน์เหะหะพาทีโดยซูม “ทุนจีนแห่ซื้อ
มหาวิทยาลัยไทย สัญญาณเตือนภัยอุดมศึกษา” ฉบับวันที่
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
ไทยรัฐ “ทุนจีนรุกมหาวิทยาลัยไทย” ฉบับวันที่ ๒๗
พฤศจิกายน ๒๕๖๒

ประชาชาติธุรกิจ “ทุนจีนยกทัพไล่ซื้อมหาวิทยาลัย” ฉบับวัน
ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒
ประชาชาติธุรกิจ “รัฐตื่นทุนจีนยึดมหาวิทยาลัยไทย” ฉบับวัน
ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๒
ผู้จัดการ “ทุนจีนจ้องซื้อมหาวิทยาลัยดังกว่า ๑๐ แห่ง” ฉบับ
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
ผู้จัดการ “เบื้องหลังทุนจีนซื้อมหาวิทยาลัยไทย” ฉบับวันที่
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