วันศุกร์, มกราคม 22, 2559

รู้จัก 5 นักกิจกรรม ทีมส่องโกงราชภักดิ์ เขาเป็นใคร? ก่อนนั่งรถไฟไปอุทยานฯ




ที่มา เพจ ILAW

รู้จัก 5 นักกิจกรรม ทีมส่องโกงราชภักดิ์ เขาเป็นใคร? ก่อนนั่งรถไฟไปอุทยานฯ

+ ลูกเกด ชลธิชา: ความเข้มแข็งที่เผด็จการไม่อาจทำลาย +

ลูกเกด หรือ ชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 22 ปี จบปริญญาตรีคณะสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และจะรับปริญญาช่วงกลางปีนี้

ลูกเกดเริ่มทำกิจกรรมด้านสังคมการเมืองอย่างจริงจังตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 3 โดยเป็นสมาชิกชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ จากนั้นในช่วงมกราคม 2557 ที่มีกระแสคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ลูกเกดก็เป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

หลังการรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ลูกเกดร่วมกับเพื่อนๆ นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นักกิจกรรมหลายกลุ่มร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในโอกาสครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ลูกเกดเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกยื้อยุดฉุดกระชากในระหว่างการจับกุม และป่วยเป็นโรคเส้นประสาทด้านบนอักเสบจากการยื้อยุดฉุดกระชากในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดอาการชาที่ขาซ้ายเรื่อยมาและเดินระยะไกลไม่ได้

นอกจากนี้ ลูกเกดยังเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่ม 14 นักศึกษาซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อ 26 มิถุนายน 2558 จากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา หลังจากศาลทหารอนุญาตฝากขังในคืนเดียวกัน เธอถูกควบคุมตัวในทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่อีก 13 คนซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ต่อมาลูกเกดและเพื่อนๆ ได้รับการปล่อยตัวหลังครบกำหนดฝากขังผลัดแรก

+ การ์ตูน ชนกนันท์: ‘ก้าวข้าม’ รัฐประหาร กับ จุดยืนไล่คนโกง +

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ 'การ์ตูน' เป็นบัณฑิตป้ายแดงจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยสมัยเรียนเธอเป็นสมาชิกกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน หรือ CCP

การ์ตูนเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในวัยเด็กได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของครอบครัวเนื่องจากมีญาติเป็นนักการเมือง และเคยไปช่วยญาติหาเสียง นอกจากนี้ครอบครัวก็ยังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือม็อบเสื้อเหลือง ซึ่งเธอเองก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน จวบจนรัฐประหารในปี 2549 ได้เห็นภาพข่าวที่ออกมาว่ามีรถทหารมาประจำอยู่กรุงเทพฯ และมีคนคอยแจดอกไม้ให้ ซึ่งขณะนั้นทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องดี เพราะได้หยุดเรียนและขับไล่คนโกงออกไป

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หันมาสนับสนุนประชาธิปไตยก็คือ ตอนที่ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา ได้พบเห็นการที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียง อยากคิดอะไรก็คิด อยากพูดอะไรก็พูด ทำให้รู้สึกว่าได้เสรีภาพมากกว่าตอนที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนจุดเปลี่ยนที่สองคือเมื่อได้เข้ามาเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์จะโยนคำถามมาเพื่อให้ไปหาคำตอบเอง ซึ่งตอนนั้นทำให้ได้ไปหาอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยอ่านมาก่อน

และด้วยความที่การ์ตูนอยู่ในกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน หรือ CCP ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมการเมืองในมหาวิทยาลัย ก็ทำให้เธอและเพื่อนได้จัดงานเสวนาภายในมหาวิทยาลัยหลายครั้ง รวมไปถึงการแขวนป้ายผ้า Coup = Corruption และเผด็จการจงพินาศประชาธิปไตยจงเจริญ ในงานฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 70

