วันศุกร์, ธันวาคม 06, 2562

เมนูหูฉลามอันโหดร้าย ฉลามจะถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งลงสู่ทะเลอันเต็มไปด้วยเลือด ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เพราะสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญ - เฮ้อออ...




โหดร้ายเลือดนองทะเล ฉลาม 73 ล้านตัว ถูกฆ่าทุกปี ทำเป็นซุปในงานเลี้ยง

ไทยรัฐออนไลน์
5 ธ.ค. 2562

ควันหลงงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา ดูเหมือนจะชื่นมื่นย้ำให้เห็นความเป็นปึกแผ่น แต่แล้วก็โดนสังคมโจมตี โดยเฉพาะกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ออกมาตำหนิการบริโภค ซุปหูฉลามตุ๋นหม้อดิน หนึ่งในเมนูอาหารค่ำแสนแพงของพรรคร่วมรัฐบาล

เช่นเดียวกับ “องค์กรไวล์ดเอด” (WildAid) เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุกความคิดคนให้งดบริโภคหูฉลาม โดยเดือน ก.ค.ปี 2562 ได้รณรงค์แคมเปญ #ฉลองไม่ฉลามด้วยสื่อดิจิตอลกลางเมืองกรุง เพื่อช่วยสื่อสารแคมเปญในวันที่ 14 ก.ค. เป็นวันรู้จักฉลาม หรือ Shark Awareness Day และยังมีป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ นักแสดงชื่อดัง ช่วยรณรงค์เมื่อปีที่แล้วอีกด้วย จึงไม่แปลกที่เขาออกมาโพสต์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องนี้

“องค์กรไวล์ดเอด” ออกมาระบุ ซุปหูฉลามตุ๋นหม้อดิน ถือเป็นเสียงสะท้อนที่ดีว่าความพยายามในการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการเลิกบริโภคหูฉลาม อาจยังไปไม่ถึงบรรดาผู้นำในรัฐบาล ท่านจึงกลายเป็นผู้บริโภคเสียเอง โดยยกกรณีประเทศจีน เมื่อปี 2012 หรือ 7 ปีก่อน ทางรัฐบาลจีนประกาศแบนการเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการปกป้องสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ขณะที่ล่าสุดเมื่อกลางปีนี้ ประเทศแคนาดา เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ G20 ที่ผ่านกฎหมายจำกัดการค้าหูฉลามด้วยการแบนการส่งออกและนำเข้าหูฉลามในประเทศ สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปกป้องประชากรฉลามโลกที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติ ที่ถูกคุกคามจากการค้า ความต้องการบริโภคหูฉลาม และการทำประมงเกินขนาด

พร้อมกับข้อมูลน่าเศร้าที่ทุกปีฉลาม 73 ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลามในงานรื่นเริงต่างๆ เพียงเพราะค่านิยมที่ว่า ซุปหูฉลาม คือ อาหารราคาแพงที่แสดงถึงฐานะทางสังคมของเจ้าภาพได้ ทั้งๆ ที่ ซุปหูฉลามแต่ละถ้วย ได้มาจากการฆ่าสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และใน 15 ปีที่ผ่านมา ประชากรปลาฉลามบางสายพันธุ์ลดลงมากราว 90-98%

“ฉลามมีบทบาทสำคัญในท้องทะเลที่ไม่เหมือนปลาอื่น เป็นผู้รักษาความสมดุลของมหาสมุทรที่เป็นบ้านของสัตว์ทะเล เหมือนเสือในป่า หากไม่มีฉลาม ระบบนิเวศทางทะเลอาจถูกทำลาย การบริโภคหูฉลามและเมนูจากฉลามอื่นๆ จึงไม่ใช่การบริโภคที่ยั่งยืน วิธีง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถช่วยฉลาม คือการ #ฉลองไม่ฉลาม เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปกป้องฉลามด้วยการเลิกเสิร์ฟ เลิกทานหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐในอนาคต เพราะหยุดกินหูฉลาม เท่ากับหยุดฆ่า”



ก่อนหน้านั้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว “องค์กรไวล์ดเอด” ได้เปิดผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยรับรู้ถึง ผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามที่มีต่อประชากรฉลามทั่วโลก และจำเป็นต้องลดความต้องการบริโภค หูฉลาม เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า โดยมีข้อมูลน่าเป็นห่วงพบว่า คนไทยบริโภคหูฉลามอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะเป็นตลาดสำคัญของการค้าหูฉลาม โดยคนไทย 57% ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทั่วประเทศเคยบริโภค หรือยังคงบริโภคหูฉลามตามโอกาสต่างๆ

ขณะที่ 61% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยให้เหตุผลว่า เพราะความอยากรู้อยากลอง และเคยได้ยินมาว่าหูฉลามมีรสชาติดี ทั้งที่จริงแล้ว หูฉลามไม่มีรสชาติใดๆ แต่มาจากน้ำซุปที่ผ่านการปรุงรส และราคาซุปหูฉลามในประเทศไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการบริโภค โดยเริ่มต้นที่ชามละ 300 บาท ในร้านอาหารข้างทาง ไปจนถึงชามละ 4,000 บาท ในภัตตาคารหรู

ส่วนการรับประทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดในงานแต่งงาน 72%, ทานกับครอบครัวที่ร้านอาหาร 61% และในงานเลี้ยงธุรกิจ 47% ซึ่งการสำรวจตลาดโดยองค์กรไวล์ดเอด ยังพบว่า มีร้านอาหารอย่างน้อย 100 ร้านในกรุงเทพมหานคร มีเมนูหูฉลาม แสดงให้เห็นว่าเมนูดังกล่าวพบได้ทั่วไป และผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้อย่างง่ายดาย

ทำให้ประเทศไทยถูกจัดเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลามนั้น ที่เหล่าฉลามต่างถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งลงสู่ท้องทะเลและเต็มไปด้วยเลือด ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต.