วันพฤหัสบดี, มกราคม 28, 2559

2557 มนตราเสนา 2558 เสนาเสื่อมมนต์ 2559 สิ้นมนต์เสนา โดย สุรชาติ บำรุงสุข


ภาพจาก Sakdaper Blogspot


2557 มนตราเสนา 2558 เสนาเสื่อมมนต์ 2559 สิ้นมนต์เสนา โดย สุรชาติ บำรุงสุข

ที่มา มติชนออนไลน์
27 ม.ค. 59

ยุทธบทความ, มติชนสุดสัปดาห์
เผยแพร่ 22 ม.ค. 59


“ก่อนหน้านี้ทหารเข้ามาถูกจังหวะเวลาระงับความขัดแย้ง ทุกคนก็ยินดีกันหมด ต้องรู้ว่าเพราะตีกันขาดความสามัคคี หน้าที่ทหารมีแค่นั้น…ทุกครั้งที่ทหารทำการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ เพราะทหารมีอำนาจมีกำลัง…และออกมาหลายครั้งแล้ว พอยึดอำนาจแต่ต่อไปทำไม่ค่อยถูก”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

11 ธันวาคม 2558
....


สถานการณ์ทางการเมืองของกองทัพและรัฐบาลทหารแตกต่างไปจากวันยึดอำนาจอย่างสิ้นเชิง จากสถานการณ์ความรุนแรงที่ถูกสร้างขึ้นจนนำไปสู่การเป็นช่องทางของการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งออกมาสรรเสริญเยินยอการยึดอำนาจครั้งดังกล่าวอย่างมาก

ดูเหมือนวันนั้นผู้นำทหารจะรับแต่ช่อดอกไม้ ซึ่งก็คงไม่แปลกนักที่ทำให้พวกเขายิ้มย่องกับความสำเร็จในการใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน โดยมีเสียงของกลุ่มผู้นิยมรัฐประหารเป็นแรงใจ

แต่ยิ่งนานวัน สถานการณ์ดูจะพลิกผันไปในทางตรงกันข้าม “ช่อดอกไม้” เริ่มกลายเป็น “ก้อนอิฐ” ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่างๆ

จนเห็นได้ชัดว่าจากปลายปี 2558 เป็นต้นไป แนวรบทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลอาจจะหนักหน่วงกว่าที่พวกเขาคิด

หากเปรียบเทียบก็เสมือนว่า ก่อการรัฐประหาร 2557 นั้น ผู้คนส่วนหนึ่งเคลิบเคลิ้มอยู่กับความเชื่อแบบดั้งเดิมว่า กองทัพคือผู้แก้ปัญหาทั้งปวง… ผู้นำกองทัพสะอาดบริสุทธิ์… ทหารคือผู้รับมอบ “ภารกิจศักดิ์สิทธิ์” ในการสร้างชาติ

ชุดความเชื่อแบบ “เสนานิยม” เช่นนี้สอดรับกับการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองของผู้นำทหารในสถานการณ์ความขัดแย้งในปี 2557 เป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น จึงไม่แปลกนักที่คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งจะรู้สึกยินดีกับการรัฐประหาร

และบางส่วนยังเชื่ออีกว่า รัฐประหารจะเป็นเครื่องมือของการยุติความขัดแย้ง และยังอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปรองดองเพื่อพาสังคมการเมืองไทยออกจาก “สงครามยืดเยื้อ” ที่สำคัญอาจจะเป็นจุดเริ่มเพื่อการปฏิรูปสังคมไทย ดังข้อเรียกร้องของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น ที่ต้องการเห็น “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ฉะนั้น คงไม่แปลกนักที่จะเปรียบว่า ชุดความเชื่อดังกล่าวผสมกับความกังวลต่อความขัดแย้งในสังคมไทยจึงกลายเป็น “มนตราเสนา” ที่ทำให้หลายๆ คนเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำทหาร “อันบริสุทธิ์” จะเข้ามาแก้ไขปัญหา

แต่แล้วในสถานการณ์ปัจจุบันจากปลายปี 2558 เป็นต้นมา สถานการณ์ดูจะแตกต่างอย่างมาก มนตราเสนาที่เคยถูกร่ายรำให้เกิดความเชื่อมต่อขีดความสามารถของผู้นำทหาร ไม่ว่าจะเป็นในเชิงความรู้ ความสามารถ และความสะอาดของทหารเริ่มหมดมนต์ขลังลงเรื่อยๆ

จนน่ากังวลว่า จากปัญหาวิกฤต 4 ประเด็นใหญ่ที่ผู้นำรัฐบาลทหารกำลังเผชิญอยู่ ปี 2559 จะ “สิ้นมนต์เสน่หา” สำหรับผู้นำทหาร

