วันอาทิตย์, มกราคม 24, 2559

เก็บตก 'คุยกับวัฒน์ วรรลยางกูร' - จากประชาไท 2. Thai Voice Media (สัมภาษณ์เก่า เชิญฟังอีกที)




คุยกับวัฒน์ วรรลยางกูร: ปีที่ 61 ของชีวิต ปีที่ 2 ของการลี้ภัย และหนังสือเล่มใหม่

ที่มา ประชาไท
Fri, 2016-01-22 19:45
มุทิตา เชื้อชั่ง
นลัทพร ไกรฤกษ์

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนชื่อดังของไทยมีอายุครบรอบ 61 ปีไปเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา แต่ปีนี้เป็นปีที่เขาไม่ได้อยู่ฉลองวันเกิดกับครอบครัวมิตรสหาย ด้วยสถานการณ์การเมืองระลอกล่าสุดผลักดันเขาออกไปจาก ‘บ้าน’ แทบไม่ต่างกับหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เพียงแต่ครั้งนี้ ปลายทางคือ “เสรีภาพ” ในช่วงปลายของชีวิตและไม่มีกองกำลังปฏิวัติให้ฝากความหวังเหมือนเก่า

เวลา พื้นที่ และความโดดเดี่ยว เปลี่ยนแปลงตัวเขาไปมากน้อยเพียงไหน

ประชาไท: สภาพความเป็นอยู่ตอนนี้เป็นอย่างไร ?

วัฒน์: ตอนอยู่เมืองไทยเราเคยชินกับการอยู่ชนบท หลังบ้านก็เป็นป่าเป็นเขา แต่ออกไปนิดเดียวก็มีเซเว่นแล้ว ตอนนี้สภาพชีวิตประจำวันมันก็เปลี่ยนไปทำให้ช่วงแรกอึดอัดอยู่บ้าง ตอนหลังก็ไปอยู่ติดป่าติดเขา แต่ไม่มีตลาดใกล้ๆ โซดายังไม่มีขายเลย ไม่มีสัญญาณเน็ตก็ไม่มี ไม่มีปัญหา อยู่ได้ อ่านหนังสือเป็นปีๆ แล้ว

ตอนนี้ทำอะไรเป็นหลัก ?

เขียนหนังสือ จบร่างแรกไปแล้ว กำลังทิ้งไว้ให้ลืม ตอนนี้พอดีโน้ตบุ๊คมันเสียเพราะเราดูแลไม่ค่อยเป็น กระทั่งมีคนบริจาคโน้ตบุ๊คมาให้ใหม่ แต่ช่วงนี้ก็ยังไม่ได้เขียนต่อ ตอนนี้นั่งศึกษาอะไรไปเรื่อย ลิสต์นิยายที่เคยชอบเคยอ่าน เอามาอ่านใหม่ อ่านปีศาจ อ่านมังกรหยกอะไรแบบนี้

หนังสือเล่มใหม่ที่เขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ?

ก็ใกล้เคียงกับชีวิตของผมช่วงนี้ เป็นเรื่องของคนที่ต้องจากบ้านไปเพราะการเมือง มันก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่มาก แต่เราเขียนได้ในเงื่อนไขที่มีเสรีภาพมากขึ้น พยามที่จะไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่แน่นอนจะไปเขียนเต็มๆ บางทีมันก็เสียแฟนคนอ่าน มันก็ต้องมีวิธีเกลี่ยคำบ้าง ตัวละครก็จะใกล้ตัวผมนี่แหละ คนที่เคยเคลื่อนไหวการเมือง เข้าใจการเมือง แต่ว่าอายุมากขึ้น ชีวิตมีเงื่อนไขมากขึ้น บางคนไปทำอาชีพที่ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอย่างเปิดเผยได้ ยังบ้ามาร์คซ์ เลนิน อยู่แต่มีความเห็นเปิดเผยไม่ได้ ก็ต้องยืมมือเพื่อนที่มันเหลือเดนหน่อยทำการแทน

ก่อนการลี้ภัยมีข้อหาอย่างชัดเจนไหม อะไรทำให้ตัดสินใจอย่างนั้น ?

