วันเสาร์, กรกฎาคม 16, 2559

ประกาศิต ‘นายสั่ง’ สำคัญเหนืออื่นใด


\


บางสื่อบอกว่าเข้าโค้งสุดท้ายแล้ว ที่แน่ๆ ยังไม่ถึงคืน ‘หอน’ ที่แน่นอนมีแต่ ‘howl’ กันขรม (จะเอาเสียงไทยหรือสะกดฝรั่งได้ทั้งคู่)

ก็เรื่องเนื้อในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของปู่มีชัย (เดี๋ยวนี้ไปไหนต้องหิ้วปีกกัน) นั่นละ ที่เราเห็นด้วยกับอธึกกิต แสวงสุข (https://www.facebook.com/baitongpost/posts/1102936743121487) ว่า ‘หมก’ น่าดู

บางคนที่เกี่ยวข้องและพวกเบี้ยรองบ่อน ไม่ต้องการลงลึกกลัวเจอเม็ดเน่า เลยเอาแต่คร่าวๆ อย่างนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. เจ้าใหม่ ที่น่าจะเรียกว่าพวก อภิ (เกิน) สิทธิมนุษชนมากกว่า บอกกับไทยรัฐเมื่อสามวันก่อน

ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติ มีบทบัญญัติที่จะเป็นการแก้ไขปัญหา ‘ดังกล่าว’ และยกระดับสถานะของไทยเข้าสู่สากลได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์”

(‘ดังกล่าว’ ที่ว่าก็คือปัญหาต่างๆ อันจะทำให้ “สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือไอซีซี กำลังพิจารณาจะปรับลดสถานะด้านสิทธิมนุษยชนของไทย”)

ทั่นประธานบอกด้วยว่าจะไปจับเข่าคุยกับ คสช. เสียหน่อยเพื่อขอคืนสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ให้ถูกใจบรรดานักปฏิรูป

ที่จริงคำของประธาน กสม. ไม่ได้มีอะไรมากกว่าขานชื่อห้อยท้ายวาทกรรมของพวกนักร่าง รธน. ดังที่นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. อ้างไว้ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน

“ทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ กรธ.ยืนยันว่ามีสิทธิเสรีภาพ ๑๐๐%...แม้ไม่ได้บัญญัติไว้ ก็มีสิทธิเสรีภาพเต็มที่”

(http://www.matichon.co.th/news/211360)

นั่นไง “พูดแต่คำโฆษณาชวนเชื่อ ส่วนที่เป็นปัญหาไม่พูดหมด” อย่างอธึกกิตว่าจริงๆ

“เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ยากจนความเป็นจริงแก้ไม่ได้เลย ก็เขียนว่าให้รัฐสภาแก้ ประชาชน ๕ หมื่นคนเสนอแก้ได้ แต่ไม่บอกว่าตอนผ่านวาระ ๓ ต้องมีทั้ง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.” รายหลังนี่ก็มาจาก คสช.แต่งตั้ง จำนวน (๒๕๐ คน) ครึ่งหนึ่งของ ส.ส.

ตานี้ทำไงล่ะ กรธ. อีกคนออกมาให้วาทะบ้าง นายเธียรชัย ณ นคร ในฐานะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พูดถึงเอกสารความเห็นแย้งร่าง รธน. ที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่จัดทำขึ้น

“ทีแรกก็ตีปี๊บวิชามารที่เชียงใหม่ หาว่ามีทุนหนุนหลัง ต่อมาก็ว่าของปลอม” ที่นี้ตีความใหม่ว่า “เอกสารดังกล่าวเป็นการนำเสนอความเห็นต่างที่มีคำอธิบายประกอบ ไม่เข้าข่ายบิดเบือนข้อเท็จจริง”

(http://www.thairath.co.th/content/664774)

ก็ยังไม่วายไปแขวะฉบับย่อย แผ่นพับ ๗ เหตุผลไม่รับร่างฯ ว่า “มีเจตนาเพื่อชี้นำไปในทางที่ผิด มีการตั้งประเด็น แล้วใช้เนื้อหาเพียง ๒ – ๓ บรรทัด มาอธิบาย”

