“ถึงเวลาก้าวออกมา” เป็น catchphrase ที่จับใจ จากกลุ่มจัดงาน “ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน...”
วันที่ ๒๔ กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ก่อนวันออกเสียงประชามติร่าง รธน. ของ คสช. สองอาทิตย์พอดี ที่เขาบอกว่า “จะเยสหรือโน ก็มาโสกัน”
รายการเพียงแค่ครึ่งวัน ตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป แต่อัดแน่นทั้งสาระและหย่อนใจ ทั้งภายในหอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ (ศรีบูรพา) ท่าพระจันทร์ บริเวณทางเท้ารอบหอประชุม และลานประติมากรรมฯ หน้าหอประชุมใหญ่
นอกจากเวทีวิชาการภายในหอประชุม เรื่อง “ประชามติ ฟรี แฟร์ และแคร์กัน” ฉายให้เห็นภาพอนาคตหลังประชามติ ด้วยการสนทนากับ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักรัฐศาสตร์ โดย อจ. อนุสรณ์ อุณโณ ตามด้วยปาฐกถาของ รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชน แล้ว
ภายนอกหอฯ “เปิดตลาดนัด ‘รัฐธรรมนูญที่กินได้’ ข้าวปลาอาหารจากทุกหย่อมย่าน แถมด้วยซุ้มวิถีชุมชน ศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการมีชีวิต”
ติดๆ กันที่บริเวณสวนประติมากรรมฯ เป็น “กิจกรรมเฟี้ยวฟ้าวแต่เอาเรื่อง...สำหรับคนรุ่นใหม่ใส่ใจประชามติ... ‘การเมืองครั้งแรก’ ของเหล่าทีนเอจในยุคคืนความสุข ทั้งละคร ดนตรี บทกวี บอร์ดเกมส์ Live สดๆ ทั้งงาน”
แถมยังชวน “อ่านรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงร่วมกันก่อนถึงวันประชามติ” ที่ ‘กำแพงร่างรัฐธรรมนูญ’
เรื่องอ่านนี่สำมะคัญ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ทั้งหัวหน้าใหญ่และทั่นรองฯ ฝ่ายกฎหมาย เปรยๆ เรื่องว่า
ถ้าประชามติไม่ผ่านเพราะ “อาจไม่ชอบ คสช.ไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือชอบ คสช.อยากให้อยู่นานๆ”
(ข่าวไทยรัฐและไทยโพสต์ ๑๓ ก.ค. http://www.thairath.co.th/content/662469 )
หมู่นี้อ่านอะไรมักงี่มักง่ายไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นจุลสารที่ส่งให้อ่านถึงบ้านน่ะ Atukkit Sawangsuk บอกอ่านแล้ว ‘ทุเรศครับ’
“นี่มันเอกสารโฆษณาชวนเชื่อชัดๆ อ้างว่าดูแลตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า ทั้งที่ความจริงก็ก๊อปเขามา ตั้งแต่ปี ๔๐ – ๕๐ แล้วต่อโน่นเติมนี่ ขณะที่สาระสำคัญเรื่องโครงสร้างอำนาจ ไม่พูดซักคำ...
บิดภาษาให้สวย เช่น ประชาชนมีส่วนร่วมท่างการเมือง มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทุกกลุ่มทุกอาชีพลงสมัคร ส.ว.ได้
เอี้ย สาวโรงงาน แม่ค้าข้าวโพดปิ้ง เด็กปั๊ม โคโยตี้ ฯลฯ จะได้เป็นเรอะ ก็มีแต่พ่อค้า หมอ พยาบาล ครู วิศวะ สภาทนาย ข้าราชการแก่ๆ ขุนนาง NGO ทั้งหลาย
ลงท้าย อุบาทว์สุดๆ คำถามพ่วงชี้แจง ๒ หน้า ทำไมต้องมีคำถามพ่วง เพราะนายกฯ คือหัวหน้าทีมปฏิรูป เพราะยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลา ๕ ปีวางรากฐานปฏิรูป ฯลฯ
แต่แม่-ไม่พูดซักคำว่า ส.ว. ๒๕๐ คนมาจาก คสช.ตั้ง”
ย้อนไปประเด็น ‘คนรุ่นใหม่ใส่ใจประชามติ’ ก็มีตัวอย่างน่าใส่ใจ จากข้อเขียน ‘น้อยใจ’ ของ Prab Laoharojanaphan เมื่อวาน
“ในยุค ‘สังคมผู้สูงอายุ’ เรามักเป็นเพียงไม้ประดับในสังคมซึ่งเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ยุค baby boomers ที่ยังคงทำตัวใช้ชีวิตเป็นจุดศูนย์กลางของสังคม”
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่จะมีประชามติเร็วๆ นี้ ในด้านนึงก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่คนแก่เป็นใหญ่ มันเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้สูงอายุเขียนกันเอง คิดกันไปเองว่าก้าวหน้า
ทั้งที่ในเชิงเนื้อหาก็ย้อนเวลาไปกว่า ๓๐ ปี กลับสู่ยุคที่ ส.ว.มาจากการสรรหากันเองโดยรัฐข้าราชการ สิทธิเข้าถึงการรักษาสุขภาพย้อนกลับเป็นเรื่องของผู้ยากไร้ ไม่ใช่สวัสดิการของประชาชน เป็นต้น”
“ประเทศไทยไม่มีนักการเมืองบริหารประเทศมาสองปีแล้ว รัฐข้าราชการทุกวันนี้ก็คอรัปชั่นไม่แพ้กัน อาจแย่กว่าด้วยซ้ำ ที่เราไปลงคะแนนไล่เขาก็ไม่ได้ ด่าก็ไม่รู้สึกปลอดภัย จะตรวจสอบก็เสี่ยงโดนคุกคามจากการใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยเจ้าหน้าที่รัฐกันอีก”
“คนแก่กลุ่มนึงพยายามวางยุทธศาสตร์ชาติล่วงหน้า ๒๐ ปีโดยไม่ถามคนที่จะต้องอยู่บนโลกนี้นานกว่า
พยายามยัดเยียดอนาคตที่ตนเองไม่ได้อยู่ ให้คนรุ่นต่อไปต้องฝืนอยู่กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก”
(เขาเขียนยาวกว่านี้ ตามไปอ่านกันเต็มๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10153665515715848&set=a.10150238702820848.316076.632140847&type=3&theater)
ขนาดนี้แล้ว เห็นทีจะเยสยาก ฝากบอกพวก ‘ไม่โหวต’ ด้วยละกัน งานนี้ทั้ง อจ.อัษฎางค์ และ อจ.วรเจตน์ คงพอทำให้กระจ่างได้ละว่า จะอย่างไรต่อไปภายหลังประชามติ