ประเดิมวันแรก!!ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) แจกเอกสารรณรงค์ vote no ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ "มีชัย" โดยประเดิมที่งานส...
Posted by Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว on Tuesday, April 5, 2016
ooo
สัมภาษณ์ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' บนเส้นทางรณรงค์ประชามติ “ประเทศจะเจริญก้าวหน้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับกติกา”
ภาพกิจกรรมเมื่อ 6 มี.ค. 2559
Wed, 2016-04-06
จันจิรา ลิ้นทอง สัมภาษณ์
ประชาไท
ในขณะที่หลายคนกำลังติดตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่าจะผ่านประชามติหรือไม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ยังยืนอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่เข้าใจความสำคัญของการลงประชามติ รวมทั้งไม่เข้าใจเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นหลักการสำคัญของการบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้ แต่ทั้งนี้ยังมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาเดินรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิในการโหวต รับ/ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. โดยมุ่งหวังว่าอย่างน้อยที่สุดเพียงแค่สร้างความเข้าใจว่าการลงประชามติครั้งนี้สำคัญอย่างไรต่อประเทศชาติก็เพียงพอแล้ว
ฟอร์ด เส้นทางสีแดง หรือ อนุรักษ์ เจนตวนิช เคลื่อนไหวภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘เส้นทางสีแดง’ เดิมมีกิจกรรม เช่น การปั่นจักรยานเพื่อให้กำลังใจชาวบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดและนำเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ปัจจุบัน ฟอร์ดได้จัดกิจกรรมเพิ่มเติม คือการเดินรณรงค์ชักชวนประชาชนทั่วไปให้ไปร่วมใช้สิทธิลงประชามติ รับ/ไม่รับ รัฐธรรมนูญปี 2559
“ประชาชนบางคนตั้งคำถามกับผมว่า ถ้าเราไปลงประชามติเราจะเป็นอันตรายมั้ย จะติดคุกมั้ย นี่คือคำถามที่ผมเจอมาจริงๆ ชาวบ้านเขาถามผมว่าถ้าเราไปลงประชามติเราจะติดคุกมั้ย เขาถามผมมาอย่างนี้”
ฟอร์ด กล่าวกับประชาไทหลังถูกถามความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิลงประชามติในฐานะผู้ดำเนินกิจกรรมว่า ปัจจุบันแม้จะมีการกำหนดวันลงประชามติเรียบร้อยแล้วคือ 7 ส.ค 2559 แต่ประชาชนก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลงประชามติอยู่ เนื่องจากข้อบังคับต่างๆ ที่มีในสถานการณ์ปัจจุบันสร้างความกลัวให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็นหรือแม้แต่พูดถึงเนื้อหา
ประชาชนไม่กล้าแสดงออกเรื่องรัฐธรรมนูญเพราะความกลัว
ฟอร์ดกว่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่มีกระแสว่าจะออกแต่ก็ยังไม่ออก มีเพียงข่าวลือว่าจะกำหนดโทษไว้สูงสุด จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และยังไม่แน่นอนว่าต้องขึ้นศาลทหารหรือศาลพลเรือน ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่กล้าที่จะแสดงออกเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะความกลัว เมื่อตนออกมารณรงค์ก็จะเห็นว่าประชาชนกลัว บางคนไม่อยากสนใจการเมืองอีกต่อไปเพราะความเบื่อหน่าย เบื่อการทะเลาะเบาะแว้งของคนคิดต่าง เบื่อการปิดถนน หรือหวาดกลัวการแสดงความคิดเห็น ซึ่งนี่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำประชามติ เพราะชาวบ้านจำนวนมากยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีหรือไม่ดีตรงไหน เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด แม้กระทั่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จก็ไม่สามารถเปิดเวทีเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนได้ ทำให้ประชาชนสับสนว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีหรือไม่ดี ปราบโกงจริงหรือเปล่า ลงประชามติเมื่อไร คนก็ไม่รู้
