วันอังคาร, มกราคม 26, 2559

อีกมิติหนึ่งของการบริหารประเทศโดย คสช. คือสร้างความสงบ (เสงี่ยม) ในประเทศด้วยการจำกัด ‘ปิดกั้น’ สื่อสารมวลชน




ขณะที่รัฐบาลกำลังขมักเขม้นกับการแก้กฎหมายเพื่อให้จีนเช่าใช้ที่ดินไทยได้นาน ๙๙ ปี

อันเป็น ‘สันดานทัศน์’ แห่งการกระตุ้นเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยวิธี ‘ขายกิน’ ให้แก่จีนแต่งเติมระบบขนส่งมวลชนแล้ว

อีกมิติหนึ่งของการบริหารประเทศโดย คสช. คือสร้างความสงบ (เสงี่ยม) ในประเทศด้วยการจำกัด ‘ปิดกั้น’ สื่อสารมวลชน




เมื่อวานนี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกฯ พูดถึงการปรับเปลี่ยนเนื้อหาใน พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ขยายเวลาการให้เช่าที่ดินของรัฐจาก ๕๐ ปี เป็น ๙๙ ปี

ว่าเป็นมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติขนาดใหญ่ โดยอ้างเป็นการปรับให้เท่าเทียมคู่แข่งหรือมากกว่าเขา เช่นสิงคโปร์และมาเลเซียให้ยาว ๙๙ ปี เวียตนามให้ ๗๐ ปี ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนให้ ๕๐ ปี

(http://news.voicetv.co.th/thailand/316416.html)

แต่ประชาชนทั่วไปที่ใส่ใจในเรื่องนี้กลับร้องยี้ แถมมีเสียงก่นว่า นี่เหมือนกับ คสช.เอาที่ดินของชาติไปขายให้จีนโดยปริยาย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ท้วงอย่างหนักมาแล้วว่า “ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีต่างชาติรายใดแสดงความจำนงที่จะบีบให้ไทยมีนโยบายให้ต่างชาติถือครองที่ดิน โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจตะวันตก ยกเว้นจีนที่ไปเที่ยวตั้ง ‘อาณานิคม’ ในต่างแดน” (http://bit.ly/1OjM1xU)

วันต่อมา ดร.โสภณ ย้ำต้านอีกว่า “ได้สอบถามไปยังนายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์มาเลเซียพบว่า ไม่มีการให้เช่าที่ดิน ๙๙ ปีสำหรับชาวต่างชาติทั่วไป แต่มีให้เช่าสำหรับนักพัฒนาที่ดินที่จดทะเบียนเป็นบริษัทสิงคโปร์ ให้พัฒนาเฉพาะแปลงที่ทางองค์การฟื้นฟูเมือง (Urban Redevelopment Authority: URA) กำหนดไว้เท่านั้น”

ส่วนประเทศลาวนั้นให้นายทุนเช่าที่ดินได้ ๙๙ ปี “แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ ๆ กำหนด โดยมากเป็นนักลงทุนจีนเป็นสำคัญ (พวกนี้คงหวังขยายอิทธิพลเข้ามาในลาวเช่นเดียวกับชาวเวียดนามที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก)” ดร.โสภณยืนยัน

ในประเด็นที่โฆษกฯ ไก่อูออกมาชี้แจงว่าแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจจัดทำนี้ ไม่ใช่ขายชาติ “จะให้เช่าที่ดินเฉพาะเพื่อลงทุน หรือเช่าทำธุรกิจ ที่โดยปกติมีการต่ออายุให้อยู่แล้ว ไม่รวมถึงการเช่าประเภทอื่นหรือเหมารวมทุกกิจกรรม และหากผู้เช่าไม่ทำตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ก็สามารถยกเลิกได้” นั้น

ดร.โสภณแย้งว่า “ในความเป็นจริงสิ่งที่พบก็คือ ๑. มีบริษัท Nominee อยู่ทั่วไปในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ๒. คนต่างชาติแอบจดทะเบียนกับคนไทยก็มีอยู่มากมาย และ

๓. ตามเกาะภูเก็ต เกาะสมุย มีบ้านและที่ดินอยู่บนเขา ไม่น่าจะออกโฉนดได้ ไม่น่าจะได้รับการอนุญาตก่อสร้างได้ กลับมีโฉนดและเป็นบ้านที่ครอบครองโดยคนต่างชาติหรือโรงแรมต่างชาติ” เกิดขึ้นได้

“ในอันที่จริง การให้เช่าที่ดินตั้งแต่ ๔๑ ปีขึ้นไป ก็เสมือนหนึ่งให้ได้ใช้ประโยชน์เกือบจะชั่วกัลปาวสาน” อยู่แล้ว

ขณะที่ อจ.กานดา นาคน้อย นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัต เขียนถึงการให้เช่าที่ดิน ๙๙ ปีว่า

