วันเสาร์, เมษายน 02, 2559

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิดตัวหนังสือ รวมรายงานและประมวลคดี 'ความ(อ)ยุติธรรมภายใต้ คสช.'





ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิดตัวหนังสือ 'ในนามของความ(อ)ยุติธรรมภายใต้ คสช.'

Fri, 2016-04-01 21:32
ที่มา ประชาไท

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดตัวหนังสือ รวมรายงานที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ และประมวลคดีที่ศูนย์ทนายฯ ทำคดี รวมไปถึงตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมไปถึงการพิพากษาคดีเพื่อจัดการผู้เห็นต่างจากรัฐ และนโยบายในการจัดการกับคดี ม.112 ที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่เลือกกลุ่มเป้าหมาย และมีโทษสูงขึ้น

1 เม.ย. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดตัวหนังสือ "ในนามของความ(อ)ยุติธรรมภายใต้ คสช." ที่โรงแรมสุโกศล โดยสรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ได้นำรายงานของศูนย์ทนายความฯ ที่เคยเผยแพร่ รวมถึงประมวลคดีที่ศูนย์ทนายความฯ ให้ความช่วยเหลืออยู่บางคดีมารวมไว้ด้วยเพราะเห็นว่าเป็นคดีที่มีความน่าสนใจในแง่กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการสืบสวนสอบสวนที่มีข้อกังขาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไปจนถึงการพิพากษาคดีเพื่อจัดการผู้เห็นต่างจากรัฐ และนโยบายในการจัดการกับคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่เลือกกลุ่มเป้าหมาย และมีโทษสูงขึ้น

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวสรุปรวมการละเมิดสิทธิต่างๆ ดังนี้

1. การติดตามจับกุม การควบคุมตัวในที่ปิดลับหรือค่ายทหาร จากการติดตามเก็บข้อมูลพบว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีการใช้ความรุนแรงหรือการครอบครองอาวุธ คดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ หรือคดีอื่นๆ อีกที่ คสช.อ้างว่าเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐก่อนที่คดีจะขึ้นสู่ศาล พบว่าในการจับกุมผู้ต้องสงสัยมาดำเนินคดีนั้น เจ้าหน้าที่มักจะใช้ประกาศหรือคำสั่งที่ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลไปควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร แต่ในกระบวนการสอบสวนภายในค่ายทหาร พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงทนายความและไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้ว่ากระบวนการสอบสวนที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไรจนกว่าผู้ต้องสงสัยจะถูกส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกับถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ทหารเรียบร้อยแล้ว ทนายความจึงจะเข้าถึงตัวผู้ต้องหาได้ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าในการสอบสวนภายในค่ายทหารนั้นผู้ที่ถูกควบคุมตัวยังไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ต้องหาเป็นการเชิญมาพูดคุยซักถามจึงไม่ต้องมีทนายความหรือบุคคลที่ผู้ถูกควบคุมตัวไว้ใจร่วมอยู่ด้วย

นอกจากการจับกุมการสอบสวนที่ดูจะใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องในการได้มาซึ่งข้อมูลแล้ว เรื่องการใช้สถานที่ที่ปิดลับหรือใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่ควบคุมตัวตั้งแต่หลังการรัฐประหารมาจนถึงตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และยิ่งกลับแย่ลงอีกเมื่อมีการประกาศตั้งเรือนจำขึ้นภายใน มทบ.11 ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯแห่งนี้ แต่สามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ยากมาก และการที่ผู้ต้องหาจะได้รับสิทธิที่พึงมี เช่น การเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยม การได้พบทนาย ที่มีขั้นตอนยุ่งยากและการไม่ได้รับความเป็นส่วนตัวระหว่างรับคำปรึกษาทางคดีกับทนายความของตน นอกจากนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตขึ้นภายในเรือนจำถึง 2 คน แต่รัฐกลับอ้างว่าญาติไม่ติดใจแล้วก็ไม่ปรากฏความคืบหน้าในการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

กรณีนี้ ศูนย์ทนายความฯ ขอข้อมูลจำนวนผู้ต้องขังกับทางเรือนจำ แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าเป็นข้อมูลที่อาจกระทบต่อความมั่นคงและเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

2. เสรีภาพการแสดงออก มีการใช้กำลังทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ผู้ต่อต้านรัฐประหาร มีทั้งการจับกุมควบคุมตัวจากที่ชุมนุม การติดตามจับกุมในภายหลัง รวมถึงการติดตามข่มขู่คุกคามทั้งรูปแบบเรียกรายงานตัวในพื้นที่ควบคุมของทหาร หรือสอดแนม ติดตาม ทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าว และกรณีที่เกิดขึ้นแล้วค่อนข้างเงียบคือ แกนนำเสื้อแดง กลุ่มเคลื่อนไหว ในพื้นที่ภาคอีสานมีการเรียกให้ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารทุกอาทิตย์

3. คดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ มีจำนวนมากขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหาร เฉพาะคดีที่ศูนย์ทนายความได้ให้ความช่วยเหลือทั้งคดีในศาลทหารและศาลพลเรือนมีอยู่ทั้งหมด 29 คดี 37 คน ซึ่งมีทั้งคดีที่จบไปแล้วรวมถึงคดีที่เกิดนานแล้วก่อนรัฐประหาร เช่น กรณีรายการตอบโจทย์ประเทศไทยที่ออกอากาศทางไทยพีบีเอส

4. เรื่องคดีอาวุธ คดีที่อยู่ในศาลทหารจำนวนมากเป็นคดีเกี่ยวกับอาวุธ แต่จากการติดตามข้อมูลศูนย์ทนายความฯ พบว่ามีคดีอาญาทั่วๆ ไป เช่น ผู้ต้องหาในคดียาเสพติดที่มีอาวุธในครอบครอง หรือแม้กระทั่งชาวบ้านที่มีอาวุธปืนดัดแปลงที่ใช้ในการล่าสัตว์ ถูกนำขึ้นศาลทหารด้วย นอกจากนี้ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงทางการเมืองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในช่วงปี 2553 โดยแม้ว่าคดีเหล่านี้จะอยู่ในศาลพลเรือน แต่ว่ากระบวนการสอบสวนก็ไปตกอยู่ในการจัดการของทหารอยู่ดีโดยมีการนำตัวไปสอบสวนภายในค่ายทหารตามที่ได้กล่าวไปแล้ว

5. การซ้อมทรมาน คดีที่ศูนย์ทนายความฯ ให้ความช่วยเหลือส่วนหนึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ต้องหาว่ามีการซ้อมทรมานให้รับสารภาพในช่วงการควบคุมตัวในค่ายทหารตามอำนาจของกฎอัยการศึก ซึ่งบางรายให้ข้อมูลว่ามีการใช้ไฟฟ้าช็อต ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว ผู้สอบสวนไม่มีการเปิดเผยใบหน้าและตัวตน ซึ่งการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบันฯ และคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์การเมืองต่างๆ

6. เรื่องทรัพยากร พบว่า นอกจากการออกคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ที่จะเข้ามาจัดการทรัพยากรต่างๆ เช่น เหมืองแร่ ที่ดิน ป่าไม้ แล้ว ยังพบว่า คสช. ได้เข้าขัดขวางแทรกแซงการชุมนุมแสดงออกเพื่อคัดค้านนโยบายทางเศรษฐกิจหรือประกาศของ คสช. ที่เข้ามาจัดการทรัพยากรที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา

อนึ่ง ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าผู้ที่สนใจสามารถขอรับหนังสือได้ที่ศูนย์ทนายความฯ