วันอังคาร, กรกฎาคม 12, 2559

ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ = หยุดต่ออายุการครองเมืองของ คสช.





“มันจะกล้าแช่ไว้ถึงวันประชามติ ก็ให้รู้ไป”

ใครคนหนึ่งปล่อยไว้ข้างทางไซเบอร์ ต่อกรณีตำรวจบ้านโป่งจับนักศึกษา นักข่าว ๕ คนไปคุมตัว ด้วยข้อหาเพียงมีเอกสาร ‘เห็นแย้ง’ ร่าง รธน. ในครอบครอง

ผู้ต้องหาทั้งห้า ถูกล่ามโซ่คล้องกุญแจมือรวมกัน ไม่ยอมยื่นขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวที่ติดเงื่อนไขให้รับผิด แต่ก็ยังประกาศอย่างมุ่งมั่นทั้งด้วยวาจาและอักษร

“โหวตโนเป็นสิทธิ์ ไม่ผิดกฎหมายนะครับ ๆ” เสียงของปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในห้าผู้ถูกคุมตัว พูดซ้ำๆ หลายครั้งระหว่างถูกนำตัวไปเรือนจำ ยืนกรานความบริสุทธิ์ของพวกตนในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ

หากสะท้อนโดยโพสต์เฟชบุ๊คของ Athikhom Khoms Khunawut (Yesterday at 6:19am • Bangkok, Thailand) บก. นิตยสาร ‘เวย์’

“ถ้านี่ไม่ใช่การจับมั่ว ก็แสดงว่าประชามติครั้งนี้เดิมพันสูงมาก





คำถามคือ คสช.ได้เคลียร์กับชนชั้นนำหรือยังว่าจะเล่นเกมแบบนี้ บวกลบคูณหารกันดีแล้วใช่ไหม ก่อนใช้อำนาจสะเปะสะปะเช่นนี้

ถ้าแคมเปญ vote no มันไปถึงจุดที่สร้างข้อตกลงร่วมว่า vote no = ไม่เอาคสช. / vote no = ไม่เอารัฐประหาร

ก็ลองดูว่าใครจะได้ใครจะเสีย”

ด้วยนัยยะนี้ ต้องย้อนไปดูที่ Watana Muangsook เขียนไว้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่า คสช. จะใช้ประชามติ ‘ฟอกตัว’

“กรธ. ได้นำการนิรโทษกรรมไปบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๙ ของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็เท่ากับประชาชนยอมรับการนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถนำ คสช. และบริวารมาลงโทษได้อีก”

วัฒนาอ้างถึงการนิรโทษกรรมแก่คณะทหารสองครั้งในประวัติศาสตร์ไทย ที่จัดได้ว่ามีผลสมบูรณ์ คือนิรโทษกรรมคณะราษฎรในปี ๒๔๗๕ ซึ่งขณะนั้นถือว่าอำนาจอธิปไตยอยู่กับพระมหากษัตริย์ เมื่อมี พรก.นิรโทษกรรมออกมา โดยพระราชลัญจกร ก็ถือว่าสิ้นโทษ

อีกครั้งเป็นนิรโทษกรรมแก่ คมช. เมื่อปี ๒๕๔๙ โดยเมื่อมี มาตรา ๓๐๙ ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่ผ่านการออกเสียงประชามติ (แบบผ่านไปก่อน แก้ทีหลัง ก็เถอะ) ก็ทำให้การลบล้างโทษได้ลุล่วงแล้วเช่นกัน

ข้อสรุปจึงชัดเจนว่า คสช. พยายามอย่างหักโหมจะให้ร่าง รธน. ฉบับมีชัยนี้ผ่านการรับรองด้วยประชามติ เพื่อการฟอกตัวเองให้หมดจรด เรี่ยมแร้ ที่จะครองอำนาจต่อไปอย่างน้อย ๕ ปี อย่างไม่น้อย ๒๐ ปี

ดังที่กลุ่ม Prachamati - ประชามติ บนเฟชบุ๊คพยายามชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่า ‘คำถามพ่วง’ อันยืดยาวให้ตอบควบไปกับการโหวตรับร่างฯ ครั้งนี้ มีเจตนาแอบแฝง ทะแม่งอยู่