เมื่อให้ประเมินภาพรวมของกิจกรรมที่ตนจัด ฟอร์ดให้ความเห็นว่าพอใจมาก เพราะปัจจุบันทำกิจกรรม 6 ครั้ง มีทั้งที่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม หรือกำลังทำกิจกรรมอยู่แล้วต้องหยุดกลางคันก็มี แต่โดยภาพรวมพอใจมาก เพราะทำให้สังคมทราบว่ายังมีนักกิจกรรมที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองออกมารณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิลงประชามติและถูกคุกคามถูกขัดขวางจากกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ไม่ทราบสังกัด นั่นยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่าแล้วเราจะทำประชามติได้หรือไม่ ในเมื่อการแสดงออกขั้นพื้นฐานอย่างสงบและสันติที่สุดยังถูกคุกคาม
ภาพกิจกรรมเมื่อ 13 มี.ค.2559
กิจกรรมรณรงค์ถูกคุกคาม
เขาเล่าว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร มีทหารมาเยี่ยมบ้านประมาณ 3-4 ครั้ง ไม่รวมที่มาควบคุมตัวไปดำเนินคดีและมาค้นบ้านเพราะคิดว่าจัดกิจกรรมในลักษณะการปลุกระดม หลังจากทำแคมเปญโหวตโน มีทั้งทหารและสันติบาลมาที่บ้านไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ตั้งแต่ทำกิจกรรมนี้ก็รู้สึกมีความคุ้นเคยเหมือนมาพูดคุยกันธรรมดา ไม่ได้รู้สึกว่าถูกคุกคาม เพราะทหารที่มาเยี่ยมบ้านมาในเครื่องแบบและสุภาพ ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่เจอขณะไปทำกิจกรรมให้คนออกมาใช้สิทธิไปลงประชามติที่สีลม ตอนนั้นเขาถูกก่อกวนโดยกลุ่มคนคล้ายทหารนอกเครื่องแบบ ช่วงแรกมา 5-6 คน หลังจากนั้นมีถึง 20 คน
ฟอร์ดเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ตนทำกิจกรรมหน้าโรงแรมดุสิตธานี มีชายฉกรรจ์เข้ามายืนประจันหน้าด้วยท่าทางไม่เป็นมิตร หนึ่งในนั้นเข้ามาคุยด้วยท่าทางหาเรื่อง เช่น คุณจะมาทำอะไร จะมารณรงค์ไปเพื่ออะไร จะมาชุมนุมอะไรอีก แต่ตนโต้ตอบกลับไปแค่ว่ามารณรงค์เพื่อให้คนไปลงประชามติเท่านั้น หลังจากนั้นชายฉกรรจ์กลุ่มนี้ก็เดินตามตลอดช่วงการทำกิจกรรม โดยการเดินตามนั้นเดินในลักษณะล้อมกรอบ เมื่อตนหยุดพูดคุยกับประชาชนที่สนใจก็จะเห็นว่าเขาตั้งใจเข้ามาเดินเบียด เดินแทรกกลาง แสดงออกชัดเจนว่าต้องการที่จะก่อกวน หลังจากที่ตนพูดคุยกับคนที่สนใจ แล้วเมื่อนำสติ๊กเกอร์โหวตโนไปติดที่รถผู้ร่วมกิจกรรม ชายฉกรรจ์กลุ่มนี้ก็ดึงออก พร้อมทั้งต่อว่าคนที่รับไปอีกด้วยว่าจะไปรับสติ๊กเกอร์ทำไม บ้านเมืองก็ดีอยู่แล้ว
กลุ่มชายฉกรรจ์นั้นมากันหลายคนจนสุดท้ายต้องยกเลิกกิจกรรม เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอไว้ เพราะกลัวจะเกิดความวุ่นวาย หลังจากยกเลิกกิจกรรมตนและกลุ่มต้องการจะขึ้นรถไฟฟ้าไปยังสถานีสยาม แต่เจ้าหน้าที่รถไฟไม่อนุญาตให้ขึ้นเพราะกลัวจะกระทบกับผู้โดยสารคนอื่นๆ เนื่องจากกลุ่มชายฉกรรจ์ยังตามอยู่ จนสุดท้ายต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปยังจุดหมาย
“เรารับปากไปแล้วว่าจะไม่ทำกิจกรรมต่อ แต่แป๊บเดียวเองชายฉกรรจ์กลุ่มนี้ก็ตามมาอีก ตามเราในลักษณะเหมือนกับตามล่าในหนังเลย เดินตามมาเป็นพรวนและมองซ้ายมองขวา เขาคอยยืนคุมเชิงตอนที่เราซื้อบัตรโดยสาร ถ่ายรูป ถ่ายคลิปเรา ซึ่งมันดูคุกคามมาก ในกลุ่มเราก็มีผู้หญิง เขาก็รู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย”
จัดกิจกรรมเดินตามกฎหมาย ปิดช่องเอาผิด
