https://www.facebook.com/KALALAND321/videos/835474363250014/
ooo
ที่มา มติชนออนไลน์
26 มี.ค. 59
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์เป็นเอกสารทางวิชาการลงวันที่ 23 มีนาคม เสนอแนะข้อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ของไทยรวม 11 ข้อ ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสอบถามความคิดเห็นจากสาธารณชนและหน่วยงานที่สนใจ และในช่วงที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญยังคงเดินหน้าต่อไป เอกสารทางวิชาการฉบับนี้ได้สรุปหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนบางประการที่ควรจะถูกรวมเข้าไว้ด้วยเพื่อรับประกันว่าร่างรัฐธรรมนูญของไทยจะสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ
ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในวงกว้าง อาทิ โครงสร้างและหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ของรัฐ การแบ่งแยกอำนาจ กระบวนการตัดสินใจ และกฎหมายในเรื่องสิทธิ เอกสารฉบับนี้เน้นไปที่หัวข้อสำคัญไม่กี่เรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยเฉพาะคือเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทย หน้าที่ของรัฐและบทบัญญัติในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน
1.ความแตกต่างระหว่างพลเมืองและผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง
กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตั้งอยู่บนหลักการว่าปัจเจก โดยคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ควรจะได้รับสิทธิมนุษยชนทุกอย่างโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นระหว่างพลเมืองและผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง
นอกเหนือจากข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อ 13 และ 25 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) แล้ว ไทยเป็นรัฐภาคีที่ตามกฎโดยทั่วไป สิทธิของทุกคนภายใต้ไอซีซีพีอาร์ต้องได้รับการปกป้อง ไม่คำนึงว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะเกิดที่ไหนหรือมีสัญชาติใดหรือมีสถานะไร้รัฐก็ตาม ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างพลเมืองกับผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง หลักการทั่วไปนี้ยังใช้กับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ไอซีอีเอสซีอาร์) ที่มีระบุบทบัญญัติในเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับไอซีซีพีอาร์
ไอซีซีพีอาร์ให้สิทธิของผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองในการได้รับสิทธิโดยมีข้อจำกัดที่อาจจะถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ข้อ 13 (สิทธิของคนต่างด้าวที่อาจจะถูกขับออกไป) และข้อ 25 (การเข้าร่วมในกิจกรรมสาธารณะ สิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามกำหนดเวลา) หลักคล้ายๆกันนี้ยังมีข้อ 2 (3) ของไอซีอีเอสซีอาร์ ที่ยินยอมให้ประเทศกำลังพัฒนาในการตัดสินใจว่าจะให้สิทธิทางเศรษฐกิจของผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติหรือไม่โดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจของชาติ
ฉะนั้นแล้ว นอกเหนือจากสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ไม่ได้เป็นพลเมืองมีสิทธิจะต้องพ้นจากการริดรอนชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม ถูกทารุณกรรม ลงโทษหรือปฏิบัติอย่างลดคุณค่า โหดร้าย และไร้มนุษยธรรม ถูกบังคับใช้แรงงาน เป็นทาส ใช้แรงงานเด็ก ถูกส่งตัวกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม พวกเขายังมีสิทธิในการแสดงออกโดยเสรี การรวมกลุ่มและชุมนุมโดยสงบ สิทธิแรงงาน (รวมถึงสิทธิในการร่วมต่อรอง เรียกร้องผลประโยชน์จากการทำงาน สภาวะการทำงานที่ปลอดภัย สิทธิในการได้รับการบริการทางสุขภาพและการศึกษา)
ข้อเสนอแนะ: หมวดที่ว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพของประชากรไทย” ควรจะได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อรับประกันสิทธิที่จะได้รับการปกป้องที่เท่าเทียมกันของพลเมืองและผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง ยกเว้นสิทธิที่อยู่ภายใต้ข้อ 13 (การขับพลเมืองต่างด้าว) และข้อ 25 (การเข้าร่วมในกิจกรรมสาธารณะ สิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ) ของไอซีซีพีอาร์ และข้อ 2 (3) ของไอซีอีเอสซีอาร์
2.สิทธิความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ
กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศห้ามการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของหลายๆ สาเหตุ อาทิ เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นด้านอื่นๆ สัญชาติหรือภูมิหลังทางสังคม ทรัพย์สิน ภาวะทุพพลภาพ สถานภาพสมรส ชาติกำเนิด หรือสถานะอื่นๆ ข้อ 26 ของไอซีซีพีอาร์รับประกันการได้รับการปกป้องที่เท่าเทียมกันตามกฏหมายและการปกป้องต่อการถูกเลือกปฏิบัติจากเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นด้านอื่นๆ สัญชาติหรือภูมิหลังทางสังคม ทรัพย์สิน ชาติกำเนิด หรือสถานะอื่นๆ
ข้อ 2 (1) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (ซีอาร์ซี) ปกป้องการถูกเลือกปฏิบัติจาก “ภาวะทุพพลภาพ” นอกเหนือจากข้อห้ามที่ระบุไว้ใน ไอซีซีพีอาร์และไอซีอีเอสซีอาร์ ข้อ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (ซีอีดีเอดับเบิลยู) ปกป้องการถูกเลือกปฏิบัติจากเพศและสถานภาพสมรส
เมื่อปี 2558 คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระบุข้อแนะนำไว้ในรายงานสรุปการสังเกตการณ์ว่า ไทยควรจะบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติแบบครอบคลุมจากทุกสาเหตุที่แจกแจงไว้ในข้อ 2 ของไอซีอีเอสซีอาร์
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แห่งราชอาณาจักรไทยห้ามการเลือกปฏิบัติจากชาติกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ภาวะทุพพลภาพ ลักษณะทางกายภาพหรือภาวะทางสุขภาพ สถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาหรือแนวคิดทางการเมือง
มาตรา 27 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยอมรับหลักการของความเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ โดยระบุห้ามการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุเรื่องเพศ ภาวะทุพพลภาพ “หรือสาเหตุอื่นที่คล้ายคลึงกัน” ถึงอย่างนั้นก็ตามเหตุผลในการห้ามเลือกปฏิบัติยังไม่มีการระบุไว้อย่างเพียงพอและอาจนำไปสู่การตีความที่แคบมากของการเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ละเอียดเท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือสาเหตุของการเลือกปฏิบัติในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ไทยเป็นภาคี
ข้อเสนอแนะ: ในการรับประกันว่าการเลือกปฏิบัติจะถูกยับยั้ง มาตรา 27 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ควรเพิ่มข้อห้ามในการเลือกปฏิบัติให้ครอบคลุมทั้งเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา รสนิยมทางเพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ สัญชาติ ชาติพันธุ์หรือภูมิหลังทางสังคม ทรัพย์สิน ลักษณะทางกายภาพหรือภาวะทางสุขภาพ อายุ สถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ภาวะทุพพลภาพ สถานภาพสมรส ชาติกำเนิด หรือสถานะอื่นๆ
3.สิทธิที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางอาญา
ข้อ 9 ของไอซีซีพีอาร์รับรองสิทธิในการมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยของบุคคลซึ่งรวมถึงการไม่ถูกจับกุม คุมขังตามอำเภอใจ บทบัญญัติในข้อ 9 ยังระบุให้รับรองสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมที่จะได้รับการปกป้องจากการถูกจับกุม คุมขังตามอำเภอใจ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้รับการแจ้งถึงเวลาและสาเหตุของการถูกจับกุม การได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาโดยทันที ถูกนำตัวไปพบผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในระยะเวลาที่เหมาะสม ได้รับการทบทวนการถูกจับกุมว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยไม่มีการล่าช้า ได้รับการพิจารณาคดีหรือได้รับการปล่อยตัวภายในช่วงเวลาที่สมเหตุสมผล หรือได้รับการปล่อยตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีหากถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และได้รับการชดเชยจากการถูกจับกุมตัวหรือควบคุมตัวโดยมิชอบ
ที่คล้ายคลึงกันคือ ข้อ 14 ของไอซีซีพีอาร์ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้มีระบบยุติธรรมที่เหมาะสม และในกรณีนี้ ให้มีการรับประกันการปกป้องที่เท่าเทียมกันในการขึ้นพิจารณาคดีต่อศาลและตุลาการ สิทธิในการได้รับการถูกไต่สวนจากตุลาการที่มีความสามารถ เป็นอิสระและเป็นกลาง สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิด สิทธิในการได้รับประกันการถูกแจ้งข้อกล่าวหาคดีอาญาตามกระบวนการ สิทธิของผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาในการได้รับการทบทวนบทลงโทษในศาลชั้นที่สูงขึ้นไป สิทธิในการได้รับข้อพิจารณาพิเศษสำหรับเยาวชนที่กระทำผิดในคดีอาญา สิทธิในการได้รับค่าชดเชยจากการตัดสินคดีอาญาผิดพลาด และสิทธิในการได้รับการปกป้องจากการถูกพิจารณาคดีหรือลงโทษจากข้อหาที่ถูกตัดสินไปแล้วหรือว่ายกฟ้อง