ข้อหาชัดๆ ก็คือเรื่องไม่รายงานตัว ข้อหาทางอาวุธไม่มี ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรพวกนั้น แต่เวลาประกาศเรียกรายงานตัวชื่อผมไม่ว่าจะเป็นประกาศครั้งที่เท่าไหร่ก็จะแพ็คกับวงดนตรีไฟเย็น อาจด้วยความเข้าใจว่าผมเป็นหัวหน้าวงดนตรี และเป็นคนแต่งเพลง คือมันมีการพูดต่อๆ กันไปเรื่อย บางคนก็มาจับมือผมบอกแต่งเพลงนี้ดีมากเลย ซึ่งผมไม่ได้แต่ง ทุกคนในวงก็ยังไม่มีใครโดนข้อหา 112 อย่างเป็นทางการ แต่ว่ารัฐบาลเผด็จการเขาทำหนังสือรายชื่อขอตัวไปยังประเทศที่เขาเข้าใจว่าเราไปอยู่ประเทศนั้นแล้ว มีคนแจ้งมาว่ามีอยู่ 13 ชื่อซึ่งทางการไทยบอกว่าพวกนี้อยู่ในข่ายทำความผิด112 ซึ่งรวมชื่อผมอยู่ด้วย

ทางการไทยยังคงติดตามและมีความพยายามนำตัวตัวผู้ลี้ภัยกลับ มีความกังวลเรื่องนี้ไหม ?

ยังไม่กังวล

อยากกลับบ้านไหม ?

มันไม่ได้อยาก บรรยากาศแบบนั้น จ้างกลับก็ยังไม่กลับเลย ผมเอียนที่สุดแล้วกับบรรยากาศกาศพร็อพพากันดา ให้ผมไปรับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ผมก็ไม่ไป ผมจะไม่ยอมอะไรเหล่านี้อย่างเด็ดขาดเลย

ทนมามานาน ทำไมจึงทนต่อไม่ได้ ?

ผมทนไม่ได้ แต่ก่อนเราทนแล้วก็พูดอะไรไม่ได้ แต่พอเราออกมาข้างนอก เราก็พูดอะไรก็ได้ตรงไปตรงมา สิ่งที่ได้คือสิ่งนี้

ถือว่าคุ้มไหม ?

มันก็คุ้มค่า ทำไมวันนี้เราต้องหมอบราบคาบแก้ว สูญเสียความเป็นเสรีชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราต้องฝืนใจทำในสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วด้วยประสบการณ์ทางการเมืองที่ยาวนาน เราศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง เรามองทุกอย่างกระจ่างชัดและมีข้อมูลด้วย ไม่ใช่คิดเอาเอง เหตุการณ์ 6 ตุลา เราไม่ลืม ผมถึงแปลกใจเพื่อนหลายๆ คนที่ทำเป็นไม่รู้เรื่อง ทำเป็นลืมเรื่องเหล่านี้

เป็นไปได้ไหมว่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์เก่าๆ เขาเห็นศัตรูใหม่ที่สำคัญกว่า ?

อันนี้เป็นปัญหาของการแยกมิตรแยกศัตรู คือ ระหว่างศักดินาและนายทุน เขาบอกว่า ยอมเป็นลูกน้องศักดินา แล้วจะยืมมือศักดินามาโค่นนายทุน มันก็เหมือนเพลง “เพื่อชีวิตกู” ที่ผมเขียน ~เขาโค่นนายทุนเพื่อรับใช้ศักดินา ~คนกับควายทำนาอย่างพอเพียง นายเอียงทำนาไม่พอกิน เพราะไม่มีนายกชื่อทักษิณ คนมีกินคือพวกศักดินา ~อยู่ใกล้กันตลอดเวลา แต่ดวงตาของฉันมันมืดมิด ชีวิตมันมีแต่หมาดำ มันไม่ใช่หมาดำ หมานั้นชื่ออะไร เฮ้ไฮ้ เขาโค่นนายทุนเพื่อรับใช้ศักดินา ~ตาผุยชุมแพแกอยู่บ้านและแกใส่เสื้อแดง นั่งอยู่บ้านแวงนอกเมืองขอนแก่น ยากจนข้นแค้น แกเลยมาชุมนุม มาหลบที่วัดปทุม ตาผุยโดนยิงตาย ไอ้ศิลปินใจร้ายว่าแกเผาบ้านเผาเมือง เผาบ้านพ่อบ้านแม่มัน ศิลปินชอบเลีย

คือมันเป็นเพลงอำ อำเละไปเลย ร้องเพลงนี้บนเวทีปราศรัยคนชอบกันมาก ร้องกันได้เยอะ เพลงนี้แต่งก่อนรัฐประหาร

