วันอังคาร, มกราคม 05, 2559
อาการบ้องตื้นของ คสช.
ไม่ว่ามันจะเป็นการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านที่นักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า วนเวียนอยู่กับวัฒนธรรมคลั่งไคล้ตัวบุคคล หรือ Personality Cult ก็ตามที
เหตุการณ์แจกปฏิทินรูปสองพี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรีตระกูลชินวัตร จะไม่เป็นประเด็นที่ ‘จุดติด’ ถ้าหากว่าโฆษกรัฐบาล คสช. ไม่ร้อนตัวกับการบ้องตื้นของผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ที่สั่งห้ามแจกปฏิทินสองอดีตนายกฯ อ้างอย่างทึ่มทื่อว่าเพื่อความสงบเรียบร้อย และปรองดองสมานฉันท์
ประเด็นนี้คงไม่มีใครอธิบายได้จะแจ้งเท่า อจ.เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“โฆษกไก่อูคงเข้าใจผิดอะไรสักอย่างในทางรัฐศาสตร์แน่ ๆ จึงออกตัวว่ารัฐไม่เกี่ยวกับคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลายลักษณ์อักษรห้ามแจกปฏิทินของคุณทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร...
เรื่องกระจอก ๆ อย่างแจกปฏิทินนี่ก็เกี่ยวกับรัฐครับ และในฐานะรัฐบาล (คนบริบาลและทำหน้าที่รัฐ) ก็ต้องออกมาทำความกระจ่างชี้แจงข้อเท็จจริง ว่าการกระทำอันล่วงละเมิดหรือจำกัดหวงห้ามสิทธิเสรีภาพของพลเมืองคนไทยร่วมชาตินี้ รัฐบาลสั่งหรือไม่?
ถ้าไม่ได้สั่ง ก็ต้องยุติห้ามปรามไม่ให้กระทำ เพราะเป็นสิทธิโดยชอบของพลเมืองที่จะแจก/รับปฏิทินไม่ว่าของใครหน้าไหนก็ตาม ส่วนรับแล้วชาวบ้านเขาจะเอาไปติด ไปใช้ หรือไปลอกหน้าออกติดหน้าคนใหม่เข้าไปตามใจชอบ ก็เป็นเรื่องของชาวบ้านนะครับ รัฐบาลและผู้แจกปฏิทินไม่เกี่ยว”
(https://www.facebook.com/kasian.tejapira/posts/10208289134368903)
อจ.เกษียรเขียนเลยไปถึงการยึดรถผู้ขับขี่เมาสุราว่า “เป็นเรื่องควรใคร่ครวญไตร่ตรองให้ดี การใช้อำนาจอาญาสิทธิ์เด็ดขาดไปล่วงละเมิดสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนพลเมือง...
ควรต้องผ่านกระบวนการอันชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็คือผ่านการพิจารณาอภิปรายและเห็นพ้องของตัวแทนเจ้าของสิทธินั้นเอง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบ)
ในสภาพที่ไม่มีสภา ไม่มีตัวแทนดังกล่าว การใช้อำนาจเด็ดขาดเหนือการตรวจสอบถ่วงดุลที่ไปล่วงล้ำ จำกัดกระทบสิทธิพลเมืองเหล่านี้ ควรเบรคตัวเองให้มาก อย่าใช้พร่ำเพรื่อ เอาสะดวกเข้าว่า”
เสร็จแล้วลงท้ายว่า “ดาบมีสองคม อำนาจอาญาสิทธิ์เด็ดขาดก็เช่นกัน ควรระวังมันบาดมือเจ้าของนะครับ”
ตรงนี้แหละที่มันปรับเข้ากับเรื่องห้ามแจกปฏิทินได้เช่นกัน เพราะการห้ามอย่างนั้นมัน ‘กระจอก’ จริงเสียด้วย
เช่นเดียวกับอดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ก็ไม่จำเป็นจะต้องออกมาขอโทษขอโพยว่าปฏิทิน ๒๐๐ ชุดเหล่านั้น ตนให้โฆษกส่วนตัวไปแจกชาวบ้าน แต่
“ปรากฏว่าความผิดพลาดเกิดขึ้น...ซึ่งทราบภายหลังว่าไม่นำไปแจกเอง แต่กลับเอาไปวางกองไว้ที่หน้าห้องประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ อ.เชียงขวัญ เมื่อถึงเวลาคนที่มาประชุมก็พาหยิบกันไป” (MGR Online)
ถ้ายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดเสียแล้ว การที่ “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้ตรวจสอบคำสั่งและการกระทำของผู้ว่าราชการ จ.ร้อยเอ็ด” มันจะมีความหมายอะไร
(http://prachatai.org/journal/2016/01/63295)
ที่จริงแล้ว อาการบ้องตื้นมันก็มาจาก คสช. โดยตรง เนื่องจากในการเดินสายทำบุญของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ก็ได้พบกับ
“กำลังทหารและตำรวจเฝ้าจับตาและจำกัดกรอบในการทำบุญทั้งหมด ไม่เว้นแม้กระทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำในพระอุโบสถ
ซึ่งไม่นับรวมการยึดป้ายข้อความและปฏิทินปีใหม่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีนำมามอบให้กับประชาชนที่เดินทางไปพบหรือพบเห็นตามสถานที่ต่างๆ”
(ตามคำให้สัมภาษณ์ของ นายธนิก มาสีพิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1451894419)
ยิ่งคนระดับหนึ่งในสาม ป. ของ คสช. แม้จะยอมรับว่าการแจกปฏิทินเป็นสิ่งที่ทำได้ หากแต่ วลีสร้อยห้อยท้ายของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ว่า
“ต้องพิจารณากันด้วยว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้วตนไม่เคยเห็นใครทำปฏิทิน โดยเอารูปภาพของตัวเองมาใส่ในปฏิทินในลักษณะนี้” น่ะ
เป็นการพูดแบบ ปากไม่มีหูรูด “พูดทุกสิ่งที่ตนคิด แต่ไม่ค่อยคิดถึงสิ่งที่ตนพูด” อันเป็นนิสสัย หรือบุคคลิกทางการเมืองในที่สาธารณะ แบบเดียวกับที่คนใหญ่คนโตใน คสช. อีกสอง ป. ชอบกระทำ
รวมไปถึงวุฒิภาวะในการเป็นผู้นำ การบริหารกิจการของรัฐ และการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ที่ด้อยทางภูมิปัญญา ชนิดที่ อจ. กานดา นาคน้อย แห่งมหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัตมักเอ่ยถึงเสมอว่า “ความดักดานเป็นสิทธิส่วนบุคคล”
หากแต่สิทธิส่วนบุคคลนี้ถ้าหากนำมาใช้กับกิจการของประเทศอันมีผลกระทบต่อประชาชน ก็อาจทำให้ประเทศเสียหาย ประชาชนตกทุกข์ได้ยาก ไม่ใช่เรื่องน่าพิศมัยสำหรับตัวผู้กระทำการผิดพลาด เลินเล่อ เซ่อซ่านั้นเลย