วันอาทิตย์, เมษายน 10, 2559

ญาติวีรชนร่วมจุดเทียนวางดอกไม้ รำลึกครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 ที่หน้ารร.สตรีวิทย์ฯและสี่แยกคอกวัว -- 6 ปี สลายแดง 10 เมษา คน-คดีไปถึงไหน

https://twitter.com/TV24Official/status/719148541252272128

....
























ญาติวีรชนร่วมจุดเทียนวางดอกไม้ รำลึกครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 ที่หน้ารร.สตรีวิทย์ฯและสี่แยกคอกวัว พร้อมจุดเทียนสีแดงรำลึกถึงผู้เสียชีวิตด้วย

cr.อนุธีร์ เดชเทวพร


ที่มา FB
TV24 NEWSROOM

ooo


สิบเมษา ประชาสู้ เพราะรู้เท่า
สร่างจากเมา ตื่นจากหลับ เลิกพับฐาน
ราษฎร์ดำเนิน เต็มถนน ไร้กลการ
แสงฉายฉาน ประชาไทย ไทยแผ่นดิน
เผด็จการ คิดสู้ รู้ไม่เท่า
เคยเหยียบเอา ข่มเอา เป็นนิจสิน
จะก้าวหน้า ถอยหลัง หรือพังภิณฑ์
หรือสุดสิ้น ทั้งระบอบ ลองตอบมา
สิบเมษา เงื่อนไข ใหม่ทั้งหมด
ทหารกบฎ ปลดไป ไม่กังขา
ราษฎร์กบฎ กฎพัง ทั้งนครา
สิบเมษา เตือนไว้ อย่าได้ลืม.

ด้วยความเคารพวีรชน 10 เมษายน พ.ศ. 2553
จักรภพ เพ็ญแข

ooo


6 ปี สลายแดง 10 เมษา คน-คดีไปถึงไหน หน้าเดิมจาก ศอฉ.สู่ คสช.





ที่มา ประชาไท
Sun, 2016-04-10

หน้าเดิม 'ประวิตร-อนุพงษ์-สรรเสริญ' จาก ศอฉ. สู่ คสช. 'อภิสิทธิ์-สุเทพ-พล.อ.อนุพงษ์' ไม่มีความผิดทั้งต่อชีวิตและหน้าที่ เมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง-ป.ป.ช.ตีตกคำร้อง ศาลสั่งไม่ทราบใครยิง 'ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย' แต่ 'จรูญ-สยาม' จุดเวลาเดียวกัน สั่งกระสุนยิงมาจากฝ่ายทหาร เริ่มพิจารณาคดีชายชุดดำแล้ว ทนายเผยจำเลยทั้ง 5 ปฏิเสธ และถูกทหารซ้อมข่มขู่


10 เม.ย. 2559 ครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุม หรือ 'ขอคืนพื้นที่' การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) บริเวณถนนราชดำเนิน โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จนมีผู้เสียชีวิต 25 ราย เป็นประชาชน 20 ราย ทหาร 5 ราย และภายหลังรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 หรือ ศปช. รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย

ผ่านไปแล้ว 6 ปี จะสำรวจสถานะบุคคลและสถานะคดีสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าไปถึงไหนและเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

'อภิสิทธิ์-สุเทพ-พล.อ.อนุพงษ์' ไม่มีความผิดทั้งต่อชีวิตและหน้าที่ เมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง-ป.ป.ช.ตีตกคำร้อง

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จากกรณีจำเลยทั้งสอง ออกคำสั่ง ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมจาก นปช. บริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ ที่เริ่มชุมนุมตั้งแต่เดือนเมษายน วันที่ 19 พ.ค. 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

โดย ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี ฟังไม่ได้ว่าเป็นกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจในการสอบสวน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นด้วย ยกฟ้อง







อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 57 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม

จากนั้นเมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้น อย่างไรก็ตามเมื่อวันที 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ คำร้องตกไป กรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 53 ดังกล่าว

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ประชาไท)

ศาลสั่งไม่ทราบใครยิง 'ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย' แต่ 'จรูญ-สยาม' จุดเวลาเดียวกัน สั่งกระสุนมาจากฝ่ายทหาร

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 58 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำสั่ง คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพของฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 วสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 2 และทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 จากการถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 จากการสลายการชุมนุม นปช. ของ ศอฉ. บนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยศาลมีคำสั่งว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำหรือไม่อาจทราบได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้ง 3 มีแนววิถีกระสุนปืนมาจากทิศทางใด



‘ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย’



“จรูญ ฉายแม้น-สยาม วัฒนนุกูล”


อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น ก.ย.56 ศาลได้มีคำสั่งไต่สวนการตาย จรูญ ฉายแม้น และ สยาม วัฒนนุกูล ผู้ชุมนุมฝั่ง นปช. ซึ่งเสียชีวิตในจุดเดียวกัน และเวลาใกล้เคียงกันว่า วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ประชาไท 1 และ 2)

ทูตญี่ปุ่น พบ รมว. ยุติธรรมฯ ยังถามหาความคืบหน้าคดีนักข่าวตาย

แม้ศาลจะมีคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตของฮิโรยูกิแล้วดังกล่าว แต่เมื่อวันที่ 20 ก.ค.58 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ให้การต้อนรับชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่่ โดยระบุว่ามีการหารือในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด พร้อมทั้งได้สอบถามความคืบหน้าคดี โทโมโกะ คาวากะ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและฮิโรยูกิ ด้วย

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ประชาไท)