เดิมทีมันมีวงชื่อ ท่าเสา วงดนตรีวงแรกของเสื้อแดง ขึ้นเวทีครั้งแรกหลังการล้อมปราบปี 2553 วันที่ 25 กันยา แล้วก็จะออกเดินสายไปเล่นตามเวทีเสื้อแดงภาคเหนือภาคอีสาน เป็นมือสมัครเล่น ยังไม่คล่องตัว สมาชิกในวงยังต้องค้าขายต้องทำมาหากิน ไปก็ไม่ได้เงิน ควักกระเป๋าตัวเอง หารค่าน้ำมันรถ ไถเพื่อนบ้าง หรือไปขายหนังสือ ก็ขายได้ทีเป็นพันเหมือนกันนะ มวลชนให้เงินสดๆ ไม่เอาของเลยก็มี เสื้อแดงไม่ได้มีแต่คนจนนะ คนมีเงินก็มี ต่อมาก็หานักดนตรีมืออาชีพมา backup ให้ แล้วเขาก็เลยไปตั้งวงกันเองชื่อวงไฟเย็น เรียกว่าเห็นแนวจากวงท่าเสาเล่นนั่นแหละ เป็นเพลงในแนวอำการเมือง ฟังเฉยๆ ก็ฮาแต่คิดแล้วเจ็บ จังหวะสนุก เล่นด้วยสามช่าและรำวงเป็นหลัก

เมื่อกี้ถามว่าคุ้มมั้ย มันคุ้มเพราะเรามองเห็นโครงสร้างทางการเมือง คือ ผมอายุได้แค่ 3 ขวบก็เจอกับการรัฐประหารแล้ว โดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญอีก 10 ปี ยึดอำนาจแล้วร่างรัฐธรรมนูญ มันก็ยังเป็นวงจรมาจนทุกวันนี้ เรียกว่าตลอดชีวิตของผมเลย ล้มคว่ำขมำหงายกับสูตรสำเร็จแบบนี้ รัฐประหารแล้วคนลุกขึ้นสู้ก็โดนฆ่าตาย 14 ตุลา 6 ตุลา ในช่วงชีวิตได้รับเสรีภาพแบบจริงๆ ก็ในช่วงสั้นๆ ปี 2517-2518 ถึง 16 พฤษภาคม 2519 หลังจากนั้นมันก็เป็นเสรีภาพจอมปลอมแบบประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง ประชาธิปไตยหลอกๆ บ้าง ประชาธิปไตยอันมีนามสกุล อำนาจที่แท้จริงของประชาชนมันไม่มี มันถูกปล้นเอาไปโดยใช้ทหารบ้าง ใช้กฎหมายบ้าง โดยกลุ่มที่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้โครงสร้างก็ไม่ได้ต่างไป

ผมรู้สึกว่าการที่ออกมาอยู่นอกประเทศ ผมคิดถึงประเทศไทยมากนะ อาหารการกิน แค่ก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียวก็มีตั้งมากมายหลายชนิด ถ้าไปลองสำรวจประเทศอื่นผัดกระเพราะนี่จานละร้อย บางที่ใส่ตะไคร้ บางที่ใส่หอมใหญ่ มีกระเพรา 4 ใบเมืองไทยมันอุดมสมบูรณ์เรื่องอาหารการกินอร่อยมาก มีทั้งเขา ทั้งป่า ทุ่งนา ทั้งทะเล ชีวิตก็สะดวกสบาย เดินทางสะดวกมาก เมืองไทยน่ารักทุกอย่าง มันเสียอย่างเดียวที่มีอำนาจที่อยู่เหนืออำนาจของประชาชน รุ่นผมเจอมาตลอดชีวิต เจอมาอย่างหนัก อย่างรุนแรง ฉะนั้นก็เรียกได้ว่าคุ้มที่ตัดสินใจแบบนี้ เรื่องความลำบากที่ต้องจากบ้านมา เป็นเรื่องเล็กมาก ถ้าเทียบกับปัญหาหลักๆ ของประเทศชาติ ของสังคมไทย

