วันศุกร์, กรกฎาคม 08, 2559

ประชามติต้องเปิดใจไม่ใช่ปิดปาก : ไอลอว์นำเสนอเรื่องประสบการณ์ #ประชามติ ในเคนย่า เมื่อปี 2010 ดูเขาดูเราได้





เคนย่า เป็นประเทศอยู่ในแอฟริกาตะวันออก มีประชากรประมาณ 45 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 83% นับถือศาสนาคริสต์ โดยมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 11% ในประเทศมีชนเผ่าหลากหลาย เช่น เผ่าคิคูยู (Kikuyu) 22%, เผ่าหลูยา (Luhya) 14%, เผ่าลูโอ (Luo) 13%, เผ่าคาเลนจิน (Kalenjin) 12%, เผ่าคัมบา (Kamba) 11% ฯลฯ


ประชามติเคนย่า: รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อออกจากยุคเผด็จการและความรุนแรง


เมื่อ 7 ก.ค. 2559
โดย iLaw


เมื่อปี ค.ศ.1963 เคนย่าได้รับเอกสารสำคัญซึ่งมรดกตกทอดจากอังกฤษ ตั้งแต่สมัยที่เป็นอาณานิคม คือ รัฐธรรมนูญ หลังได้รับเอกราชผู้นำหลายสมัยของเคนย่าต่างก็พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเรื่อยๆ เพื่อหาช่องทางให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจให้นานที่สุด จนผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เคนย่าเป็นประเทศปกครองแบบเผด็จการโดยรัฐธรรมนูญ

นอกจากระบบการเมืองที่เป็นเผด็จการแล้ว เคนย่ายังมีระบบการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม เพราะผู้มีอำนาจมักจะจัดสรรทรัพยากรให้กับประชาชนจากกลุ่มชนเผ่าของตัวเองมากกว่าเผ่าอื่น ทำให้บางส่วนของประเทศเจริญกว่าส่วนอื่น ตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐที่ละเมิดสิทธิประชาชน ชนเผ่าที่เป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศไม่ได้รับบริการสาธารณะขึ้นพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน น้ำสะอาด

โดยในปี 1992 เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย เนื่องจากผู้มีอำนาจในขณะนั้นมีลักษณะเผด็จการภายใต้รัฐธรรมนูญและไม่มีทางถูกเอาลงจากอำนาจตามช่องทางปกติในรัฐธรรมนูญได้ ประชาชนชาวเคนย่าจึงเห็นว่าการจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ต้องอาศัยรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น และกระแสเรียกร้องก็ดังขึ้นเรื่อยๆ ข้อเรียกร้องขั้นต่ำที่ยอมรับกันในขณะนั้น คือ ต้องปฏิรูป 3 ประเด็น หนึ่ง คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 2A ที่กำหนดให้เคนย่าเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคเดียว สอง ต้องปฏิรูปตำรวจ โดยให้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ สาม ต้องปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ในปี 2005 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จขึ้นมาครั้งแรก และนำไปให้ประชาชนตัดสินโดยการลงประชามติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.2005 ระหว่างช่วงเวลาการรณรงค์มีการจับกุมนักการเมืองฝ่ายที่ทำกิจกรรมต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ และมีเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยเก้าคน ขณะที่กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านประธานาธิบดีมไว คิบากิ (Mwai Kibaki) ที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น ก็ใช้โอกาสนี้นำเสนอว่าการไปโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีความหมายคล้ายการไม่รับรองประธานาธิบดีไปด้วย



ภาพประธานาธิบดี มไว คิบากิ
ที่มาภาพ Kenyapao.wordpress


การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 2005 ผล คือ ผู้มาลงคะแนน 58% ไม่รับ และ 41% รับ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป

เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2007 โดยรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้และปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้ปฏิรูป ประธานาธิบดีคิบากิ ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้ง ฝ่ายค้านออกมาชุมนุมใหญ่ตามเมืองต่างๆ และตำรวจก็ยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิต ก่อให้เกิดความโกรธแค้นและความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศ ประชาชนฆ่ากันโดยเหตุผลด้านเชื้อชาติชนเผ่า โดยเฉพาะเผ่าคิคูยู ซึ่งเป็นเผ่าของประธานาธิบดีคิบากิ ถูกฆ่าตายจำนวนมาก จนกระทั่งโคฟี่ อันนาน ซึ่งเป็นเลขาธิการสหประชาชาติขณะนั้นต้องเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย และนำไปสู่ทางออกโดยการจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มีคิบากิเป็นประธานาธิบดี และผู้นำฝ่ายค้านเป็นนายกรัฐมนตรี

ในปี 2009 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไปในปี 2005 จึงถูกรื้อกลับขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งในฐานะข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาลผสมจะต้องจัดทำร่วมกัน คนที่เคยเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2005 ก็มาร่วมในกระบวนการนี้ด้วยกัน และนำเอาร่างรัฐธรรมนูญเก่าขึ้นมาแก้ไขเพิ่มเติม นำไปผ่านการลงมติรับรองโดยรัฐสภา และนำไปสู่การลงประชามติโดยประชาชนในปี 2010

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2010 นี้ มีฐานะเป็นความหวังของชาวเคนย่า ที่จะเป็นทางออกของวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง การปกครองภายใต้เผด็จการรัฐธรรมนูญ และพาประเทศผ่านพ้นความเจ็บปวดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่ผ่านมาให้ได้

สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แตกต่างไปจากฉบับปี 2005 คือ เน้นการกระจายอำนาจที่มากขึ้น และปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

เนื่องจากสังคมเคนย่า ยังมีคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือและอ่านหนังสือไม่ออกจำนวนมาก บัตรลงคะแนนจึงถูกออกแบบให้เป็นรูปผลไม้ โดยใช้รูปส้ม เป็นสัญลักษณ์แทนการโหวต NO และใช้รูปกล้วยเป็นสัญลักษณ์แทนการโหวต YES ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เหมือนกันทั้งการลงประชามติในปี 2005 และ 2010

การรณรงค์ประชามติในปี 2010 ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านประธานาธิบดีคิบากิ ต่างร่วมกันสนับสนุนรัฐธรรมนูญร่างนี้ บรรยากาศการรณรงค์ช่วงนั้นเป็นไปอย่างคักคัก และไม่มีการปิดกั้นการรณรงค์ องค์กรภาคประชาสังคมต่างเลือกข้างและแสดงจุดยืนทั้งรับและไม่รับ พร้อมเหตุผลสนับสนุน

ภาคประชาสังคมบางส่วน จัดทำสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ย่อยจากสองร้อยกว่าหน้าให้เหลือประมาณห้าสิบหน้า แล้วแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาท้องถิ่น และอักษรเบรลล์ สำหรับคนตาบอด แจกจ่ายไปตามที่ต่างๆ มีการเดินขบวนหลายครั้งตามที่ต่างๆ มีการจัดประชุมตามศาลาประจำเมือง มีการจัดวงพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการจัดกิจกรรมรณรงค์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อให้เด็กๆ บอกต่อไปยังครอบครัวได้

กิจกรรมรณรงค์เป็นไปอย่างมีสีสัน โดยฝ่ายรณรงค์ให้รับร่างใช้สัญลักษณ์สีเขียวในการรณรงค์ ขณะที่ฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างใช้สีแดงในการทำกิจกรรม






ที่มาภาพ nation.co.ke


กลุ่มภาคประชาสังคมที่คัดค้านร่างฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้นำของศาสนาคริสต์ เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดเรื่องสิทธิในการมีชีวิต เอาไว้ว่า บุคคลมีสิทธิมีชีวิต และมีสิทธิที่จะทำแท้งได้หากมีเหตุผลทางการแพทย์ ซึ่งกลุ่มผู้นำของศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่า สิทธิที่จะมีชีวิตเป็นสิทธิที่ใครจะพรากไปไม่ได้ การทำแท้งเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

อีกประเด็นหนึ่งที่กลุ่มของศาสนาคริสต์ใช้เป็นเหตุผลในการคัดค้าน คือ ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี Kadhi Courts ซึ่งเป็นศาลที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีครอบครัวและมรดกตามหลักศาสนาอิสลามสำหรับคนที่นับถือศาสนาอิสลาม กลุ่มศาสนาคริสต์คัดค้านเพราะเชื่อว่า การให้มีศาลพิเศษเช่นนี้อยู่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกฎหมายชารีอะห์มาใช้ในเคนย่า ในขณะที่ก่อนหน้านี้ในทางปฏิบัติก็มีศาล Kadhi Courts ทำหน้าที่มาตลอดเพียงแต่ยังไม่เคยรับรองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ

จุดน่าสนใจอีกประการของการทำประชามติในปี 2010 คือ นักโทษที่ถูกคุมขังอยู่มีสิทธิไปลงคะแนนออกเสียงในประชามติครั้งนี้ได้ ทั้งที่ในการเลือกตั้งตามปกตินักโทษก็ไม่มีสิทธิลงคะแนน ทั้งนี้เพราะเชื่อในหลักการว่า วันหนึ่งข้างหน้านักโทษเหล่านี้ก็จะพ้นโทษออกมาและกลับเข้าสู่สังคม และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนกัน จึงควรให้นักโทษได้ลงคะแนนรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วย



ภาพนักโทษเคนย่าไปลงคะแนนประชามติ
ที่มาภาพ Afronline.org


ผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปี 2010 ออกมาพบว่า มีประชาชนมาใช้สิทธิลงคะแนน 8,887,652 จากผู้มีสิทธิลงคะแนน 12,616,627 หรือคิดเป็น ร้อยละ 72 ของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด และ 68.55% ลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ 31.45% ลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

การลงประชามติในปี 2010 ค่อนข้างได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวเคนย่า เพราะมีการหยิบประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่กระทบผู้คนกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในแต่ละท้องที่ แม้แต่กลุ่มคนที่เคยรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ หลังแพ้การทำประชามติแล้ว ก็หันมาร่วมกันสนใจในประเด็นต่อไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกบังคับใช้ได้จริงได้อย่างไร
_______

อ้างอิง
ขอบคุณข้อมูลจาก Peter Shambi, Program officer of Muslims for Human Rights, Kenya
เว็บไซต์ VOANEWS
เว็บไซต์ Afronline.org
เว็บไซต์ Nation Kenya

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ประชามติสก็อตแลนด์: กกต.คุมแคมเปญที่การใช้จ่ายเงิน
ประชามติไทยสไตล์: โหวตเยส รัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