คณะกรรมการต่อต้านการทรมานและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้แนะนำให้ไทยระบุรับประกันไว้ในกฎหมายและในทางปฏิบัติว่าผู้ถูกจับกุมคุมขังทุกคนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองขั้นพื้นฐานทางกฎหมายนับตั้งแต่เวลาที่เริ่มถูกควบคุมตัว
รัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุให้สิทธิในการปกป้องชีวิตและอิสรภาพของบุคคลอย่างชัดเจน รวมถึงสิทธิที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของไอซีซีพีอาร์ อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงบทบัญญัติทั้งหมดเกี่ยวกับระบบยุติธรรมและการปกป้องต่อการถูกจับกุม คุมขังตามอำเภอใจตามที่มีการรับรองไว้ในไอซีซีพีอาร์ โดยมาตรา 29 ของร่างรัฐธรรมนูญ ระบุให้เพียงแค่สิทธิในการได้รับการปกป้องจากการถูกฟ้องซ้ำในคดีอาญา การกระทำที่อาจทำให้ตนต้องรับผิดทางอาญา สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิด และสิทธิในการได้รับการประกันตัว และมาตรา 28 รับรองสิทธิในการมีชีวิตอยู่และมีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ปละห้ามการทรมานหรือการลงโทษที่ป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม
ข้อเสนอแนะ: จากการที่สิทธิที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมที่เหมาะสมและการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเป็นกุญแจสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน และเพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอข้อแนะนำว่า มาตรา 28 และ 29 ของร่างรัฐธรรมนูญควรจะปรับแก้ให้รวมเอาสิทธิทั้งหมดที่ระบุไว้ในข้อ 9 และ 14 ของไอซีซีพีอาร์เข้าไว้ด้วย
4.สิทธิความเป็นส่วนตัว
มาตรา14 ของไอซีซีพีอาร์ รับประกันการคุ้มครองจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวตามอำเภอใจ รวมถึงคุ้มครองจากการละเมิดสิทธิในบ้านเรือน ครอบครัว หรือข้อมูล ของบุคคลโดยผิดกฎหมาย รวมไปถึงคุ้มครองการหมิ่นเกียรติและชื่อเสียงของบุคคลโดยผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าสิทธิความเป็นส่วนตัวจะไม่มีขอบเขตชัดเจน และสามารถถูกจำกัดภายใต้กฎหมาย การจำกัดสิทธินั้นควรทำให้ชอบด้วยกฎหมาย (ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย) และต้องไม่ทำตามอำเภอใจ
ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 32 คุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวของบุคคล อย่างไรก็ตาม บทบัญญัตินี้ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในบ้านเรือนหรือข้อมูลของบุคคล ยิ่งกว่านั้น ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับการรับประกันการคุ้มครองการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวตามอำเภอใจ ซึ่งนับเป็นส่วนประกอบที่เป็นแก่นสารสำคัญสำหรับการคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว
ข้อเสนอแนะ: ร่างมาตรา 32 ควรได้รับการปรับปรุงให้รวมบทบัญญัติที่รับรองการคุ้มครองจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยพลการ รวมถึงคุ้มครองจากการละเมิดสิทธิในบ้านเรือนหรือข้อมูลของบุคคลโดยผิดกฎหมาย
5.สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกและการรับรู้ข่าวสาร
เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกเป็นหลักการของสังคมประชาธิปไตยที่เสรีทุกแห่ง และได้รับการรับรองตามข้อ 19 ของไอซีซีพีอาร์ วรรค 1 ของข้อ 19 ของไอซีซีพีอาร์ปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ซึ่งรวมถึงการแสดงความคิดเห็นทุกรูปแบบ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศีลธรรมหรือศาสนา ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นหรือการควบคุมใดๆ ที่มุ่งเอาผิดทางอาญาต่อผู้แสดงความคิดเห็น
วรรค 2 ข้อ 19 ของไอซีซีพีอาร์ บัญญัติให้รัฐภาคีรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิในการเสาะหา ได้รับและนำเสนอข้อมูลและความคิดในทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงขอบเขต สิทธินี้รวมถึงการแสดงออกและการได้รับการสื่อสารแนวคิดและความเห็นที่สามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการแสดงออกสามารถถูกควบคุมได้ในบางกรณี แต่จะต้องเป็นไปภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายและจะต้องเคารพในสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น การปกป้องความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยในประเทศ สุขภาพและขวัญกำลังใจของประชาชน นอกจากนี้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศยังกำหนดห้ามการโฆษณาชวนเชื่อ การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังต่อเชื้อชาติ ชนชาติและศาสนาที่จะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ความเป็นปฏิปักษ์หรือก่อให้เกิดความรุนแรง