“จะกลายเป็นขนมจีนกับน้ำยา สร้างความไขว้เขวให้ประชาชนได้ ส่วนการดำเนินคดีนั้น กรธ. จะไม่ฟ้องร้องเอง เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ ต้องให้ กกต. ในฐานะผู้รับผิดชอบพิจารณา”

กกต. รับลูกทันใจ หาว่าแผ่นพับฯ บิดเบือน ๓ ประเด็น “เรื่องของระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า หรือบัตรทอง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เรื่องการเรียนฟรี ๑๒ ปี และเรื่องของเบี้ยผู้สูงอายุ”

จึงเป็นภาระของ รังสิมันต์ โรม ต้องย้อนมาจ้ำจี้จ้ำไชกันอีกครั้ง “ในเอกสาร ๗ เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้พูดถึงเรื่องของประกันสุขภาพทั่วหน้า หรือเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ

อาจารย์สมชัยน่าจะจำเอกสาร (แผ่นพับ) สลับกันกับเอกสารความเห็นแย้ง...ถ้าลองอ่านเอกสารทั้งหมดที่ผมแปะลิงค์ในตอนท้าย จะพบว่าตัวบทรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยได้เขียนเอาไว้แบบนั้นเอง”

เรื่องการศึกษาเขียนไว้ว่า “ให้เรียนฟรีถึง ม.๓ เท่านั้น...กรณีระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า ร่างฯ มีชัยก็ได้ตัดถ้อยคำ ‘สิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุข’ ซึ่งเคยถูกรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ๕๐

ทำให้ไม่เหลือหลักประกันอะไรที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า บัตรทอง ๓๐ บาทรักษาทุกโรคจะไม่ถูกยกเลิก”

(เอกสาร ๗ เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ https://ndmth.org/2016/05/7-เหตุผลทำไมต้องโหวตโน
ความเห็นแย้ง https://ndmth.org/2016/05/ความเห็นแย้งคำอธิบายสา/)

รังสิมันต์ยังได้ชี้ทางจระเข้ลงน้ำ (เลิกเพ่นพ่านบนบก) ด้วยว่า

“การจับคนติดคุกคงไม่สามารถทำให้ความจริงอะไรปรากฏออกมาได้ (นอกจากย้ำเตือนถึงความเป็นเผด็จการของ คสช.) หรอกครับ มีแต่ทำให้การ Vote Yes หมดความชอบธรรม คงเหลือแต่ความชอบธรรมที่จะ Vote No”

นั่นแหละ หาได้มีจระเข้ขึ้นบกทั้งหลายสำเหนียกกันไม่ เมื่อวานพวกนักศึกษาอีสานนำโดย ไผ่ ดาวดิน -จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จะจัดกิจกรรม ‘อ่าน’ ความเห็นแย้ง กันที่บริเวณหน้าอาคารคอมเพล็กซ์ ม.ขอนแก่น

ก็ถูกทหาร กอ.รมน. จังหวัด “ขอความร่วมมือ” ว่าอย่าได้จัดกิจกรรม เพราะ “มีคำสั่งจากนาย” บอกให้ทำการ “จับกุมทันที” ถ้ามีนักศึกษาออกมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับร่าง รธน.





‘นาย’ คนนี้คงไม่ฟังหรือไม่สนใจความเห็นของกรรมการร่างฯ บ้างหรอก พวกนักศึกษาจึงปรับตัวเปลี่ยนแผน ชวนกันสี่คนไปนั่งอ่าน ความเห็นแย้ง กันในห้องสุขาแทน

(http://yt2fb.com/httpswww-youtube-comwatchvrvxytldxnok/)

พฤติกรรมตรงข้ามคำพูดของ คสช. และลิ่วล้อทั้งหลาย ‘จัดการ’ ผู้ที่เห็นแย้งและแสดงการต่อต้าน ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญ มีรายงานไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)

“ขณะนี้ สิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรีในประเทศไทย เห็นชัดว่ามีข้อจำกัดมากมาย มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นค้านร่างรัฐธรรมนูญแล้วถึง ๑๑๓ ราย...

