พายุ ‘ฟ้าขุ่นมัว’ อาจจะซาลงบ้าง
หลังจากที่หลายสื่อต่างวิจารณ์สร้างสรร และมีเรื่องเอกสารลับตั้ง ‘ธง’ เขี่ยธนาธรพ้นการเมืองเข้ามาแทรก และขณะนี้เบนเข็มเข้าสู่ธงที่สอง
ดัง พรรณิการ์ วานิช โฆษกอนาคตใหม่ปูดว่า
“หาทางส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยุบพรรค
ทั้งที่ฐานความผิดตามกฎหมายไม่สามารถทำได้เลย” (@Pannika_FWP 12m)
หลักฐานสนับสนุนข้อหานี้อยู่ที่
กกต.พยายามแก้ตัวข้างๆ คูๆ ว่า “เอกสารหลุดมีความจริงครึ่งเดียว” คือแค่เป็นข้อสรุปของอนุกรรมการสอบสวน
ไม่ใช่คำสั่งชี้นำจากผู้มีอำนาจเหนือ
(https://www.posttoday.com/politic/news/608818
และ https://workpointnews.com/2019/12/10/news-election-commission/)
นั่นเป็น ‘วิชามาร’
ทางการเมืองที่อำนาจรัฐประหารยังปกคลุมประเทศประดุจดัง ‘สม็อก’
หรือฝุ่นละอองพิษในอากาศ แต่โศกนาฏกรรมในสังคมไทยเวลานี้อยู่ที่ มวลรวมแห่งจิตสำนึกของคนในชาติ
ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจที่จะทำให้ก้าวตามทันการเติบโตของโลกได้
จึงทำให้ในช่วงหนึ่งวันไม่ทันข้ามคืน
เสียงก่นด่า ‘อเมริกา’ โดยนามธรรมสนั่นลั่น
ประมาณว่ากลั่นแกล้งหรือกดดันไม่ให้ตัวแทนประเทศไทยได้ตำแหน่ง มิส ‘ยูนิเวิร์ส’ ประจำปี ค.ศ.๒๐๑๙
ทีผู้คนจำนวนมากตั้งมั่นไว้ว่าวันนี้ ‘ฟ้าใส’ มาแน่ แต่แล้วความใฝ่ฝันต้องพังทะลาย
ประการหนึ่งเนื่องจาก
หลายครั้งหลายคราในช่วงที่ คสช.ครองอำนาจตลอดมานี้ สาวงามตัวแทนประเทศไทยจวนเจียนจะได้ตำแหน่ง
‘ที่สุด’ ของโลก ก็มีอันต้องหลุดไปอย่างน่าโมโห
เพราะในรอบสุดท้ายที่ให้ประชันทักษะและไหวพริบในการตอบคำถาม
ดูจากบทความรายงานของ bangkokbiznews.com
‘เครือเนชั่น’ พยายามไล่เลียงให้เห็นว่าเป็นประเด็น
‘นางงามการเมือง’ ตั้งแต่ เปีย
วุลซ์บัค ตัวแทนฟิลิปปินส์ ได้ตำแหน่งจักรวาลในปี ค.ศ.๒๐๑๕ ก็เพราะตอบคำถามว่า ‘ยินดี’ ถ้าสหรัฐจะกลับไปตั้งฐานทัพในบ้านเกิดของเธออีก
แต่กับตัวแทนประเทศไทย
ไม่ว่า อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ (แน้ท) หรือ (น้ำตาล) ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มาถึง
มารีญา พูลเลิศลาภ อ้างว่าเจอแต่คำถามหินๆ ที่แฝงแนวคิดทางการเมืองทั้งนั้น กระทั่ง
ปวีณสุดา ดรูอิ้น ในปีนี้ก็ว่า ถ้าตอบตรงเป้าของผู้ถาม “นางงามจะกลับไทยไม่ได้”
อะไร ‘ลุงตู่’ จะเหี้ยมโหดร้ายปานนั้น ที่จริงหากพิจารณาด้วยมาตรวัดดังที่กรุงเทพธุรกิจอ้างคอมเม้นต์ของ
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ว่า “กองประกวดอาจต้องการนางงามที่มีความมั่นใจ
ชัดเจน กล้าตัดสินใจ และสามารถเป็นผู้นำได้”