หลังจากนั้นก็ร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีกหลายครั้ง เช่น งานครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า ‘ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?’ ที่สุดท้ายถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังควบคุมตัวไปห้องสอบสวน สน.ปทุมวัน ก่อนที่จะมาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 'ขบวนการประชาธิปไตยใหม่' หรือ New Democracy Movement (NDM) โดยเธอออกมาเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ ระหว่างที่เพื่อนอีก 14 คน ถูกขังในเรือนจำ นอกจากนี้การ์ตูนกับเพื่อนยังทำนิตยสารแจกฟรีในชื่อ 'ก้าวข้าม' ซึ่งมีออกมาแล้วสองฉบับ โดยฉบับแรกพูดถึงการรัฐประหารว่าสร้างปัญหาอย่างไรให้กับประเทศ และฉบับล่าสุดเจาะประเด็นเกี่ยวกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์

+ นิว สิรวิชญ์: ‘จ่า’ นักกิจกรรม ผู้มุ่งนำประชาธิปไ(ท)ย +

สิรวิชญ์ หรือ จ่านิว อายุ 22 ปี เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นสมาชิกสภานักศึกษาช่วงปี 1-2 ก่อนจะออกมาสมัครนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงปี 3 แม้ผลจะการเลือกตั้งจะไม่ชนะ แต่ถึงที่สุดเขาก็มารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ก่อตั้งกลุ่มสภาหน้าโดม ซึ่งเคยเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาธรรมศาสตร์ในช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 อีกครั้ง เพราะเชื่อว่าสังคมต้องมีพื้นที่ให้คนออกมาแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการถกเถียง โดยกิจกรรมของสภาหน้าโดมคือออกมาเรียกร้องประเด็นต่างๆ อาทิ ยกเลิกระบบรับน้อง ปฏิรูประบบการศึกษา และเคยคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2556 ด้วย

จ่านิวเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า เขาโตมาในครอบครัว ชนชั้นล่างระดับบน ช่วงวัยเด็กเขาต้องย้ายบ้านบ่อยมาก แต่หลักๆ ก็อยู่ในกรุงเทพฯ มีนบุรี ลาดกระบัง หนอกจอก เมื่อก่อนพ่อกับแม่เคยทำงานรับจ้างในโรงงาน ทำได้สักระยะแม่ก็ออกมารับจ้างทั่วไป เพราะมีน้องที่ต้องดูแล ส่วนพ่อก็ออกมาทำงานขนส่งสินค้า เขาเป็นลูกชายคนโตและคนเดียว ในบรรดาพี่น้อง 4 คน และกลายเป็นผู้ชายคนเดียวในครอบครัวหลังจากปี 2554 เพราะพ่อเสียชีวิต เป็นช่วงที่เขาเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์พอดี ซึ่งตั้งแต่มาเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เขาต้องหางานทำเอง เป็นผู้ช่วยงานวิจัยของหน่วยงานราชการบ้าง

เหตุผลที่สนใจการเมือง คงเป็นเพราะตอนนั้นเขามองว่า อยู่ในฐานะที่ต่ำของสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตอนเด็กเขาเริ่มชอบอ่านหนังสือจากหนังสือการ์ตูนประวัติศาสตร์ หลังๆ มาก็เริ่มมาอ่านหนังสือที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ช่วงมัธยมปลายเริ่มอ่านหนังสือด้านรัฐศาสตร์มากขึ้น ชอบอ่านงานของรุสโซ วันไหนว่าง ก็จะนั่งรถเมล์ไปหอสมุดแห่งชาติ เมื่อถามถึงบุคคลต้นแบบ คำตอบของจ่านิวคือ เหล่า ‘นักปฏิวัติ’

หลังรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ผู้คนรู้จักจ่านิวมากขึ้น ในภาพนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับและกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ที่ออกมาประท้วงทั้งประเด็นในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงประเด็นการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะเรียกร้องการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับการรัฐประหารและอำนาจรัฐบาล คสช. เนื่องจากเป็นผู้นำในหลายๆ กิจกรรม จ่านิวมักถูกเจ้าหน้าที่เรียกตัวไปปรับทัศนคติ กระทั่งถูกตั้งข้อหาและขึ้นศาลทหารมาแล้ว ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ในกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุม จากกิจกรรมนั่งรถไฟส่องโกงอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558