ในจำนวนนี้ ๙๔ รายโดนข้อหาขัดขืนคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. ฉบับที่ ๓/๒๕๕๘ อีก ๕ รายต้องคดีละเมิด ม.๖๑ ของ พรบ.ประชามติ อีก ๑๓ ราย โดนทั้งคำสั่ง ๓/๕๘ และ ม.๖๑ รวมกัน”

รายงาน TLHR ชี้ว่า เมื่อกำหนดการออกเสียงประชามติใกล้เข้ามา การรณรงค์ของกลุ่มต่างๆ ยิ่งกระชับเกลียวมากขึ้น วิธีการกดดันโดย คสช. ก็เพิ่มความหนักหน่วงด้วยเช่นกัน ศูนย์ทนายฯ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า

“ไม่ว่าการออกเสียงประชามติจะเป็นไปในทางใด ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ คะแนนที่ออกมาถือว่าไม่ได้เป็นผลลัพท์ของสังคมประชาธิปไตย ที่ซึ่งเปิดให้ใช้สิทธิในการแสดงออกและมีความเห็นอย่างเสรีได้”

(http://www.tlhr2014.com/th/?p=1198)

ไม่เช่นนั้น เราคงไม่เห็นเอกสาร ‘ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง’ ออกมาจาก หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้แก่

“ออสเตรีย เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สาธารณรัฐสโลวัก สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร พร้อมทั้งเอกอัครราชทูตและหวัหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย”

แสดงความมุ่งหวัง “ว่ารัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญแก่ข้อมูลที่ได้รับ และจะดำเนินการตามพันธกรณีที่มีต่อนานาชาติภายใต้กรอบ UPR (Universal Periodic Review) เพื่อปรับปรุงแก้ไขตามข้อห่วงกังวลที่ประชาคมระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นมา”

(https://drive.google.com/…/0BxIwtKpeH2KmQTdvcnhYR0ZhR…/view…)

โดยที่ “ขณะนี้เหลือเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เราเชื่อว่าการอภิปรายอย่างเปิดกว้าง ถึงประโยชน์ของร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการบรรลุซึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้ ในการสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงกว่าเดิม”

และย้ำว่า “การร่วมพูดคุยอย่างเปิดกว้างและรับฟังทุกฝ่าย เป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมประชาธิปไตย และสนับสนุนการสร้างความปรองดองของชาติ”





ตรงกับที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่พากันไปยื่นข้อเรียกร้องต่อ กกต. และ กรธ. ขอให้เปิดการอภิปรายในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งตอบข้อสงสัยด้วยว่าที่กล่าวหาผู้ค้านร่างฯ ว่าบิดเบือน นั้นป็นเช่นไร

(https://ndmth.org/2016/07/lettertoec/)

ข้อสำคัญยิ่ง “การที่ประชาชนมีฉันทามติอย่างเสรีถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ในการสร้างเสถียรภาพระยะยาวซึ่งสำคัญต่อการปกครองที่ยั่งยืน และพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้เจริญเติบโต

นักลงทุนย่อมแสวงหาเสถียรภาพ สภาวะที่คาดการณ์ได้ (โดยมี) ธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม”

ภาษาการทูตอย่างนั้น คสช. และลิ่วล้อคงจะสำเหนียกยาก (รวมทั้งบักดอนด้วยก็เถอะ) เพราะประกาศิต ‘นายสั่ง’ สำคัญเหนืออื่นใด

แต่ว่านานาอารยะประเทศ (อย่างน้อยๆ) ตามรายนามที่เขาระบุไว้ใน ‘ข้อเรียกร้อง’ ย่อมเข้าใจแจ่มแจ้ง และจับจ้องตาไม่กระพริบ ว่าจะได้รับการสนองตอบแค่ไหน