ก็ไม่น่าจะต้องไปคิดอะไรมาก ตอบไปเลยอย่างใดอย่างหนึ่งแบบที่
‘น้ำตาล’ เคยตอบก็ได้ เล็งของสูงไว้ไม่มีการอ้อมค้อม
หรือจะเป็นเพราะมันสายไปเสียแล้วก็น่าจะเชียร์ลุงตู่แทน (ถ้าเชื่อที่ เสรี
วงศ์มณฑา มโนว่าเขาตะล่อมจะให้ด่านายกฯ หัวหน้ารัฐประหาร)
ไม่ต้องเหยียบเรือสองแคม
แบ่งรับแบ่งสู้บอกว่า “รัฐบาลไม่ควรจะก้าวล่วงสิทธิความเป็นส่วนตัว...แต่ความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญ...รัฐบาลควรจะหาจุดสมดุลในการเข้ามาดูแลความปลอดภัย”
เลยทำให้ตัวแทนอาฟริกาใต้ซึ่งตอบฉาดฉานได้ตำแหน่งไปสบายเฉิบ
ความแตกต่างน่าจะเกิดจากบุคคลิกภาพในการตอบคำถาม
ที่นางงามอาฟริกาตอบด้วยใจจริง
แต่นางงามไทยพยายามปั้นแต่งให้สะสวยทั้งถ้อยคำและเนื้อความ
คนไทยอาจจะคิดว่าการประกวดนางงามต้องเน้นความสวยและบทบาท
ดั่งดารามากกว่านักกิจกรรม เลยพากันโกรธกองประกวดมิสยูนิเวิร์สกันเป็นโขยง
ว่าไปแล้วผู้ที่ให้คอมเม้นต์เรื่องนี้ดีที่สุด
เห็นจะเป็น ‘ช่อ’
ที่ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ โดยที่ไม่ได้ติดตามชมการประกวด
แต่ตอบเฉพาะประเด็นหลักการระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความมั่นคงปลอดภัยระดับชาติ
“เรื่องนี้ไม่ต้องคิดอะไรมากเลยนะคะ
ความมั่นคงในชีวิตของประชาชนย่อมสำคัญที่สุดและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”
เธอว่ารัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลอยู่แล้ว
ไม่ควรจะเป็นผู้ละเมิดเสียเอง
ยิ่งไปกว่านั้นข้อวิพากษ์ของผู้ใช้นามบนเฟชบุ๊คว่า
‘อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก’ เข้าถึงแก่นของประเด็นเลยเชียว
เขาว่า “คำตอบของฟ้าใสมันเกิดจากทัศนคติของคนในประเทศเราส่วนใหญ่นั่นแหละ
ที่มองว่าความเป็นส่วนตัวของเราไม่มีความสำคัญ เท่ากับการยอมทำตามที่รัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศบอกให้ทำ”
และในกรณีที่วิจารณ์กันว่า
“ถ้าฟ้าใสตอบแบบฟันธงว่าไม่ยอมให้รัฐบาลละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเด็ดขาด
ฟ้าใสอาจจะไม่ได้กลับประเทศ มันยิ่งตอกย้ำชัดเจนว่า คนไทยเราเองกลัวการแหกกฎ”
และที่สุดแล้ว “มาจนถึง ๕ คนสุดท้าย เก่งมากแล้วครับ”
(ดู https://www.bbc.com/thai/thailand-50712546Jjzw และ https://www.facebook.com/overhyp/photos/a.1532666270282634/2462176427331609/)
นั่นละ ตรงเผง
หวังว่าปีนี้ควรจะได้เสียทีพอพลาดท่าก็เลยพาลโกรธอเมริกา
ทีเรื่องค่าแรงรายวันสัญญาไว้ ๔๒๕ เอาเข้าจริงให้แค่ ๓๓๐
ไหงไม่กล้าพาลโกรธพลังประชารัฐกัน วะฮะ