ฟอร์ดได้ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ที่ตนออกมาเคลื่อนไหวภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันว่า ตนไม่กลัว เพราะทราบดีว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ การรณรงค์ที่กำลังทำอยู่นี้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดคำสั่ง คสช. ไม่ผิด พ.ร.บ.การชุมนุม ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ ตนรณรงค์กับกลุ่มเพื่อน 4 คน ใส่เสื้อที่ไม่ใช่สีแดง เป็นการเดินรณรงค์เงียบๆ ไม่มีการส่งเสียงดัง ไม่มีการชูป้าย ในการรณรงค์ก็มีทั้งสติ๊กเกอร์รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และได้แนะนำผู้ที่สนใจกิจกรรมด้วยว่าให้ไปลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม
ฟอร์ดยังกล่าวอีกว่า หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมตนและพวกถึงไม่โดนจับ เพราะที่ผ่านมาได้ออกมาเคลื่อนไหวและจัดกิจกรรมเยอะ แต่โดนจับเพียงแค่ครั้งเดียว ไม่ใช่เพราะมีเบื้องหลังคอยสนับสนุน แต่ตนจัดกิจกรรมที่เคลื่อนไหวภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย เช่น ตอนทำกิจกรรมปั่นจักรยานไปเยี่ยมชาวบ้านที่ต่างจังหวัด ก่อนออกเดินทางได้ทำจดหมายแจ้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ทราบว่าเส้นทางสีแดงจะไปทำกิจกรรมที่ไหน เมื่อไหร่ และแนบกำหนดการไปด้วย เมื่อตนและพวกออกเดินทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะติดต่อตำรวจในพื้นที่มาดูแลหรืออำนวยความสะดวกเพิ่มเติม นี่เป็นเทคนิคทางกฎหมายที่นักกิจกรรมจะต้องรู้
อีกทั้งยังยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่ากิจกรรมรณรงค์อย่างปัจจุบัน ตนก็เคร่งครัดในเรื่องข้อกฎหมายมาก ทำกิจกรรมไม่เกิน 4 คน เพื่อไม่เปิดช่องให้เอาผิดทางกฎหมาย การทำกิจกรรมของกลุ่มไม่มีการยุยงปลุกปั่น ไม่มีป้ายหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น และสุดท้ายการแสดงออกไม่ว่าจะในเฟซบุ๊กหรือในชีวิตจริง จะไม่รุนแรง ไม่หยาบคาย ไม่ก้าวร้าว และไม่ยุ่งกับเรื่องความรุนแรง การใช้กองกำลัง ใช้อาวุธ หรือการปิดถนน ดังนั้นจึงทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง
เขาบอกว่า จริงอยู่ว่ามีทั้งตำรวจ สันติบาล ทหาร หรือฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ กำลังจับตาอยู่ แต่ในขณะเดียวกันการที่ถูกตำรวจ ทหารจับตาอยู่ก็ยิ่งทำให้ต้องระมัดระวังมากขึ้น การออกมายืนในที่แจ้งและเปิดเผยมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งทำให้ปลอดภัยมากเท่านั้น นี่คือหลักการ ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองยังไม่แน่นอน กองทัพกำลังควบคุมประเทศแบบนี้แค่ความกล้ายังไม่พอ กลุ่มนักกิจกรรมจะต้องเพิ่มความรอบคอบขึ้นเป็นสองเท่า
ผิดหวังรัฐธรรมนูญ คสช. จึงต้องออกมารณรงค์
ฟอร์ดให้ความเห็นของตนต่อรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ว่า หลังจากเกิดรัฐประหาร ตนรู้สึกไม่ชอบ แต่ก็ยังมีความหวังว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามที่ คสช. กล่าวไว้ว่าจะปฏิรูปการเมือง จะลดอำนาจองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ จะปฏิรูปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั่นก็คือความหวังที่คิดว่าคนไทยจะได้รับรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิม คนไทยอาจจะเสียเวลาอีกสัก 2-3 ปี เพื่ออนาคตที่ดีกว่า