ประยุทธ์ตั้งชุดสอบสวนคดี 99 ศพใหม่ ส่งศรีวราห์ประกบอธิบดี DSI

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.58 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งที่ 68/2558 ลงวันที่ 2 มี.ค. 58 เรื่องแต่งตั้งคณะสอบสวนตำรวจ นำโดย พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ไปร่วมสอบสวนกับ สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ และพนักงานอัยการ ประชุมร่วมกันเพื่อวางกรอบแนวทางการสอบสวนในคดี 99 ศพที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น ขณะนี้เหลือสำนวนทั้งหมด 87 ศพ เนื่องจากดีเอสไอได้ส่งสำนวนพิจารณาเสร็จสิ้น 2 ศพ ประกอบด้วย พัน คำกอง อายุ 43 ปี และ คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี ให้อัยการสั่งฟ้อง อภิสิทธิ์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 56 กรณี ภิสิทธิ์ร่วมกับ สุเทพ กระทำความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ด้วยการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์จาก นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึง 19 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 58 คณะทำงานได้ประชุมวางแนวทางการสอบสวนและทบทวนเพื่อแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาทั้งตำรวจนครบาลและดีเอสไอในชุดพนักงานสอบสวนชุดเก่านั้นได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายและเกษียณอายุราชการจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นโดยทางดีเอสไอได้แต่งตั้งให้พ.ต.ท.วรรณพงษ์คชรักษ์ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว และ พ.ต.ท.ไพศิษฐ์ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอเข้ามากำกับดูแลการสืบสวนสอบสวนในสำนวนคดีที่เหลือ โดยมีนางสุวณาเป็นหัวพนักงานสอบสวน และ พล.ต.ท.ศรีวราห์ และรองอธิบดีทั้ง 3 คนเป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวน

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : มติชนออนไลน์)

หน้าเดิม 'ประวิตร-อนุพงษ์-สรรเสริญ' จาก ศอฉ. สู่ คสช.

ตามประกาศจัดตั้ง ศอฉ. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ1/2553 ที่ลงนามโดย อภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 นั้น มีบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญขณะนั้น และขณะนี้ได้รับตำแหน่งในรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 เช่น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะนั้นเป็น รมว.กลาโหม และรอง ผอ.ศอฉ. ขณะนี้เป็นรองนายกฝ่ายความมั่นคง รมว.กลาโหม และรองหัวหน้า/ประธานคณะที่ปรึกษา คสช.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะนั้นเป็น ผบ.ทบ.และผู้ช่วย ผอ.ศอฉ. ขณะนี้เป็น รมว.มหาดไทย และ รองประธานคณะที่ปรึกษา คสช.
ถวิล เปลี่ยนศรี ขณะนั้นเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ ศอฉ. ขณะนี้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านความมั่นคงของ พล.อ.ประวิตร

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ขณะนั้นเป็น กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ ศอฉ. ขณะนี้เป็น รมว.ศึกษาธิการ และที่ปรึกษา/เลขานุการคณะที่ปรึกษา คสช.

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ยศขณะนั้นเป็น พ.อ. เป็น โฆษก ศอฉ. ขณะนี้เป็น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ปณิธาน วัฒนายากร ขณะนั้นเป็นผู้ปฏิบัติการโฆษก ขณะนี้เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ประวิตร

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและหัวหน้า คสช.ในปัจจุบันนั้น เมื่อวันที่ ในวันที่ 5 ต.ค. 53 ในฐานะ ผบ.ทบ. ครม.ขณะนั้นได้แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แทน พล.อ.อนุพงษ์ที่เกษียณอายุราชการ

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ราชกิจจานุเบกษา คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ1/2553 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ2/2553

เริ่มพิจารณาคดีชายชุดดำแล้ว ทนายเผยจำเลยทั้ง 5 ปฏิเสธ และถูกทหารซ้อมข่มขู่

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.58 ศาลอาญา รัชดาฯ มีการนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่กิตติศักดิ์ สุ่มศรี ปรีชา อยู่เย็น รณฤทธิ์ สุริชา ชำนาญ ภาคีฉาย และปุณิกา ชูศรีเป็นจำเลยคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถจดทะเบียนได้, นำพาอาวุธเข้าไปในเมือง ถนน ที่สาธารณะ และหมู่บ้าน โดยคำฟ้องระบุพฤติการว่าเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยทั้ง 5 คนได้ร่วมกันพาอาวุธไปยังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณสี่แยกคอกวัว และได้ใช้อาวุธยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ โดยจำเลยทั้ง 5 คนได้แต่งกายชุดดำ

โดย วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยระบุว่า จำเลยทั้ง 5 คนถูกจับระหว่างวันที่ 10-11 ก.ย.57 โดยระหว่างการถูกควบคุมตัว กิตติศักดิ์, ปรีชา , รณฤทธิ์ และ ชำนาญ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและข่มขู่ ส่วนปุณิกาโดนข่มขู่ด้วยวาจาโดยเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นทั้งหมดถูกฝากขังมาตลอดโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

วิญญัติ กล่าวด้วยว่า จำเลยทั้ง 5 ปฏิเสธว่าไม่มีอาวุธและไม่ได้พาอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา แม้ว่าก่อนหน้าที่จะได้สารภาพไปแต่เป็นเพราะว่าระหว่างการควบคุมตัวมีการใช้ถุงคลุมหัว เตะต่อย พูดข่มขู่ให้กลัว และข่มขู่เรื่องครอบครัวของจำเลยแต่ละคน ในขณะที่จำเลยหญิงถูกพูดข่มขู่ให้กลัว จึงทำให้จำเลยยอมรับสารภาพ

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ประชาไท)

ครม. ตั้ง 'นิชา' ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า ขึ้นรองเลขาธิการนายกฯ

ขณะที่ นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารที่เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา 10 เม.ย.53 นั้น เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่่ผ่านมา มีการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหารสูง)โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นักบริหารต้น) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นักบริหารสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)