ตอนที่เราเลือกเข้าป่าหลัง 6 ตุลา ตอนนั้นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญยังอยู่ในช่วงการกระชับอำนาจ หลังจาก 6 ตุลามา อำนาจแบบนี้ก็มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผูกขาดแบบโอเว่อร์ อะไรนิดอะไรหน่อยก็จับเข้าคุก ใครไม่ยอมต่ออำนาจก็วางแผนยอกย้อนทุ่มเทกันมากมาย ทหารล้อมฆ่ากลางเมืองเป็นร้อย แล้วไอ้คนฆ่าก็ลอยนวลได้เป็นรัฐมนตรี ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมันจะอยู่กันได้เหรอประเทศชาติ คิดกันแบบนี้ มันก็บังคับให้คนต้องต่อสู้ หรือปฎิเสธไม่อยู่ด้วย กูอยู่กับมึงไม่ได้

การออกมาเช่นนี้ถือเป็นหนี ยอมแพ้ หรือต่อสู้ ?

เป็นการตั้งหลักมั้ง วิธีที่ดีที่สุดคงต้องถอย อยู่นอกคุกมันก็ดีกว่าอยู่ในคุก สำหรับการเมืองที่เราคาดไม่ได้ นี่คือเหตุผลของการถอย ยุทธศาสตร์ก็คือการสู้แบบเสรีชน คือไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน การถอยนี้ผมเตรียมไว้นานแล้ว มันเป็นอารมณ์เดียวกับตอนก่อน 6 ตุลาเลยที่ผมคาดว่าอีกหน่อยเดี๋ยวเขาก็ต้องยึดอำนาจ ผมแพ็คกระเป๋าตั้งแต่ตอนม๊อบเสธอ้ายแล้ว และกระเป๋าใบนั้นแพ็ควางไว้แบบแน่นอนเลย พอเห็นประกาศรายชื่อเพื่อนโทรศัพท์มาเป็นสิบๆ สายเลย เราผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาแล้ว เราอ่านเขาตลอด อ่านหลังไพ่เหล่านั้นว่าเขาจะทิ้งไพ่ใบไหน มันก็เป็นไปตามคาดทุกอย่าง อันนี้ก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ มันเป็นยุทธวิธีที่เราต้องถอยเพื่อเลี่ยงภัยการเมืองที่เราคาดการไม่ได้ แต่ยุทธศาสตร์คือเราก็ต้องสู้ต่อไปตามวิถีทางของเรา

คิดว่าช่วงถอยเพื่อตั้งหลักจะกินระยะเวลานานแค่ไหน ?

(หัวเราะ) ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องอนาคต แต่ถ้าอ่านจากสถานการณ์ มันน่าจะใกล้เข้ามาแล้ว

มองจากข้างนอกเข้ามา คิดว่าสถานการณ์การเมืองจะพัฒนาไปยังไง คิดว่าเป็นกระแสต่ำของขบวนการประชาธิปไตยไหม ?

มองโดยทั่วไปก็เป็นกระแสต่ำอย่างแน่นอน ถ้าในหมู่คนชั้นกลาง คนชั้นสูง แม้แต่คนที่เคยผ่านประสบการณ์ต่อสู้รุ่นเดือนตุลาก็ยังไปเรียกหาเผด็จการ คอมมิวนิสต์ก็ยังไปเป็นคอมมิวนิสต์รักษาพระองค์ แล้วจะไปหวังอะไรกับคนทั่วๆ ไป แต่ในหมู่คนชั้นล่าง ผมมองว่าก็ยังเป็นกระแสสูงอยู่ คนชั้นล่างจึงยังเป็นฐานส่วนใหญ่ของเสื้อแดง และยังเป็นฐานส่วนใหญ่ที่เลือกการเมืองในสายทักษิณ กระแสชนชั้นล่างยิ่งถูกบีบให้มีกำลังมากขึ้นๆ ไม่ใช่ปริมาณ แต่หมายถึงกำลังในทางความคิดความรู้สึก ฉะนั้นมันเป็นกระแสต่ำที่กดดัน รอวันระเบิด รอวันเปลี่ยนผ่าน อีกอย่างคืออำนาจเก่าก็ได้ถ่วงรั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของคนไทยและสังคมไทยมานานแล้ว สังคมที่ต้องการให้บ้านเมืองมันก้าวไปข้างหน้า และยิ่งคนชั้นล่างที่ต้องการรับส่วนแบ่ง จากผลประโยชน์ในทางสังคม ส่วนแบ่งในการเข้าถึงทรัพยากร การมีสวัสดิการในชีวิต แล้วเขาก็ได้ลิ้มรสมาแล้วจากพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