แต่ทันทีที่รัฐธรรมนูญนี้เปิดร่างแรกออกมา ตนยอมรับว่าผิดหวัง เพราะมันยิ่งแย่กว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เสียอีก มีการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น รวมถึงให้อำนาจแก่กองทัพเพิ่มมากขึ้นผ่านการเพิ่มจำนวนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และมาจากการสรรหาของ คสช. ทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจมากขึ้นในรัฐธรรมนูญนี้ ซ้ำร้ายยังถูกกดไว้ตลอด ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะเป็นสาเหตุให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีกครั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เหมือนกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลสมชาย เมื่อหลายปีที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วจะเกิดการชุมนุมเรียกร้องกดดัน เกิดการปราบปราม เกิดการยึดอำนาจขึ้นมาอีกครั้ง การเมืองไทยจะหยุดและถดถอยลงไปอีก ในฐานะที่ทำกิจกรรมมาอย่างยาวนานมีความเชื่อว่าประเทศจะเจริญก้าวหน้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับกติกา เรื่องอื่นนั้นเป็นแค่เรื่องรอง เมื่อมองเห็นแบบนี้จึงเป็นสาเหตุให้ออกมารณรงค์
เมื่อถามความคิดเห็นว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านตามที่ตนเรียกร้อง อนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ฟอร์ดให้ความเห็นว่า ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน ตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ระบุไว้ว่า คสช. จะต้องไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับใช้ ซึ่งตนไม่ทราบว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรในอนาคต ไม่มีทางทราบว่า คสช. จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปรับใช้ แต่ในขณะนี้เราต้องดับไฟใกล้ตัวก่อน
“อยากจะเรียกร้องให้มีการตั้งคำถามในการทำประชามติพร้อมกันไปเลย คือตั้งคำถามว่าหากประชาชนไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาประกาศใช้ เช่น ฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดหรือ ฉบับปี 2550 หรือฉบับปี 2559 ที่เพิ่งจะคว่ำไป ให้ประชาชนได้มีทางเลือก ไม่ใช่บอกเพียงแค่รับหรือไม่รับ ซึ่งนี่จะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด”
Vote Yes หรือ Vote No ต้องเป็นดุลยพินิจของประชาชน
การทำกิจกรรมในเรื่องรณรงค์ รับ/ไม่รับ รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ฟอร์ดยืนยันว่า ทำในนามกลุ่มอิสระ ทุกกิจกรรมมาจากการตัดสินใจวางแผนของตนเองและสมาชิกในกลุ่มเส้นทางสีแดง ไม่ได้อิงพรรคการเมืองหรือ นปช. สำหรับในกรณีของพรรคเพื่อไทยก็มีบางความคิดเห็นซึ่งขัดแย้งกัน และเมื่อขัดแย้งกันตนก็ไม่ลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง อย่างเช่นช่วงก่อนรัฐประหาร ตนก็แสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย
ฟอร์ดกล่าวทิ้งท้ายถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตนเลือกที่จะออกมารณรงค์ว่า กิจกรรมรณรงค์ Vote No/ Vote Yes นี้ตนทำเพื่อที่คนที่ไม่มีสีเสื้อ หรือมีความคิดเห็นทางการเมืองที่มีความเป็นปัจเจก ไม่ได้อิงกับกลุ่มใดเพื่อให้เขาได้รับรู้ข้อมูลและออกมาใช้สิทธิโดยดุลพินิจของเขาเอง ถ้าประชาชนคนใดเลือกที่จะออกมาใช้สิทธิเพื่อที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาต้องรู้ว่าจะไม่รับเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะตามแกนนำ นปช. หรือเพราะพรรคเพื่อไทยบอกว่าไม่เอา เขาต้องรู้ว่าเขาจะไม่รับเพราะไม่ชอบในตัวบทหรือย่างไรก็ว่าไป ในส่วนของประชาชนที่อยากจะรับ เขาก็ต้องรู้ว่าเขารับเพราะอะไร ไม่ใช่บอกว่าไม่รับเพราะเกลียดทักษิณ เกลียดยิ่งลักษณ์ นั่นไม่เกี่ยวกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
'เส้นทางสีแดง' แจกสติ๊กเกอร์ Vote Yes - NO เจอกลุ่มชายฉกรรจ์กวนจนต้องยุติ ยันเดินหน้ารณรงค์ต่อ
ทหารเข้าคุยอนุสรณ์ขอระวังคำพูด - เข้าพบ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' หลังจัด Vote NO ครั้งที่ 5
เชิญตัว ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ไป สน.พญาไท หลังรณรงค์ไม่รับร่าง รธน. อีก