ฤาที่ว่า ‘เห็บกระโดด’ นั้นแท้จริงเป็นเพียงปฏิกิริยาธรรมชาติของเชื้อจุลินทรีย์ ในการย่อยสลายสสารซึ่งถึงกาลอวสาน
ฉันใดก็ตาม การณ์ปรากฏชัดแจ้งยิ่งขึ้นทุกวันว่าอาการดึงดันไม่ยอม ‘เสียของ’ (จนต้องละเมิดหลักการชอบธรรมไปเสียเกือบทุกอย่าง รวมทั้งตามสกัดกั้น ไล่ขัดขวาง และลากตัวผู้กล้าหาญคัดค้านการรับรองพิมพ์เขียวอำนาจเผด็จการที่ซ่อนอยู่ในรูปร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙ เอาไปควบคุม)
กำลังเผชิญกับแรงต้านมากยิ่งขึ้นวันต่อวัน
การดำเนิคดีกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่และเกษตรเสรี โดยมี ๗ คนถูกจำคุกรอการพิจารณาคดีข้อหาก่อความวุ่นวายและขัดคำสั่งคณะรัฐประหาร เพียงเพราะพวกเขาไม่เห็นว่าร่าง รธน.ใหม่จะเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน นอกจากพวก คสช. เอง
กลายเป็นเหตุจูงใจให้คนจำนวนมากขึ้น ทั้งๆ ที่เคยเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองกันมา กล้าแสดงออกคัดค้านความไม่ชอบมาพากลของการปกครองโดยทหารมากขึ้น
นับแต่เรื่องปากท้องธรรมดา เมื่อแม่ค้าพ่อขายย่านปากคลองตลาดที่ถูกจัดระเบียบรื้อแผงริมทางเท้า ออกมาประท้วงโดยร่วมกับถมดอกไม้เป็นกองเกลื่อนถนนปิดปั้นเส้นทาง ถูกตำรวจเรียกตัวไปจัดการดำเนินคดี (โดยศาลทหาร)
เช่นเดียวกับกลุ่มสลัมสี่ภาคที่ไปรวมตัวกันที่ลานหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำกิจกรรมปล่อยลูกโป่งเป็นสัญญลักษณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ๗ นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ ผู้ปฏิเสธอำนาจศาลทหารที่ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือกดดันประชาชน
เช่นกันในด้านความเกรงกลัวอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะทหารที่กำลังเหือดหาย เพราะประจักษ์ชัดแล้วว่าสองปีที่ผ่านมา คสช. เข้ามานั่งอยู่บนหัวประชาชนเพื่อการครองอำนาจระยะยาว
ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม เมื่อคณะนักเขียน นักวิชาการ และบรรณาธิการนิตยสาร อาทิ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์มาหวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ไอดา อรุณวงษ์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จิรภัทร อังศุมาลี เจ้าของนามปากกา สิเหร่ เวียงวชิระ บัวสนธ์ และอธิคม คุณาวุฒิ พร้อมใจพากันไปเยี่ยม ๗ นักศึกษานักโทษประชามติ ที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ
“สุชาติกล่าวว่า พวกเขามาเพื่อให้กำลังใจนักศึกษานักกิจกรรม และต้องการแสดงให้สังคมได้เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับสังคมประชาธิปไตย และต้องการให้การปล่อยลูกโปร่งเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ขาดหายไปจากประเทศนี้”
“ไอดา บก.สำนักพิมพ์อ่าน ผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้กล่าวถึงการถูกจองจำรอการดำเนินคดีนี้ว่า “มันไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า พวกเขาตัดสินใจแล้ว การเข้าไปของเขาเป็นการต่อสู้ การมาเยี่ยมก็เพื่อมาแสดงการสนับสนุนพวกเขา หากเศร้าหรือวิตกกังวลมันเป็นการลดทอนเขาเปล่าๆ”
(http://www.prachatai.org/journal/2016/07/66635)
เหล่านี้เป็นสัญญานว่าคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการยึดอำนาจสถาปนาตนเองเป็นผู้ปกครอง ที่ว่าจะไปเมื่อประชาชนไม่ต้องการ นั้นมันสั้นเข้า สั้นเข้าทุกทีแล้ว เพราะการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเกินกว่าความเหมาะสม ด้วยการให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนเกือบจะทุกเรื่อง รวมทั้งคดีมโนสาเร่
ท่ามกลางบรรยากาศและสภาพการณ์ที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญถูกอุ้มไปควบคุมตัว ก็บังเกิดเสียงจากฝ่ายที่เคยให้ท้าย หรือไม่ก็วางเฉยกับการดำเนินการของคณะรัฐประหาร ผุดขึ้นมาดั่งว่าการผลิบานของดอกไม้ไพรได้เริ่มต้นแล้ว
นับแต่การเปิดอกประสบการณ์ส่วนตัวประจาน คสช. และพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องในวันครบรอบสองปีที่ออกจากเรือนจำเปรย์ซอว์ ประเทศกัมพูชา ของนายวีระ สมความคิด อดีตแกนนำ พธม.