ยุคของพรรคไทยรักไทย ใครอาจมองว่ามันห่างไกลจากสังคมนิยมที่ผมเคยศรัทธามากตอนเป็นหนุ่ม เคยทุ่มเทชีวิตเพื่อจะให้สังคมไทยไปถึงจุดนั้น เพื่อให้ชนชั้นล่างมีชีวิตที่ดี มีความเสมอภาค มีสิทธิมีเสรีภาพ แต่ผมกลับมองว่าในยุคนโยบายไทยรักไทยประชาชนได้รับส่งเหล่านี้มากที่สุดตั้งแต่ผมทำงานมาเลย ใกล้กับที่ผมจินตนาการในคำว่าสังคมนิยมไว้มากที่สุด คนกล้าไปหาหมอ ข้าราชการที่เคยเป็นศักดินาอยู่บนหัวประชาชนก็ต้องมารับใช้ประชาชน

มันเป็นยุคที่เขาบอกกันว่าเป็นทุนสามานย์ แต่วัฒน์ วรรลยางกูล กลับบอกว่าใกล้สังคมนิยม

ผมมองความเป็นจริง โลกมันต้องมองจากความเป็นจริง ไม่ใช่ไปมองจากคนมากรอกหู ในประเทศเพื่อนบ้านที่ผมเคยเห็นชาวบ้านจากต่างจังหวัดมากางเต้นท์เข้าคิวเพื่อได้รับการรักษาพยาบาล บางประเทศก่อนรักษา หมอต้องถามก่อนเลยว่าคุณมีเงินรึป่าว

ผมก็มองตรงสวัสดิการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ไม่ได้มองเรื่องทุนสามานย์อะไร เพราะว่าความฝันของมาร์กซ์ก็ฝันมาตั้งเกือบสองร้อยปีแล้ว มันอาจจะตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ตรงก็ไม่รู้ แต่เรามองความเป็นจริงว่า คนได้ดี มีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ มันจะเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน อย่างน้อยขอให้ประชาชนมีความเสมอภาคกับคนอื่น การนับถือสถานะสูงต่ำกันตามประเพณีมันทำได้ แต่ว่าในด้านหลักแล้วต้องมีความเสมอภาค ผมเลือกตั้งไปแล้วทำไมมีสิทธิที่จะมาปล้นสิทธิในการเลือกตั้งของผม ถ้าผมเลือกตั้งไปแล้วแล้วคุณไม่พอใจ คุณก็มาล้มเฉยๆ ได้เลยแบบนี้มันไม่เสมอภาคกัน ข้อบกพร่องของนักการเมืองก็มี แต่เราจะเกลียดบุคคลจนกระทั่งยอมล้มระบบทั้งหมดมันก็มากไป เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม ก็ยังไงมีข้อบกพร่องก็ยังด่าได้ จะไปหาใครที่เลิศเลอมา พวกพระเอกลิเก แบบชวน แบบอานันท์ แบบนั้นเขาเล่นลิเกเก่งไง ล้มระบบแบบนี้บ้านเมืองมันก็อยู่ไม่ได้ ผู้คนก็เสียโอกาสเยอะแยะเลยในทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ผมก็เสียโอกาสในทางเสรีภาพ จะเขียนที่ไหนเขาก็ไม่ให้เขียนแล้ว

ไม่มีใครติดต่อมาให้เขียนอะไรแล้ว ?


ไม่มีแล้ว ถ้าเขียนก็ต้องเขียนเฉพาะเรื่องเพลง ห้ามเรื่องการเมือง โห บ้านเมืองบรรยากาศอย่างนี้เนี่ยนะ แล้วกูยังมาทูล ทองใจ คงไปผูกคอตาย กระอักเลือดตาย ไม่เขียนดีกว่า เราไม่ใช่เด็กแล้ว เขียนหนังสือมาตลอดชีวิต ถ้าทำอย่างงี้มันก็หมดเลยชีวิตที่สู้ที่ทำมา มันแค่ได้รายได้เดือนละหมื่นกว่าบาท ไม่คุ้มหรอก มันละอายใจตัวเอง

อยากให้ช่วยวิเคราะห์เสื้อแดง ขบวนนปช. พรรคเพื่อไทย ?