“คำถามพ่วง เป็นคำถามที่ยืดยาวมาก คนคิดคือ สปช. คนเลือกคือ สนช.” เพจ ‘ประชามติ’ ชี้

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า

ในระหว่าง ๕ ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

บวกกับบทเฉพาะกาลที่ คสช. สั่งให้นายมีชัยยัดเพิ่มเข้าไปหลังจากเสร็จร่างตัวบทต่างๆ ที่ให้มีวุฒิสภาจากการสรรหา ๒๕๐ คน (ครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้ง) บวกกับให้มีสมาชิกพิเศษที่ คสช. แต่ผู้เดียวตั้งเข้าไปจากแม่ทัพนายกอง ๖ ที่นั่ง

โดยคำว่า ‘ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา’ หมายถึงจำนวน ส.ส. ๕๐๐ คนบวกกับ สว. ๒๕๐ คน แล้วครึ่งหนึ่งของ ส.ส. (คือ ๒๕๐ คน) สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่อยู่ในรายชื่อของพรรคการเมืองก็ได้ จากนั้นใช้คะแนนโหวตสองสภาที่ ๒ ใน ๓ คือ ๕๐๐ คนอนุมัติ ท้ายสุดใช้มติ ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (๒๕๐+๑) ผ่านด้วยแล้ว

การผ่านร่างฯ ด้วยประชามติครั้งนี้ ก็คือการอ้างอำนาจจากประชาชนต่ออายุการครองเมืองของ คสช.อีก ๕ ปี ขณะที่หนังหน้าดูดี มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีรัฐสภา

ดังบทความของ NANCHANOK WONGSAMUTH ในนิตยสาร SPECTRUM ของ น.ส.พ. บางกอกโพสต์ ที่ชี้ว่า “คณะรัฐประหารใช้เวลาสองปีขอเวลามากขึ้นจากคนไทย เพื่อจะได้นำความสุขกลับมาให้

มาวันนี้ขอต่ออีก ๕ ปี”

(http://www.bangkokpost.com/…/five-more-years-concern-as-mil…)

บทความนำเสนอความเห็นของสองนักวิชาการหญิง คนหนึ่งนักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกคนนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อจ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากจุฬาฯ บอกว่า จำนวนผู้จะไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติคราวนี้จากที่กรรมการเลือกตั้งคาดไว้ราว ๕๐ ล้านคน (๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์) ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่เข้าใจเนื้อหาภายในตัวบทต่างๆ ที่ยืดยาวกันดีนัก





พวกเขาไม่รู้แน่ว่าโหวตเสร็จแล้วทหารจะวางมือไปหรือไม่ คสช. พยายามตักตวงความได้เปรียบตรงนี้ ด้วยการใช้นักเรียน รด. ครู และเจ้าหน้าที่ปกครองออกรณรง์ให้คนออกไปลงคะแนน โดยจัดทำเอกสารย่อยความร่างรัฐธรรมนูญแจก หากแต่ว่าเนื้อหาในย่อยความเป็นแต่ข้อดีทั้งนั้น

“มันชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูก คสช.นำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่คณะรัฐประหาร และยังยืดเวลาการครองอำนาจของ คสช.ออกไป”

อจ.สาวตรี สุขศรี จาก มธ. ก็เช่นกัน เธอเห็นว่า “คณะกรรมการเลือกตั้งและคณะทหาร เสนอแต่รายละเอียดด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลก็คือการรณรงค์ให้คนออกเสียงรับร่างฯ”

เท่ากับเป็นการจัดออกเสียงประชามติอย่างสองมาตรฐาน ในเมื่อ “เจ้าหน้าที่รัฐตั้งหน้าเอาผิดแต่กับผู้ที่แสดงความเห็นไม่รับร่างฯ” รวมทั้งการออกกฎหมายประชามติด้วยถ้อยคำกำกวม ทำให้ตีความต่อพวกที่สนับสนุนปลอดความผิด แต่พวกรณรงค์ต้านกลับถูกจับกุมคุมขัง

“เช่นนี้ กฎหมายดังกล่าวกลายเป็นเครื่องมือทำให้ประชาชนหวาดกลัว ไม่กล้าเอ่ยปาก”

