วันอาทิตย์, ธันวาคม 03, 2560

ช่วยลงชื่อ แคมเปญยกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน





ร่วมลงชื่อได้ที่ Change.org

Petitioning พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน


เนื่องจากความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่สำคัญได้แก่

1.การมีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรมทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1, ค.2 และ ค.3 โดยที่ไม่มีการพูดคุยหรือรับฟังถกแถลงสองทางกับกลุ่มคัดค้านทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักวิชาการเลยแม้แต่ครั้งเดียว

2.การศึกษา EHIA มีความบกพร่อง ไม่ครอบคลุม โดยชาวบ้านเชื่อว่ามีการลักไก่มากมายเพราะไม่เห็นลงมาเก็บข้อมูลเลยแต่กลับมีข้อมูลรายงาน อีกทั้งมีข้อมูลที่เป็นเท็จไม่ตรงข้อเท็จจริงในพื้นที่จำนวนมาก

3.กระบวนการอนุมัติโครงการมีการแยกส่วนการศึกษา EHIA โดยทราบว่าจะมีการชงให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปก่อน โดยไม่รอ EHIA ท่าเรือขนถ่านหินซึ่งไม่ผ่านและยังต้องปรับแก้อีกมาก

4.พื้นที่ทำโครงการเกือบ 3,000 ไร่ นั้น ต้องมีการบังคับโยกย้ายคนบ้านบางหลิงและคลองประดู่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ออกจากพื้นที่แผ่นดินเกิดกว่า 180 หลังคาเรือน ร่วม 1,000 คน "แล้วจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน" นับเป็นการบังคับโยกย้ายครั้งใหญ่ในยุคนี้ ซึ่งขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

5.คนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจำใจในรัศมี 1 กิโลเมตร มีมากถึง 4,000 คน และรัศมี 5 กิโลเมตรมีร่วม 20,000 คน แสดงถึงการเลือกที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

กระแสของทั้งโลกกำลังทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะทำให้โลกร้อนและก่อมลพิษ อีกทั้งยังทำลายวิถีชุมชนเทพาที่สุขสงบ ประเทศไทยมีทางเลือกที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายทางเลือก จึงขอเพียงให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับประชาคมโลกตามที่รัฐบาลได้ไปลงนามไว้ จึงขอให้ทางรัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” และชี้นำการสร้างสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน

This petition will be delivered to:
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ooo

ความตกลงปารีส: ก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ

ปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งดูจะทวีความรุนแรง
และปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เป็นปัญหาที่น่ากังวลและถือเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของโลกขณะนี้ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชาคมโลกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากอดีต และได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาที่มีการจัดตั้งกลไกหลักภายใต้กรอบสหประชาชาติขึ้น 2 กลไก คือ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) ค.ศ. 1992 และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol – KP) ค.ศ. 1997 ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
ของทั้งสองกลไกนี้ด้วย

แม้ว่าจะมีการจัดตั้งกลไกดังกล่าวขึ้นเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว แต่ด้วยสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ จำเป็นต้องเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ จนในที่สุดสามารถตกลงกันได้ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 21 (COP21) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2558 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนเกิดเป็น
ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

(1) ประเทศต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ย
ของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และในขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หากสามารถ
กระทำได้ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะยึดหลักความเป็นธรรม (equity) และหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
ในระดับที่แตกต่างของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาด้วย โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศตามสภาวการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน (common but differentiated responsibilities and respective capabilities, in the light of different national circumstances)

(2) ความตกลงฯ ครอบคลุมการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ อาทิ (1) การลดก๊าซเรือนกระจก (2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) การเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) ความโปร่งใสของการดำเนินการ และ (5) การให้การสนับสนุนในด้าน
ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงทางการเงิน โดยรัฐภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า nationally determined contribution (NDC) ของประเทศทุก ๆ 5 ปี

ความตกลงปารีสถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก ซึ่งภายหลังจากการประชุมกันที่กรุงปารีสข้างต้น ประเทศต่าง ๆ ได้มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ในพิธีลงนามความตกลงอย่างเป็นทางการ ซึ่งไทยได้ร่วม
ลงนามกับประเทศต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 180 ประเทศด้วย และต่อมา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 71
ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของไทยให้กับนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติแล้วระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม High-level Event on the Ratification of the Paris Agreement ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ได้มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสแล้วมากกว่า 55 ประเทศ และคิดเป็นระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเกินกว่าร้อยละ 55 ของโลก อันเป็นเงื่อนไขสองประการที่ความตกลงกำหนด ส่งผลให้ความตกลงปารีสมีผลใช้บังคับภายในสามสิบวัน คือ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 (สามารถตรวจสอบสถานะปัจจุบันของประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสได้ที่ http://unfccc.int/paris_agreement/items/9485.php) นับจากนี้ ประเทศต่าง ๆ จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามความตกลงได้ ในส่วนของไทย รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อย
ก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 ผ่านการดำเนินการในสาขาต่าง ๆ อาทิ พลังงาน ขนส่ง และป่าไม้ ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาและคนไทยทุกคนร่วมมือกัน ก็เชื่อว่าการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายคงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม

...

ถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ นายกไทย ในเวที COP21

ไทยเผยแผนมุ่งใช้พลังงานทดแทน – พร้อมเชื่อม G77 แก้โลกร้อน
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558

https://unfccc6.meta-fusion.com/.../his-excellency-mr...

Credit ไกรสร เชาวนระบิน

ooo

'พล.อ.ประยุทธ์' ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมในเวที COP21 ย้ำจุดยืนจะร่วมผลักดันให้การเจรจาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน





ที่มา Voice TV
Dec 1, 2015

พิธีเปิดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 (COP21) เมื่อวานนี้ (30 พ.ย. 58) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้นำกว่า 150 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมและผลัดกันขึ้นแถลงวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขึ้นกล่าวคำแถลงโดยแสดงจุดยืนว่า จะร่วมผลักดันให้การเจรจาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน อีกทั้งยังได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และเป็นปัญหาต่อเกษตรกร

พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ประเทศกำลังพัฒนาอาจเกิดปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น นั่นก็คือสงครามแย่งชิงน้ำ พร้อมกันนี้ ยังเสนอแนะว่าต้องทำให้อุตสาหกรรมสีเขียวเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและยังเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้ประเทศพัฒนาแล้วถ่ายทอดความรู้ ร่วมวิจัยพัฒนาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซที่ 20-25% ภายในปี 2030 โดยจะมีมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ ลดการขนส่งทางถนน เพิ่มการขนส่งระบบราง ขจัดการบุกรุกป่า ทำแผนจัดการน้ำ และทำโรดแมปลดหมอกควัน รวมไปถึงจะมีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดการพัฒนารูปแบบประชารัฐ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

ด้าน นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า การประชุม COP21 จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และเสนอให้ข้อตกลงใหม่ ซึ่งต้องมีเนื้อหาที่นำไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคืนสภาพภูมิอากาศ โดยยังได้เสนอแนวทางการเจรจาข้อตกลง 4 ข้อ ได้แก่

1.ข้อตกลงต้องคงอยู่ยาวนาน มีวิสัยทัศน์ในระยะยาวเพื่อจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และสามารถส่งสัญญาณชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ข้อตกลงต้องสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจโลก โดยที่ไม่ต้องมีการเจรจาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซซ้ำแล้วซ้ำอีก สามารถสร้างความสมดุลระหว่างประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาในด้านขีดความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3. ข้อตกลงต้องคำนึงถึงกลุ่มคนยากจนและเปราะบาง มีมาตรการสนับสนุนการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบในประเทศกำลังพัฒนา

4. ข้อตกลงต้องน่าเชื่อถือ มีมาตการดูแลเรื่องความโปร่งใส การติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ นายบัน คีมูน ได้เรียกร้องให้ใช้มาตรการลดก๊าซในทุกภาคเศรษฐกิจอีกด้วย สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เรียกร้องให้มีการเจรจาข้อตกลงที่มีความหมาย และมีความตั้งใจในการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงใจ


ที่มา: Greennews