วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 05, 2562

ใหญ่ก็รอดเล็กก็ตาย นี่แหละ "ประเทศเฮ็งซวย"




ปี 2558 ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุกชาวอาข่าวัย 71 ปี 2 ปี 12 เดือน สังเวยนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
.
4 ปีต่อมา พบหลักฐาน ส.ส.พลังประชารัฐรุกที่ป่าสงวนฯ คำถามจากสังคมคือ จะใช้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่? หรือว่านโยบายทวงคืนผืนป่ามีไว้ใช้กับแค่คนจนจริงๆ?
.
ภูมิหลังคดีลุงอาแม อามอ
.
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่อุทยานถ้ำผาไท ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทำกินของนายอาแมมีการปักป้ายและประกาศห้ามเข้าทำกินในพื้นที่ จากนั้น วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่อุทยานถ้ำผาไท ได้สนธิกำลังเข้าตัดต้นยางพาราจำนวน 3,200 ต้น ซึ่งเป็นต้นยางที่ทางรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนปลูก พร้อมตัดฟันทุเรียนและเงาะอีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งยังได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 80 ไร่
.
ต้นยางพาราที่ถูกตัดนั้น นายอาแมได้ใช้เวลาปลูกและดูแลมา 11 ปี และได้กรีดยางเพียงแค่สองครั้ง จึงทำให้นายอาแมตอนนี้มีความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต เพราะไม่มีรายได้ อีกทั้งยังเป็นหนี้สินจากการกู้หนี้ยืมสินจากกองทุนเงินล้านของหมู่บ้านเพื่อมาซื้อต้นยางและปุ๋ย ยาในการดูแลต้นยางพารา เป็นหนี้ 20,000 บาท
.
ต่อมา เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2557 ที่ศาลจังหวัดลำปาง พนักงานอัยการจังหวัดลำปางได้ยื่นฟ้อง นายอาแม อามอ ชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง อ.งาว จ.ลำปาง ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยาน และฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลังกันเข้าตัดฟันต้นยางพารา ทุเรียน และเงาะในพื้นที่ดังกล่าว ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และได้ดำเนินคดีกับนายอาแมสำหรับคำฟ้องในกรณีนี้ ได้แยกเป็น 3 คดี ในข้อหาเดียวกัน คือฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ในการแผ้วถาง ก่นสร้าง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไมได้รับอนุญาต และยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตในแต่ละคดีนั้น ได้ระบุถึงพื้นที่ที่ถูกบุกรุกต่างแปลงกันไป โดยทั้งหมดอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง รวมแล้วเป็นพื้นที่ 80 กว่าไร่ และเป็นค่าเสียหายต่อรัฐราว 4.6 ล้านบาทจากนั้น ศาลได้สั่งให้มีการสืบเสาะ โดยให้พนักงานคุมความประพฤติได้ดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริง ทั้งพฤติการณ์ของจำเลย และข้อเท็จจริงของการใช้ที่ดินดังกล่าว พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 ธ.ค. 2557 ก่อนที่ญาติของนายอาแมจะใช้โฉนดที่ดินและหลักทรัพย์เช่า จำนวนรวม 300,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ในการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัว
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพนักงานอัยการสั่งฟ้อง นายอาแมได้ถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำใต้ถุนศาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ศาลได้สอบถามคำให้การของจำเลย โดยไม่ได้มีการนำตัวขึ้นมายังห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด และจำเลยได้รับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย รวมทั้งไม่ได้มีล่ามในระหว่างการสอบถาม มีแต่เพียงการให้เจ้าหน้าที่เชิญญาติคนหนึ่งลงไปร่วมสอบถามในช่วงท้าย โดยนายอาแมมีปัญหาในการอ่านและสื่อสารภาษาไทย
ข้อสงสัยของนายอาแม
.
1. พื้นที่ทำกินรอบข้างของนายอาแมนั้นก็ปลูกต้นยางพาราเหมือนเช่นกัน แต่ทำไมพื้นที่ทำกินของนายอาแมถึงถูกเจ้าหน้าที่ตัดต้นยางพาราแค่พื้นที่เดียว
2. พื้นที่ทำกินนายอาแมมีเพียง ประมาณ 30 ไร่ แต่ทำไมทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงแจ้งดำเนินคดีถึง 80 ไร่
3. อ้างภาวะโลกร้อน แต่ตัดฟันต้นไม้ไม่น้อยกว่า 3,200 ต้น


มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