1) วิกฤตภาพลักษณ์-วิกฤตศรัทธา

การก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่หัวหินด้วยพระบรมรูปของบุรพกษัตริย์ที่เป็นโลหะขนาดใหญ่ (คล้ายคลึงกับการสร้างอนุสาวรีย์ของพระเจ้าบุเรงนองในเมียนมาปัจจุบัน) เพื่อหวังว่าจะเป็นผลงาน “โบแดง” ของผู้นำทหารนั้น

ผลที่เกิดขึ้นกลับพลิกความคาดหมายอย่างมาก ใครเลยจะคิดว่าจากการตรวจสอบที่เกิดขึ้นจะพบปัญหาของความไม่โปร่งใสอย่างมาก

ประเด็นที่เกิดขึ้นเช่นนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ทั้งของรัฐบาล คสช. และกองทัพบกเองอย่างมาก ยิ่งเมื่อมีเสียงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น ก็ยิ่งมีปฏิกิริยาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการขัดขวางและจับกุมผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองที่กำลังจะเดินทางไปที่อุทยาน และถึงขั้นมีการประกาศปิดอุทยานดังกล่าวด้วย

ลักษณะเช่นนี้สะท้อนอย่างเด่นชัดว่า กองทัพดูจะกังวลอย่างมาก จนความพยายามที่จะจัดการกับการตรวจสอบที่เกิดขึ้นกลายเป็น “ความเพลี่ยงพล้ำ” ทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีการจับกุมกลุ่มนักศึกษา และการผลักดันเอามวลชนจัดตั้งของทหารออกมาเพื่อใช้ภาพในแบบ “ม็อบชนม็อบ” ซึ่งอาจเป็นความหวังว่าจะทำให้ผู้คนหันไปให้ความสนับสนุนกับรัฐบาลทหารอีก

ประกอบกับผู้นำทหารมีความเชื่ออย่างมั่นใจว่าการก่อกระแสเรื่องอุทยานนี้ เป็นเพราะต้องการกลบประเด็นเรื่องจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย ผู้นำทหารดูจะ “ฟันธง” อย่างง่ายๆ ว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง

ทัศนะเช่นนี้ไม่แตกต่างไปจากผู้นำทหารในเหตุการณ์ปี 2516 และ 2535 ที่ไม่เกิด “ความตระหนักรู้ในสถานการณ์” และวาดภาพสถานการณ์การเมืองขึ้นเอง

ดังนั้น ภายใต้ “ธง” ว่าการเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องอุทยานเป็นการก่อกระแสเพื่อกลบปัญหาของพรรคเพื่อไทย และที่สำคัญคือใช้เป็นประเด็นล้มรัฐบาล ผู้นำรัฐบาลก็ดูจะยิ่งใช้วิธีและคำพูดแบบ “แข็งกร้าว” ในการตอบโต้การเคลื่อนไหว

โดยละเลยประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ กรณีอุทยานนี้ได้บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์แห่ง “ความสะอาด” ของผู้นำทหารที่ถูกสร้างก่อนรัฐประหารลงไปอย่างมาก

ผู้นำทหารในปี 2516 ไม่ตระหนักว่ากรณีทุ่งใหญ่นเรศวร มีผลอย่างมาก จนในที่สุดนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม มาแล้ว

ซึ่งก็ดูเหมือนว่าผู้นำทหารในปี 2558 จะไม่ตระหนักว่ากรณีอุทยานอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ไม่แตกต่างกันได้ เพราะวิกฤตภาพลักษณ์ครั้งนี้กำลังเดิมพันด้วย “ศรัทธา” ไม่ต่างกับในปี 2516… อุทยานราชภักดิ์คือ “วิกฤตศรัทธา” ของทหาร

2) วิกฤตการบริหาร-วิกฤตความเชื่อถือ

หลังจากความสำเร็จของรัฐประหาร 2557 ผู้นำทหารเชื่อว่า “สายธารแห่งอำนาจ” ของรัฐบาลทหารเปรียบดัง “แม่น้ำ 5 สาย” ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) [แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เดิม] และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งหากจะให้อำนาจของทหารมีความมั่นคงแล้ว สายธารแห่งอำนาจทั้ง 5 จะต้องมีน้ำไหลไปอย่างราบเรียบ

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นดูจะเป็นการเมืองใน “ฤดูน้ำหลาก” ที่มีอาการเป็น “อุทกภัย” มาหลายครั้งหลายคราว