โห ยาวเลยนะเนี่ย นี่คือเรื่องที่ผมห่วงมาตลอดและเขาก็ไม่ทำ คือเขาขีดเส้นของการต่อสู้ไว้แค่การเลือกตั้ง ถ้าเกิดสถานการณ์ที่มันโหดเหี้ยมหรือร้ายแรงกว่านั้นจะทำอย่างไร ผมเคยเสนอผ่านใครบางคนระดับแกนนำว่าทำเวทีใหญ่มันพูดได้แค่ 60-70 เปอเซ็นต์ ทำเวทีสัมมนาเล็กๆ 20 กว่าคนตั้งเป้าที่จะจัดตั้งมวลชนให้เข้มแข็ง เตรียมรับการล้อมปราบ แต่คนที่ผมพูดด้วยได้เขาก็ไม่มีพาวเวอร์ที่จะไปพูดให้พวกแกนนำใหญ่เชื่อ ไม่ทำทางหนีทีไล่กันไว้เลย มวลชนตั้งเยอะแยะ เขาก็รอการเลือกตั้ง สรุปแนวทางการต่อสู้นปช.เป็นแนวทางยึดอำนาจรัฐด้วยไมโครโฟน

ทักษิณเขาก็ไม่อยากเสี่ยง คนรวย ถ้าคนจนมันยอมเสี่ยงหมด คิดต่างกัน คนรวยกลัวความรุนแรงมากกว่าคนจน คนจนมีชีวิตอยู่ก็เป็นเดนตายอยู่แล้วไง เป็นหนี้เป็นสิน โดนรังแกอีก กูกำลังได้อยู่ได้กินดีๆ มันก็มาปัดข้าวที่อยู่ในมือกูหกหมดเลย ไม่เคยได้กินอะไรอร่อยๆ โดนปัดทิ้งอยู่ตลอด ก็โมโห มีมีดมีพร้า มีอะไรก็เอาไปฟาดเข้า แล้วพวกฮาร์ดคอร์ก็มักเป็นคนชั้นล่างมากๆ เลยนะ การศึกษาน้อยแล้วก็จนมาก บางคนมันก็มาจากชีวิตที่เป็นสีเทาบ้าง ก็เพราะความจนนั่นแหละ ก็ไม่ค่อยรักการเมืองหรอก แต่ว่าใจนี่เต็มร้อย จะให้ความรู้ด้านการเมืองก็ต้องให้แบบไม่รู้ตัว จะมาให้ทำกลุ่มปรึกษาแบบสมัยโบราณก็คงไม่ได้หรอก มันเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นไง จริงๆ แล้ว ผมก็ไม่ได้อยากให้เกิดความรุนแรง แต่คนกำหนดความรุนแรงมันไม่ใช่ประชาชน การแย่งชิงอำนาจรัฐมันไม่แตะมือกันง่ายๆ

คิดว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงข้างหน้าหรือไม่ จากปัจจัยใด ?

ก็เกิดขึ้นแล้วไง ตายไปเป็นร้อย ที่ผ่านมาไม่รุนแรงหรอ นี่เฉพาะที่เปิดเผยนะ แล้วที่ถูกอุ้มหายอะไรอีก คนที่กำหนดความรุนแรงคือผู้มีอำนาจมากกว่า และเขาก็ต้องการให้ทางนี้ไปใช้ความรุนแรงด้วยเพื่อที่จะได้เข้าทางเขา เพราะเขาได้เปรียบทันทีเลย

ใจจริงอยากให้เปลี่ยนผ่านได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อมากนัก แต่โลกของความจริงมันไม่ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของเรา ถ้าเป็นอนาคตก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า มันมีปัจจัยประกอบเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจต่างๆ ประเทศไทยมันมีอำนาจก้อนใหญ่ที่ต้องแย่งชิงกัน ก็กังวลตรงนี้แหละ

สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง ?

สุขภาพก็ไม่มีอะไร เคยเป็นไข้อยู่ครั้งนึง มันหนาวสั่นเป็นเวลาก็เลยเข้าใจว่าเป็นมาลาเรีย เพราะเราเข้าป่าบ่อย เครียดเหมือนกันตอนนั้น เพราะอยู่ไกลโรงพยาบาล ถ้าป่วยหนักก็ลำบาก แต่โชคดีเป็นไข้อยู่สองวันแล้วมันทุเลาลง ตอนนี้พยามออกกำลัง แต่ดีที่ว่านอนเยอะ หัวค่ำก็นอนแล้ว กลางวันก็นอนอีก อากาศดีมาก แค่เดินก็ออกกำลังแล้ว เดินไปรอบๆ ดูเป็ด ดูไก่ ดูผัก ดูหมู ดูต้นไม้ ดูปลา อ่านหนังสือ แล้วก็เสียเวลากับการทำกับข้าววันหนึ่งเป็นชั่วโมงๆ ถือว่าเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง

รู้สึกโดดเดี่ยวไหม ?