มาตรา 34 ของร่างรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ไม่มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง มาตรา 55 ของร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ภายใต้ “หน้าที่ของรัฐ” ระบุว่ารัฐจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน แต่ไม่รับรองสิทธิของบุคคลในการแสวงหา ได้รับและนำเสนอข้อมูล
ข้อเสนอแนะ: เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญบรรจุบทบัญญัติที่รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และจะต้องรับรองสิทธิในการแสวงหา ได้รับและนำเสนอข้อมูลตามที่ระบุไว้ในข้อ 19 วรรค 2 และ 3 ของไอซีซีพีอาร์
6.สิทธิการชุมนุมอย่างสันติและสิทธิการรวมตัว
สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติและการรวมตัวกัน เป็นสิ่งขับเคลื่อนที่นำไปสู่การใช้ซึ่งสิทธิในด้านต่างๆ ทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิทธิทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้ทั้งชายและหญิงมีอำนาจในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง การมีส่วนร่วมในงานเขียนและงานศิลปะ กิจกรรมทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติทางศาสนาหรือความเชื่ออื่นๆ การจัดตั้งและการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและความร่วมมือต่างๆ และการเลือกผู้นำที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์และมีความรับผิดชอบ
สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเป็นหลักประกันตามข้อ 21 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ไอซีซีพีอาร์) และสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว รวมถึงสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน เป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 22 สิทธิดังกล่าวยังได้รับการคุ้มครองตามข้อ 8 ของไอซีอีเอสซีอาร์ และสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือวิธีการอื่นๆ
สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการรวมตัวไม่ได้เป็นสิทธิที่สมบูรณ์และสามารถอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่างได้ กระนั้นข้อจำกัดใดๆ จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายกำหนดและควรเป็นสิ่งที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตย ภายใต้ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติหรือความปลอดภัยของสาธารณชน ความสงบเรียบร้อยของประเทศ การปกป้องสาธารณสุขหรือศีลธรรม หรือการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การควบคุมเสรีภาพในการรวมตัวที่ชอบด้วยกฎหมายจะบังคับใช้ต่อกองทัพและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
มาตรา 44 ของร่างรัฐธรรมนูญให้การรับรองสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ แต่อนุญาตให้ควบคุมสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติตามกฎหมาย เพื่อรักษาความมั่นแห่งชาติ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมหรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ มาตรา 42 ของร่างรัฐธรรมนูญให้การรับรองเสรีภาพในการรวมตัว แต่ยังขึ้นอยู่กับข้อจำกัดที่มีเหตุผลอันควรตามกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ธำรงไว้ซึ่งสันติสุขและความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อศีลธรรมอันดี หรือเพื่อป้องกันแย้งแยกหรือการผูกขาดอำนาจ อย่างไรก็ตามร่างบทเฉพาะกาลยังไม่แสดงการปกป้องอย่างชัดเจนต่อสิทธิในการชุมนุมและการรวมตัวกันจากการควบคุมตามอำเภอใจที่ไม่จำเป็นได้
ข้อเสนอแนะ: แนะนำว่ามาตรา 42 วรรค 2 และ มาตรา 44 วรรค 2 ของร่างรัฐธรรมนูญควรปรับแก้เพื่อเป็นหลักประกันว่าการควบคุมใดๆ ต่อสิทธิการชุมนุมอย่างสันติและการรวมตัว ไม่เพียงจะต้องเป็นไปตามหลักฎหมาย แต่ยังจำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามข้อ 21 และ ข้อ 22 ของไอซีซีพีอาร์
7.สิทธิในการเยียวยา