+ หนุ่ย อภิสิทธ์: ต้านเขื่อน ต้านรัฐประหาร ต้านเผด็จการ ‘เรื่องเดียวกัน’ +

หนุ่ย หรือ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2551 และผู้ก่อตั้งกลุ่มเสรีนนทรี โดยกลุ่มดังกล่าวมุ่งจับประเด็นทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน นอกจากนี้เขาเคยทำกิจกรรมมาเเล้วหลายอย่าง เช่น คัดค้าน ม.นอกระบบ เนื่องจากนิสิตไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ อีกทั้งยังส่งผลต่อความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจสูงสุด ปราศจากการตรวจสอบ การทุจริตอาจทำได้ง่ายขึ้น

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องกลายเป็นคู่ขัดแย้งของรัฐก็คือการออกมาต้านเขื่อนเแม่วงก์ ซึ่งจากกิจกรรมครั้งนั้นทำให้ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐและถูกควบคุมตัว และอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม NDM ภายหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร (22 พฤษภาคม 2558) เนื่องจากวันนั้น เขาและเพื่อนมีกิจกรรมของศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) ในช่วงบ่าย เป็นงานเสวนาหัวข้อสิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา แต่ตำรวจไม่ให้จัดงาน จึงเชิญตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม เสร็จจากนั้นก็ไปรวมตัวที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพราะทราบข่าวจากโปสเตอร์งานและมีคนชวนมา ซึ่งเขาไม่ได้เป็นคนจัดแค่มาร่วมด้วย แต่ที่โดนจับ คงเพราะเห็นว่าเราเคลื่อนไหวหลายเรื่องทั้งแม่วงก์ ม.นอกระบบที่ถูกห้ามจัด เขาอาจเคยเห็นหน้าเราทางสื่อ เลยอาจเข้าใจว่าเป็นแกนนำ

ปัจจุบันหนุ่ยประกอบอาชีพเป็นครูสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัย และคอยช่วยเหลือในการจัดค่ายศึกษาชุมชน

+ ปอ กรกช: นักกิจกรรมแห่งเกษตร บัณฑิตใหม่ภาคประวัติศาสตร์ +

ปอ หรือ กรกช แสงเย็นพันธ์ บัณฑิตใหม่ เพิ่งจบการศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิ่งเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไปเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์รับจ๊อบงานเขียนและทำหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง

ปอ เริ่มทำกิจกรรมการเมืองตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ปี 1 เทอม 2 เนื่องจากเป็นความสนใจส่วนตัว และชวนเพื่อนๆ ไปเข้ากลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เพราะเป็นกลุ่มกิจกรรมหนึ่งในไม่กี่แห่งในมหาวิทยาลัยที่สนใจประเด็นทางการเมือง และเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งกิจกรรมของกลุ่มนี้จะเน้นเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนด้วย

สมัยยังเป็นนิสิตที่ ม.เกษตร ปอเคยทำกิจกรรมเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสิทธิการแต่งกายในมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีข่าวออกมาว่า มหาวิทยาลัยจะบังคับใช้กฎที่จะหักคะแนนคนนิสิตที่แต่งเครื่องแบบผิดระเบียบ จากการรณรงค์ของปอและเพื่อนทำให้การบังคับใช้กฎระเบียบเข้มงวดน้อยลง

นอกจากนี้ระหว่างเรียนอยู่ ปอเคยจัดกิจกรรมรณรงค์ในมหาวิทยาลัย เช่น เชิญชวนให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จัดงานเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมือง จัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง หลังเรียนจบปอก็เข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

ดูรายละเอียดคดีนั่งรถไฟไปราชภักดิ์ได้ที่ >>http://freedom.ilaw.or.th/case/704#progress_of_case

...

Thomas Jefferson