“ฮุนเซนยอมปล่อยตัวผม เนื่องจากเห็นว่ายิ่งคุมขังผมนานเท่าใด คนไทยก็จะเกลียดชัง และต่อต้านเขามากขึ้นทุกวัน...เขาชิงปล่อยตัวผมก่อนที่ คสช. จะมาขอเจรจา เป็นการให้ผลงานกับ คสช. แบบส้มหล่น คสช. ได้ผลงานไปเต็ม ๆ”
การเปิดโปงของนายวีระนอกจากจะชี้ว่า คสช. โดยเฉพาะพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้ใส่ใจให้ความช่วยเหลือตนจากการจับกุมของทหารกัมพูชาแล้ว “ยังผลักไส” ไปสู่ความผิด เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
“เมื่อกัมพูชายัดข้อหาผมว่าเป็นสายลับเข้าไปทำจารกรรม แทนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งรู้แก่ใจดีว่าไม่เป็นความจริง รัฐบาลควรปฏิเสธอย่างแข็งขัน ว่าผมกับคุณราตรี (พิพัฒนไพบูรณ์) ไม่ใช่สายลับหรือจารชน แต่ปรากฏว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไทยพากันเงียบเฉย ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้”
(http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…)
อีกราย ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ นักวิชาการกฎหมายที่เคยให้ท้ายคณะรัฐประหาร คมช. ในการยึดอำนาจเมื่อปี ๒๕๔๙ และต่อมายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคณะนิติราษฎร์ ได้เขียนบทความทางวิชาการว่าด้วยปัญหาอำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนไว้น่าเอ่ยถึงว่า
“เมื่อมีพระบรมราชโองการให้เลิกใช้กฎอัยการศึก อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารย่อมระงับสิ้นไปทันทีที่มีพระบรมราชโองการให้เลิกใช้กฎอัยการศึกนั้นเอง” และ
“การกำหนดมาตรการและการตรากฎเกณฑ์เปลี่ยนแปลงอัตราโทษที่เคยกำหนดไว้สำหรับการชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ ๓๗/๒๕๕๗ ที่กำหนดให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร ให้สิ้นผลไปโดยปริยาย”
(http://www.matichon.co.th/news/197234)
นอกเหนือจากนี้ ดร.กิตติศักดิ์ยังได้อธิบายว่า ศาลทหารโดยเจตนาแห่งการจัดตั้งเพื่อให้ “พิจารณาคดีเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติ...อำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกและรวบอำนาจรวมศูนย์ไว้กับผู้ประกาศนี้ ถือกันว่าเป็นอำนาจตามความจำเป็นที่มีขึ้นตามเหตุผลของเรื่อง”
นั่นคือ “สรุปสั้นๆ ได้ว่า รัฐสภาอาจกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีแทนศาลยุติธรรมได้ แต่อำนาจเช่นนั้นย่อมมีจำกัดเฉพาะในสถานการณ์สงคราม...
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเหตุจำเป็นคือภาวะสู้รบ จลาจล หรือสถานการณ์สงครามได้สิ้นสุดลง อำนาจของศาลทหารก็ย่อมสิ้นสุดลงเพราะ ‘ไม่จำเป็น’ อีกต่อไป”
การใช้อำนาจของ คสช. โดยให้ศาลทหารยังคงดำเนินคดีต่อพลเรือนในคดีมโนสาเร่ อีกทั้งคดีที่ลุกล้ำกล้ำกลายสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของประชาชนทุกวันนี้ด้วยแล้ว
เป็นการใช้อำนาจอย่างเผด็จการล่วงล้ำ นอกเหนือไปจากครรลองอันถูกต้องในประชาคมโลก ทั้งที่ไม่ปรากฏว่ามีหรือจะเกิดภาวะสงครามแต่อย่างใด
ย่อมปราศจากความชอบธรรม และไม่สามารถอ้างแอบว่าเป็นการควบคุมสถานการณ์ ให้นำไปสู่ความสงบสุขยั่งยืนได้เลย แม่แต่น้อย