ภายใต้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐจักต้องรับรองการสอบสวนและการดำเนินคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั้งหมด การสอบสวนและดำเนินคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังจะต้องสอดคล้องกับพันธกรณีของรัฐในการรับรองการเยียวยาที่มีประสิทธิผลซึ่งสถาบันระหว่างประเทศใช้อยู่ ตัวอย่างเช่น ไอซีซีพีอาร์มีข้อกำหนดให้รัฐภาคีรับรองการเยียวยาบุคคลใดที่สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลนั้นถูกล่วงละเมิด (ข้อ2(3)(a)) ซึ่งการปฏิบัติใช้นี้ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำจะกระทำภายใต้อำนาจหน้าที่หรือไม่ รัฐภาคียังมีพันธกิจในการรับรองการเยียวยาดังกล่าวภายใต้(ข้อ2(3)(c) เช่นเดียวกับข้อ 14 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีที่เห็นถึงสิทธิการได้รับการชดเชยที่เป็นธรรมและเหมาะสมแก่เหยื่อผู้ถูกทำทารุณกรรม
การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพจะนำไปสู่ความยุติธรรม รวมถึงการชดเชยให้กับผู้เสียหาย ดังนั้นภายใต้ข้อ 2(3)(a)ของไอซีซีพีอาร์ รัฐภาคีจำเป็นจะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่้เป็นการกระทำผิดทางอาญาและนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรม และเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อ ความล้มเหลวในการสอบสวนหรือการนำตัวผู้กระทำผิดด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาสู่กระบวนการยุติธรรมอาจนำมาซึ่งการกระทำที่ขัดต่อไอซีซีพีอาร์ได้
การสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรมในทันทีเป็นข้อเสนอแนะที่อยู่ในรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ(ยูพีอาร์)ของไทยปี 2555 และคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน(ซีเอที) และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังได้เสนอแนะแนวทางเดียวกันนี้ต่อประเทศไทย
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและบุคคลและการห้ามการทารุณ ความทารุณหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมอื่นๆ การจับกุมและตรวจค้นตามอำเภอใจภายใต้มาตรา 32 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดให้สิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าวนี้มีผลต่อบุคคลที่บาดเจ็บ พนักงานอัยการและบุคคลอื่นๆ ในผลประโยชน์ของผู้บาดเจ็บให้มีสิทธิที่จะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้สั่งหยุดยั้งหรือยุติการกระทำดังกล่าว ภายใต้เป้าหมายนี้ทำให้อาจมีการกำหนดวิธีการที่เหมาะสมหรือการเยียวยาต่อผู้บาดเจ็บ ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังรับรองสิทธิในการยื่นฟ้องต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐอื่นๆที่เป็นบุคคลตามกฎหมายซึ่งรับผิดชอบต่อการกระทำหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษญชนในการได้รับการเยียวยา
แม้มาตรา 41 ร่างรัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติให้บุคคลร้องเรียนและยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐได้ แต่ไม่ได้รับรองหลักประกันในการเยียวยาเหมือนเช่นที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550
ข้อเสนอแนะ: ร่างรัฐธรรมนูญควรจะสงวนมาตรา 32 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ไว้ รวมถึงวรรคย่อยที่ระบุถึงสิทธิในการยื่นขอคำสั่งศาล และการเยียวยาในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ นอกจากบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิในการร้องทุกข์และยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญควรจะต้องบัญญัติถึงสิทธิความเท่าเทียมและการเข้าถึงความยุติธรรมและการได้รับการชดเชยในทันทีสำหรับผู้เสียหายและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเมิดและกลไกการชดเชย
8.สิทธิการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ รวมถึงสิทธิในการลงคะแนนเสียงและสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง
ข้อ 25 ของไอซีซีพีอาร์ กำหนดให้สิทธิของพลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมในการกิจการสาธารณะทั้งทางตรงหรือการผ่านผู้แทนที่มีจากการเลือกตั้งโดยเสรี เพื่อลงคะแนนเสียงและเพื่อได้รับการเลือกตั้ง ตลอดจนสิทธิในการเข้าถึงการบริการประชาชน สิ่งนี้ถือเป็นแกนหลักของระบบธรรมาภิบาลในวิถีประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความเห็นชอบของประชาชน และสอดคล้องกับหลักการของไอซีซีพีอาร์ รัฐภาคีจักต้องรับรองมาตรการที่เป็นหลักประกันว่าพลเมืองจะได้รับสิทธิเหล่านี้
การมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะสามารถกระทำได้โดยตรงเมื่อพลเมืองกระทำในฐานะสมาชิกรัฐสภา การดำรงอยู่ในตำแหน่งบริหารหรือการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมในทางอ้อมโดยผ่านผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ในการมีส่วนร่วมโดยตรงของพลเมืองไม่ควรจะมีการแบ่งแยกระหว่างพลเมืองที่เข้าร่วมหรือการควบคุมการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวอย่างไร้เหตุผล การมีส่วนร่วมโดยผ่านผู้แทนที่ได้รับเลือกผ่านการเลือกตั้งตามที่กำหนดอย่างแท้จริง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมและตามหลักสากล
การเลือกตั้งตามกำหนดอย่างแท้จริงที่เป็นไปตามหลักสากล อยู่บนหลักสิทธิการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมและการลงคะแนนเสียงอย่างลับ จำเป็นที่จะต้องมีการรับประกันความรับผิดชอบของคณะผู้แทนในการใช้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหารที่ได้รับมอบมา การเลือกตั้งดังกลาวนี้จะต้องมีขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ทิ้งห่างนานเกินไปและจะต้องให้หลักประกันว่าอำนาจรัฐจะยังคงตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงค์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอิสระในการเลือกผู้สมัคร ในการลงคะแนนเสียงสนับนุนหรือคัดค้านข้อเสนอใดๆ ที่จัดให้การลงประชามติหรือการลงคะแนนเสียงชี้ขาด และสนับสนุนหรือคัดค้านรัฐบาล โดยปราศจากอิทธิพลหรือการบังคับขู่เข็ญใดๆ ที่อาจเป็นการบิดเบือนหรือขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงค์ของผู้มีสิทธิออกเสียงได้
ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การควบคุมสิทธิการลงคะแนนเสียงและการลงสมัครรับเลือกตั้งไม่อาจไร้ซึ่งเหตุผลหรือการแบ่งแยกได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ทำให้ชัดเจนแล้วว่าการใช้สิทธิและโอกาสในการสมัครรับเลือกตั้งได้รับรองสิทธิของบุคคลในการมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครได้อย่างอิสระ การควบคุมสิทธิในการลงสมัครเลือกตั้งใดๆ จะต้องมีเหตุผล ตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและสมเหตุสมผล บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ควรถูกแยกออกจากข้อกำหนดที่ไร้เหตุผลหรือเลือกปฏิบัติ เช่น ด้านการศึกษา ถิ่นพำนักหรือการสืบสกุล หรือด้วยเหตุผลของการเข้าร่วมพรรคการเมือง
มาตรา 102 ของร่างรัฐธรรมนูญยังจำกัดสิทธิในการลงคะแนนเสียงและการได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก เพื่อที่จะจำกัดกลุ่มภาคประชาสังคมและกลุ่มอาชีพต่างๆ ร่างธรรมนูญฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดสิทธิในการลงคะแนนเสียงและการลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในทางปฏิบัติแล้วเท่ากับเป็นการกีดกันประชากรไทยในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญออกจากสิทธิทั้งเพื่อการลงสมัครและเพื่อการลงคะแนนเสียงวุฒิสมาชิก
มาตรา 91 ของร่างรัฐธรรมนูญยังห้ามนักบวช พระสงฆ์ สามเณร นักโทษและผู้ที่ถูกควบคุมและผู้มีความบกพร่องทางจิต ไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขัดแย้งกับข้อบัญญัติของไอซีซีพีอาร์
ข้อเสนอแนะ: เสนอว่าร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับรองสิทธิของพลเมืองในการเลือกตั้งผู้แทนของตนเองๆได้อย่างอิสระผ่านการเลือกตั้งตามที่กำหนดอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลและการใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรรับรองว่าสมาชิกทั้งสองสภาของฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นคณะทำงานที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อที่ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเสรีและโดยปราศจากการถูกกีดกัน นอกจากนี้ยังขอเสนอว่าร่างรัฐธรรมนูญจะต้องคุ้มครองสิทธิพลเมืองในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสิทธิในการได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการเลือกตั้งที่กำหนดอย่างแท้จริงที่มีขึ้นตามหลักสากลและเท่าเทียม และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งลับจะต้องเป็นไปโดยปราศจากการใช้อิทธิหรือการบังคับขู่เข็ญ
9.สิทธิแห่งชุมชน
ตามมาตราที่ 2 ร่วมของ ไอซีซีพีอาร์ และ ไอซีอีเอสอาร์ ให้การรับรองถึงสิทธิของประชาชนในอันที่จะสละซึ่งความมั่งคั่งและทรัพยากรธรรมชาติของตนโดยปราศจากความลำเอียงเพื่อตอบสนองต่อพันธะใดๆ อันเกิดขึ้นจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการว่าด้วยผลประโยชน์ร่วมกันและบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ
ปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา ให้การยอมรับสิทธิในอันที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย โดยเสรีและเข้มแข็งต่อการพัฒนา และสิทธิในอันที่จะได้รับการจัดสรรผลประโยชน์อันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาดังกล่าวอย่างเป็นธรรม ทั้งยังกระตุ้นให้รัฐต่างๆ สร้างหลักประกันต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนทั้งหลายในทุกๆ ขอบเขตว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา และในการตระหนักอย่างเต็มที่ถึงสิทธิมนุษยชน
ปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง เรียกร้องให้รัฐต่างๆ ต้องหารือและร่วมมือโดยสุจริตกับชนพื้นเมืองทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางสถาบันตัวแทนของคนเหล่านั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมพร้อมใจที่เป็นอิสระเป็นการล่วงหน้า ก่อนหน้าที่จะประกาศใช้และบังคับใช้บทบัญญัติทางกฎหมาย หรือข้อบังคับในเชิงบริหารใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อคนเหล่านั้น (มาตรา 19) และในขณะที่ดำเนินการในโครงการต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเหนือที่ดิน, ดินแดน, และทรัพยากรของคนเหล่านั้น รวมทั้งการทำเหมืองแร่ และการทำประโยชน์หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น (มาตรา32)
ในปี 2015 ซีอีเอสซีอาร์ เสนอแนะว่า ประเทศไทยควรประกาศใช้วิธีการที่อยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนในโครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ เช่นเดียวกับการเสนอให้จัดตั้งกลไกเพื่อการมีส่วนร่วม ในอันที่จะแสวงหาความยินยอมพร้อมใจที่เป็นอิสระและเป็นการล่วงหน้าจากปัจเจกบุคคลและชุมชนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งยังได้เสนอแนะไว้ด้วยว่า ควรให้การรับรองทั้งในทางนิติศาสตร์และในทางรัฐศาสตร์ต่อคนพื้นเมืองเหล่านี้บนพื้นฐานของการสำแดงตนเอง
หมวด 12 ของ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนทั้งหลายในอันที่อนุรักษ์หรือฟื้นฟู ขนบประเพณี, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ศิลปะหรือวัฒนธรรมแห่งตน และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ดำรงรักษา ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ให้แล้วเสร็จก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นโครงการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่างๆ ทั้งยังกำหนดหนทางสำหรับบุคคลหรือชุมชนในอันที่จะร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งล้มเหลวในการปฏิบัติการตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ในปี 2015 ซีอีเอสซีอาร์ เสนอแนะไว้ว่า เนื่องในโอกาสที่มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ ประเทศไทยควรให้หลักประกันต่อสิทธิทางวัฒนธรรม, สังคมและเศรษฐกิจต่างๆ ที่เคยได้รับภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้นไม่ควรต้องลดทอนลงด้วยมาตรการใดๆ
อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้รองรับสิทธิต่างๆ ของชุมชนในอันที่จะมีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการ, ดำรงรักษา, ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เช่นเดียวกันกับโครงการต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังไม่ได้กำหนดสิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อเยียวยาความเสียหายของประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากโครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดำเนินการ อีไอเอ และอีเอชไอเอ และความจำเป็นในการให้สาธารณะชนมีส่วนร่วมและได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อการหารือถึงผลลัพธ์ของโครงการ ก็ถูกตัดทอนออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญกลับคาดการณ์เอาว่า รัฐจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเท่ากับเป็นการรอนสิทธิของชุมชนในอันที่จะมีส่วนร่วมและในอันที่จะให้ความยินยอมพร้อมใจอย่างอิสระและเป็นการล่วงหน้าอีกด้วย
ข้อเสนอแนะ: ขอเสนอว่า สิทธิของชุมชนในอันที่จะมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เป็นอิสระ และเข้มแข็ง, เพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และ เพื่อการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อการชดเชย ควรได้รับการคุ้มครองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ควรคงหมวด 12 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ให้หลักประกันตามรัฐธรรมนูญต่อสิทธิต่างๆ ของชุมชนไว้อย่างมีนัยสำคัญ
10.บทบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนผ่าน