ก็เหงาบ้างแต่ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว เหงาก็คือต้องนั่งกินเหล้าคนเดียว ทุกวันเลย โซดาก็หาซื้อยากบางช่วง ร้านประจำก็ปิด ต้องฝากเขาซื้อ คนเหงาเพราะนั่งกินเหล้าคนเดียว นั่งดูดาวคนเดียว เพื่อนรู้คอรู้ใจก็นานๆ จะได้มาเยี่ยมที เพราะค่าใช้จ่ายมันเยอะ

ความที่เราอายุมากแล้วด้วย มันก็เลยอยู่คนเดียวนานๆ ได้ ไม่พูดกับใครทั้งวันก็ได้ มีเพื่อนอยู่ด้วยกันก็พูดคุยกันได้ แต่ก็ไม่ได้คุยทุกวัน บางวันก็ไม่ต้องคุย ทีวีก็เป็นของส่วนตัว แต่ก็ไม่ค่อยอยากดูอยู่แล้ว

ลูกๆ โอเคไหมกับการตัดสินใจของพ่อ ?

ลูกๆ ทุกคนโอเคหมด ทั้งเรื่องความคิดและเรื่องการดูแลตัวเอง เขาโตแล้วไง เขาคิดเองเป็น มีอาชีพแล้ว เขาเข้าใจทั้งหมด เข้าใจและรู้ทัน ทำเป็นไม่รู้แต่รู้ทันหมดแหละ

ถ้าจะห่วงก็คนที่อยู่ข้างใน (ประเทศ) ที่จริงคนที่อยู่ข้างในอาจจะสะดวกในเรื่องชีวิตประจำวันหรือว่าการทำมาหากิน แต่ว่าจะลำบากเรื่องความไม่ปลอดภัยทางการเมือง แสดงความคิดออกไปก็ลำบาก ติดขัดโน่นนี้ อึดอัดใจ มันน่าอึดอัดใจแทน สำหรับคนที่รู้การเมืองแล้ว แต่ถ้าสำหรับคนที่ไม่ได้สนใจฟ้าดินอะไรก็เรื่องของเขาเขาคงไม่ลำบากอะไร คนที่มีความคิดความอ่าน มีจิตสำนึกอันนี้เป็นห่วงว่าจะเสี่ยงคุกตาราง เสี่ยงกับการถูกคุกคาม เสี่ยงกับการกดดัน บีบคั้น จนต้องออกจากงาน ตัวอย่างเช่น ประวิตร โรจนพฤกษ์

ooo



สัมภาษณ์ วัฒน์ วัลยางกูร


https://www.youtube.com/watch?v=C0zcjIxYIhw&sns=fb

jom voice

Published on Aug 11, 2014

วัฒน์ วัลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้ไม่เคยก้มหัวให้กับอำนาจเผด็จการ ให้สัมภาษณ์ คุณจอม เพชรประดับ ผ่านทาง เวปไซด์ Thaivoicemedia.com เสียงไทยเพื่อสิทธิเสรีภาพของคนไทย กับเหตุผลของการไม่ ยอมไปรายงานตัว ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในยุค เผด็จการทหารครองเมืองอีกครั้ง ครั้งนี้ จะต่างแตกจากยุคเผด็จการทหารครองเมืองจากท­ุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตอย่างไร และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเขาครั้งน­ี้ จะแตกต่างจากทุก ๆ ครั้งที่เขาได้เคยต่อสู้มาแล้วในอดีตอย่าง­ไร รวมทั้ง การวิเคราะห์ กลุ่มการเมืองที่ขัดแย้งกันอยู่ในสงคมไทยข­ณะนี้ แต่ละกลุ่มจะจัดวางตัวเองอย่างไร ในยุค คสช. โดยเฉพาะ แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นชป. หรือ กลุ่มต่อต้าน คสช. หรือ กลุ่มต่อต้านเผด็จการ จะทำอะไรได้ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีอำนาจล้นฟ้าอยู่ในเวลานี้ ติดตามการสัมภาษณ์นี้ได้ ผ่่านทาง เวปไซด์ Thai Voice Media.com