ดังจะเห็นได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญเดิม (ซึ่งอาจจะเรียกว่า “ร่างบวรศักดิ์”) ถูกคว่ำลงอย่างง่ายดาย จนวันนี้อาจจะต้องเรียกว่าคณะกรรมการร่างชุดนั้น “หมดสภาพทางการเมือง” ไปอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งผู้นำทหารอาจจะไม่ตระหนักว่า การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเช่นนั้นกำลังส่งสัญญาณถึงการเริ่มต้นของ “วิกฤตรัฐทหาร”

การร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันก็อาจจะไม่แตกต่างกันโดยเฉพาะความพยายามในการสร้างรัฐธรรมนูญแบบ “เสนานิยม” ที่ต้องการให้มี “อำนาจแฝง” ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญ ภายใต้ความเชื่อหลัก 2 ประการ คือ จะต้องไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองมีอำนาจมาก และจะต้องไม่ปล่อยให้นักการเมืองทำนโยบายได้แบบเก่า

สาระของกฎหมายจึงไม่ต้องการความเป็นสากลเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยไทยสามารถพัฒนาได้เช่นอารยประเทศ

แต่กลับถูกครอบด้วยวาทกรรม “ประชาธิปไตยไทย” ต้องเป็นแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นสากล

ซึ่งก็คือความพยายามในการควบคุมระบบการเมืองของประเทศในอนาคต โดยมีกระบวนการรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ สภาพเช่นนี้ส่งผลให้การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ไม่มีความน่าเชื่อถือในทัศนะของหลายๆ คน และกลายเป็น “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” ในตัวเอง

ประกอบกับการสิ้นสุดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ยุติลงโดยไม่มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม เท่ากับว่าเวลาหนึ่งปีผ่านไปด้วยการใช้งบประมาณมหาศาลโดยไม่มีผลได้ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากเปลี่ยนมาเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งจนถึงสิ้นปี 2558 ก็ไม่ได้สร้างผลงานปฏิรูปให้ปรากฏแก่สาธารณชน

สภาพเช่นนี้ทำให้เกิด “วิกฤตความน่าเชื่อถือ” ในการสร้างการปฏิรูปประเทศอย่างที่หลายคนเคยวาดฝันไว้กับรัฐบาลทหาร ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปจึงไม่มีอะไรปรากฏขึ้น นอกจากการดำรงอยู่ของตัวสภาและสมาชิกที่ใช้งบประมาณมหาศาลในแต่ละปี ความศรัทธาที่เชื่อว่าทหารจะเป็น “ผู้นำการปฏิรูป” จึงหมดความขลังลงไปมาก ปี 2558 จึงเป็นปี “เสนาเสื่อมมนต์”

สำหรับสภานิติบัญญัติก็แทบจะเป็นองค์กรที่ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าสภาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร และทำหน้าที่ผ่านร่างกฎหมายที่รัฐบาลทหารต้องการ ส่วน คสช. ในฐานะองค์กรรัฐประหาร และคณะรัฐมนตรีในฐานะ “องค์รัฏฐาธิปัตย์” ของอำนาจในการควบคุมประเทศ โดยมีมาตรา 44 เป็น “อำนาจเบ็ดเสร็จ” ก็ตกอยู่ท่ามกลางความท้าทายในหลายๆ เรื่อง

โดยเฉพาะประเด็นสำคัญหนึ่งก็คือ ปมปัญหาอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเรียกร้องให้ทั้ง คสช. และรัฐบาลต้องเข้ามาจัดการตรวจสอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งในขณะเดียวกันก็มีข้อวิจารณ์อย่างมากถึงขีดความสามารถของรัฐบาลทหารในการบริหารจัดการประเทศสมัยใหม่

ผู้คนส่วนหนึ่งมีทัศนะที่มองว่า รัฐบาลทหารไม่ใช่ทางเลือกสำหรับอนาคตของประเทศ และมองว่ารัฐบาลทหารเป็นปัญหามากกว่าจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหา

3) วิกฤตเศรษฐกิจ-วิกฤตปากท้อง

ในขณะที่รัฐบาลทหารพยายามส่งเสริมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนความเป็นจริงที่ถูกท้าทายก็คือ เศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหาร 2557 ประสบปัญหาอย่างมาก

และสภาวะ “เศรษฐกิจขาลง” เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละไตรมาส ไม่มีสัญญาณบวกเพื่อทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกว่ารัฐประหารนำมาซึ่งสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในเชิงสมมติฐานว่ารัฐประหารทำให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโต

แต่สถานการณ์จริงดูจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

เศรษฐกิจยังถูกถาโถมกับ “วิกฤตภัยแล้ง” ที่มีแนวโน้มว่าในปี 2559 ชนบทไทยอาจจะต้องเผชิญกับความแห้งแล้งอย่างรุนแรง อีกทั้งเศรษฐกิจโลกเองก็ยังคงเปราะบาง และความหวังของผู้นำทหารกับเศรษฐกิจจีน ก็ดูจะเป็นช่วงที่จีนเองก็มีปัญหาในบ้าน สัญญาณบวกปลายปี 2558 อาจจะมีเพียงเรื่อง “เอียซา” (ERSA) ไม่ได้ขึ้นบัญชีดำสายการบินแห่งชาติของไทย เช่นที่หลายๆ ฝ่ายกังวล

แนวโน้มของเศรษฐกิจที่ไม่สดใสเช่นนี้ ก็ยังมีสัญญาณถึงความเป็นวิกฤตตลอดเวลา ไม่ว่าจะมองจากภาคส่งออก ภาคสินค้าเกษตร ภาคของการประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก

ดังนั้น เราอาจประมาณการได้อย่างสังเขปว่า เศรษฐกิจไทย 2559 น่าจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ให้รัฐบาลทหารต้อง “ปวดหัว” ต่อไปอีก

และปี 2559 ก็ยังไม่ใช่เวลาที่ไทยจะก้าวไปสู่ทีพีพี (TPP) ได้แต่อย่างใด

4) วิกฤตการเมือง-วิกฤตความชอบธรรม

การคงอยู่ของรัฐบาลทหารเป็นปัญหาการเมืองในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังจะเห็นได้ว่า แม้จะมีมวลชนในฐานะ “ผู้นิยมรัฐประหาร” เป็นกองเชียร์ให้รัฐบาลทหาร

แต่เสียงคัดค้านที่ดังตั้งแต่เริ่มต้น ก็ดูจะดังขึ้นเรื่อยๆ ต้องยอมรับว่าการคัดค้านรัฐบาลทหารดังมากขึ้นจนไม่อาจควบคุมได้ในแบบเดิม

ความท้าทายเช่นนี้ยังมาพร้อมกับการเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาสัญญาที่จะเดินตามโรดแม็ปที่จะจัดการเลือกตั้งในปี 2560 ซึ่งในสภาพเช่นนี้ใช่ว่ารัฐบาลจะมีปัญหากับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่ชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังเผชิญกับแรงต้านอีกส่วนจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเรียกร้องเสรีภาพของนักศึกษาจะเป็นความท้าทายใหญ่ต่อความชอบธรรมของรัฐบาลทหารในปี 2559

แนวรบของสงครามประชาธิปไตยยังขยายไปสู่บริบทนอกพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นกรณีจดหมายจากรัฐสภายุโรปเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปพูดคุยถึงสถานการณ์ในเมืองไทย

หรือการออกมาแสดงความคิดเห็นของทูตสหรัฐอเมริกาและทูตอังกฤษต่อการเมืองไทย ล้วนสะท้อนชัดเจนว่า แนวคิดเก่าที่เชื่อว่า “การเมืองภายในเป็นเรื่องภายใน” ไม่เป็นจริงในยุคโลกาภิวัตน์อีกต่อไป

ตัวแบบจากการกดดันรัฐบาลทหารของเมียนมาในช่วงที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้ผู้นำทหารได้ตระหนักรู้ว่า รัฐทหารไม่มีความชอบธรรมและไม่เป็นที่ต้อนรับในประชาคมระหว่างประเทศ และอาจถูกแทรกแซงได้

แต่หากรัฐบาลทหารแก้ปัญหาด้วยการใช้ทัศนะแบบ “สายเหยี่ยว” เช่น การขยายการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง หรือการผลักดันให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลตะวันตก ตลอดรวมถึงการเรียกร้องให้ตำรวจไทยจับกุมทูตอเมริกันด้วยมาตรา 112

ซึ่งการแก้ปัญหาเช่นนี้ไม่เพียงสะท้อนถึง “ความอ่อนหัดทางการทูต” ของไทยเท่านั้น

หากแต่การกระทำดังกล่าวจะยิ่งสร้างปัญหาให้แก่การต่างประเทศของไทยในอนาคตอย่างมาก ดังนั้น วิกฤตประชาธิปไตยไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพในสังคมไทยเท่านั้น หากแต่ยังอาจจะนำไปสู่วิกฤตการต่างประเทศของไทยด้วย

ปัญหาทั้ง 4 ประการเช่นนี้จะทำให้ปี 2559 อาจเป็นปี “สิ้นมนต์เสนา” ของบรรดาเสนาใหญ่… คำเตือนด้วยความปรารถนาดีของพลเอกชวลิตในข้างต้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำทหารควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง!
...