มาตรา 257 ของร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เพื่อให้อำนาจตามกฎหมายและเพื่อความต่อเนื่องของคำสั่งที่ออกโดย คสช.ภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้ในปัจจุบัน มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของไทย ให้อำนาจกับรัฐบาลทหาร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนอย่างกว้างขวาง และอยู่เหนือหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายทั้งในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานยุติธรรม มาตรา 44 ให้อำนาจหัวหน้าคสช.ในการออกคำสั่งทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ หากหัวหน้าคสช.เห็นว่ามีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน โดยคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ขณะที่มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้สิทธิแก่สมาชิกคสช.รวมถึงผู้รับคำสั่งจากคสช.ให้พ้นจากการรับโทษทางกฎหมาย นั่นหมายความว่าแม้จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะไม่มีผลทางกฎหมาย และไม่มีหนทางที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษได้
ข้อเสนอแนะ: รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 รวมไปถึงคำสั่งของคสช.ภายใต้มาตรา 44 อีกหลายฉบับ ฝ่าฝืนพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 257 ควรที่จะต้องถูกตัดออกไปเพื่อทำให้แน่ใจว่า คำสั่งของคสช. จะไม่มีผลทางกฎหมาย หรือมีผลต่อเนื่องหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ยิ่งกว่านั้น เนื่องด้วยมีข้อกำหนดที่ให้เอกสิทธิและการนิรโทษกรรม ที่ขัดขวางเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการเรียกร้องการเยียวยาจากศาล ผู้ปกครองหรือหน่วยงานปกครองที่มีอำนาจตามกฎหมาย นับเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับการเยียวยา ดังนั้นร่างกฎหมายจึงไม่ควรละเลยผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอันเป็นผลมาจากการบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
11.กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ
กรอบด้านสิทธิมนุษยชนไม่ควรกำหนดไว้เป็นเพียงสาระของตัวรัฐธรรมนูญเองเท่านั้น แต่ควรนำมาใช้ในกระบวนการร่างและการรับรัฐธรรมนูญด้วย กระบวนการทั้งสองควรเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนสากล โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของพลเมืองในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะภายใต้ไอซีซีพีอาร์ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิของพลเมืองในการมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ สิทธิในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตนเอง ที่บัญญัติไว้ใน ข้อ 1(1) ของไอซีซีพีอาร์ ซึ่งรวมไปถึง สิทธิโดยส่วนรวมในการเลือกรูปแบบรัฐธรรมนูญและรัฐบาล นอกจากความรับผิดชอบทางกฎหมายที่มีต่อรัฐแล้ว กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอันครอบคลุมยังมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้จริงและมีประโยชน์ทางการเมือง ภายใต้บริบทของประเทศไทย กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญสามารถสนับสนุนความเป็นเอกภาพในชาติ เพิ่มความรู้ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญของสาธารณะ สร้างความชอบธรรมและการยอมรับในตัวรัฐธรรมนูญ สร้างแนวคิดและวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ และสร้างความรู้สึกแห่งการเป็นเจ้าของร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของสาธารณะ จำเป็นที่จะต้องมีบรรยากาศซึ่งสังคมทั่วไปและตัวแทนสังคมพลเรือนอย่างสื่อสารมวลชน นักวิชาการ สมาชิกพรรคการเมือง สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความกลัวจากภัยคุกคาม การตอบโต้ หรือการจับกุม นั่นหมายความว่ารัฐต้องให้ความมั่นใจว่า สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมหรือการรวมกลุ่มโดยสงบ จะได้รับการเคารพและปกป้อง
ข้อเสนอแนะ: คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลต้องทำให้แน่ใจว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นครอบคลุมและสามารถมีส่วนร่วมได้ และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องมีขึ้นในบรรยากาศที่ประชาชนทุกคนในประเทศไทย มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ชุมนุม และรวมตัวกันโดยสงบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อบังคับอันเป็นข้อจำกัดใดๆ ก็ตามที่ขัดกับ ไอซีซีพีอาร์ ในกรณีนี้ควรต้องถูกยกเลิกโดยทันที