“ก) ‘ขายชาติ’ หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ลองเทียบกับเงื่อนไขที่อังกฤษเช่าฮ่องกง ๙๙ ปีดูได้ เช่น ชาวต่างชาติได้อภิสิทธิ์ทางกฎหมายในเขตที่ให้เช่าหรือไม่?
ข) ในกรณีสิงคโปร์ การให้เช่า ๙๙ ปีมาจากข้อจำกัดว่าสิงคโปร์มีที่ดินน้อยแม้แต่พลเมืองสิงคโปร์เองจำนวนมากก็เช่า ๙๙ ปีจากรัฐบาล คนสิงคโปร์ที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินมีไม่มาก
ค) การให้เช่า ๙๙ ปีในอังกฤษมีปัจจัยทางประวัติศาสตร์ว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นจ้าวที่ดินในเขตเมืองและให้เช่ามานาน และส่งค่าเช่าเข้ากระทรวงการคลัง เพื่อจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดิน”

อจ.กานดายังได้อ้างถึงบทความเกี่ยวกับที่ดินรัฐในครอบครองของทหารด้วยว่า “กองทัพบกมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราวๆ ๔๖๐,๐๐๐ ไร่ แต่ที่มากกว่านั้นมหาศาลคือที่ดินที่กองทัพบกครอบครองโดยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ประเภทหลังมีมากกว่า ๔ ล้านไร่ซึ่งจำแนกได้เป็นที่ดินสงวนและที่ดินหวงห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่เช่าจากหน่วยงานอื่นหรือเอกชน รวมทุกประเภทแล้วกองทัพบกมีที่ดินอยู่ในครอบครองประมาณ ๕ล้านไร่”

จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ ความเคยชินต่อการครอบครองที่ดินของชาติจำนวนมาก ทำให้กำหนดวิธีการให้เช่ายาวมาก จนเหมือนดั่ง ‘ตัดขาย’ อย่างง่ายดาย ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมใคร

อีกอย่างที่กำลังมาเร็วและเฉียบเงียบยิ่งนัก เป็นมาตรการปิดกั้นการสื่อสารของประชาชนที่เห็นต่าง หรือกระทั่งเพียงวิพากษ์วิจารณ์อย่าง ‘ติเพื่อก่อ’ ทางสื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งรัฐบาล คสช. กลับเห็นว่าไม่สงบเสงี่ยมราบคาบเพียงพอ

เรื่องนี้ได้มีการพยายามที่จะสร้างระบบ ‘ซิงเกิ้ลเกตเวย์’ ขึ้นเพื่อความสะดวกในการดักกรองและสกัดกั้นกระแสเลื่อนไหลของข้อมูลให้จำกัดในช่องทางเดียว จะได้ดักจับโดยง่าย

หลังจากมีมีเสียงค้านจากทั่วชุมชนไซเบอร์ แม้กระทั่งมีกลุ่มแฮ็คเกอร์แสดงการประท้วงด้วยการล้วงทะลวงเข้าไปปิดหน้าเว็บของกระทรวงไอซีทีชั่วคราวอย่างได้ผลมาแล้ว

จนคณะทหารแถลงปฏิเสธกันใหญ่ว่าไม่ได้ตั้งใจใช้วิธีการปิดกั้นแบบที่ประเทศจีนทำอยู่เช่นนั้น แต่ความพยายามปิดหูปิดตาประชาชนก็มิได้เลิกลาไป หรือแม้แต่จะลดลง กลับเล่หืกลใหม่ๆ หาทางอ้อมจะไปให้ถึงจนได้

“รัฐเริ่มเปิดสงครามไซเบอร์เต็มรูปแบบ ปอท.เตรียมซื้อระบบกวาดข้อมูลเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์-พันทิป เทียบรูปโปรไฟล์กับหมายจับ” October Free Thai นำเนื้อหาบทความบนเว็บ blognon มาเตือนบรรดาผู้ใช้โซเชียลมีเดียไว้เมื่อวานนี้

“กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จัดประกวดราคาซื้อระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์อัตโนมัติ โดยเก็บข้อมูลจากเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, และพันทิป




โดยเอกสารชื่อ ‘ร่างขอบเขตของงานและคุณลักษณะเฉพาะ (Term of Reference: TOR) การจัดหาครุภัณฑ์ โครงการพัฒนาระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์อัตโนมัติ’ ซึ่งลงนามโดย พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. ในเว็บระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบุงบประมาณโครงการ ๑๒,๘๐๖,๔๐๐ บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

ระบบนี้จะดึงข้อมูลจากโพสต์และคอมเมนต์ที่เป็นสาธารณะเท่านั้น โดยเฟซบุ๊กนั้นสามารถดึงข้อมูลได้ทั้งหน้าเพจและหน้าโปรไฟล์...

เป็นการตรวจสอบภาพใบหน้าจากฐานข้อมูลหมายจับและจากบุคคลทำประวัติจากสถานีตำรวจ โดยสามารถตรวจสอบจากภาพโปรไฟล์ของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์”

(https://www.blognone.com/node/77066)

ดังที่ สมเจตน์ พจนานา เตือนไว้ “ระวังกันนะฮะ โดยเฉพาะพวกที่เล่นพันทิป (เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ ก็อย่าได้ประมาท) ..เท่าที่ดูมันเก็บข้อมูลละเอียดเลย”

เขาเอาแน่ ไม่ยั้ง ดันทุรังให้จนได้อย่างใจ Anonymous อยู่ไหน ทราบแล้วเปลี่ยน