และการบังคับใช้กฎหมายนั้นโดยเจ้าพนักงานก็เป็นไปอย่างไร้วิจารณญานอันควร ดังที่ตำรวจบ้านโป่งจับกุม ๔ นักศึกษาและ ๑ นักข่าว “ต้องบอกพล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ว่าเถื่อนเกินไปแล้วครับ” Chaturon Chaisang แจงสี่เบี้ยให้เห็นไว้ในโพสต์เฟชบุ๊คของเขา

“เอกสารนี้ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย การแจกก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะการแจกเอกสาร ก็คือ การเผยแพร่ความคิดเห็นวิธีหนึ่งซึ่งได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา ๗ การมีเอกสารนี้ไว้ในครอบครองก็ไม่ผิดกฎหมายอะไรเช่นกัน...

เอาพวกเขาไปขัง ทั้งยังไม่ให้ประกันตัว จึงเป็นการทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพโดยไม่มีเหตุอันควร ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

เข้าใจได้ไม่ยากว่าจุดมุ่งหมายของตำรวจคงไม่ใช่แค่ต้องการสกัดกั้นขัดขวาง ไม่ให้นักศึกษากลุ่มนี้เผยแพร่เอกสารความเห็นแย้ง แต่น่าจะมาจากระดับสูงกว่านั้นที่ต้องการยับยั้งการเผยแพร่ความเห็นต่างให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดลงไป”

อดีต ส.ส.และผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ลงท้ายว่า “จะหยุดการใช้อำนาจตามอำเภอใจแบบนี้ มีวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และชอบธรรมอย่างยิ่งอยู่ทางหนึ่งคือ

การแสดงออกในวันที่ ๗ สิงหาคมนี้ครับ อย่าไปรับรองการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมและช่วยกันบอกผู้มีอำนาจว่า เลิกทำอะไรตามอำเภอใจได้แล้ว”

ก็นั่นละ ดูเหมือนผู้มีอำนาจที่นายจาตุรนต์เอ่ยถึง คงจะได้ยินแต่ไม่สำเหนียก จึงดึงดันต่อไปว่า “วันนี้ต้องการที่จะทำกฎหมายให้มีความชัดเจน” และ

“ถ้าไม่เรียบร้อย ผมเขียนเองก็ได้ จะเขียนแบบที่ประชาชนต้องการ ผมไม่ได้เขียนแบบที่อยากเขียน ผมไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ผมอ่านเอา”

พอวันรุ่งขึ้นจึงมาแก้ตัว “ผมพูดถึงว่าถ้ามีปัญหามากนักทำนองนั้น ผมก็จะมาลองคิดดูว่าผมควรจะทำเองหรือเปล่า บางทีผมก็พูดทำนองอย่างนี้ ผมถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งอย่ามาถือสาผม”

(http://www.matichon.co.th/news/208341)

ตอบให้ว่าที่จริงไม่มีใครถือสามาพักใหญ่แล้วนะ และมันก็ไม่ใช่เรื่องทางพระที่อ้างว่า เทศนาคาบลูกคาบดอกด้วยละ มันเป็นทางชีที่ฝรั่งเรียกว่า ‘foot in the mouth’ น่ะทั่น

เขาตระหนักกันว่าที่พ่นออกมาล้วนส่วนตัว เป็นการระบายผายลมของทั่นเอง แต่ไร้สาระต่อประชาชน มีแต่ความน่ารำคาญ มากยิ่งๆ ขึ้นทุกวันเท่านั้นเอง

ทุกวันนี้ผู้ที่มองเห็นความจริง และรอมร่อจนจะทนรำคาญไม่ไหว ก็ได้แต่หวังใช้เครื่องมือที่ทั่นคิดประดิษฐ์ไว้ใช้ช่วยตัวเองนั่นนะ เอามาหักศอกกลับให้เกิดผลดีต่อประชาชน

ด้วยการพร้อมใจไปลงคะแนน ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญที่แอบแฝงสืบอำนาจเผด็จการฉบับนี้

พูดกันดีๆ ไม่เข้าใจ ลองฟังเพลงแทนก็ได้ เห็นเขาว่าทั่นถนัดดนตรี งานนี้คุณ ปรวย Saltyhead จัดมาให้

https://www.facebook.com/pruaysaltyhead2/posts/1052360151517346

บอกแล้วว่าไม่รับ...ไม่รับก็ไม่รับ ปั๊ดโธ่

.....